xs
xsm
sm
md
lg

“ภูกระดึง” ในวันที่ยังไม่มีกระเช้า (2) : ครั้งหนึ่งในชีวิต ครั้งเดียวก็เกินพอ

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


หมายเหตุ : บันทึกการเดินทางครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา และเช่นเคย บทความชิ้นนี้เห็นมาอย่างไร ก็เขียนไปตามนั้น ถ้าไม่พอใจประการใด ขออภัยมาล่วงหน้า ณ ที่นี้

ความเดิมตอนที่แล้ว : “ภูกระดึง” ในวันที่ยังไม่มีกระเช้า (1) : ขึ้นภูหน้าร้อน วันเดียวเที่ยว 3 ฤดู

(5)

ตีสี่ครึ่ง เพื่อนปลุกให้ไปเดินชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่นตามที่ตั้งใจไว้

โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้นัดหมายเวลา 05.00 น. พร้อมกันที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ก่อนที่จะเดินเท้าออกไปพร้อมกัน



โดยปกติแล้ว เส้นทางไปผานกแอ่นสามารถไปได้สองทาง คือ เส้นทางจากด้านหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง เดินเท้าไปประมาณ 1.7 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งจะผ่านหลังลานพระแก้ว ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร

ด้วยความที่นอนหลับไป 5 ชั่วโมงครึ่ง ร่างกายจึงไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่ามากนัก แถมยังต้องเดินเท้าไกลนับกิโลเมตร แต่ก็คิดไปว่า การเดินทางครั้งนี้น่าจะได้พบกับอะไรดีๆ ที่อยู่ตรงหน้ากันบ้าง โดยเฉพาะช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น





เราเดินเท้าไปประมาณ 35 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่นำทางส่องไฟฉายให้เห็น ในที่สุดก็มาถึงจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ ผานกแอ่น ภาพที่อยู่ตรงหน้าเป็นแสงไฟจากไฟส่องทาง มองเห็นตัวอำเภอภูกระดึงอยู่เบื้องล่าง

มองไปทางขวาก็เห็นผานกเค้า ภูเขาสูงชันรูปร่างคล้ายนกเค้าแมวตอนที่เรานั่งรถผ่านก่อนเข้าเขต จ.เลย

อากาศในตอนนั้น “ลมพัดตึง” สมชื่อ

ถ้าใครเคยฟังเพลง “สาวเลยยังรอ” (หรือที่มักจะเรียกกันว่า “เพลงลมพัดตึง”) ก่อนที่จะขึ้นดนตรี มีเสียงลมพัด นั่นแหละ ของจริงที่ผานกแอ่น เสียงคล้ายกันเลย









ความเย็นของสายลม สมกับความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องเดินเท้าเข้ามา นักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ต่างพากันเก็บภาพความประทับใจ

ไม่นานนักพระอาทิตย์ก็ขึ้นมาปรากฏโฉมให้เห็น ส่งสัญญาณเข้าสู่วันใหม่อย่างเป็นทางการ

ถ้าเรามาช่วงหน้าหนาว แล้วเห็นทะเลหมอกในตอนเช้าคงดีกว่านี้

แต่คิดดูอีกที แบบนี้ก็สวยไปอีกแบบ



ขากลับ เจ้าหน้าที่นำทางไปยังเส้นทางลานพระแก้วเพื่อชมลานหินที่มีพระพุทธรูปปางห้ามญาติประดิษฐานอยู่ด้วย นักท่องเที่ยวหลายคนรวมทั้งเพื่อนต่างสักการะพระพุทธรูปสักพักก่อนเดินเท้าไปเรื่อยๆ

พบว่าไปออกบริเวณบ้านพัก คละทางกับขามาที่เริ่มต้นจากหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง ออกไปทางเส้นหลังแปเล็กน้อยแล้วเบี่ยงซ้ายตรงเข้าไป

นึกสงสัยว่าทำไมถึงไม่ได้กลับทางเดิม ทราบภายหลังว่า เจ้าหน้าที่จะพาพวกเราไปยังเส้นทางแรกเพราะใกล้ที่สุด

