xs
xsm
sm
md
lg

Alone in Nara : เขาสวนกวางในวันฝนพร่ำ

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

ความเดิมตอนที่แล้ว อ่าน
Alone in Tokyo ๑.๐: สู่ดินแดนอาทิตย์อุทัย
Alone in Tokyo ๑.๑: ฟูจิซังไกลลิบๆ ที่ภูเขาทะคะโอะ
Alone in Tokyo ๑.๒ : สึคึจิ ตลาดปลา ใครเขาก็มากัน
Alone in Tokyo ๑.๓ : ยังกับหลุดไปในยุคเอโดะ!!
Alone in Tokyo ๑.๔ : ในความงามนั้นมีความเศร้า
Alone in Tokyo (จบภาค ๑): กรุงเทพน่าจะมีป่าแบบนี้บ้างเนอะ!!
Alone in Kyoto ๑.๐ : ฝ่าดงไผ่ นั่งรถไฟ ชมใบไม้เปลี่ยนสี
Alone in Kyoto ๑.๑ : กว่าจะถึงวัดศาลาทอง (คินคะคุจิ)

๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ : สถานีรถไฟเจอาร์เทนโนะจิ จ.โอซาก้า

ญี่ปุ่น เป็นชนชาติหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานเป็นพันปี และแน่นอนว่า หลายจังหวัดเคยเป็นเมืองหลวง ทั้งชั่วคราว และถาวร โดยเฉพาะในภูมิภาคคันไซ เมืองหลวงเก่าที่เรารู้จักก็คงหนีไม่พ้น เกียวโต แต่ก็มีอีกเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “เฮย์โจเกียว” (Heijo - kyo) ในยุคนาระ หรือจังหวัดนาระ ในปัจจุบัน

และเช้าวันนี้ ผมก็กำลังจะไปที่นี่ครับ..

จากที่พักผมต้องเดินมาขึ้นรถไฟที่สถานีเทนโนะจิ จริงๆ ขึ้นรถไฟใต้ดินมาก็ได้ แต่มันแค่ป้ายเดียวไง รู้สึกไม่คุ้มถ้าต้องจ่ายตังค์เกือบ ๕๐ บาท เดินเอาดีกว่า (งกไง) สถานีนี้ถือเป็นท่ารถที่ใหญ่เหมือนกันครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าหลงง่ายอะไรนัก หาไม่นานก็เจอชานชาลาที่ ๑๖ เพื่อจะนั่งรถไฟสายเจอาร์ ยามะโตะจิ ไปลงที่สถานีเจอาร์นาระ ค่าโดยสาร ๔๗๐ เยน สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ สถานีนี้มีร้านข้าวกล่องที่เรียกว่า “เบนโตะ” ขายที่ชานชาลาด้วย คือ ผมเนี่ยตอนมาก็ได้ฟังเรื่องเล่าเยอะว่า แต่ละสถานีจะมีข้าวกล่องขาย แต่ไม่รู้ทำไมผมไม่ยักกะเจอเลย (สงสัยไม่ทันสังเกต หรือไม่ก็ตาถั่ว) เพิ่งจะมาเจอก็ที่นี่ที่แรกเลยล่ะ ... แต่ถามว่าได้อุดหนุนมั้ย? ไม่ครับ เผอิญผมไม่ชอบทานข้าวเช้า

รถไฟเคลื่อนออกจากชานชาลาท่ามกลางสายฝนที่เริ่มกระหน่ำ ใจก็พลางคิดในแง่ดีเดี๋ยวมันก็คงหยุด หวังว่าจะไม่เป็นอุปสรรคในการเที่ยวเมืองนี้ ...

พูดถึง เมืองนาระ ได้ถูกกลายเป็นเมืองหลวงในช่วง พ.ศ.๑๒๕๓ - ๑๓๒๗ เป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาและศิลปกรรมที่รับอิทธิพลมาจากจีน รวมทั้งหนังสือทางประวัติศาสตร์ อาทิ บันทึกโคจิกิ บันทึกประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการชิ้นแรก ,บันทึก นิฮน โชกิ บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ตามลำดับเวลาฉบับเก่าแก่ที่สุด และ หนังสือรวมบทกวีจีน ไคฟูโซ ฉบับเก่าแก่ที่สุด

