xs
xsm
sm
md
lg

“ภูกระดึง” ในวันที่ยังไม่มีกระเช้า (1) : ขึ้นภูหน้าร้อน วันเดียวเที่ยว 3 ฤดู

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


หมายเหตุ : บันทึกการเดินทางครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา และเช่นเคย บทความชิ้นนี้เห็นมาอย่างไร ก็เขียนไปตามนั้น ถ้าไม่พอใจประการใด ขออภัยมาล่วงหน้า ณ ที่นี้

(1)

ไม่มีใครไม่รู้จัก อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของไทย ด้วยพื้นที่ราบบนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี

และยังได้ชื่อว่าเป็นภูเขายอดตัดรูปหัวใจ ที่มีความสวยงามทางธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น ชมพระอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสัก ชมความงามของน้ำตก และใบเมเปิลสีแดงสวยงาม

นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปในช่วงฤดูหนาว แต่ความลำบากในการขึ้นไปด้านบน คือ ต้องเดินเท้าขึ้นไปบนภูเขาสูงชันและเต็มไปด้วยโขดหินราว 5.43 กิโลเมตร แล้วต้องเดินเท้าบนพื้นราบอีก 3.5 กิโลเมตร จะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง

ถึงขนาดมีป้ายบริเวณด้านบนภูเขาว่า “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” เป็นการวัดใจกันไปในตัว



เรื่องราวของภูกระดึงไม่ใช่แค่ความงามทางธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงความเจริญที่กำลังจะเข้ามา

เมื่อมี โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ซึ่งเกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี มีเสียงสะท้อนทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

แม้กระทั่งยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)

สรุปมาว่าถ้าจะก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า จะใช้งบประมาณ 633 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี แต่ ครม. ให้รอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน และให้เพิ่มเติมด้านเทคนิคความคุ้มค่า รวมทั้งมาตรการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสม

ประเด็นเกี่ยวกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ถูกจับตามองจากสังคมอีกครั้ง ทั้งคนในพื้นที่ คนนอกพื้นที่ ผู้ประกอบการ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่างออกความเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านกันอย่างแข็งขัน

แม้จะตามข่าวเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ประเด็นนี้เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี ผ่านไปหลายรัฐบาล

เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่มีใครเอาจริง ก็คงจะจบลงแบบไฟไหม้ฟาง คือไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม



(2)

โดยส่วนตัวไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะต้องไปที่นั่น เพราะเป็นพวกประเภทออฟฟิศซินโดรม ไม่ค่อยชอบกิจกรรมผจญภัยแบบเข้าป่า ขึ้นเขา ลงห้วย

แต่เมื่อเพื่อนที่เรียนคณะเดียวกันชักชวนให้ไปด้วยกัน จึงตอบตกลงโดยที่ไม่ได้คิดอะไร

2-3 วันก่อนที่จะเดินทาง พี่ที่ออฟฟิศทราบข่าวก็ออกมาเตือนเรื่องสุขภาพ เพราะการขึ้นภูกระดึงไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งยังเห็นว่าเป็นคนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย

จึงแนะนำวิธีง่ายๆ ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ คือ ใช้บันไดขึ้น-ลงอาคารแทนการใช้ลิฟท์

แม้วันเดินทาง ค่าใช้จ่าย รวมทั้งสัมภาระพร้อม แต่ในใจดูเหมือนยังไม่พร้อม หลังเลิกงานจำต้องแบกเป้ขึ้นรถทัวร์ ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณสี่ทุ่ม ไปลงที่ขอนแก่นประมาณตีสี่เศษๆ แล้วรอเพื่อนที่มาจากต่างจังหวัดมารับอีกที

สภาพในตอนนั้นเหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น เพราะการนอนบนรถทัวร์ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก ยิ่งเบาะฝั่งตรงข้ามเปิดจอโทรทัศน์ส่วนตัวเพื่อฟังเพลง ทั้งๆ ที่มีโหมดปิดหน้าจอก็กลับละเลย สุดท้ายจึงมีเวลางีบกลับเพียงไม่กี่ชั่วโมง

ประมาณ 7 โมงครึ่ง เพื่อนมารับที่สถานีขนส่ง บขส. 3 ขอนแก่น ใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง ออกไปทางชุมแพ ถึงสามแยกโนนหันเลี้ยวขวาไปอีกเกือบ 40 กิโลเมตร ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวอำเภอภูกระดึง แล้วตรงไปอีก 5 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานฯ



