xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญวาดงูเติมขา

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ภาษิตจีน “วาดงูเติมขา” หมายถึง เกินจำเป็น ดีเหมาะอยู่แล้วไม่พอยังคิดหาโน่นนี่ใส่ลงไปอีกจนล้น เกินพอดี สุดท้ายก็กลายเป็นพิลึกพิกลไปเสีย ร่างรัฐธรรมนูญก็เข้าอีหรอบนี้

กรรมาธิการหวังจะสร้างรัฐธรรมนูญที่เพิ่มพลังอำนาจของพลเมือง ดังที่ปรากฏในเอกสารเผยแพร่ที่ว่า สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่-อำนาจอธิปไตยของพลเมืองยังคงอยู่หลังหย่อนบัตร ซึ่งก็ยกร่างเนื้อหาส่วนนี้ได้ดีอย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะกลไกใหม่ที่จะเป็นอาวุธของประชาชนไว้ปกป้องตัวเองเช่นสมัชชาพลเมือง หรือสภาตรวจสอบภาคพลเมือง(71) แม้กระทั่งองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคฯ (60) หรือการสามารถขอข้อมูลติดตามตรวจสอบการใช้เงินของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีธุรกรรมกับหน่วยงานรัฐ (70)

สิ่งดีๆ ในรัฐธรรมนูญมีอีกเยอะ อย่างการเสนอกฎหมายเองของประชาชน เมื่อก่อนนักการเมืองเอาไปแช่ไว้ของใหม่กำหนดว่าต้องพิจารณาภายใน 180 วัน

การเพิ่มบทบาทและพลังอำนาจของภาคประชาชนพลเมืองมีมากกว่าเดิมแน่ แต่ก็ไม่แน่ว่าเพิ่มในระดับเอ บี หรือ ซี เพราะต้องดูรายละเอียดกฎหมายลูกอีกที หากเขียนให้สมัชชาพลเมืองเป็นแค่เวทีอภิปรายไร้สาระ ว่ากันเองครื้นเครงกันแต่พวกของตัวแทนไม่กี่คน ก็เหมือนกับการโยนท็อฟฟี่ให้กินไปตามประสาเพื่อจะได้ไม่มาสนใจการแบ่งเค้กของเวทีใหญ่ที่อำมาตย์ราชการผสานพ่อค้าเขาคิดทำ

ความคิดเรื่องการจัดสมดุลระหว่างกลุ่มพลังอำนาจต่างๆ นัยว่าเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองที่เราติดหล่มมายาวนานก็ดีเช่นกัน แต่ทว่าพอลงมือร่างจริงมันกลับไม่ดีเท่าที่คิด ขอกล่าวถึงจุดดีก่อน เช่น การอุดช่องโหว่เรื่องการใช้งบประมาณ เงินกู้นอกงบประมาณที่รัฐบาลศรีธนนไชยเคยทำ, การให้มีศาลปกครองว่าด้วยการวินัยการคลังและการใช้งบประมาณ, การห้ามอัยการดำรงตำแหน่งอื่น ฯลฯ แต่ที่ไม่เข้าท่าก็มีไม่น้อย บางอย่างนี่เกินจำเป็น เช่นอำนาจหน้าที่ของสมัชชาคุณธรรมที่น่ากังขาว่าพอลงมือปฏิบัติจริงมันคงเกะกะพิลึก จะเอาบรรทัดฐานไหนมาจับ และไม่ใช่แค่นักการเมืองหรอก การทำงานของฝ่ายประจำเองก็คงอึดอัดไม่น้อย บรรทัดฐานกฎหมายว่าหยุมหยิมเพิ่มแล้ว บรรทัดฐานศีลธรรมก็มาจับอีกชั้น

เนื้อหาโดยภาพรวม มันไม่ใช่การเติมดุลให้พลเมืองมีพลังขึ้นมาเท่าเทียมกับภาคนายทุนธุรกิจ ภาคนักการเมือง และภาคข้าราชการฝ่ายประจำเทคโนแครต เป็นพลังอำนาจที่สี่อย่างที่คาดไว้ (อ่าน เพิ่มอำนาจประชาชนลงใน รธน.ใหม่ ประกอบ)

