xs
xsm
sm
md
lg

เผยใช้ลูกหาบ-จนท.เกือบ 40 ชีวิตแบกขนรถไถ/รถอีแต๋นหนักกว่าตันขึ้นยอดภูกระดึง(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลย - หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึงแจงภาพลูกหาบผนึกพลังแบกขนชิ้นส่วนรถไถ-รถอีแต๋นน้ำหนักรวมกว่าตันขึ้นยอดภู เพราะจำเป็นต้องใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องมือช่วยพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวรับฤดูปีนภูกระดึงรอบใหม่ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ โดยใช้ลูกหาบและเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ มากเกือบ 40 ชีวิต



เป็นภาพที่โลกโซเชียลแชร์กันอย่างแพร่หลายและได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมาก กรณีลูกหาบชาวภูกระดึง จ.เลย ที่ช่วยกันแบกรถไถขนาดเล็ก น้ำหนักกว่า 1.2 ตัน โดยถอดแยกชิ้นส่วนต่างๆ ออกเพื่อแบกขึ้นสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ระยะทาง 9 กิโลเมตร ระดับความสูง 1,288 เมตร เพื่อที่จะใช้ในการซ่อมแซม และก่อสร้างถนนบนภูกระดึง และช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในฤดูท่องเที่ยวกรณีเกิดอุบัติเหตุ

เป็นการเตรียมความพร้อมบริการนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางขึ้นสัมผัสยอดภูกระดึงรอบใหม่ที่จะเปิดอีกครั้งตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

นายสมบัติ พิมพ์ประสิทธิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง กล่าวว่า ช่วงเวลา 7 เดือนเศษที่มาปฏิบัติราชการ ทางอุทยานฯ ได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วนในการพัฒนาการท่องเที่ยวภูกระดึงให้ดีขึ้นในทุกด้าน ล่าสุดทางอุทยานฯ ต้องการใช้เครื่องมือช่วยพัฒนางานบนศูนย์วังกวางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือรถอีแต๋น 2 คัน รถไถเล็ก 1 คัน โดยมีผู้ใหญ่ใจดีช่วยสนับสนุนเงินทุน

ทั้งนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม สมาชิก สปท.พร้อมคณะ นายสมพงษ์ จิราระรื่นศักดิ์ อดีต หน.อช.ภูกระดึง/อดีต ผอ.สำนักอุทยาน นายอำเภอ ชัชพงษ์ อาจแก้ว พร้อมหัวหน้าส่วนราชการอำเภอภูกระดึง และนักท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมากมาย


นอกจากนี้ บรรดาผู้ประกอบการจักรยานบนภูกระดึงและทุกๆ คนก็ได้ร่วมกันบริจาคเงินสมทบทุนให้กับทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึงนำไปจัดซื้อรถอีแต๋น รถไถขนาดเล็กเพื่อนำไปใช้งานบนภูกระดึง

นายสมบัติบอกอีกว่า หลังจากจัดซื้อรถไถนา รถอีแต๋นได้ตามประสงค์แล้ว ก็ต้องอาศัยแรงคนในการช่วยกันขนขึ้นไปบนภูกระดึง โดยได้รับความร่วมมือจากบรรดาลูกหาบ หาบสัมภาระหนักเหล่านี้ การแบกขนของหนักครั้งนี้ใช้ลูกหาบที่แข็งแรงและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงรวมกัน 38 คน ต่างช่วยกันแบกหามชิ้นส่วนของรถอีแต๋น แบกขึ้นไปตามซำต่างๆ ซำแฮก ซำกกโดน จนไปถึงหลังแป และนำไปยังที่ทำการบนอุทยานฯ หรือวังกวาง

หลังจากขนขึ้นไปได้ครบแล้วก็ช่วยกันนำมาประกอบโดยฝีมือช่างของอุทยานฯ ที่มีความชำนาญ และสามารถนำมาใช้งานได้

อย่างไรก็ตาม ภายหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ทางอุทยานฯ เปิดให้ขึ้นไปท่องเที่ยวบนภูกระดึงได้แล้ว นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าไปท่องเที่ยวและพักแรมบนยอดภูกระดึง ควรติดต่อ สอบถาม หรือสำรองการเข้าไปใช้บริการล่วงหน้า ทั้งที่พักประเภทเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติและพื้นที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเองตามแผนผังจุดพักแรมก่อนเดินทางได้โดยตรง ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โทรศัพท์หมายเลข 0-4281-0833 และหมายเลข 0-4281-0834 (ในเวลาราชการ)









กำลังโหลดความคิดเห็น