แต่ก่อนอื่น เมื่อมาถึงตัวอำเภอภูกระดึง เราพบกับป้ายผ้าไวนีลจำนวนมาก บริเวณฝั่งตรงข้ามที่ว่าการอำเภอ เนื้อหาเป็นไปในเชิงต้องการกระเช้าไฟฟ้าเพื่อให้เศรษฐกิจที่นี่ดีขึ้น

บ้างก็โจมตีกลุ่มเอ็นจีโอว่าเป็นตัวฉุดรั้งประเทศ

ไม่ใช่แค่หน้าที่ว่าการอำเภอ แต่ก็พบว่ามีร้านค้าอยู่สอง-สามร้านที่ติดป้ายสนับสนุนกระเช้าไฟฟ้าอย่างชัดเจน อย่างร้านรับทำป้ายไวนีล หรือร้านขายเคมีภัณฑ์การเกษตรแห่งหนึ่งขึ้นคำว่า ...



“เสียพื้นที่ป่าเพียงนิด แต่เศรษฐกิจดีทั่วอีสาน”

ไม่รู้ว่าบรรดานักอนุรักษ์มาเห็นป้ายพวกนี้แล้วจะหงุดหงิดใจหรือไม่ ...

ระหว่างทานข้าวที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ ในตัวอำเภอ เพื่อนโทรศัพท์มาหา พอทราบว่าจะไปขึ้นภูกระดึงกับเพื่อน จึงตอบมาว่า “แกจะขึ้นไปภูกระดึงตอนนี้น่ะเหรอ มันร้อนเลยมากนะ ไม่มีใครเขาไปกันหรอก ส่วนมากเขาจะไปเล่นน้ำกัน”

แต่เมื่อเพื่อนยืนยันที่จะไปให้ได้ อีกทั้งเต็นท์ที่พักก็จองไว้แล้ว ไหนๆ ก็มาถึงตรงจุดนี้แล้ว จึงไม่คิดที่จะเปลี่ยนใจ

ด้วยความที่กิตติศัพท์ความยากลำบากในการขึ้นภูกระดึง จึงคิดว่าน่าจะซื้อยาไว้ก่อน ไปที่ร้านขายยาแห่งหนึ่งเพื่อซื้อยาคลายกล้ามเนื้อทั้งชนิดทาและกิน เจ้าของร้านถามว่า มาขึ้นภูกระดึงกี่ครั้งแล้ว จึงตอบไปว่ามาครั้งแรก

เขากล่าวพร้อมกับรอยยิ้มว่า ตนเองอายุ 60 ปีแล้วยังขึ้นภูกระดึงได้ 2-3 ครั้งอยู่เลย

สำคัญตรงที่ ถ้ากำลังขาไม่ไหวก็อย่าไปฝืน ค่อยเป็นค่อยไปเดี๋ยวก็ถึง

คำพูดของเขาทำให้เราเริ่มมีกำลังใจมากขึ้น แม้จะยังไม่รู้ว่า ปลายทางข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น





จากตัวอำเภอภูกระดึง นั่งรถไปตามเส้นทางตรงไปอีก 5 กิโลเมตร ก็จะพบกับซุ้มทางเข้าอุทยานฯ เราต้องจ่ายค่าธรรมเนียมยานพาหนะคันละ 30 บาท ก่อนนำรถเข้าไปจอดยังด้านในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน (เชิงเขา)

ในวันนั้นอากาศร้อนจัด มีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่นี่น้อยมาก เราเข้าไปยังศูนย์ฯ จ่ายค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ 40 บาท และจัดการเรื่องเต็นท์ที่จองไว้ล่วงหน้า บังเอิญว่าเพื่อนไม่ได้เอาใบจองมา จึงต้องเสียเวลาค้นข้อมูลเล็กน้อย

โดยปกติแล้วการจองเต็นท์และบ้านพักในอุทยานแห่งชาติสามารถทำรายการได้ที่เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้วชำระเงินที่ธนาคารกรุงไทยภายใน 2 วันทำการ

สำหรับที่นี่คิดค่าเช่าเต็นท์ 3 คน หลังละ 225 บาทต่อคืน แต่เครื่องนอน ถุงนอน ต้องเช่าที่ด้านบนต่างหาก