อีกทั้งเส้นทางลานพระแก้ว เป็นทางผ่านหากินของช้างป่า เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ถึงขนาดมีป้ายประกาศเตือนเป็นระยะ



เมื่อปี 2547 หรือเมื่อ 12 ปีก่อน ที่ลานพระแก้วนี่แหละ เคยมีพระสงฆ์มรณภาพ 2 รูป เพราะขึ้นไปปักกลดบนนั้น แล้วถูกช้างป่าตัวหนึ่งเข้ามากระทืบในช่วงประมาณตีสี่

ส่วนพระอีกรูปหนึ่งวิ่งหนีขึ้นไปปีนต้นสนจึงรอดมาได้

แถมยังเคยมีเหตุการณ์ช้างป่ากระทืบนักท่องเที่ยวเสียชีวิต รวมทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานนำขยะไปทิ้งบริเวณที่ทิ้งขยะบนภูกระดึงก็เจอช้างป่าออกหากิน เข้ามากระทืบเจ้าหน้าที่เสียชีวิตอีก

ภายหลังจึงใช้วิธีให้ลูกหาบขนขยะไปทิ้งข้างล่างแทน พร้อมกับขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวที่หอบขยะจากภูเขาลงมาไม่น้อยกว่า 1 กิโลกรัมเพื่อรับเกียรติบัตรจากทางอุทยานฯ

ระหว่างที่ทานข้าวในช่วงเคารพธงชาติ ได้มีเสียงตามสายจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

ประกาศว่า “เนื่องจากมีช้างป่าเข้ามาหากิน จึงขอประกาศห้ามนักท่องเที่ยวไปยังน้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ และน้ำตกถ้ำใหญ่”

นักท่องเที่ยวที่ทานข้าวในร้านค้าต่างส่งเสียงอื้ออึงกันเล็กน้อย เพราะจะไม่ได้ไปสัมผัสกับน้ำตก หรือใบเมเปิ้ล แต่ก็เชื่อว่าคงจะปฏิบัติตามเป็นอย่างดี เนื่องจากไม่มีใครอยากเอาชีวิตมาทิ้งที่นี่

แต่ก็น่าเป็นห่วงสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่สนใจเสียงตามสาย เพียงเพราะคิดว่าเป็นเสียงรบกวน



(6)

ในช่วงสายได้เวลาลงจากเขากลับพื้นราบเสียที

อันที่จริงเพื่อนในโซเชียลท้ามาว่าต้องไปเดินรอบเขาถึงจะครบสูตร อีกทั้งเพื่อนบอกกับเราว่าอยากไปทางผาหมากดูก ซึ่งเดินลงไปอีก 2 กิโลเมตร

แต่ดูจากสังขารแล้วคงไม่ไหวแน่ๆ ยังกังวลว่า ขึ้นเขาลำบากแล้ว ลงเขาจะไหวไหม?

หลังทานข้าวเสร็จ เราตัดสินใจไม่อาบน้ำ แต่เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่เราใส่ตอนขามา เนื่องจากจะได้ประหยัดเสื้อผ้า ซึ่งนับว่ายังดีที่พอตากด้านบนเต็นท์แล้วกลับแห้งเร็ว เอาไว้ถึงเชิงเขาแล้วค่อยอาบน้ำอีกทีจะดีกว่า

เรานำสัมภาระมาชั่งน้ำหนักและใช้บริการลูกหาบอีกครั้ง โชคดีที่เงินสดติดตัวยังเหลือพอ คิดแล้วน้ำหนัก 4 กิโลกรัมเศษ แต่ปัดเศษลง ค่าลูกหาบ 120 บาทเหมือนเดิม เพิ่มเติมค่าบัตรติดสัมภาระ 5 บาท

เหลือเงินติดกระเป๋าสตางค์เล็กๆ น้อยๆ ไว้พอซื้อน้ำดื่มกลางทาง

น่าเสียดายที่ตอนนั้นพี่อ๊อฟไม่อยู่ ตอนออกจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง เหลือบมาเห็นอีกที เขาอยู่ในอาคารแผนกรับ-จ่ายเต็นท์อยู่ไกลๆ ว่าจะไปอำลาแต่ก็ไม่ทันเพราะกำลังจะเดินเท้าไปแล้ว

