xs
xsm
sm
md
lg

กฎอัยการศึกกับคำสั่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

ตามเสียงเรียกร้องของหลายฝ่าย ทั้งนักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และบรรดาตัวแทนจากต่างประเทศ และอาจจะรวมถึงฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและ คสช.ด้วย ในที่สุด ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กราบบังคมทูลและมีประกาศพระบรมราชโองการให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรแล้ว เมื่อค่ำวานนี้ (1 เมษายน 2558)

ตามด้วยการประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เพื่อนำมาใช้แทนกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ตามที่ได้เกริ่นนำไว้ก่อนหน้านี้ประมาณหนึ่งสัปดาห์

สรุปสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว มีว่า ให้ทหารชั้นสัญญาบัตร เป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” และชั้นรองลงมาให้เป็น “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” (คำสั่งข้อ 2)

เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยดังกล่าวมีหน้าที่ดําเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทําอันเป็นความผิด 4 เรื่อง คือ (1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งรวมถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย (2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร (3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และสุดท้าย (4) ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช.หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. (คำสั่งข้อ 3)

ทั้งนี้ เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ด้วย ตามคำสั่งข้อ 8 ซึ่งก็มีอำนาจเรียก จับ ควบคุมตัวผู้กระทำผิดดังกล่าว รวมถึงการค้นเคหสถาน ค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ รวมทั้งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบก็ได้ (คำสั่งข้อ 4) และมีอำนาจควบคุมตัวไว้สอบปากคำได้ไม่เกิน 7 วัน โดยต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่น ที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา (คำสั่งข้อ 6) จับแล้วก็มีอำนาจให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ รวมถึงการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน ได้ด้วยตาม (คำสั่งข้อ 11)

นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวได้คุ้มครองเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยฯ ที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ก็ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งหรือทางอาญาเป็นการส่วนตัว แต่ถ้าใครได้รับความเสียหาย ก็ไปเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้ (คำสั่งข้อ 14) และไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง รวมทั้งไม่สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ (คำสั่งข้อ 13)

นอกจากนี้คำสั่งดังกล่าวยังกำหนดโทษไว้ด้วยว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (คำสั่งข้อ 9) กรณีต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (คำสั่งข้อ 10)

ห้ามการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองกันมากกว่า 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแต่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัว ให้ถือว่าคดีเลิกกันได้ ซึ่งอันนี้มาจากหลักการเรื่องการ “ปรับทัศนคติ” ที่กระทำกันมาก่อนหน้า แต่คราวนี้ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั่นเอง (คำสั่งข้อ 12)

ส่วนที่อาจจะกระทบกับสื่อมวลชนบ้าง คือ คำสั่งข้อที่ 5 ว่า กรณีมีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว จำหน่าย หรือแพร่หลายหนังสือ หรือสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยอาจกำหนดเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามคำสั่งด้วยก็ได้ และทั้งนี้อาจจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในเรื่องนี้ออกมาได้ในภายหลัง

พูดง่ายๆ คือให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจในการเซ็นเซอร์ข่าวจากสื่อต่างๆ นั่นเอง

หากพิจารณาคำสั่งใหม่ตามมาตรา 44 แล้ว ก็จะเห็นว่า มันคือการนำเอากฎอัยการศึกข้อจำเป็นมาผสมเข้ากับประกาศ คสช.ฉบับต่างๆ (เช่นเรื่องห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง การกำกับดูแลการนำเสนอข่าวของสื่อ ฯลฯ) และนำเอาหลักการที่ปฏิบัติอยู่แล้วก่อนหน้านี้ เช่นการปรับทัศนคติ มาบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเทียบเท่ากับกฎหมาย (เพราะเป็นการใช้อำนาจอย่างอำนาจนิติบัญญัติที่ใช้ผ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 44 โดยอำนาจของหัวหน้า คสช.)

ซึ่งน่าจะผ่านการคิดของนักกฎหมาย คสช.มาแล้วว่า วิธีนี้เป็นการยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ก็ยังให้ “ยักษ์” ยังมีกระบองอยู่ในมือได้เพียงพอต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันเหตุในการป่วนต่างๆ ได้ไม่แพ้กัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอดรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีประเด็นแหลมคมจำนวนมากถูกปล่อยออกมาให้ตบตีกัน เริ่มตั้งแต่หลังสงกรานต์นี้เป็นต้นไป

หลายประเด็นก็อาจจะเรียกแขก เรียกการชุมนุมได้ เช่น เรื่อง ส.ว.จากการสรรหา หรือนายกฯ ที่ไม่ต้องเป็น ส.ส.ถ้าเลิกกฎอัยการศึกไปเสียเฉยๆ ไม่มีอะไรรองรับเอาเสียเลยเห็นจะวุ่นวายหรือเปิดช่องให้อีกฝ่ายเข้ามาเรียกร้องความสนใจได้ เพราะพวกเขาหาช่องกันอยู่แล้ว

ส่วนว่าจะได้ผลในแง่ของการทำให้ต่างชาติพอลดความกังวล หรือกระตุ้นการท่องเที่ยวได้จริงหรือไม่ และนำมาใช้แก้ปัญหาคาราคาซังเช่นกรมการบินพลเรือนไทยสอบตกมาตรฐาน ICAO หรือไม่ ก็เป็นเรื่องต้องจับตาดูกันต่อไป

หรืออาจจะอาศัยชี้วัดจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งช่วงสองสามวันนี้รีบาวด์ขึ้นมารับข่าวดีเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึกก็อาจจะได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น