สำหรับใครที่ยังไม่ได้กดเงินสดมา ด้านในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน มีตู้เอทีเอ็มธนาคารออมสินให้บริการเสร็จสรรพ ไม่ต้องขับรถย้อนไปกดเงินที่ตัวอำเภอภูกระดึงอีกครั้ง



หลังเสร็จธุระแล้ว เพื่อนตัดสินใจแบกเป้ไปเอง ส่วนเราตัดสินใจใช้บริการลูกหาบ เนื่องจากหากต้องแบกเป้คนเดียวคงไม่ไหวแน่ๆ โดยปกติที่นี่คิดค่าสัมภาระกิโลกรัมละ 30 บาท และค่าบัตรติดสัมภาระ 5 บาท

นำเป้สัมภาระไปชั่งทีแรก พบว่าปาเข้าไป 6 กิโลกรัม

แต่ดันลืมนำขวดน้ำขนาด 1.5 ลิตรออกไป

จากนั้นจึงพบว่าเหลือเพียงแค่ 3.8 กิโลกรัม เสียค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จ 120 บาท

สิ่งสำคัญคือควรนำสัมภาระเท่าที่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า คัดเอาเฉพาะสวมใส่ตอนที่ใช้ชีวิตอยู่ในภูกระดึงเท่านั้น นอกนั้นสิ่งของที่ไม่จำเป็นถ้ามีรถส่วนตัวให้เก็บไว้ที่รถจะดีกว่า



(3)

เที่ยงวัน คือช่วงเวลาที่เราพร้อมเพื่อนจะต้องเดินขึ้นเขา เห็นระยะทางทีแรกก็คิดว่า 9 กิโลเมตรยังเดินเท้าได้สบายๆ เพราะเคยผ่านประสบการณ์เดิน 10 กิโลเมตรที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตอนรับน้องเมื่อ 10 ปีก่อนมาแล้ว

แต่สิ่งที่เราคิด เมื่อเจอของจริงเรากลับคิดผิด

เพราะเพียงแค่ช่วงแรก จากเชิงเขาถึงซำแฮก ระยะทาง 1 กิโลเมตร เมื่อเจอกับทางเดินสูงชันที่ประกอบด้วยโขดหิน แล้วต้องเกาะราวเหล็กขึ้นไป ประกอบกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว แทบจะไม่มีลมพัด

ทำให้เราเกิดอาการเหนื่อยและหัวใจเต้นแรงโดยไม่คาดคิด

ในตอนนั้นคิดในใจว่า “กูมาทำอะไรที่นี่” และคิดว่า “กูจะเอาชีวิตไปทิ้งที่นี่หรือเปล่า”

แต่เมื่อเห็นเพื่อนยังคงเดินหน้า เราก็คงที่จะต้องสู้ต่อ ในขณะที่คนที่เดินสวนทางมาบอกกับเราว่า “พยายามหาไม้มาทำเป็นไม้เท้า แล้วจะช่วยให้เราเดินเท้าได้ดีขึ้น”



กระทั่งคนที่เดินตามหลังแต่งชุดลายพราง เขาก็มาถามไถ่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง มาทราบภายหลังว่าเขาชื่อ “พี่อ๊อฟ” อายุ 31 ปี เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แผนกรับ-จ่ายเต็นท์บนศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง

เขาเห็นว่าน้ำขวดที่เราที่มีอยู่ในมือเริ่มที่จะหมดขวด ถามว่า “เอาน้ำไหมครับ”

เมื่อตอบตกลงเขานำน้ำดื่มบรรจุขวดมาแบ่งให้ ยี่ห้อ "ใช่เลยก๋อ" น้ำดื่มโลคัลแบรนด์ของที่นี่

แต่ก่อนที่จะถึงซำแฮก ถุงพลาสติกที่แขวนกับไม้เท้าเกิดขาดขึ้นมา น้ำดื่มบรรจุขวดจึงหล่นลงไปยังด้านล่าง

ยังรู้สึกผิดในความหวังดีที่พี่อ๊อฟมอบให้จนถึงทุกวันนี้



เมื่อถึงซำแฮก หลักกิโลเมตรแรกเมื่อมาถึงในเวลา 1 ชั่วโมง เราจะพบกับเพิงกระท่อมจำหน่ายเครื่องดื่ม แม่ค้าเรียกให้เรามานั่งพักผ่อน ด้วยความที่เสียเหงื่อมาก เราสั่งสปอนเซอร์แช่เย็นมากิน