คิดเสียว่าถ้าเราไม่ได้ลา แสดงว่าเรามีโอกาสเจอกันอีก



เก้าโมงเช้าเศษ ลูกหาบสองคนเข็นรถสัมภาระออกมา ทั้งคู่ออกตัวเร็วมากเสียจนเราเดินตามไม่ทัน ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกคนชื่อ พี่โอ ที่เจอกันตั้งแต่ติดฝนที่ซำกอซาง ขี่จักรยานยนต์สวนทางมาถามว่า “กลับแล้วเหรอครับ”

แม้ระยะทางกลับมาที่หลังแปจะยาวมากถึง 3.5 กิโลเมตร แต่เนื่องจากเป็นทางราบ บนถนนดินเส้นเล็กๆ จึงเดินกันแบบสบายๆ ไม่นานนัก 30 นาทีก็มาถึงหลังแป จุดที่เราจะต้องลงเขาไปอีก 5.4 กิโลเมตร เพื่อกลับไปยังเชิงเขา



เรานั่งพักเหนื่อยก่อนที่จะเก็บภาพป้ายหินที่ระบุว่า “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง”

จุดที่ใครหลายคนเก็บภาพความประทับใจว่า ครั้งหนึ่งในช่วงที่ยังหนุ่มยังแน่น สุขภาพแข็งแรงดี เราเดินฝ่าฟันมาถึงจุดนี้ได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงจะไม่มีโอกาสขึ้นมาภูกระดึงได้เลย เพราะลูกหาบที่นี่ขนได้ทุกอย่างแม้กระทั่งคน

ขอเพียงแค่คุณมีเงินสัก 3,000-3,500 บาทต่อเที่ยว ก็เหมาลูกหาบสองคนแบกคุณใส่เปลขึ้นไปข้างบนได้แล้ว

เผลอๆ อาจจะเร็วกว่าคนที่ยังหนุ่มยังแน่นเดินขึ้นลงภูกระดึงอีกก็ได้



ประมาณสิบโมงเช้า เราเริ่มเห็นวัยรุ่นเดินขึ้นมาบนหลังแปได้สำเร็จ สอบถามเล็กๆ น้อยๆ ได้ความว่า ขึ้นมาจากเชิงเขาตั้งแต่ 7 โมงเช้าแล้ว เบ็ดเสร็จใช้เวลาเดินเท้าเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น

คิดในใจ ถ้าเดินขึ้นภูกระดึงตั้งแต่เช้ามันคงไม่ร้อนมาก ไม่ต้องเจอกับไอแดดและพระอาทิตย์แผดเผาจนเละ ไม่ต้องกังวลว่าเราจะขึ้นเขาไม่ทันเวลาช้างป่าเริ่มออกหากิน เพราะตอนนั้นช้างป่ามุ่งหน้าไปน้ำตกกันหมด

เราเริ่มหยิบไม้ที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ ค่อยๆ เดินลงจากภูเขา สภาพทางเดินที่นี่อยู่ในป่าค่อนข้างที่จะลาดชัน เต็มไปด้วยโขดหิน ความรู้สึกเหมือนกับเราเล่นเกมเขาวงกต แล้วให้เราเลือกทางออกที่ถูกต้องยังไงยังงั้น

การลงจากเขาจะเหนื่อยและเจ็บขามากกว่าการเดินขึ้นเขา เพราะต้องใช้หน้าเท้าในการยึดเหนี่ยวและเบรกไม่ให้ล้มหัวคะมำไปในตัว เที่ยวกลับจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

แต่เพื่อนที่มาด้วยคงทนรอไม่ไหว ก็เลยเดินล่วงหน้าไป



ผ่านไป 1 ชั่วโมง 15 นาที เรามาถึงซำกกโดน แวะพักเหนื่อย และสวัสดีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ รายหนึ่ง แต่ไม่ได้ถามชื่อที่เจอกันเมื่อวาน โดยหลักเขาทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทางเดิน และรายงานผ่านวิทยุสื่อสารให้ทราบ

เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อวานนี้หลังจากที่พวกเราเดินล่วงหน้ามาเป็นชั่วโมงแล้ว ประมาณห้าโมงเย็น ยังพบนักท่องเที่ยวอีก 5-6 คนเพิ่งเดินทางมาถึงซำกอซาง ต้องวิทยุสื่อสารและส่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้ขึ้นไปยังหลังแปอย่างปลอดภัย

เราพูดคุยกันพอสมควร ก่อนที่จะอำลาเจ้าหน้าที่คนนี้ เขาส่งยิ้มพร้อมบอกกับเราว่า “แวะมาเที่ยวใหม่นะ”



จากซำกกโดน เราลงไปยังซำกกไผ่ พบว่าบริเวณนั้นเพิ่งประสบปัญหาไฟป่าหมาดๆ กลิ่นเหม็นไหม้ยังแตะจมูกอยู่เลย

ขณะที่กอไผ่บางส่วนยังล้มขวางบันไดโขดหินที่มนุษย์สร้างขึ้น ต้องเดินเลี่ยงไปอีกทาง

ทราบมาว่าที่เกิดไฟป่านั้นเป็นเพราะอากาศแห้งแล้ง ใบไม้ ใบไผ่จะมีสีเหลือง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่ออากาศร้อนจัดก็จะเกิดไฟป่าเสียหายเป็นวงกว้าง

เรามาเดินถึงซำอะไรสักอย่างจำไม่ได้ ก่อนจะถึงซำแฮก แม่ค้าบอกกับเราว่า ปกติคนที่ขึ้นภูกระดึงมีเป็นประจำทุกปี บางคนเดินบ่อยจนเจ้าหน้าที่จำหน้าได้แล้ว ก็เกิดความรู้สึกผูกพัน บางคนเดินทางมาจากภาคใต้เพื่อมาเยือนที่นี่โดยเฉพาะ

แม้ว่าภูกระดึงจะมีการปิดป่า 4 เดือนเพื่อฟื้นฟู แต่ในช่วงประมาณวันที่ 28 พฤษภาคม ก็จะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาสั่งลาก่อนฤดูปิดป่า บางคนรอคอยการเดินเที่ยวป่าปิด ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมนานๆ ครั้งก่อนที่จะปิดป่าเพื้อฟื้นฟู

จุดที่ลำบากที่สุดในการลงเขา นอกจากช่วงหลังแปถึงซำแคร่แล้ว ก็คือ หลังซำแฮก 1 กิโลเมตรสุดท้ายไปจนถึงเชิงเขา

กำลังขาที่มีเริ่มที่จะไม่ไหว ขาสั่นไปหมด ต้องค่อยๆ ใช้ไม้เท้าค้ำยัน ไต่ไปตามราวเหล็ก ต้องหยุดเป็นพักๆ

กระทั่งเจอครอบครัวกลุ่มหนึ่งที่เดินสวนทางถือน้ำมาสองขวด เราถามเขาว่า “ขอซื้อต่อน้ำดื่มได้ไหมครับ”

สมาชิกในครอบครัวบอกให้น้องส่งน้ำดื่มให้ เราพยายามจ่ายเงิน เขาบอกว่าไม่ต้อง

เรานั่งที่โขดหิน ดื่มน้ำที่ได้มาอย่างกระหาย เพราะอากาศร้อนอบอ้าวจริงๆ

ครอบครัวกลุ่มนั้นถามว่า อีกไกลแค่ไหนถึงจะไปด้านบนภูกระดึง เราตอบไปตามตรงว่า อีกประมาณ 4-5 กิโลเมตรจะถึงด้านบนเขา แล้วต้องเดินพื้นราบอีก 3 กิโลเมตรครึ่ง เขาได้ยินแบบนี้แล้วตกใจ เลยเปลี่ยนใจไม่ไปต่อ เดินลงมาไล่เลี่ยกัน

เดินขึ้นน่ะไม่เหนื่อยเท่าไหร่หรอก แต่ตอนลงเนี่ยสิหนักกว่า



(7)