หากแต่เป็นการออกแบบเติมดุลให้กับระบบราชการ/ฝ่ายประจำ/เทคโนแครต หรือที่ใช้ภาษาวิชาการเรียกว่า อำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity) ให้กลายเป็นพลังอำนาจหลัก มีอำนาจนำเหนือกว่าพลังอำนาจอื่น แม้กระทั่งพลังอำนาจของภาคพลเมืองที่ใช้เป็นข้ออ้างบังหน้าโฆษณา

ภาคส่วนที่เป็นพระเอกของร่างฉบับนี้ไม่ใช่ภาคพลเมืองหรอกครับ เป็นแค่พระรองแล้วไว้ใช้โปรโมทหนังตัวอย่าง พระเอกตัวจริงคือภาคราชการและฝ่ายประจำต่างหาก !

ซึ่งจะว่าไป นี่เป็นการออกแบบที่ออกจะขัดแย้งกันเองระหว่าง แนวคิดความเชื่อในพลังอำนาจสังคมแบบเปิดให้ประชาชนที่เข้มแข็งมาถ่วงดุล อาศัยเครือข่ายสื่อและข้อมูลเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจ กับ แนวคิดอำนาจพิเศษที่สถาปนาขึ้นมา จำกัดกรอบ ถ่วงดุล บังคับฝ่ายบริหารและนักการเมืองในรัฐสภาไม่ให้นอกลู่ ที่ไม่เข้ากันเลย

ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไร ?

ตอบว่า ไม่ได้ผิดหวังอะไรมากเพราะคาดว่าหน้าตาของร่างจะออกมาย้อนแย้งแนวนี้อยู่แล้ว ได้สนทนากับชาวต่างชาติจากกงสุลประเทศหนึ่งเมื่อต้นปี บอกเขาไปว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะย้อนแย้ง ด้านหนึ่งดีมากอีกด้านก็ไม่เข้าท่ามาก ...ผมเคยเขียนว่า “จะมีประเด็นแหลมๆ เรื่องที่ดีๆ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนอยู่ในนั้น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาสังคม แนวคิดใหม่ๆ แต่พร้อมกันนั้นก็อาจจะมีเรื่องไม่เข้าท่าของระบบที่เรียกว่าอำมาตยาธิปไตย Bureaucratic Polity ที่จะวางระบบให้อำนาจของฝ่ายพวกตนเข้าไปมีบทบาทนำในโครงสร้างการเมือง ซึ่งมันจะเป็นอะไรที่ย้อนแย้งมาก” (คลิกอ่าน: มองไปข้างหน้าฯ)

ที่ผิดหวังมากหน่อยคือกลไกการให้เปิดข้อมูลการเสียภาษีอากรมาประกอบการพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญซึ่งร่างรัฐธรรมนูญก็ระบุไว้ มองเผินๆ เหมือนก้าวหน้าเช่นให้ผู้สมัครส.ส.แสดงข้อมูลการเสียภาษีประกอบใบสมัคร ให้ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองและองค์กรตรวจสอบเปิดบัญชีทรัพย์สินพร้อมกับหลักฐานการเสียภาษี (รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าให้เปิดภาษีย้อนหลัง?)

ถ้าเป็นแบบนี้จริง มันไม่ได้อะไรครับ แค่ข้อมูลภาษีล่าสุดปีต่อปี ซึ่งนักการเมือง ทหาร ตำรวจ อำมาตย์ราชการ เทคโนแครตขี้โกง ก็สามารถตบตาแสร้งเป็นคนดีได้ !

แนวคิดการให้เปิดเผยข้อมูลภาษีที่แท้คือการให้สาธารณะได้เปรียบเทียบดูทรัพย์สินที่เขาถือก่อนดำรงตำแหน่งว่าได้มาอย่างถูกต้อง มีที่มาที่ไปหรือไม่ หรือว่าลักขโมยตบทรัพย์ชาวบ้านมา