พบว่าที่นี่ขายขวดละ 25 บาท

ส่วนน้ำดื่มขวดเล็ก 20 บาท ขวดใหญ่ 35 บาท ผ้าเย็นผืนเล็ก 20 บาท ผืนใหญ่ 40 บาท

เขาชี้แจงว่าราคานี้มีต้นทุนจากลูกหาบที่นำน้ำไปส่ง แต่ก็ควบคุมราคาโดยทางอุทยานฯ อยู่แล้ว



นั่งพักมาได้สักระยะเราจึงเดินเท้าต่อ ในตอนนั้นเริ่มได้ยินเสียงฟ้าครึ้ม

พี่อ๊อฟเล่าให้ผมฟังว่าที่นี่ฝนไม่ตกมานาน 5-6 เดือนแล้ว จากปกติจะต้องมีฝนหลงฤดูเข้ามาบ้าง อีกทั้งยังเกิดไฟป่าขึ้นมาอีก ก่อนหน้านี้ก็มีฝนตกแบบกระปริบกระปรอย

ในช่วงเสียงฟ้าร้องคำราม ลมพัดแบบเย็นชิ้น เราบอกเขาไปว่า “สงสัยฝนจะตกหนัก”

เขาพูดว่า ฝนตกเยอะๆ นั่นแหละดี ต้นไม้ดอกไม้จะได้ฟื้น เพราะหน้าแล้งอากาศร้อนมานาน ดอกไม้ไม่ออกดอกเสียที

ไม่นานนัก จากเสียงฟ้าร้องก็เริ่มมีฝนตก จากฝนละอองหยดเล็กๆ กลายเป็นฝนเม็ดหนัก

เราต้องหลบเข้าไปในจุดพักที่ใกล้ที่สุด คือ ซำกอซาง โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีก 3 คนเข้ามาด้วย



หลบฝนได้สักพัก เมื่อฝนบางลงเราจำเป็นต้องเดินทางต่อ พี่อ๊อฟบอกว่าเราต้องทำเวลา เพราะเส้นทางนี้จะมีช้างป่ามาเดินตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เกรงว่าเมื่อเจอช้างป่าจะเกิดอันตราย

เราจึงเดินเท้ากันอย่างทุลักทุเล บางช่วงพี่อ๊อฟและเพื่อนยังต้องช่วยจูงมือเพื่อให้เดินเร็วขึ้น

เมื่อฝนตกหนักมากขึ้น เราต้องไปหลบฝนที่ ซำกกโดน ซึ่งเป็นจุดสกัดที่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่อีกคนหนึ่ง เรานั่งพักรอเวลาให้ฝนหาย ขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ คนอื่นๆ ก็ตั้งวงพูดคุยด้วยภาษาถิ่นอย่างสนุกสนาน





สี่โมงเย็นเศษ ฝนหายสนิท เรากับเพื่อนเดินเท้าต่อไปยังซำแคร่ เมื่อถึงจุดนี้จะต้องเจอกับเส้นทางที่มีแต่โขดหินสูงชันเป็นระยะทางยาวกว่า 1.3 กิโลเมตร เราต้องอาศัยการค่อยๆ ปีน เสียวไส้ว่าจะตกลงไปข้างล่างหรือไม่

แต่เพราะรองเท้าที่ใส่ ทั้งใส่ไปทำงาน ใส่เที่ยว เป็นรองเท้าเดินป่า

ที่ผ่านมามีบางคนถามว่า บ้าหรือเปล่า ใส่รองเท้าเดินป่ามาเดินในเมืองวันนี้ถือว่าได้ใช้ประโยชน์จากมันจริงๆ รองเท้าคู่นี้เกาะพื้นหินดีมาก ทำให้การเดินเท้าช่วงซำแคร่เกิดความมั่นใจระดับหนึ่ง

แต่ที่สุดแล้ว ต่อให้รองเท้าดีแค่ไหนก็ไม่ควรประมาท



เมื่อเทียบกันระหว่างจุดต่างๆ ตลอดเส้นทางเดิน จุดที่วัดใจที่สุดนอกจากช่วงเชิงเขาถึงซำแฮกแล้ว ช่วงระหว่างซำแคร่ถึงหลังแป ถือเป็นจุดสุดท้ายที่ต้องผจญภัยแบบสุดๆ ก่อนที่จะไปถึงพื้นราบบนเขาที่เรียกว่าหลังแป

