xs
xsm
sm
md
lg

“ภูกระดึง” ตราตรึงใจ ไม่ลืมเลือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ป้าย ณ หลังแป อันเป็นจุดไฮไลต์ที่เหล่าผู้พิชิตจะต้องมาถ่ายรูป
“ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” วลีอมตะที่ถูกเขียนไว้บนแผ่นป้าย ณ หลังแป อันเป็นจุดไฮไลต์ที่เหล่าผู้พิชิตจะต้องมาถ่ายรูปคู่ไว้เพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ และตอกย้ำว่าได้ขึ้นมาสู่บน “ภูกระดึง” แล้ว แต่สำหรับใครหลายคน รวมถึง “ตะลอนเที่ยว” การขึ้นมาท่องเที่ยวบนภูกระดึงเพียงแค่ครั้งเดียวนั้น ยังไม่พอ เพราะภูเขาแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์มากมายให้ได้กลับมาสัมผัส
“ป่าไผ่สีทอง” สวยงามระหว่างทางขึ้น
“ภูกระดึง” นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สองถัดจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ถูกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 และในครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว” มีโอกาสกลับมาพิชิตภูกระดึงอีกครั้ง เพื่อระลึกความทรงจำเมื่อครั้งเก่าก่อนที่ได้ขึ้นมายลธรรมชาติบนภูเขาแห่งนี้ โดยมีจุดเริ่มต้นคือที่ “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูกระดึง” ในจุดนี้ก็จะเป็นขั้นตอนการจองที่พัก จ่ายค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ และนำสัมภาระไปชั่งน้ำหนัก เพื่อจ้างลูกหาบให้หาบของขึ้นไปที่ด้านบน
อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข ในการมาเที่ยว “ภูกระดึง”
เมื่อจบภารกิจแรกเริ่มแล้ว ก็ได้เวลาเดินขึ้นสู่ภูกระดึงในระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตร ซึ่งตลอดเส้นทางนั้นจะมีจุดพักต่างๆ อาทิ ซำแฮก, ซำบอน, ซำกกไผ่, ซำแคร่ ให้เราได้พักแข้งพักขาเป็นช่วงๆ เพื่อเติมเรี่ยวแรงเดินไปยังจุดหมายต่อไป และธรรมชาติตลอดเส้นทางนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามระดับความสูง ซึ่งการกลับมาเที่ยวในครั้งนี้ ตะลอนเที่ยวได้มีโอกาสเห็นป่าไผ่สีทองที่กำลังผลัดใบร่วงโรยลงมาสู่พื้นจนเกิดเป็นถนนเหลืองสีทองในช่วงทางเดินขึ้นสู่ซำแฮก มองแล้วคลาสสิกงดงามจนต้องหยุดมอง
ปั่นจักรยานริมผา อีกหนึ่งเส้นทางไป “วังกวาง”
นอกจากธรรมชาติที่สวยงามที่มีให้ชมตลอดเส้นทางแล้ว ระหว่างทางก็ยังจะได้เจอะเจอนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ เดินผ่านกันไปมา ซึ่งในบางครั้งก็จะมีการทักทายกันเกิดขึ้น ถามไถ่กันและกันว่ามากี่ครั้งแล้ว หรือให้กำลังใจกันและกันเพื่อขึ้นไปพิชิตภูเขางามแห่งนี้ และตะลอนเที่ยวก็มีโอกาสพบกับกลุ่มของคุณอาคุณน้า ที่นัดกันมาเที่ยวภูกระดึง และได้รู้มาว่า

