xs
xsm
sm
md
lg

Alone in Tokyo ๑.๓ : ยังกับหลุดไปในยุคเอโดะ!!

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

**บทความนี้ ไม่ใช่การรีวิว ,ไกด์บุ๊ก หรือ กูรู เป็นเพียงการเล่าประสบการณ์ในสิ่งที่เห็นและสัมผัส หากท่านผู้อ่านมีข้อมูลเสริมสามารถร่วมกันแชร์ได้ผ่านช่องทางแสดงความคิดเห็นด้านล่าง และขอให้สนุกกับการเดินทางไปด้วยกัน **

ความเดิมตอนที่แล้ว อ่าน
Alone in Tokyo ๑.๐: สู่ดินแดนอาทิตย์อุทัย
Alone in Tokyo ๑.๑: ฟูจิซังไกลลิบๆ ที่ภูเขาทะคะโอะ
Alone in Tokyo ๑.๒ : สึคึจิ ตลาดปลา ใครเขาก็มากัน

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ สถานีรถไฟโตเอย์ คิโยะสุมิ ชิระคะวะ กรุงโตเกียว

รถไฟสายฮันโซะมน (Hanzomon) สีม่วง พามาถึงเขตชิระคะวะ แถวนี้มีสวนสาธารณะที่น่าสนใจอย่างคิโยะสุมิ แต่นั่นไม่ใช่จุดหมายของผมครับ ...

ผมเดินออกมาจากสถานีตามทางออก เอ ๓ ไปเรื่อยๆ จนถึง ๓ แยก ก็เห็นเสาไฟรูปร่างแปลกๆ เสมือนหอคอยจำลอง พลางมองแผนที่ที่ทำเอาไว้ ... แล้วคาดคะเนว่า ใช่แล้ว เนี่ยล่ะคือซอยทางเข้าของสถานที่ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก อย่าง พิพิธภัณฑ์ฟุคะงะวะ เอโดะ (Fukagawa Edo museum) แน่นอน และเมื่อเดินไปไม่ไกลนักก็ถึง

ว่าแต่มันมีอะไรดีขนาดทำให้ผมต้องบรรจุในแผนด้วย..

ด้านนอกของพิพิธภัณฑ์ดูเหมือนเป็นอาคารสำนักงานธรรมดา มีแค่ป้ายชื่อเล็กๆ บอก ถ้าไม่สังเกตุก็ไม่เห็น ภายในทางเข้าก็มีเรื่องราวของซูโม่เต็มไปหมด ดูไม่ออกเลยว่าทางเข้าอยู่ตรงไหน และเป็นพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ประจำโต๊ะประชาสัมพันธ์ทักขึ้นมา ถึงรู้ว่า เออ มาถูกที่แล้ว ... เสียเงินค่าเข้า ๔๐๐ เยน ได้สูจิบัตร พร้อมตั๋ว แล้วเธอก็ชี้ทางเข้าให้เราได้ทราบ

พิพิธภัณฑ์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๙ ให้เป็นศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมชุมชน เมืองโคะโตะ (Koto city) โดยสร้างเมืองจำลองขึ้นมาให้คล้ายกับเราหลงเข้าไปอยู่ในเมือง ฟุคะงะวะ-ซะงะ (Fukagawa - Saga) ในยุคการปฏิรูปปีเทมโปะ (Tenpo – no - kaikaku) เมื่อพ.ศ.๒๓๗๓ - ๒๓๘๖ ก่อนสิ้นสมัยเอโดะ ซึ่งเปิดให้ชมตั้งแต่ ๙.๓๐ - ๑๗.๐๐ น. ทุกวันเว้นวันจันทร์ที่ ๒ และ ๔ ของเดือน ด้านหน้าทางเข้ามีนิทรรศการแนะนำประวัติความเป็นมาของเมืองและบุคคลสำคัญ อย่าง มัตสึไดระ ซะดะโนะบุ ไดเมียวแห่งแคว้นชิระคะวะ (Shirakawa) มีภาพวาดบ้านเรือนและพื้นที่ริมน้ำ ซึ่งแถวนี้ในสมัยก่อนถือเป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง

ระหว่างเดินจนจะถึงประตูทางออกไปสู่เมืองจำลอง ผมก็ได้ยินเสียงแมวร้องเป็นระยะๆ ตอนแรกก็สงสัยพอฟังไปเรื่อย อ่อ แมวเทปนี่เอง ต้นเสียงของมันอยู่บนหลังคาของบ้านหลังหนึ่ง มีแมวใส่ถ่านกำลังผงกหัว หันซ้ายขวาเหมือนจริง แล้วบรรยากาศนี่โคตรจะวังเวงราวกับเป็นเมืองร้าง แถมด้วยไฟสลัวๆ ของแสงที่ส่อง ภาพเบื้องหน้าที่เห็นคือหมู่บ้านย่อมๆ ประมาณ ๑๐ หลังคาได้ กำลังจะเดินลงบันไดเข้าไปยังเมืองแห่งนี้ครับ ...