3 ชั่วโมง 50 นาทีผ่านไปจากหลังแป ด้วยอากาศที่ร้อนอบอ้าว ในที่สุดเราก็มาถึงป้อมทางเข้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานได้สำเร็จ เหลือบไปมองข้อความด้านบนระบุว่า

“เราจะไม่นำอะไรไป นอกจากภาพถ่าย เราจะไม่เก็บสิ่งใดไว้ นอกจากความทรงจำ”

แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เก็บได้จากภูกระดึง

ไม่ใช่เสื้อยืดลายภูกระดึง พวงกุญแจลายภูกระดึง ที่ขายกันดาษดื่น

แต่เป็นเกียรติบัตร “ผู้พิชิตภูกระดึง” จากทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติโดยตรง คิดค่าจัดทำใบละ 30 บาท

เจ้าหน้าที่ก็จะให้เรากรอกชื่อ นามสกุล และถามว่าเรามาภูกระดึงเป็นครั้งที่เท่าไหร่ เดินขึ้นจากเชิงเขาถึงหลังแปตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง ก่อนที่จะนับว่าใช้เวลารวมกันกี่ชั่วโมง กี่นาที

ใช้เวลาเขียนชื่อ นามสกุล ตัวเลขจำนวนครั้ง และตัวเลขระยะเวลาด้วยปากกาหมึกซึมสีดำ ไม่นานนักเราได้เกียรติบัตร “ผู้พิชิตภูกระดึง” ขนาด A4 สดใหม่แบบชนิดที่ว่าหมึกไม่ทันแห้ง ไว้เป็นที่ระลึกเรียบร้อยแล้ว



สิ่งแรกที่ทำเมื่อมาถึงเชิงเขาก็คือ อาบน้ำ ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานมีห้องอาบน้ำแยกชาย-หญิงไว้จำนวนมาก แต่ในตอนนั้นนักท่องเที่ยวมีน้อยมากก็เลยดูวังเวง

เพื่อนบอกว่า “เที่ยวภูกระดึงหน้าร้อน ภูกระดึงจะเป็นของเรา”

ก็คงไม่ต่างไปจากการเที่ยวนอกฤดูการท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงโลว์ซีซั่นส์ของแต่ละพื้นที่ นอกจากจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ประหยัดกว่าแล้ว ยังไม่ต้องเจอผู้คนแย่งกันกิน แย่งกันใช้ให้ปวดหัวอีก

น้ำไหลออกจากฝักบัว สัมผัสแรกของน้ำหลังเหน็ดเหนื่อยจากการลงเขา รู้สึกสดชื่นอย่างไม่น่าเชื่อ พร้อมกับคิดในใจว่า "เราผ่านจุดนี้มาได้ยังไง"

จุดที่ต้องขึ้นเขา ลงเขา ไปชมพระอาทิตย์ตกดิน เดินกลับมา และลงเขาอีกสิบกิโลเมตร คิดในใจตลอดว่า เราจะรอดกลับมาไหม

แต่เมื่อผ่านความยากลำบากมาแล้ว ความรู้สึกภูมิใจที่เราผ่านความลำบากมาได้ก็จะตามมา

บทส่งท้าย

พูดถึงการเดินเท้าไปยังภูกระดึงเที่ยวนี้ นับดูแล้ว เราใช้ระยะทางขึ้นลงเขาไปทั้งหมด 22 กิโลเมตร อาจฟังดูแล้วน้อยกว่าคนที่ไปภูกระดึงบ่อยครั้งจนเชี่ยวชาญ เดินกันที 50-60 กิโลเมตร

แต่เรากระดูกคนละเบอร์ คงสู้นักเดินป่ามืออาชีพไม่ได้หรอก

นอกจากกระดูกคนละเบอร์แล้ว ด้วยความที่ในชีวิตประจำวันไม่ค่อยได้เดินเท้าบ่อยครั้ง ส่งผลทำให้เช้าวันถัดมาเกิดอาการปวดตั้งแต่สะโพก ต้นขา และโคนขาจนถึงเท้า เวลาลงบันไดต้องค่อยๆ ลงด้วยความลำบากเพราะเจ็บระบมไปหมด

