xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ยกคณะเดินสายพบคนเหนือ ย้ำสาระคำถามพ่วงให้วุฒิฯ เป็นองครักษ์พิทักษ์ปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง/ลำพูน - สนช.ยกคณะเดินสายพบปะประชาชนหลายจังหวัดในภาคเหนือ ย้ำสาระคำถามพ่วงประชามติร่าง รธน.ขออำนาจให้วุฒิสภาชุดแรกร่วมเลือกนายกฯ-เป็นองครักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศ ให้ ประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้น “พีระศักดิ์” ชี้กำนันสุเทพประกาศหนุนร่าง รธน.คนเดียวทำได้ แต่ นปช.เข้าข่ายชุมนุมทางการเมือง

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่สอง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมคณะสมาชิก สนช.รวม 21 คน ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชน และย้ำสาระของร่างรัฐธรรมนูญและความจำเป็นของการมีคำถามพ่วง กับประชาชน ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มนักศึกษา และผู้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของจังหวัดลำปาง สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

สนช.ได้ย้ำเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องทำความเข้าใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดแจ้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน และเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป โดยที่จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดิมๆ อีก ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนทำความเข้าใจสาระของร่างรัฐธรรมนูญให้ดี ทำความเข้าใจคำถามพ่วงด้วยว่าจุดประสงค์จริงๆ คืออะไร

ส่วนที่ครู ค ที่ออกไปเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชน กฎหมายห้ามเพียงแค่ว่า ต้องไม่ชักชวนเชิญชวญให้ใครไม่ไปลงประชามติ หรือชักชวนให้คล้อยตามตนเอง และห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จเท่านั้น

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สนช. กล่าวถึงความสำคัญของคำถามพ่วงว่า เดิมก็ได้มีการกำหนดอำนาจให้กับวุฒิสภาไว้แล้ว 4 อย่าง โดยบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขอเพิ่มอีกหนึ่งอย่างคือ ขอให้วุฒิสภาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อเป็นหลักประกันเพิ่มเติมว่าการปฏิรูปประเทศ และการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเดินหน้าต่อไปโดยการขออำนาจเพิ่มให้กับสมาชิกวุฒิสภาชุดแรก 5 ปี เพิ่มอีก 1 อำนาจเท่านั้น เพื่อให้วุฒิสภาชุดแรกที่มาด้วยวิธีพิเศษเป็นเสมือนองครักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศ เป็นเหมือนองครักษ์พิกษ์การปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนการจะตัดสินใจว่าจะลงมติเกี่ยวกับคำถามพ่วงอย่างไรก็ต้องกลับไปมองบ้านเมืองที่ผ่านมา 10 ปี และมองไปข้างหน้าด้วยว่าต้องการให้บ้านเมืองกลับไปเหมือนเดิมหรือไม่

คำถามที่สองเป็นเจตนารมณ์ของ สนช.เพื่อการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศที่สงบสุขมา 2 ปีกว่าไม่ใช่ความฝันแค่ชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น แต่เป็นความสงบสุขที่ยั่งยืนที่ถาวร

นายพีระศักดิ์ยังได้กล่าวภายหลังปิดเวทีว่า สนช.ได้ลงพื้นที่พบปะกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศครั้งนี้เป็นครั้งที่ 18 จังหวัดที่ 38 ทำงานมาหนึ่งปียังไม่ถึงครึ่งประเทศ ซึ่งการลงพื้นที่ลำปางได้แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มใหญ่รับฟังปัญหาของประชาชนผู้นำท้องถิ่น ส่วนอีก 2 กลุ่มออกไปรับฟังปัญหาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่แม่เมาะ และอีกกลุ่มรับฟังปัญหาของกลุ่มเยาวชน