เอาล่ะครับท่านผู้ชม ผมกำลังเดินเข้ามาสู่หมู่บ้านร้างที่เขาลือกันว่ามีผู้คน... เดี๋ยวๆๆ ไม่ใช่รายการล่าผี

ความรู้สึกเมื่อลงมาถึงเหมือนผมกำลังย้อนไปอยู่ในยุคนั้นจริงๆ ครับ เรือนต่างๆ ตกแต่งเสมือนจริง ฝั่งซ้ายจะเป็นอาคาร ๒ ชั้น ค้าส่งน้ำมันตะเกียง และปลาแห้ง แต่เข้าไปไม่ได้ ส่วนด้านขวามือเป็นร้านขายผัก ที่เรียกว่า เยาชิน (Yao-shin) ก็มีผักปลอมวางเรียงรายอยู่เต็มแผง ด้านหลังมีตู้เก็บของ และช่องใส่เงินด้วย ผมไม่กล้าๆ กลัวๆ เดินเข้าไปชมภายในอาคารดีหรือไม่ จนเจอคุณลุงไกด์เดินเข้ามา แกบอกว่า เดินเข้าไปชมได้เลย โอ้ ... สวรรค์เปิด นอกจากนั้นผมยังสามารถเปิดลิ้นชัก หยิบอุปกรณ์ต่างๆ มาดูได้ด้วย พอเสร็จร้านนี้คุณลุงก็พาผมไปดูบ้านหลังต่อไป

คุณลุงเองก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เท่าไหร่ วิธีการสื่อสารกับผมก็คือ แกจะมีหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งบรรยายสิ่งของต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ เวลาผมเจออะไรประหลาดๆ ก็จะชี้แกก็จะพลิกดูในหนังสือแล้วบอกเรา ผมเองก็สนุกดี เพราะบางสิ่งที่ผมเห็นมันคล้ายกับวัฒนธรรมบ้านเรา ผมก็จะเล่าให้เขาฟังว่า ไอ้อย่างงี้ที่สยามก็มีนะ เช่น การตำข้าวด้วยการใช้แรงเหยียบไม้ให้ตำ

ในหมู่บ้านนี้จะแบ่งเป็น ๓ โซนครับ โซนร้านค้า นอกจากที่ว่าไปแล้วก็มี ร้านขายข้าว คะซูสะ ย่ะ (Kazusa-ya) และยุงฉ้าง มีอุปกรณ์การทำอาหาร ด้านในเป็นห้องมีเสื้อ ตู้ ของใช้ ไปจนถึงหิ้งวางวัตถุมงคลไว้บูชา โซนต่อมาคือท่าเรือ จำลองบ้านชาวประมงริมแม่น้ำสุมิดะ ก็มีอุปกรณ์การทำประมงแทบทุกอย่าง แม้กระทั่งเสื้อกันฝนที่ทำมาจากไม้ และโซนสุดท้ายก็คือบ้านพัก ผมชอบที่เขาใส่รายละเอียดไว้แทบทุกอย่าง ห้องส้วมก็ยังมีแสดงให้ดูว่า สมัยก่อนอึกันผ่านช่องเล็กๆ มีแค่ฉากกั้น ...