เมื่อมาถึงหลังแป ได้ยินเสียงพี่อ๊อฟตะโกนเรียกให้ขึ้นมาเร็วๆ เพราะมีรถกระบะที่ทางอุทยานฯ มารับเจ้าหน้าที่และสิ่งของจากลูกหาบคนสุดท้ายรอเราอยู่แล้ว จะได้ติดรถไปด้วยกัน

จึงไม่มีเวลาถ่ายรูปป้ายผู้พิชิตภูกระดึงแบบชัดๆ



โดยสรุปเราใช้เวลาขึ้นเขาจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน ถึงหลังแปประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง เพราะติดฝนตั้งแต่ก่อนถึงซำกอซางประมาณ 2 ชั่วโมง

(แต่ตอนไปทำประกาศนียบัตรดันจำผิดเป็น 6 ชั่วโมง)

พี่อ๊อฟเล่าให้ฟังบนรถกระบะว่า โดยปกติเขาจะทำงานบนนี้ประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จะลงมาพักได้ 8 วัน แต่บางเดือนหยุดเพียงแค่สองสามวันก็มีเพราะข้างบนดูแลนักท่องเที่ยวไม่ทัน ต้องขึ้นไปช่วย

ที่นี่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมประมาณ 8 เดือน แล้วปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นข้างบน 4 เดือนเพื่อฟื้นฟูป่า ในช่วงนั้นงานจะเบาลงหน่อยตรงที่จะมีเฉพาะซ่อมแซมสถานที่

รถกระบะของทางอุทยานฯ มาถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานในเวลาไม่นานนัก พี่อ๊อฟแยกจากพวกเราไปทำธุระส่วนตัว ส่วนลูกหาบค่อยๆ ขนสัมภาระออกจากตัวรถเพื่อแจกจ่ายนักท่องเที่ยวที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว

ในช่วงติดต่อห้องพัก ทางอุทยานฯ บอกกับเราว่าเต็นท์ต้องไปกางในหอประชุมแทน เนื่องจากมีฝนตกหนักเกินกว่า 60 มิลลิเมตร เราจะเช่าเครื่องนอนเพิ่ม ประกอบด้วยหมอน ถุงนอน และเบาะรองพื้น ก่อนที่จะเก็บของที่เต็นท์ในหอประชุม





(4)

โดยปกติแล้ว คนที่มาเยือนภูกระดึง มักจะไปชมพระอาทิตย์ตกดินกันที่ผาหล่มสัก แต่เนื่องจากเรามาถึงที่นี่ราวหกโมงเย็น ก็เลยมองพระอาทิตย์ตกดินจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางอยู่ไกลๆ

ทันใดนั้นก็เห็นพี่อ๊อฟเดินเข้ามา จึงขออนุญาตเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก



ความน่ากลัวอย่างหนึ่งของที่นี่คือ เมื่อมีฝนตกจะมีสัตว์ดูดเลือดออกหากิน นั่นก็คือปลิง จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ระหว่างติดฝนที่ซำกกโดน ปลิงจะชอบพื้นที่อับชื้น โดยเฉพาะหลังฝนตกก็จะออกมาหากิน

ในตอนที่อาบน้ำด้วยฝักบัว ยังไม่ทันได้ล้างสบู่เหลวจนเกลี้ยง เพราะน้ำประปาที่นี่น่าจะใช้น้ำจากธรรมชาติ ซึ่งล้างออกยาก เมื่อเห็นปลิงอย่างน้อย 2 ตัวพยายามจะเข้ามาดูดเลือด จึงรีบอาบแล้วรีบใส่เสื้อผ้าด้วยความกลัว

หลังฝนตกบรรยากาศราวกับอากาศเย็นในช่วงฤดูหนาว ประมาณสัก 20 องศาเซลเซียส ทั้งๆ ที่มันเป็นช่วงฤดูร้อน แต่อาบน้ำทียังรู้สึกหนาว แตกต่างจากกรุงเทพฯ ที่เห็นฝักบัวทีไรเป็นต้องโน้มตัวเข้าใส่

เพื่อนยังแซวเลยว่า มาเที่ยวภูกระดึงครั้งนี้ได้เจอครบทุกฤดู ทั้งร้อน ทั้งฝน ทั้งหนาวเลยทีเดียว

