xs
xsm
sm
md
lg

บัญญัติ 7 ประการก่อนการแชร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่นโตความคิด

คนในโลกยุคดิจิตอลมักถือความเร็วว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำธุรกิจหรือการใช้ชีวิตในโลกโซเชียล (ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือ ไลน์) ความผิดพลาดและความเสียหายเกิดขึ้นเพียงเพราะเราอยากที่จะ ”เร็ว” ในทุกๆ เรื่อง เป็นคนแรกที่รู้ เป็นคนแรกๆ ที่แชร์ เป็นผู้รอบรู้ในทุกๆ เรื่อง คนเหล่านี้ต่างไม่ค่อยระมัดระวังกับสิ่งที่ตัวเองโพสต์หรือแชร์ บ่อยครั้งที่กลายเป็นการกระพือข่าวลือออกไปโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ตัวเราเองแม้จะไม่ได้เป็นขนาดนั้น แต่บ่อยครั้งก็ยังพลั้งพลาดไปได้ คนยุคนี้จึงต้องสร้างข้อควรระวังไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็น “เหยื่อ” ของการแชร์บนโลกออนไลน์ โดยควรฝึกตัวเองให้ลักษณะดังต่อไปนี้

1.ควร “อ่าน” ให้ละเอียด แม้ว่าในปัจจุบันการส่งต่อข้อความหรือการสื่อสารข้อความต่างๆ จะมีลักษณะที่สั้นลง เพราะคนไม่ชอบที่จะอ่าน บ้างก็ชอบที่จะดูภาพหรือภาพเคลื่อนไหว (วิดีโอ) มากกว่า แต่ทั้งนี้เราในฐานะผู้เสพจำเป็นต้องอ่านให้ได้ใจความ เพราะบางครั้งมีการใช้ภาษาที่กำกวม หรือ บางทีก็ใช้คำภาษาต่างประเทศมาประกอบ หากเราไม่เข้าใจสาระสำคัญของเรื่องนั้นแล้ว ก็จงหลีกเลี่ยงที่จะแชร์ข้อมูลนั้นออกไป

2.ควร “ตั้งข้อสงสัย” ไว้ก่อน ข้อความหรือภาพใดๆ ที่มีลักษณะเชิญชวนให้คลิกเข้าไปอ่าน ไม่จำเป็นว่าใครเป็นคนแชร์มาเพราะบางครั้งคนที่แชร์มาก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะแชร์ด้วยซ้ำ ปัจจุบันมีวิธีการหลอกล่อให้คนคลิกเข้าไปอ่าน บ้างก็เพียงต้องการแค่ยอดรวมคนอ่านให้เยอะเข้าไว้ บ้างก็หวังผลมากกว่านั้น เช่น ส่งไวรัสคอมพิวเตอร์ หรือ ขโมยตัวตนบนโลกออนไลน์ของเรา

รูปแบบการหลอกล่อมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นด้วยการเขียนพาดหัวที่หวือหวา ชวนให้ติดตามต่อ ทั้งๆ ที่เนื้อความข้างในไม่ได้เป็นไปอย่างที่พาดหัว ล่าสุดมีการปลอมแปลงตัวตนของเพจให้ไปพ้องกับสื่อหลัก ซึ่งในกรณีนี้พบว่าจงใจจะสร้างความเสียหายเมื่อคุณคลิกเข้าไป


3.ควร “หลีกห่างคดีความ” ต้องดูว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้ผิดหลักศีลธรรมหรือกฎหมาย เพราะไม่ว่าคุณจะเปิดเฟซบุ๊กของคุณเป็นแบบ public หรือ closed group หรือส่งไลน์กันภายในห้องสนทนาเล็กๆ จงจำไว้ว่าไม่มีความเป็นส่วนตัวใดๆ บนโลกออนไลน์ เพราะทุกครั้งที่คุณส่งข้อความก็ถือว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว นั่นคือคุณมีโอกาสทำผิดกฎหมายทันที