ต้องใช้วิธีทั้งยากิน ยาทา ผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ถึงจะหายเป็นปกติ



กระแสการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เท่าที่ดูข่าวทีวี เกิดขึ้นมาจากที่ว่า ชาวอำเภอภูกระดึงมีแนวคิดอยากจะได้กระเช้าไฟฟ้า เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ทุกวัย โดยเฉพาะคนพิการ คนที่มีเวลาน้อย

อีกทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีรายได้สูง ชาวอำเภอภูกระดึงก็อยากจะได้มีโอกาสหารายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อเอามาเสริมการเกษตร ส่วนอาชีพลูกหาบนั้นจะเปลี่ยนมาเป็นการขนสัมภาระ ใช้แรงงานที่เบาลง

ส่วนความเห็นจากกลุ่มคนรักภูกระดึง กลับมองว่า แม้จะมีกระเช้าไฟฟ้า แต่การเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวภายในภูกระดึงยังต้องเดินเท้า เช่น ไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น 2 กิโลเมตร ไปชมพระอาทิตย์ตกดินที่ผาหล่มสัก 9 กิโลเมตร

นอกจากนี้ หากการสร้างกระเช้าลอยฟ้าแล้วนักท่องเที่ยวไม่เข้าเป้า จะทำอย่างไรต่อไป ช่วงที่เปิดให้บริการใหม่ๆ อาจจะเห่อเที่ยวชมจนกระเช้ารับไม่ไหว แต่ในระยะยาวจะมีนักท่องเที่ยวทุกเดือนหรือไม่

ไม่นับรวมช่วงระยะเวลาปิดป่า 4 เดือนเพื่อฟื้นฟูยังจะมีเหมือนเดิมหรือไม่



ส่วนนักท่องเที่ยวที่มีความรู้สึกหวงแหนธรรมชาติ ก็มองว่าเสน่ห์ของภูกระดึงคือการเดินขึ้นเขาหลายกิโลเมตร เป็นการวัดใจคนที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ถึงจะสามารถพิชิตยอดภูกระดึงขึ้นมาได้

เสน่ห์ตรงนี้ก็จะหายไป กลายเป็นการเที่ยวโดยการขึ้นกระเช้าสบายๆ เพื่อมาถ่ายรูป อัพโหลดภาพลงอินสตาแกรม ขึ้นเฟซบุ๊ก ไม่ต่างจากรสนิยมการท่องเที่ยวของคนไทยตามแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง

โดยส่วนตัวไม่มีความเห็นใดๆ เพราะเป็นการมาเที่ยวภูกระดึงครั้งแรกในชีวิตแบบไม่คาดคิดมาก่อน แต่ก็มีหลักคิดที่ว่า อะไรที่มันฝืนธรรมชาติไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่ถ้าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็คงจะปฏิเสธยาก

บันทึกการเดินทางครั้งนี้คงเป็นอนุสรณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยขึ้นภูกระดึงในวันที่ไม่มีกระเช้า ซึ่งวันเวลาผ่านไปหากบทความนี้ยังคงอยู่ ก็คงเป็นความทรงจำครั้งหนึ่งในวันที่ยังไม่มีความเจริญคืบคลานเข้ามา

เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พอกระแสกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงเกิดขึ้นที ก็มีเสียงทั้งสนับสนุนและคัดค้าน จนต้องพับโครงการไปหลายครั้ง ซึ่งครั้งนี้คิดว่าคงจะจบลงไม่ต่างกัน เหมือนไฟไหม้ป่าแถวซำกกไผ่ในช่วงฤดูร้อน

ถ้าถามว่า “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” จะมีครั้งต่อไปหรือไม่

แม้ในใจจะรู้สึกคิดถึงเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่เคยมีความทรงจำดีๆ ในยามที่ท้องฟ้าไม่เป็นใจก็ตาม

สุดท้าย ในใจคิดว่า “ครั้งนี้ครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว...”


กำลังโหลดความคิดเห็น