เวลามืดค่ำ เพื่อนชวนไปทานข้าวเย็น เราเดินเท้าไปยังร้านค้าซึ่งมีอยู่หลายร้าน สนนราคาแต่ละเมนูอาหารจานเดียวจานละ 50-60 บาท เพิ่มไข่ดาวก็ 70 บาท น้ำดื่มขวดละ 50 บาท ซึ่งก็ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าเพราะต้นทุนหลักๆ มาจากลูกหาบ

แต่ที่เพื่อนท้าให้ลองก็คือ หมูกระทะ



หมูกระทะที่นี่แตกต่างจากที่กรุงเทพฯ ตรงที่ขายกันชุดละ 500 บาท ถึงขนาดมีคำพูดติดปากว่า ถ้าไม่ได้ทานหมูกระทะที่นี่ เหมือนไม่ได้มาภูกระดึง

เพราะถึงไม่กิน ก็จะมีกลิ่นปิ้งย่างมาแตะจมูกจนคุณต้องอยากกินอยู่ดี

ทำนองเดียวกับร้านเจ๊กิม ที่เพื่อนบอกว่าถ้าไม่ได้กินข้าวแกงที่นี่ ก็เหมือนกับมาไม่ถึงภูกระดึง เพราะตรงนั้นเป็นจุดขึ้นรถสองแถว

แต่พอมาทานแล้ว เพื่อนกลับบอกว่าที่นี่กับข้าวให้น้อย ถึงขนาดขากลับยังต้องเลยไปกินที่ ชุมแพ ชุมเพลิน แทน

ที่สำคัญและหาไม่ได้จากที่ไหนก็คือ เวลาที่คุณทานหมูกระทะอยู่ดีๆ ก็จะมีบรรดากวางเข้ามายืนออบริเวณที่คุณนั่งเพื่อรอกินผัก

ซึ่งเจ้าของร้านก็มักจะพยายามหาวิธีกั้นไม่ให้มันเข้ามาวุ่นวาย เช่น เอาเก้าอี้ 5-6 ตัวมาตั้งขวางไว้



เจ้าของร้านซึ่งเป็นคุณป้า อายุน่าจะราว 60 ปีต้นๆ บริการกับเราดีมาก ให้ชาร์จแบตเตอรี่และพาวเวอร์แบงก์ฟรี ถึงขนาดเอาปลั๊กพ่วงมาให้ต่อไฟ ก่อนคุยกับเราถึงสารทุกข์สุกดิบว่ามาจากไหน เที่ยวกี่วัน

คุณป้าบอกกับเราว่า เป็นคนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งติดกับหมู่บ้านศรีฐาน รู้จักกับพี่อ๊อฟเพราะเป็นญาติ บ้านอยู่ใกล้กัน โดยปกติจะมาอยู่ขายของที่นี่ประจำ แต่ถ้าเป็นช่วงปิดอุทยานฯ ก็จะลงไปกลับบ้านที่อยู่ด้านล่าง

ซึ่งความลำบากในช่วงปิดอุทยานฯ ก็คือ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ด้านบนต้องหาข้าวกินเอง ไม่มีร้านค้าเปิด โดยปกติจะปิดเพื่อฟื้นฟูป่า 4 เดือน ก่อนที่จะเปิดเป็นฤดูการท่องเที่ยว

เขาแนะว่าให้ไปที่น้ำตก น้ำจะยังใสอยู่ นักท่องเที่ยวยังไม่เยอะ

เขาบอกว่า คนที่จะทำงานที่นี่ได้ก็ต้องใจรักจริงๆ เพราะคนรุ่นใหม่ๆ มักจะเลือกไปทำงานในเมือง หรืองานที่สบายขึ้น

อย่างลูกหาบที่หมดชุดนี้ก็หมดแล้ว ไม่มีชุดต่อไปแล้ว

ขณะเดียวกัน คุณป้าก็บอกถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของที่นี่ เวลาที่เราสงสัยว่าแต่ละสถานที่หมายถึงอะไร อย่างคำว่า “ซำ” หมายถึงน้ำซึมน้ำซับที่โผล่ขึ้นมาบนผิวดิน ส่วนใหญ่ตั้งขึ้นตามลักษณะที่พืชขึ้นมาเป็นส่วนใหญ่ เช่น ซำกกไผ่



หรือจะเป็นคำว่า “พร่านพรานแป” หมายถึงพรานชื่อ “แป” เข้าไปล่าสัตว์ในป่า แล้วปรากฏว่ามาถึง “หลังแป” สัตว์ที่อยู่บนนั้นถูกพรานแปล่าสัตว์ตายเรียบบนจุดนี้ ซึ่งที่นี่อาจเรียกได้ว่ามีตำนานอยู่เยอะ แต่จำไม่หมด

