xs
xsm
sm
md
lg

“บรรเจิด” ชี้โจทย์สำคัญ 6 ข้อในการร่างรัฐธรรมนูญ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - “ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ” คณบดีนิติศาสตร์ นิด้า ชี้โจทย์ 6 ข้อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่ให้เกิดระบบพรรคการเมืองนายทุนในรัฐสภา เน้นเจตนารมณ์ของภาคประชาชนปลายปี 2556 อยู่ที่การมีส่วนร่วมในปฏิรูป เสนอออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญคู่ขนานไปกับร่างรัฐธรรมนูญ คาดใช้เวลา 3-5 ปี รวมทั้งออกแบบให้ที่ประชุมสมัชชาภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมิให้ระบบราชการครอบงำการปฏิรูป

คลิปเจาะข่าววงใน สัมภาษณ์พิเศษ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีนิติศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


หลังจาก คสช. kick Off เส้นทางสู่การปฏิรูปประเทศไทยที่เดินตามโรดแมปเฟสสองเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “เจาะข่าววงใน” ในประเด็นการออกแบบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ต้องตีโจทย์สำคัญ 6 ประการ คือ

1. ทำอย่างไรไม่ให้เกิดระบอบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภาแห่งเดียวในโลก ที่ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า เกิดจากทุนพรรคการเมืองบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ผูกกับมติพรรคและสส.ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อได้อำนาจรัฐแล้วก็ถอนทุนกลับ เป็นที่มาของธุรกิจทางการเมือง

2. จะออกแบบอย่างไรที่จะส่งเสริมให้เกิดพรรคการเมืองของประชาชน ไม่ใช่พรรคของทุนเจ้าของพรรค ที่ได้ประโยชน์ตลอดจากรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2517, 2522, 2534, 2540 และ 2550

3. ทำอย่างไรให้มีตัวแทนผลประโยชน์หลากหลายเข้าสู่สภา ให้เป็นการออกแบบประชาธิปไตยตามสภาพสังคมวิทยาของไทย

4. ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไรไม่ให้กลุ่มทุนใช้นโยบายประชานิยม ที่ก่อผลเสียหายทางวินัยการเงินการคลัง และก่อปัญหาหนี้สาธารณะภาครัฐ

5. ต้องออกแบบระบบตรวจสอบและควบคุม ถอดถอนให้มีประสิทธิภาพ จะต้องมีคณะกรรมการจริยธรรมนักการเมืองผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยความผิดและส่งต่อไปที่ศาลฎีกา

6. ทำอย่างไรที่จะเพิ่มพลังการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง ให้เกิดภาคประชาสังคมที่เป็นจริง โดยวางหลักนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ

ส่วนโรดแมปเส้นทางสู่การปฏิรูป ดร.บรรเจิดชี้ว่า เฟสแรกของการปฏิรูปประเทศในช่วง 1 ปีอาจจะทำไม่ทัน จะได้แค่โครงสร้างทางการเมือง และเฟสสองต้องใช้เวลา 2-5 ปี ทำทั้งเรื่องวางหลักในรัฐธรรมนูญใหม่ และ ออกกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน ที่เป็น fast track เน้นภาคปฏิบัติด้านกระบวนการยุติธรรมและจริยธรรม

“ผมคิดว่าประชาชนต้องเข้ามาร่วมทันทีหลังจากมีสภาปฏิรูปแล้ว จะต้องช่วยกันบอกทิศทาง มิฉะนั้นแล้ว ผมคิดว่าระบบราชการจะครอบงำการปฏิรูปถ้าประชาชนไม่เข้ามา จึงเป็นเรื่องสำคัญ ผมมองว่า 82 ปีจนถึงวันนี้ นี่เป็นโอกาสสำคัญที่มีส่วนจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ประชาชนต้องมีบทบาทหลัก กระบวนการปฎิรูปไม่สามารถปิดเฉพาะข้าราชการประจำได้ เพราะประชาชนคือเจ้าของที่แท้จริงของประเทศ”

ตามโรดแมปที่ คสช.วางไว้ ได้กำหนดจะให้มีการเลือกตั้งหลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เรียบร้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนว่าจะสามารถทำได้สำเร็จตามเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่ หลังจากนั้นจึงจะมีการเลือกตั้งหลังจากรัฐธรรมนูญถาวรวางระบบและองค์กร ตลอดจนหลักการสำคัญที่วางเงื่อนไขว่าจะแก้รัฐธรรมนูญครั้งใหม่ได้ต้องถูกใช้ไประยะหนึ่งก่อน

ดร.บรรเจิดยังชี้ว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลายเรื่องต้องทำคู่ขนานไปกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะที่ผ่านมาหลายครั้งทำไม่สำเร็จผลเพราะรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว ไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้ต้องดูเป็นแพคเกจ จัดลำดับความสำคัญ เช่นกฎหมายเลือกตั้งต้องออกมาเลย และกฎหมายอย่างอื่นที่สำคัญต้องออกมาใน 3-5 เดือน

นอกจากนี้ ดร.บรรเจิดได้ชี้ให้เห็นว่า ต้องสรุปบทเรียนในสองทศวรรษว่า การสร้างองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนและให้คนมาทำงานองค์กร ไม่ควรติดกับตัวบุคคล กลายเป็นปัญหาการออกแบบขององค์กรภาคประชาชน เช่น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ล้มเหลวสิ้นเปลืองงบประมาณ และ คสช.ได้ยุบไปแต่ต้น

ดร.บรรเจิดเน้นว่ากระบวนการปฏิรูปต้องให้การศึกษาภาคประชาชนควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่ในความหมายเดิมของสภาพัฒนาการเมือง แต่เป็นเรื่องกระบวนการ social movement ที่เกี่ยวโยงกับชุมชนท้องถิ่น การกระจายอำนาจสู่ประชาชน ไม่ใช่มาที่นักการเมืองท้องถิ่น

“การที่ประชาชนออกมามืดฟ้ามัวดินเมื่อปลายปี 2556 ก็เพื่อเจตนารมณ์ต้องการปฏิรูป เมื่อมันถูกริเริ่มโดยประชาชน ก็ต้องสานต่อ และขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐจะเปิดกว้างรับฟังและก่อให้เกิดบรรยากาศการปฏิรูป ต้องรับฟังความหลากหลายและภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาบอกความต้องการ นี่คือบรรยากาศการปฏิรูปครั้งใหญ่”


กำลังโหลดความคิดเห็น