4.ควร “ตรวจสอบ” ข้อมูลใดๆ ที่ได้รับการแชร์มานั้น ถ้าคิดจะทำการแชร์ข้อมูลนั้นๆ ต่อ ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง โดยมีหลักคือถ้าจะแชร์จากคนที่เขียนเอง หรือเป็นต้นตอของเรื่องนั้นๆ โดยไม่ได้นำมาจากที่อื่น เช่นเป็นการโพสต์บน สเตตัสของเขาเอง ถือได้ว่าข้อมูลนั้นถูกต้องตรงตามที่เจ้าของเรื่องเขียน แต่ถ้าเป็นการแชร์มาอีกที สิ่งที่ควรจะทำก่อนที่จะคิดแชร์ต่อคือหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่นจากสำนักข่าวต่างๆ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้นๆ แล้วตรวจดูว่าใช่หรือไม่

ข้อมูลที่มีการแชร์แล้วส่วนใหญ่ที่ทำให้เข้าใจผิดมักจะเกี่ยวเนื่องกับเวลาและสถานที่ คือบางเรื่องเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแต่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือ บางเรื่องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในที่ๆหนึ่ง แล้วเกิดทำให้เข้าใจผิดว่าเกิดขึ้นอีกที่หนึ่ง

แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดความผิดพลาดของสำนักข่าวได้ ดังนั้นถ้าเรื่องใดที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เช่นเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายหรือส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ก็อาจจำเป็นที่ต้องตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ถึง 2-3 ที่เลยทีเดียว

5.ควร “รู้ไว้” เรื่องรูปแบบข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าฟีด feed ของเรา มีสัดส่วนที่เป็นส่วนของ “Suggested Post“ และ“Sponsored” อยู่ 5-10% (นับวันอัตราส่วนนี้จะยิ่งมีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นเรื่อยๆ) ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ถือเป็นส่วนของการโฆษณา จะมีความปลอดภัยในการคลิกเข้าไปอ่าน ส่วนนอกนั้นก็จะเป็นฟีดรายการที่อัพเดตเรื่องราวจากผู้คนและหน้าที่คุณติดตามอยู่ ในบางครั้งคุณอาจไม่ได้เห็นข้อความของทุกๆคน ในทางกลับกันการแชร์ของคุณคนอื่นก็อาจไม่ได้เห็นเช่นกัน

6.ควร “แชร์” สิ่งที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในเรื่องข้อมูล ข้อคิด หรือแม้แต่เพื่อความบันเทิง แต่การแชร์ในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์แถมคนไม่ชอบเอามากๆ ก็จะมีสิทธิ์ที่ทำให้คนอื่น block หรือ unfriend เรากันไปเลยทีเดียว

7.ควร “รอ” ถ้าเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ หรือ ไม่แน่ใจว่าควรแชร์ต่อหรือไม่ ก็ขอให้รอ เพราะทุกวันนี้การสื่อสารของเรานั้นเร็วมากอยู่แล้ว ถ้าเทียบกับเมื่อ 10-20 ปีก่อน หากเกิดเหตุปล้นธนาคารซักแห่ง กว่าเราจะรู้เรื่องก็อาจเป็นเช้าของอีกวัน แต่ตอนนี้หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ไม่ทันที่ควันรถมอเตอร์ไซค์จางหาย เราก็จะเริ่มรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหนแล้ว เพียงอาจไม่ได้รู้รายละเอียดทั้งหมดเท่านั้นเอง ดังนั้นหากเราจะรออีกหน่อยก็คงจะไม่เป็นไร เพราะถ้าเราเน้นเรื่องความเร็ว เราอาจต้องสูญเสียความถูกต้องไป

ในมงคล 38 ประการ พูดเรื่องวาจาสุภาษิต เน้นฟังให้มาก แต่พูดให้น้อยๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปาก จะทานก็ทานให้พอเหมาะ หรือจะพูดก็พูดให้พอดี ฉันใดฉันนั้น ในโลกโซเชียลนั้น ควรอ่านให้มาก การรีบโพสต์รีบแชร์ให้น้อย ต้องใช้สติตักเตือนตัวเองอยู่เสมอ เอวัง...
กำลังโหลดความคิดเห็น