ผมเดินสำรวจจนทั่วคุณลุงไกด์ก็ขอตัวแยกย้าย แกบริการดีมาก ยิ้มแย้มอยู่กับผมตลอด ให้ถ่ายรูปก็ได้ ผมนี่แบบ อยากให้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์บ้านเราเป็นอย่างนี้จริงๆ ผมว่าที่นี่นอกจากจะเหมาะกับคนที่ชอบประวัติศาสตร์แล้ว ใครที่อยากถ่ายรูปแนวย้อนยุคผมขอแนะนำเลยล่ะ ... พอหลุดโซนหมู่บ้านก็จะเข้าสู่ห้องนิทรรศการ ใครจะเดินชมหรือนั่งพักก็ตามสะดวก ส่วนผมมองๆ ดูแล้วก็ขึ้นบันไดไปสู่โลกภายนอก ซึ่งด้านนอกนี้จะเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับซูโม่ เท่าที่ทราบคือ เมืองโคะโตะ นี้ถือเป็นแหล่งพักพิงสุดท้ายของบรรดาซูโม่ที่มีชื่อเสียงเมื่อวายปราน หลายๆ วัดจึงมีสุสานของพวกเขาให้คนเคารพระลึกถึง

ระหว่างออกจากพิพิธภัณฑ์กลับมาที่สถานีรถไฟผมเจอบ้านหลัง ๑ สไตล์ญี่ปุ่น แต่เอ๊ะ ทำไมหน้าบ้านมีสัญลักษณ์รูปผู้ชายกับผู้หญิงอยู่ข้างหน้า ... เฮ้ย นั่นไม่ใช่บ้าน แต่เป็นห้องน้ำต่างหาก ... ย่องเข้ามาดูภายในมีโถฉี่ อ่างล้างมือ และโถส้วม ๑ โถ แต่เป็นแบบคลาสสิค คือ นั่งยองๆ วิธีนั่งให้หันหน้าเข้าหาฝั่งที่กดน้ำ ไม่ได้เหมือนบ้านเราที่หันก้นให้ ผมไม่ได้ลองใช้หรอกนะครับ ฮ่าๆๆๆ

*ดูของเก่ากับเรื่องราวโตเกียว ที่พิพิธภัณฑ์เอโดะ-โตเกียว

จากสถานีรถไฟเดิมผมนั่งสายโอะเอะโดะสีม่วงไปลงที่สถานี เรียวโงะขุ เพื่อเข้าสู่พิพิธภัณฑ์อีกแห่ง ๑ ที่สำคัญ เขาว่า ถ้าให้เที่ยวอย่างสนุกมาเมืองไหนก็ควรที่จะรู้จักความเป็นมาของเมืองนั้นบ้าง มันจึงเป็นเหตุให้ผมต้องมาเยือนที่นี่ พิพิธภัณฑ์เอโดะ-โตเกียว (Edo-Tokyo Museum) ...

ก่อนที่จะเข้าไปข้างในเราต้องซื้อตั๋วก่อนครับ ค่าบัตรอยู่ที่ ๖๐๐ เยน แต่เดี๋ยวก่อน!! เราสามารถจ่ายได้ถูกกว่านั้นครับ ผมทราบมาว่าแผนที่เมืองโตเกียว ชุด โตเกียว แฮนดี้ ไกด์ ขององค์การท่องเที่ยวแห่งกรุงโตเกียว นี่นอกจากจะเป็นไกด์บุ๊กย่อมๆ ให้กับนักท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถใช้ลดราคาสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งทั้งพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ หรือสวนสาธารณะด้วย เพียงแค่โชว์ให้เจ้าหน้าที่ขายตั๋วดู อย่างผมนี่จ่ายในราคาเด็ก แค่ ๔๘๐ เยนเท่านั้น

พิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้เข้าชมเมื่อปี ๒๕๓๖ เพื่อให้ประชาชนศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมือง แน่นอนล่ะคนโง่ๆ อังกฤษอย่างผมคงได้แค่เข้าไปดูสิ่งของอย่างเดียว ฮ่าๆๆ โดยคนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๗.๓๐ น.เว้นวันจันทร์ แต่ผมถือว่าโชคดีมากครับ เพราะไปก่อนที่เขาจะปิดซ่อมแซมครั้งใหญ่ในวันที่ ๑ ธันวาคม โดยจะเปิดให้เข้าชมอีกครั้งก็โน้นเลย ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘ โดยชั้น ๑ จะมีนิทรรศการพิเศษแล้วแต่เขาจะจัด ส่วนชั้น ๕ - ๖ จะเป็นนิทรรศการประจำ ของจำลอง ของจริงอยู่ในนี้

