xs
xsm
sm
md
lg

สนช.นำแม่น้ำ 5 สายไปนครนายก รับปัญหาซับซ้อนนายกฯเร่งแก้ ร่างนี้ไม่ด้อยกว่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
สนช. พร้อมคณะแม่น้ำ 5 สายลงพื้นที่นครนายก ชี้ ปัญหาสลับซับซ้อน นายกฯเร่งแก้ ย้ำ กม. องค์กรท้องถิ่นยังคงแบบเดิม ร่าง รธน. ฉบับนี้ไม่ด้อยกว่าปี 40 - 50 เสรีภาพเหนือกว่า ปัดตัดสิทธิเรียนฟรี รับเรื่องดีปลดล็อกให้นักการเมืองมีคดีบินนอก แจงไม่เห็นชอบคำถามพ่วงก็ไม่นำมาใช่ใน รธน. เกษตรกร ร้องขาดงบสร้างโรงเรือน - ลานตาก - เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ สนช. เชื่อจะได้รับการช่วยเหลือ

วันนี้ (29 พ.ค.) ที่ชลพฤกษ์ รีสอร์ท จ.นครนายก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดย นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 พร้อมด้วย สมาชิก สนช. อาทิ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ พล.ท.ชัยยุทธ พร้อมสุข นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ นายพรศักดิ์ เจียรนัย เป็นต้น รวมไปถึง นายคำนูณ สิทธิสมาน ตัวแทนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ นายไพโรจน์ อาจรักษา ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมลงพื้นที่ จ.นครนายก ตามโครงการ “สนช. พบประชาชน” เพื่อรับฟังปัญหาและชี้แจงประชาสัมพันธ์คำถามพ่วงประชามติ ให้กับตัวแทนจากทั้งส่วนราชการรวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ จ.นครนายก โดยมี นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ให้การต้อนรับ

นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาประเทศ โดยเฉพาะการบริหารราชการแผ่นดิน ตนไม่ได้เข้าข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ปัญหามีความสลับซับซ้อน มีเงื่อนไขที่ต้องใช้เวลาก่อนจะแก้ปัญหาต่างๆของประเทศได้ ซึ่งนายกฯพยายามแก้ปัญหา จึงเห็นว่า หลายครั้งจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อให้งานเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ส่วนเรื่ององค์กรท้องถิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่นยังอยู่อย่างเดิมทั้งหมด และร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้แตะ รูปแบบที่ออกมาเป็นเพียงข้อเสนอแต่ยังไม่เป็นกฎหมาย ซึ่งเราพร้อมรับฟังทุกความเห็น เพื่อที่คสช.จะได้นำไปประเมินว่าสุดท้ายจะใช้รูปแบบใด

นายอมร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่สามารถบันดาลทุกอย่างให้ประชาชนได้ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติวันที่ 7 สิงหาคม สิ่งที่ตามมา คือ การมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นกลไกต่าง ๆ ให้สิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีอะไรน้อยกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 40 - 50 ที่สำคัญสามารถเข้าถึงสิทธิ และเสรีภาพได้มากกว่าด้วย และไม่ได้ตัดสิทธิการเรียนฟรี แต่มีการกำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นก่อนการศึกษาภาคบังคับ

นายอมร กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งปลดล็อกให้นักการเมืองที่ไม่มีคดีติดตัวเดินทางออกนอกประเทศได้ ว่า เป็นเรื่องดีและเป็นสัญญาณบวก ทำให้บรรยากาศเป็นไปในลักษณะฉันท์มิตรมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงต้าน ตนเดาว่ารัฐบาลคงคิดว่าใช้ยาแรงมาแล้วจึงอยากผ่อนปรนให้เบาบางลง

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ประชามติคือการนำร่างกฎหมาย หรือประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันจนได้ข้อสรุป และต้องการรู้ความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรง ส่วนที่ต้องมีคำถามพ่วงก็เป็นไปตาม มาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และผลที่จะตามมาหลังจากแสดงความเห็นในวันที่ 7 สิงหาคม หากไม่เห็นชอบประเด็นคำถามพ่วง ก็จะไม่มีการนำไปทำอะไรในรัฐธรรมนูญต่อไป

ขณะที่ชาวบ้าน โดย นายหวัง เนียเซ็น สมาชิกสภาเกษตรกร จ.นครนายก ชี้แจงถึงปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ ว่า เรามีกลุ่มเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ประมาณ 70 กลุ่ม โดยคัดจาก 40 ตำบล มาประชุมเพื่อคัดเหลือ 12 กลุ่ม แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ คือ งบประมาณในการสร้างลานตากข้าว โรงเรือน และเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งตนอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปดึงงบมาช่วยเหลือพวกเราให้โครงการเดินได้ เพราะ จ.นครนายก ทำอาชีพเกษตกรเป็นส่วนใหญ่ แต่หากนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปโรงสีราคาขายจะเหลือเพียง 6,000 บาท ทำให้ขาดทุน

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. กล่าวว่า จังหวัดที่ทำโครงการเกษตรเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในประเทศไทยมี 2 จังหวัด ที่ทำอย่าวเป็นทางการ คือ จ.นครนายก และพิจิตร ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีเกษตรจังหวัดร่วมรับฟังปัญหาอยู่ด้วย เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ต้องการจะได้รับการช่วยเหลือ


กำลังโหลดความคิดเห็น