ยกตัวอย่างเช่น นายเต้น (นามสมมติไม่เกี่ยวกับแกนนำคนไหน) เคยยากจนขนาดขับรถมือสองปุเลงๆ บ้านช่องไม่มี ใช้เวลา 10 ปีในฐานะนักการเมืองระดับกลางเจ้าหน้าที่พรรคเอย อะไรเอยซึ่งมีเงินเดือนระดับกลาง ๆ เพิ่งมาใหญ่โตตอนเป็นแกนนำม็อบ ต่อมาปรากฏว่ามีทรัพย์สมบัติเป็นห้าหกสิบล้าน ทั้งๆ ที่เจ้าตัวก็บอกว่าไม่เกี่ยวกับบริษัทรับเหมากับรัฐวิสาหกิจใหญ่ หากรัฐธรรมนูญให้นายเต้น (นามสมมติ) แสดงแค่การเสียภาษีปีล่าสุดก่อนยื่นสมัครส.ส. ก็หวานคอนายเต้นน่ะสิ ต่อให้บังคับให้แสดงการยื่นภาษีหลังพ้นตำแหน่งก็ยื่นไปตามจริง ก็ไม่ได้ย้อนไปพิสูจน์สมบัติมหาศาลที่ลอยมาจากไหนไม่รู้ที่ครอบครองอยู่แต่อย่างใด !??

เอ๊ะ ชักสงสัย ? เงื่อนไขการให้แสดงภาษีแบบไม่เอาจริงเหมือนจะเอื้อให้กับข้าราชการ ตำรวจ ทหาร เทคโนแครตที่จะเข้าไปมีตำแหน่งด้วยหรือเปล่า ? ไม่ใช่แค่เอื้อนักการเมืองหรอกนะ ...ผมคิดว่าถ้ากรรมาธิการ สนช. สปช. จริงใจจะยกระดับการเมืองใสสะอาดจริง ควรจะปรับแก้ไขในประเด็นนี้

คนที่คิดหวังเรื่องการปฏิรูปขอให้ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีเนื้อหาเรื่องปฏิรูปมากมายอย่างที่คาด ทั้งนี้ข้อเสนอแหลมๆ ทั้งหลายจากแหล่งต่างๆ รวมทั้ง สปช.ถูกนำไปรวมในหมวดว่าด้วยการปฏิรูปที่จะให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ บรรจุเรื่องเท่ๆ (แต่กินไม่ได้) เอาไว้มากมายในนั้น แล้วก็ให้ไประหกระเหินผจญวิบากกรรมกันเบื้องหน้าเอาเอง ไม่รู้ว่าจะหลุดรอดออกมาเป็นกฎหมายปฏิรูปจริงสักกี่เรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการกระจายอำนาจในระดับโครงสร้าง

ยังมีอีกเรื่อง... ผมไม่เข้าใจว่าเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้มีตำแหน่งยื่นแบบบัญชีทรัพย์สินพร้อมการเสียภาษีอากรต่อปปช. ตามมาตรา 247 ทำไมถึงให้เปิดต่อสาธารณะแค่ นายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว.และประธานองค์กรตรวจสอบ ไม่รวมบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองท้องถิ่น นายกเทศมนตรี นายกอบจ. อบต. เอาไว้ คนกลุ่มนี้ไม่ต้องให้เปิดต่อสาธารณะ – ไม่เข้าใจจริงๆ

คือถ้าอยากจะพัฒนาพื้นฐานประชาธิปไตยตั้งแต่รากฐาน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมาแล้วล่ะก็ ควรจะมีบทบัญญัตินี้ไว้เพื่อให้ชาวบ้านเขาได้ตรวจสอบตัวแทนของเขาสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาแต่ข้างล่าง

ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญนี้คงจะผ่านบังคับใช้ไม่มีสะดุดอะไรหรอก แต่คงใช้ไปได้สักสามปีห้าปีแล้วก็จะเกิดปัญหา อย่างไรเสียต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาสาระเพิ่มเติม เพราะการออกแบบการเมืองลักษณะนี้มีเพื่อความมั่นคงสงบเรียบในระยะสั้น อาจจะเหมาะกับสภาพหลังวิกฤตการเมืองความแตกแยกรุนแรง

มองโจทย์ใหญ่ไปที่ปัญหาเบื้องหลัง แต่ไม่ได้มองปัญหาเบื้องหน้า !

ระบบเช่นนี้มีแนวโน้มสูงจะเป็นปัญหาต่อพัฒนาการทางการเมืองในระยะยาว!