“คุณอาคุณน้าเป็นเพื่อนๆ กัน นัดกันมาเที่ยว บางท่านมาครั้งแรก บางท่านมาหลายครั้งแล้ว แต่ทุกคนกลับเลือกภูกระดึงเป็นจุดนัดพบ และแม้การเดินขึ้นอาจจะดูลำบาก แต่เส้นทางที่ทอดยาวไปนั้น ก็ทำให้ความสัมพันธ์เหนียวแน่นยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมีเวลาที่ได้ใช้ร่วมกันตลอดเส้นทางอันงดงามนี้”
ช่วงเวลารอพระอาทิตย์ขึ้น ณ “ผานกแอ่น”
หลังจากเพียรพยายามเดินผ่านจุดพักเรื่อยมา ก็มาถึง “หลังแป” อันเป็นที่ตั้งของป้ายจาลึกวลีอมตะ “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” ที่ใครๆ ก็ต้องมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้ แต่สำหรับตะลอนเที่ยวแล้ว ก็คงจะต้องพูดว่า “ครั้งที่สองในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” และที่บริเวณนี้ ก็ยังเป็นจุดที่สามารถเห็นทัศนียภาพได้อย่างกว้างไกล แต่ก็คงจะยืนชมได้ไม่นาน เพราะจะเดินทางไปยัง “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “วังกวาง” จุดหมายปลายทาง อันเป็นจุดกางเต็นท์ที่ใช้หลับนอน ในค่ำคืนที่เต็มไปด้วยดาวบนภูกระดึง
พระอาทิตย์ขึ้นที่ “ผานกแอ่น”
สำหรับการเดินทางไปสู่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางนั้น ตะลอนเที่ยวได้เลือกใช้บริการจักรยานปั่นลัดเลาะไปตามถนนริมหน้าผาไปสู่ “ผาหมากดูก” และเลี้ยวขวาเข้าสู่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ในเส้นทางนี้ก็จะได้พบกับวิวทิวทัศน์ของต้นสนเรียงราย และหน้าผาที่ทอดยาวขนาบข้างตามเส้นทางปั่นจักรยาน ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร หรือใครจะใช้วิธีดั้งเดิม คือเดินตามถนนสายหลักที่ทอดยาวไปสู่จุดหมายในระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรก็ได้ เมื่อมาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ก็ได้เวลารับสัมภาระจากลูกหาบ ซึ่งครั้งนี้ตะลอนเที่ยวได้เลือกใช้บริการเต็นท์เป็นที่นอนสำหรับเก็บเรี่ยวแรง ในการเดินชมความสวยงามบนภูเขายอดตัดรูปหัวใจแห่งนี้
“ลานวัดพระแก้ว”
วันและเวลาได้ล่วงเลยเข้าสู่วันใหม่ และในช่วงเช้ามืดนั้นตะลอนเที่ยวได้เดินทางผ่านความมืดใต้แสงดาวมากมาย โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นผู้นำทาง เพื่อไปยัง “ผานกแอ่น” จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นบนภูกระดึง เมื่อทุกคนถึงจุดหมายแล้วก็ต่างแยกย้ายหามุมสำหรับรอรุ่งแสงอรุณวันใหม่ ในจุดนี้จะสามารถเห็นทิวทัศน์ของอำเภอภูกระดึงมุมสูงได้อย่างกว้างไกล โดยจะเป็นแสงไฟจากถนนทอดยาวเป็นเส้นสาย ตัดกับฟากฟ้าที่มีดาวระยิบระยับ และค่อยๆ เลือนหายไปเมื่อพระอาทิตย์เริ่มโผล่จากขอบฟ้า ทอแสงสีส้มแดงสดใสให้ทุกคนได้ยลและตราตรึงใจไปอีกนานแสนนาน
“พระพุทธเมตตา  ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนที่มาเยือนภูกระดึง
เมื่อได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ตะลอนเที่ยวก็ได้เดินต่อมา “ลานวัดพระแก้ว” ลานหินกว้างขวางแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2463 ที่ใครหลายคนมาแวะสักการะขอพร จากนั้นก็เดินต่อไปยังวังกวางเพื่อกินข้าวเช้าเติมพลังสำหรับการตะลอนเที่ยวบนภูกระดึง
“น้ำตกถ้ำใหญ่” ในยามน้ำน้อย
หลังเสร็จกิจธุระช่วงเช้าแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางออกท่องเที่ยวบนภูกระดึง โดยมีสองเส้นทางหลักคือ “เส้นทางริมผา” และ “เส้นทางน้ำตก” แต่ก็ใช่ว่าจะต้องเดินตามเส้นทาง มนต์เสน่ห์ของภูกระดึงคือการวางแผนเส้นทางเที่ยวเองได้อย่างตามใจ แต่ไม่ควรเข้าไปในเขตพื้นที่หวงห้ามเพราะอาจเกิดอันตรายได้
ใบเมเปิลแดงที่ “น้ำตกถ้ำใหญ่”
จุดแรกที่ได้ไปเยือนนั้นคือ “น้ำตกถ้ำใหญ่” โดยเป็นน้ำตกที่อยู่ห่างจากที่พักไปไม่ไกลนัก แต่ก่อนจะไปถึงน้ำตกถ้ำใหญ่ ระหว่างทางก็จะได้พบกับ “ลานศรีณคริน” อันเป็นที่ ประดิษฐาน "พระพุทธเมตตา" ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2463 โดยหลวงวิจิตรคุณสาร นายอำเภอวังสะพุงในขณะนั้น ร่วมกับชาวบ้าน และต่อมาในปี พ.ศ. 2526 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้บูรณะองค์พระและบริเวณลานหินโดยรอบ และพระราชทานนามพระพุทธรูปนี้ว่า "พระพุทธเมตตา" จนกลายมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนที่มาเยือนภูกระดึงจนมาถึงปัจจุบัน
บรรยากาศระหว่างเส้นทางไปสู่ “ผานาน้อย”
เมื่อมาถึงน้ำตกถ้ำใหญ่ที่มีลักษณะเป็นโขดหินเล็กใหญ่วางทับซ้อนไม่เป็นระเบียบ ในครั้งนี้ตะลอนเที่ยวมาสัมผัสน้ำตกแห่งนี้ในช่วงฤดูหนาว ที่มีน้ำตกมีน้ำเหลือน้อย แต่กลับมี “ใบเมเปิลสีแดง” ที่ร่วงหล่นลงมาจากต้น สีแดงของใบเมเปิลตัดกับสีเขียวชอุ่มของพืชพรรณบริเวณน้ำตกมองแล้วสวยงามอย่างมาก