สิ่งที่ผมรู้สึกว่า เฮ้ย!! แค่อย่างแรกเมื่อมาถึงก็คือ ที่รับฝากร่มครับ เขาจะมีช่องรูๆๆๆ เหมือนล๊อกเกอร์ให้เอาร่มเสียบแล้วไขกุญแจล๊อกเอาไว้ ก็แปลกดีเหมือนกัน... พอขึ้นไปสู่ชั้น ๖ ก็จะพบกับสะพานนิฮมบาชิ แบบจำลองเท่าขนาดของจริงให้เราเดินข้ามฝั่งไปสู่โซนจัดแสดงแรกที่รวบรวมความเป็นมาของเมืองเอโดะ ตรงนี้จะมีป้ายอธิบายเรื่องราวต่างๆ พร้อมกับมองบรรยากาศ สิ่งก่อสร้างใต้สะพาน ทั้งอาคารแสดงคาบูกิ ตึกสมัยใหม่ เมื่อเราพร้อมแล้ว ก็ข้ามสะพานไปสู่ยุคเอโดะกันครับ


สิ่งแรกที่เราจะพบก็คือสะพานขนาดย่อส่วนพร้อมบ้านเรือนแบบโบราณ ซึ่งมีหุ่นตุ๊กตาคนสมัยก่อนหลากหลายรูปแบบแสดงอากัปกิริยาต่างๆ อยู่ในตู้กระจก ผมเดาว่าน่าจะเป็นเรื่องราวของสะพานนิฮมบาชิ นำแบบมาจากภาพวาด คิได โชรัน (Kidai Shoran) ซึ่งแสดงวิถีของคนสมัยนั้นมาสร้าง ทำให้มองภาพคนในยุคเอโดะได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตุ๊กตาแต่ละตัวดูเสมือนคนจริงๆ ย่อส่วนมาก ตรงนี้ผมพยายามเพ่งมองดูกิจกรรมของผู้คนแล้วก็รู้สึกสนุกดีเหมือนกัน

จริงๆ แล้วพอออกจากสะพานเขาให้เดินไปทางซ้ายก่อน แต่ผมไม่ทราบ เห็นในตู้มันโดดเด่นกว่าเลยแวะเข้ามา ว่าแล้วก็เดินวนไปดูซะหน่อย ตรงนั้นคือแบบจำลองคฤหาสน์ไม้สมัยก่อนที่ใหญ่โตและหรูหรามาก ซึ่งน่าจะเป็นของผู้บริหารระดับสูงของประเทศ (อันนี้ผมไม่ได้สังเกตุเห็นที่ป้าย) ... ตรงจุดนี้ยังมีภาพวาดแผนที่เมืองเอโดะแต่ละสมัย ให้เดินชมกันผ่านตู้กระจก แต่ที่ผมเห็นแล้วรู้สึกอึ้งไปเลยก็คือ ... ลายมือของโชกุนคนแรกแห่งเมืองนามว่า อิเอะยะสุ โทกุงะวะ (Ieyasu Tokugawa) ที่เขียนไว้ตั้งแต่เป็นไดเมียวเมื่อ พ.ศ.๒๑๒๗ หรือราว ๔๐๐ กว่าปีที่แล้ว ... แต่เขียนว่าอะไรนี่เขาไม่ได้มีบรรยายเป็นภาษาอังกฤษให้อ่านแหะ ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ผมเห็นจะเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งนั้นเลย

ว่าแต่ เขามีความสำคัญอะไรกับที่นี่ ... ใครหลายคนที่ไม่ทราบประวัติศาสตร์คงสงสัยเฉกเช่นผมแน่ๆ ... ถ้าจะบอกว่าเขาเนี่ยล่ะคือ ๑ ในผู้ที่ทำให้ญี่ปุ่นรวมชาติก็คงไม่ผิดนัก ในอดีตเขาคือเจ้าเมืองแห่งแคว้นมิกะวะ ได้ร่วมมือกับ โนะบุนะงะ โอะดะ (Oda Nobunaga) เจ้าเมืองแคว้นโอะวะริ ผู้ที่ประกาศจะรวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียว ทำสงครามปราบปรามเมืองต่างๆ จน โอะดะ ได้ขึ้นสู่อำนาจ ใน พ.ศ.๒๑๑๖ ยุคอะซุจิ - โมะโมะยะมะ (Azuchi–Momoyama) ต่อมา โอะดะ เสียชีวิตในวัดฮนโนะ (Honnoji) ฮิเดะโยะชิ โทะโยะโตะมิ (Toyotomi Hideyoshi) ไดเมียวแคว้นโอะมิ ผู้เป็นบ่าวได้กลับมาช่วยนายล้างแค้น ก่อนจะตั้งตนเป็นใหญ่ สร้างปราสาทโอซาก้า และสืบทอดเจตนารมย์รวมประเทศได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๑๓๓ ซึ่งในปีนี้ที่กรุงศรีอโยธยา สมเด็จพระนเรศวร ขึ้นครองราชย์