คุณป้าเล่าว่า คำว่าภูกระดึงนั้นเพี้ยนมาจากคำว่า “ภูกระดิ่ง” หมายถึง เสียงกระดิ่งที่ชาวบ้านได้ยินเวลาอยู่บนภู

เหมือนกับคำว่า “ซำแฮก” ที่แต่เดิมคือซำแรก หมายถึงน้ำซึมน้ำซับจุดแรก

แต่ก็มีคนล้อเลียนทำนองว่าถึงจุดนี้แล้วหอบแฮกๆ

ที่สำคัญยังแนะนำว่า ขากลับให้ลองสังเกตหาไม้ไผ่ขนาดสูงเท่าลำตัวสักอันหนึ่งมาช่วยเป็นไม้เท้า เพราะเวลาลงมันจะลำบาก อย่างน้อยให้มันช่วยหนุนตัวและหาพิกัดลงจากโขดหิน ถ้าไม่มีไม้เท้าจะลื่นล้มได้ง่าย

เมื่อพูดถึงสัตว์ป่า โดยปกติแล้วกวางหรือสุนัขจิ้งจอกไม่น่ากลัว เห็นคนก็หนีแล้ว

แต่ที่น่ากลัวกลับเป็น "ช้างป่า"



ช้างป่าภูกระดึง (ภาพจาก น.ส.พ.เลยไทม์ออนไลน์)

ช้างป่าที่นี่จะมีนิสัยดุร้าย เพราะหวงแหนพื้นที่ ช่วงบ่ายสองโมง ป้อมทางเดินขึ้นเขาที่เชิงเขาก็จะไม่ให้คนเดินขึ้นไปแล้ว เพราะช้างป่ามันจะออกหากินในช่วงเย็นถึงกลางคืน

บางทีก็มีเจ้าหน้าที่ด่านซำกกโดนคอยวิทยุสื่อสารเป็นระยะ คนที่ขึ้นมาจากเชิงเขาประมาณช่วงเย็นใกล้ค่ำ บางทีก็ให้นักท่องเที่ยวไปค้างแรมกลางทางที่นั่นแทนเพื่อความปลอดภัย

และไม่ใช่ว่าพอถึงรุ่งเช้าจะลงมาด้านล่างได้ทันที เจ้าหน้าที่จะคอยตรวจตราความเรียบร้อยว่ามีช้างป่าหลงเหลืออยู่บริเวณนี้หรือไม่ ก่อนที่จะวิทยุสื่อสารถึงกันเพื่อเปิดเส้นทางให้นักท่องเที่ยวและลูกหาบขึ้น-ลงเขา โดยปกติจะอยู่ราว 7 โมงเช้า

นึกถึงตอนที่คุยกับพี่อ๊อฟ เขาเล่าว่าช้างป่าที่นี่ ในช่วงกลางวันมักจะพักผ่อนบริเวณใกล้กับบ่อน้ำ ตกเย็นและกลางคืนมันก็จะขึ้นไปบนเส้นทางเดียวกับที่นักท่องเที่ยวเราเดินนี่แหละเพื่อออกหากิน ซึ่งเขาบอกว่าเป็นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

เราลองถามถึงโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงดูบ้าง คุณป้าบอกว่ามีโครงการมาตั้งนานแล้วแต่ก็ไม่ได้สร้างซักที

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ คุณป้าก็ยิ้มแล้วบอกว่า “มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ป้าแก่แล้ว”

อันที่จริงเราไม่กล้าถามเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพราะเกรงว่าเขาอาจกระทบต่อหน้าที่การงาน แต่เมื่อดูข่าวช่อง 7 ไปก่อนหน้านี้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึงก็บอกว่า ตามแนวทางจุดที่ก่อสร้างกระทบกับสัตว์ป่าน้อยมาก อีกทั้งยังใช้พื้นที่น้อย

แต่สำหรับเพื่อน กลับบอกว่า “ระหว่างเดินเท้าขึ้น กับนั่งกระเช้าขึ้นไป ความภูมิใจมันต่างกันเยอะ”

และไม่เชื่อว่าลูกหาบที่ภูกระดึงจะสูญพันธุ์ ...



(อ่านต่อฉบับหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น