แต่ก็ใช่ว่ายุคนี้เมืองหลวงจะตั้งอยู่เพียงทีนี่แห่งเดียวไม่ เพราะต่อมาก็มีการโยกย้ายหลายครั้งโดย ไปยังเมืองคุนิเกียว (Kuni-kyo) หรือ อำเภอ คิซุงะวะ จ.เกียวโต แล้วก็ไปเมืองนานิวะเกียว (Naniwa-kyo) หรือ จ.โอซาก้า แล้วก็มาเมืองชิงะระคิโนะมิยะ (Shigarakinomiya) หรือ หมู่บ้าน ชิงะระคิ (Shigaraki) ใน จ.ชิงะ และสุดท้ายก็กลับมายังที่เดิมจนถือได้ว่าเป็น “ราชธานีถาวรแห่งแรกของญี่ปุ่น” เลยก็ว่าได้ ก่อนที่จะมีการย้ายไปยังเมืองนางะโอะกะเกียว (Nagaoka-kyo) หรือ อำเภอ นางะโอะกะเกียว จ.เกียวโต ในอีก ๓๙ ปี ต่อมา

เล่าๆ อยู่นี่ ไม่ได้หมายความว่าผมจะไปตามหาเมืองเก่านะครับ ฮ่าๆๆ

เป็นเวลาเกือบ ๔๐ นาที ที่รถไฟวิ่งข้ามจังหวัดมาจอดยังสถานีปลายทางของผม ท่ามกลางสายฝนที่ยังตกอย่างไม่หยุดหย่อน พอเดินผ่านที่กั้นทางออกมาสู่หน้าสถานี แล้วทำให้ผมต้องหยุดนิ่งคิดทบทวนอยู่หลายนาที ... เอายังไงดีวะ ฝนยังตกอยู่เลย จะลุยต่อ หรือจะเปลี่ยนแผนไปเกียวโต หรือจะกลับไปโอซาก้าแล้วงัดแผนท่องเที่ยววันพรุ่งนี้มาใช้แทน... คิดทบทวนไปมาแบบนี้อยู่นาน ใจมันตุ่มๆ ต่อมๆ เอาไงดีวะ ถ้าไปต่อแล้วจะเจอกวางมั้ยวะ รูปที่ออกมาจะกากกว่าเดิมมั้ย ... มาคนเดียวก็อย่างนี้ล่ะครับ ไม่มีใครช่วยตัดสินใจเวลาคับคัน...

"ไหนๆ ก็มาถึงแล้ว เดินทางต่อสิวะ เปียกก็ช่างมัน หนาวก็ช่างมัน เจอไม่เจอก็ช่างมัน อย่างน้อยก็ได้มา ได้สัมผัสบรรยากาศว่า เวลาฝนตก ลมแรง เขาจะเที่ยวต่อกันอย่างไร" ... เสี้ยวหนึ่งของสมองมันประมวลผลออกมา ทำให้ผมฉุกคิดได้ว่า เอาก็เอาวะ!!

ผมเดินจากสถานีรถไฟไปตามถนนซังโจะ (Sanjo Dori) ถนนเล็กๆ ที่มีเดินรถได้ทางเดียว แต่ทางเท้ากว้างมาก ร้านค้าแถวนี้จะมีรูปปั้นกวางและตุ๊กตากวาง เป็นสัญลักษณ์ของเมืองวางประดับไว้ ระยะทางที่เดินนี่ค่อนข้างไกล ฝนก็ยังตกปรอยๆ เรื่อยๆ เจอคนไทยมาท่องเที่ยวด้วยครับ พอใกล้ๆ ถึงจุดหมายสวนสาธารณะนาระ จะเป็นเนินเขาค่อนข้างสูง

จุดแรกที่เราแวะเข้าชมก็คือวัดๆ หนึ่งที่มีเจดีย์โดดเด่นจนเห็นได้ริมทาง นั่นคือ “วัดโคฟุคุ” (Kofuku-ji) ตามประวัติว่า เดิมวัดนี้ถูกสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๑๒๑๒ ในเมืองยามะชินะ ซุเอะฮะระ (Yamashina) โดยภริยาของ คามะตาริ ฟุจิวะระ (Fujiwara-no-Kamatari) รัฐบุรุษ เพื่อใช้ขอพรให้สามีหายเจ็บไข้ ในชื่อ ยามะชินะ เดระ (Yamashina-dera) ก่อนที่จะย้ายวัดมาอยู่ที่เมืองอุมะยะซะกะ (Umayasaka) ใน จ.นาระ และก็เปลี่ยนชื่อวัดตามชื่อเมือง

จนกระทั่งมีการสถาปนาราชธานีนาระ เมื่อปี ๑๒๕๓ วัดจึงได้ถูกย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นที่เรียกกันจนถึงทุกวันนี้ ถือเป็น ๑ ใน ๔ วัดที่สำคัญในยุคนาระ และเป็น ๑ ใน ๗ วัดที่สำคัญในยุคเฮย์อัน เป็นวัดประจำตระกูลฟุจิวะระ แต่ในยุคสงครามกลางเมืองก็หนีไม่พ้นการถูกเผาทำลายเช่นกัน จนถึงยุคเอะโดะ ของโชกุน อิเอะยะสุ โทกุงะวะ จึงได้มีการบูรณะขึ้นใหม่