ในปีนี้เองเจ้าของปราสาทโอซาก้า ได้ให้ อิเอะยะสุ ไปปกครองในพื้นที่แถบดินแดนคันโตะ นั่นทำให้เขาเข้ามาอยู่ในปราสาทเอโดะ และเมื่อ ฮิเดะโยะชิ เสียชีวิตลง จึงเกิดการแย่งชิงอำนาจและสงครามยุทธการเซะกิงะฮะระ ซึ่งในครั้งนี้ อิเอะยะสุ ได้รับชัยชนะ และกลายเป็นโชกุนผู้ปกครองญี่ปุ่นในยุคที่ชื่อว่า เอโดะ และใช้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการปกครอง ในพ.ศ.๒๑๔๖ ซึ่งตระกูลโทกุงะวะ ก็มีอำนาจอยู่ถึงราว ๒๕๐ ปี ในยุคนี้ก็ได้มีการต่อเรือสำเภาตราแดงให้พ่อค้ามาค้าขายกับดินแดนสุวรรณภูมิด้วย

ภายหลังจากที่อิเอะยะสุ เสียชีวิต ก็ได้มีการออกกฎหมายซันคิง-โคไต ให้ไดเมียวทุกแคว้นเข้ามาพำนักในเอโดะ ๑ ปีสลับกับกลับแคว้นตัวเอง และก็ได้ออกนโยบายปิดประเทศ นั่นทำให้ญี่ปุ่นถูกแช่แข็งคงสภาพเดิมมาถึง ๒๐๐ ปี จนกระทั่งการเข้ามาของสหรัฐอเมริกา ที่นำเรือรบมาบีบเอโดะให้ทำสนธิสัญญาเปิดประเทศ จนเกิดความขัดแย้งระหว่างราชสำนัก โดยสมเด็จพระจักรพรรดิโคเม ที่ได้ใช้โอกาสซึ่งประชาชนไม่พอใจต่อชาวต่างชาติ แสดงพระราชอำนาจ ในการตั้งตราพระราชโองการขับไล่คนป่าเถื่อน แต่รัฐบาลโชกุนอิเอะโมะจิ (Tokugawa iemochi) ปฏิเสธ และต่อมาก็มีความขัดแย้งเรื่อยๆ ระหว่างมหาอำนาจ,แคว้น และรัฐบาล

ในพ.ศ.๒๔๐๙ โชกุนอิเอะโมะจิ ได้เสียชีวิต และถัดในอีกปี สมเด็จพระจักรพรรดิโคเม ได้เสด็จสวรรคต สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ จึงขึ้นครองราชย์ ในสมัยนี้ โชกุนโยะชิโนะบุ ได้ขึ้นมามีอำนาจ และเขาก็คือโชกุนคนสุดท้ายของญี่ปุ่น เมื่อแคว้นต่างๆ ได้ร่วมมือกันโค่นล้มโดยอ้างการคืนพระราชอำนาจให้แก่จักรพรรดิ จนเกิดสงครามกลางเมืองโบะชิง (Boshin) ขึ้น ใน พ.ศ.๒๔๑๑ - ๑๒ และท้ายที่สุดฝ่ายสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ได้รับชัยชนะ เข้าสู่ยุคปฏิรูปเมจิ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงสยาม ซึ่งก็ทำให้ญี่ปุ่นพลิกกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่ความยิ่งใหญ่ทางการทหาร ที่สำคัญได้มีการย้ายเมืองหลวงจากนครเกียวโต มาสู่เมืองเอโดะ และเปลี่ยนชื่อเป็น โตเกียว เช่นทุกวันนี้

กลับมาที่พิพิธภัณฑ์ครับ ในชั้น ๖ นี้นอกจากแผ่นภาพแล้วยังมีวัตถุโบราณอย่างเสื้อคลุมของเหล่านักรบ ขุนนางที่สำคัญโชว์ให้ดูด้วย ลงมาด้านล่างมีห้องจัดแสดงจำลองการใช้ชีวิตภายในบ้าน ของโบราณ เรือสำเภาจำลอง ตู้แสดงเมืองย่อส่วนเหมือนชั้นบนด้วย แต่... อันนี้จำลองวิธีชาวบ้านริมสะพานเรียวโงะคุ ห้องจัดแสดงวัฒนธรรมเอโดะ โรงละครคาบูกิ ที่เรียกว่า นะคะมุระซะ (Nakamuraza) รวมทั้งห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ ก่อนจะเข้าสู่โซนโตเกียว