และใครที่ต้องการจะชมใบเมเปิลแดง ก็ต้องคำนวณช่วงเวลาให้ดี ส่วนใหญ่ใบเมเปิลจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงในช่วงปลายเดือนธันวาคม - ต้นเดือนมกราคม หรือขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ความงดงามนี้ จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ใครๆ ก็อยากจะยลกับตาสักครั้ง และยังเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ใครบางคนต้องกลับมาเยือนภูกระดึงอีกครั้ง
กล้วยไม้น้อย” เริ่มเติบโตที่ต้นสนตาย
เต็มอิ่มกับการชมใบเมเปิลแดงแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางไปยังจุดหมายต่อไป ใครครั้งนี้ตะลอนเที่ยวได้ใช้เส้นทางเดินตัดผ่านมายัง “ผานาน้อย” ที่มีบรรยากาศเป็นทุ่งหญ้าโล่งกว้างสลับป่าสนที่ยืนต้นตายเนื่องจากเกิดไฟป่า ตามลำต้นสนที่ยืนต้นตายก็ยังมีกล้วยไม้ขึ้นมา มองดูแล้วสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ และยังเป็นสิ่งย้ำเตือนคำที่กล่าวไว้ว่า “ไฟมา ป่าหมด” ได้อย่างดี
ทัศนียภาพกว้างไกล ที่ “ผานาน้อย”
เดินชมบรรยากาศมาได้สักพัก ก็จะมาถึงจุดหมายปลายทางที่ “ผานาน้อย” หน้าผาแห่งนี้ เป็นผาเล็กๆ ที่มองดูแล้วสวยงามไม่แพ้ผาอื่นๆ สามารถเห็นวิวทิวทัศน์ได้อย่างกว้างไกล เดินเรื่อยไปก็จะไปพบกับเส้นทางท่องเที่ยวริมผา โดยเส้นทางจะผ่านผาเหยียบเมฆ ผาแดง จนไปสิ้นสุดที่ “ผาหล่มสัก” ผาอันเป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึง ที่ใครๆ ก็ต้องมาสิ้นสุดการเดินทางของวัน ณ ที่แห่งนี้ เพื่อดูพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า
“ผาเหยียบเมฆ”
และในช่วงระหว่างทางเดินริมผานั้น หากใครช่างสังเกตก็จะมีโอกาสเห็น “ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง” อีกหนึ่งต้นไม้งามแปลกตา และ “กระดุมเงิน” ดอกไม้สีขาวที่สวยงามจับใจอีกด้วย
พระอาทิตย์ตกที่ “ผาเหยียบเมฆ” งามไม่เเพ้ผาหล่มสัก
ในครั้งนี้ ตะลอนเที่ยวได้เปลี่ยนบรรยากาศมารอชมพระอาทิตย์ตก ที่ “ผาเหยียบเมฆ” หน้าผาแห่งนี้มีลักษณะเป็นลานหินกว้างและมีหินงอกขึ้นมา เมื่อขึ้นไปยืนแล้วก็เหมือนได้เหยียบบนเมฆจริงๆ แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังกันหน่อย หลังจากนั่งกินลมชมวิวสักพัก ในที่สุดพระอาทิตย์ก็เริ่มลดทอนแสงเจิดจ้าลง กลายเป็นแสงสีแดงส้มและค่อยๆ ลาลับขอบฟ้า เป็นสัญญาณว่าเราต้องเดินกลับที่พัก ในความมืดที่ประดับประดาด้วยแสงดาวและอากาศหนาวเย็นสบาย
“ผาหล่มสัก” อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของภูกระดึง
เส้นทางท่องเที่ยวบนภูกระดึงนั้น แม้จะดูเป็นเส้นทางที่ยาวไกลหลายสิบกิโลเมตร แต่หากได้มากับเพื่อนรู้ใจแล้ว บทสนทนาที่เพลิดเพลิน แต่งแต้มด้วยวิวทิวทัศน์งามตา ก็จะทำให้หนทางไกลนั้นสั้นลง และเปลี่ยนความเหนื่อยล้า มาเป็นมิตรภาพที่เหนียวแน่นยิ่งขึ้น ความผสมผสานนี้จึงเป็นมนต์เสน่ห์ที่ทำให้ใครหลายคนกลับมาเยือนมากกว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้มาพิชิตภูกระดึง
“ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง” ไม้งามแปลกตา
“กระดุมเงิน” งามตาริมทาง
*****

สำหรับผู้ที่ต้องการนำสัมภาระขึ้นบนยอดภู โดยไม่ต้องแบกเอง สามารถใช้บริการลูกหาบได้ โดยคิดค่าบริการแบกสัมภาระ กิโลกรัมละ 30 บาท สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเที่ยวภูกระดึงเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย โทร. 0-4287-1333, 0-4287-1458

* * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น