คือหากเราออกแบบให้พลังของภาคประชาชนพลเมืองเข้มแข็งเป็นพระเอก มีเวทีมีงบประมาณพอเหมาะให้คล่องตัวเช่นสมัชชาพลเมือง, สภาตรวจสอบของพลเมือง ฯลฯ และให้องค์กรอิสระของภาครัฐเป็นผู้ช่วยพระเอกให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลได้จริง พรรคการเมืองและนักการเมืองก็จะถูกบีบให้ลด/ละความเฉโกคดโกงลง หากมีระบบไพรมารี่ได้ก็จะลดบทบาทอิทธิพลของนายทุนหัวหน้าพรรคลง มีกลไกตรวจสอบข้างเคียงที่เข้มแข็งขึ้น พัฒนาการทางการเมืองของเราจะมีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะมุ่งไปในทิศทางใด พลังอำนาจของประชาชนจะเข้าไปแทนที่อำนาจของนายทุนเจ้าของพรรค พรรคการเมืองจะเป็นพื้นที่ของประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์มากขึ้น แล้วก็ไปต่อรองกันในรัฐสภา

แต่หากเราออกแบบให้มีพื้นที่ต่อรองทางอำนาจแบบร่างรัฐธรรมนูญนี้กำหนด รัฐสภาไม่ใช่พื้นที่ต่อรองทางอำนาจหลักแค่พื้นที่เดียว ช่องทางมีส่วนร่วมและแสดงของภาคประชาชนพลเมืองแสดงผ่านสภาของตัวเอง ผู้มีอิทธิพลจากระบบราชการก็มีช่องทางของตน การพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ และพัฒนาการของประชาธิปไตยแบบรัฐสภาซึ่งมีพรรคการเมือง(ของประชาชน)เป็นองค์กรเล่นหลักก็จะขาดช่วงไป เพราะรัฐธรรมนูญนี้ออกแบบบอนไซพรรคการเมืองเป็นสำคัญ (ระบบเลือกตั้งมีเพดานเสียงข้างมากต้องเป็นพรรคผสม,ไพรมารี่แบบบังคับทำไม่ใช่ประชาชนเจ้าของพรรคร่วมผลัก, พรรคการเมืองไม่จูงใจพลังของประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์เพราะมีช่องทางอื่น, การนำเสนอและสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะไม่ได้เป็นแรงจูงใจต่อการเลือกตั้งมากในฐานะปัจจัยหลัก)

การออกแบบเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองเป็นพรรคส่วนตัว ไปฉ้อฉลอะไรก็ทำไป เป็นเรื่องที่ดี แต่หากเลยเถิดไปถึงขั้นไม่ให้โต ก็เท่ากับตัดตอนพัฒนาการของระบบรัฐสภาแบบพรรคการเมืองของประชาชนจริงๆ ไปเสียด้วย ซึ่งนี่จะอันตรายมากในระยะยาว

ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เพื่อประโยชน์ชนชั้นนั้น !

นักการเมือง+พรรคการเมืองน่ะเลวร้ายไม่เข้าท่า เราท่านก็เห็น ผมก็ยอมรับ

แต่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เทคโนแครต หรืออภินายทุน (ที่ไม่ว่ารัฐบาลใดขึ้นมาตัวเองก็ยังมีอิทธิพลเหนือน่ะ) ก็เลวร้ายไม่แพ้กัน และที่ผ่านมาราชการกับนักการเมืองนายทุนก็สมคบกันมาตลอดด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ต่างพวกกันเสียที่ไหน

ผลประโยชน์ของระบบราชการรวมศูนย์แยกไม่ออกกับฝ่ายการเมืองและทุนการเมือง ซึ่งหากจำแนกให้ถึงที่สุด มันเป็นคนละเรื่องกับประโยชน์โดยรวมของประชาชน!

ต้องอย่าลืมนะครับ ระบบราชการก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์หนึ่งในสังคมประชาธิปไตยอันซับซ้อน....ระบบอันใหญ่โตรวมศูนย์ยาวนานมีผลประโยชน์ให้ตักตวงมากมาย สังคมได้รับรู้ครั้งแล้วครั้งเล่าผู้นำหน่วยราชการมีรายได้มากมายจากไหนไม่รู้ ทำราชการ กับทำการเมือง จู่ๆ ก็รวยขึ้นมาได้ไม่แพ้กัน เราจะมองว่าระบบราชการเป็นที่พึ่งอันคาดหวังได้ว่าจะไปคานอำนาจและถ่วงดุลการโกงกินของนักการเมืองกับพ่อค้าไม่ได้ เพราะฝันหวานโลกสวยแบบนี้เป็นฝันที่ทำให้ประเทศล่มจมในบั้นปลาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น