ซึ่งในโซนนี้จัดแสดงเรื่องราวที่เปลี่ยนผ่านมาสู่ความทันสมัย จนมาถึงความรุนแรงของภัยพิบัติธรรมชาติอย่างกรณีแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงในภูมิภาคคันโตะ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ โดยมีการจำลองตึก ๑๒ ชั้น เรียวอันคะคุ (Ryounkaku) ที่เป็นสัญลักษณ์ของเขตอะซะกุสะก่อนถูกแผ่นดินไหวถล่มให้ชมด้วย รวมทั้งภัยจากน้ำมือมนุษย์กับเศษซากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่อเมริกาได้ฝากไว้กับเมือง

ผมใช้เวลาค่อนข้างนานกับการเดินให้ทั่วๆ เพื่อชมนิทรรศการ มีเด็กๆ เข้ามาไม่ขาดสาย โดยโรงเรียนมักจะพามา นั่นเป็นสิ่งที่ดีครับ โดยรวมแม้จะไม่ตื่นเต้นกับที่นี่มาก แต่ก็รู้สึกสนุกดีกับการเดินเล่นดูความเป็นมาของเมือง อย่างที่บอกล่ะครับว่า ถ้าเรารู้ประวัติศาสตร์เขาไว้ด้วย การไปเที่ยวแหล่งต่างๆ ก็จะยิ่งสนุกเพิ่มขึ้น ..

แต่อย่างว่าล่ะครับ ต่างคนต่างความชอบกัน ...

ที่เขตเรียวโงะคุนี้มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ สนามแข่งขันซูโม่ โคคุงิกัน (Kokugikan Sumo Stadium) สนามสำคัญของประเทศ อยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์เลยครับ ตัวอาคารนี่เพิ่งสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ จุผู้ชมได้ถึง ๑๓,๐๐๐ คน ภายในมีพิพิธภัณฑ์ซูโม่ด้วย แต่ผมไม่ได้เข้าไปนะ ส่วนด้านนอกที่สถานีรถไฟเจอาร์เรียวโงะคุก็มีสินค้าเกี่ยวกับซูโม่วางขาย มีป้ายรูปการ์ตูนให้นักท่องเที่ยวได้เอาหน้าไปใส่ถ่ายกัน รวมถึงรูปปั้นหินซูโม่ด้วย ส่วนภายในสถานีก็มีรูปถ่ายของซูโม่ขนาดใหญ่ติดไว้ภายใน พร้อมรอยประทับมือของนักซูโม่คนสำคัญ อันนี้ผมคาดว่านะ มีที่วัดส่วนสูงด้วย .. หือ? ไม่ใช่ล่ะ ผมว่าน่าจะเปรียบเทียบความสูงของนักซูโม่มากกว่า มีอยู่คนนึงสูงถึง ๒๐๓ เซนติเมตรเลย ....



เรื่องนี้ต้องขอบคุณนายสถานีผู้ใจดีที่ให้อนุญาตผมเดินเข้าไปถ่ายภาพภายในโดยไม่ต้องค่าตั๋วรถไฟแต่อย่างใด .. เพราะจุดหมายต่อไปผมไม่ได้ใช้รถไฟสายนี้ครับ ผมเดินกลับไปลงรถไฟใต้ดินโตเอย์ สถานีเรียวโงะคุ เพื่อนั่งไปลงสถานีอะซะกุสะ แต่ทว่า ถ้าไปจากสถานีนี้จะต้องไปลงที่สถานีคุระเมะ เพื่อเปลี่ยนไปนั่งรถไฟสายสีชมพู อะซะกุสะ พูดแล้วก็งงๆ

เอาเป็นว่าบอกตรงนี้เลยแล้วกัน สถานที่ต่อไปก็คือ...

ย่านอะซะกุสะ ที่คนไทยนิยมไปแห่งนี้นี่เอง ..

(อ่านต่อฉบับหน้า)

*ข้อมูลบางส่วน www.edo-tokyo-museum.or.jp/english/ , วิกิพีเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น