ซึ่งปัญหาที่รับฟังบางเรื่องก็สามารถแก้ได้ในจังหวัด แต่บางเรื่องเกี่ยวพันกับกรม กระทรวงอื่นๆ สนช.ก็จะเป็นตัวประสาน และเร่งแก้ไขปัญหาให้ ถือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างชาวบ้านไปยังแม่น้ำทั้ง 5 สายในแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน

“เท่าที่รับฟังปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมาเกือบทุกจังหวัด รวมถึงจังหวัดลำปาง คือ ปัญหาที่ดินทำกิน แหล่งน้ำ การคมนาคม และราคาพืชผลทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่”

ส่วนที่ชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจคำถามพ่วงเนื่องจากใช้ภาษากฎหมายที่ยากนั้น นายพีระศักดิ์กล่าวว่า สาระสำคัญคือ การที่รัฐสภาขอเป็นผู้ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย จากเดิมสภาผู้แทนฯ จะเป็นผู้เลือก แต่ครั้งนี้ภายใน 5 ปีหลังการเลือกตั้งเสร็จขอให้รัฐสภาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อของพรรคการเมืองที่เสนอชื่อไว้เท่านั้น

นายพีระศักดิ์ยังได้กล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) แกนนำ กปปส.ออกมาพูดถึงสาระร่างรัฐธรรมนูญ-ประกาศจะรับร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ระหว่างลงพื้นที่ลำพูนด้วยว่า นายสุเทพทำคนเดียวหรือไม่ ถ้าทำคนเดียวก็ทำได้ เพราะไม่ขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน กรณีนี้ถือเป็นเสรีภาพตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 ที่ให้แสดงความเห็นที่ตรงกับข้อเท็จจริงตามร่างรัฐธรรมนูญ และต้องไม่จูงใจให้ใครไปใช้สิทธิรับหรือไม่รับ เพราะนั่นถือเป็นการชี้นำ

เมื่อถามว่า เหตุใด นปช.ถึงเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการช่วย กกต.ในการทุจริตระหว่างการทำประชามติ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า อยู่ที่การตีความของผู้รักษากฎหมาย ซึ่ง คสช.มองว่าศูนย์ปราบโกงฯ เป็นการชุมนุมทางการเมืองชัดเจน ดังนั้น ถ้ามีคนทำผิดแล้วรัฐไม่ดำเนินการก็จะถือเป็นการละเว้น จึงต้องเอาผิด

ส่วนคนที่มองว่าทำไมนายสุเทพทำได้ แต่แกนนำ นปช.ทำไม่ได้ คงเป็นการเข้าใจผิด เพราะรัฐมีหน้าที่รักษากฎหมาย ต้องไม่ 2 มาตรฐานว่าคนนั้นทำได้ อีกคนห้ามทำ ดังนั้นจึงต้องดูว่าอีกฝ่ายทำอย่างไรถึงทำได้ ขณะที่อีกฝ่ายทำอย่างไรถึงทำไม่ได้

เมื่อถามว่า ถ้าแกนนำ นปช.หรือฝ่ายอื่นๆ จะออกมาเฟซบุ๊กไลฟ์เพียงคนเดียวทำได้ใช่หรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ทำได้ ถ้าไม่มีลักษณะของการชี้นำหรือปลุกระดมที่เข้าข่ายผิดมาตรา 61 วรรคสอง ของกฎหมายประชามติ

นายพีระศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงจะวินิจฉัยไม่เกินคำขอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ถ้าหากชี้ว่าขัดก็จะขัดเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ไม่ใช่ขัดทั้งฉบับ และจะไม่มีผลจนต้องเลื่อนวันประชามติอย่างแน่นอน

“ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่มีการนำกลับมาที่สภาฯ เพื่อออก พ.ร.บ.ประชามติฯ ฉบับใหม่ เพราะจะไม่ทันวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ดังนั้นจึงเชื่อว่านายกฯ มีทางออก ซึ่งอาจจะใช้คำสั่ง คสช.ดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรอยู่แล้ว อีกทั้งวิธีดังกล่าวยังมีความรวดเร็วด้วย”




กำลังโหลดความคิดเห็น