ในสมัยก่อนเขาว่าวัดนี้มีการก่อสร้างอาคารรวมกันกว่า ๑๕๐ หลัง แต่ปัจจุบันคงเหลือไว้เพียงไม่กี่อย่าง ที่โดดเด่นก็คือตัวเจดีย์ ๕ ชั้น ที่ชื่อ โกจุ (goju-no-to) ของเดิมสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๒๖๘ แต่อาคารที่เห็นอยู่นี่ถูกสร้างขึ้นในปี ๑๙๖๙ สูง ๕๐.๑ เมตร สูงเป็นอันดับที่ ๒ ของประเทศ ส่วนอาคารถัดมาเขาเรียกว่า วิหารทองคำด้านตะวันออก โทะคน (Tokon-do) ของที่เห็นนี่สร้างใน พ.ศ.๑๙๕๘ ถ้าจะเข้าไปต้องเสียค่าผ่านประตูด้วย ในราคา ๓๐๐ เยน ไหนๆ ก็มาแล้ว ต้องลองครับ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ยาคุชิ เนียวไร (Yakushi Nyorai) หรือพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ ผู้เป็นบรมครูแห่งยารักษาโรค ตามความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายาน พระโพธิสัตว์สุริยะประภาและพระโพธิสัตว์จันทรประภา ,พระโพธิสัตว์ มัญชุศรี เป็นต้น ทั้งหมดที่ว่านี่เป็นวัตถุโบราณสมบัติชาติเลยนะครับ แต่ภายในถูกห้ามถ่ายภาพเด็ดขาด

จริงๆ ภายในวัดก็มีอีกหลายส่วนที่น่าสนใจ ทั้งพิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณแห่งชาติ โคฟุคุ ที่ต้องเสียค่าเข้าอีก ๖๐๐ เยน หรือวิหารแปดเหลี่ยมที่ชื่อ นัน เอ็น (Nan'en-do) เจดีย์สามชั้น ซังจุ (Sanju-no-to) รวมทั้งวิหารกลางที่ถูกปิดซ่อม และอาคารอื่นๆ ที่เก่าแก่ไม่แพ้กัน สมกับที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโกเลยทีเดียว ...


ฝนที่โปรยปรายบัดนี้หยุดลงชั่วคราว ปล่อยให้ผมได้เดินถ่ายรูปตัวอาคาร สาวๆ นักเรียน ม.ปลาย และกวางน้อยได้สบายใจ ก่อนจะเดินออกไปยังถนนซังโจะ เราจะไปตามหาฝูงกวางกันครับ พอสุดเส้นถนนจะเห็นสามแยก มีเสาโทริอิสีส้มเชื้อเชิญให้เราเข้าไป นั่นล่ะครับ คือ เขาสวนกวาง หรือ “สวนสาธารณะนาระ” (Nara Koen) พื้นที่ของสวนอยู่ตีนภูเขาวาคะคุสะ (Wakakusa) ครอบคลุมวัดโคฟุคุ ศาลเจ้าคาสุงะ และ วัดโทได คือใหญ่มากจริงๆ ถูกปรับปรุงให้เป็นสวนเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๓ มีกวางญี่ปุ่นป่า อาศัยอยู่ เดินเล่นไปมาให้มนุษย์ดูกว่า ๑,๒๐๐ ตัว

ภายในสวนเดินเข้ามาเรื่อยๆ จะเจออาคารสวยๆ สีขาวหลังหนึ่ง ดูเหมือนคฤหาสน์ใครสักคน แต่พอไปดูป้าย พบว่าเป็นหอสมุดศิลปะพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จ.นาระ แต่ผมไม่ได้เข้าไปหรอกครับ ... วันนี้เขาปิดน่ะ

เดินเล่นถ่ายรูปกวางไปเรื่อยๆ ดีกว่า มันก็เพลินใจดีครับ เห็นมันนอน เดินเที่ยว บางตัวก็มาวนเวียนแถวเรา เราก็จับมันเซลฟี่ถ่ายรูปด้วยกันบ้าง บางตัวก็เดินเข้าร้านค้าชาวบ้านราวกับเป็นพนักงานตัวหนึ่งเลยทีเดียว แต่ก็ใช่ว่ากวางจะมารยาทดีไปเสียทุกตัวนะครับ ที่นี่เขาก็มีป้ายเตือนระวังกวางโมโหไล่ชนเข้าด้วย ทางที่ดีอย่าไปแหย่มันจะดีที่สุด




พอยิ่งเดินไปถึงทางเข้าวัด ตรงซุ้มประตูใหญ่ นันได (Nandai-mon) จะเห็นซุ้มเล็กๆ ตั้งอยู่พร้อมสิ่งของบนโต๊ะ ดูๆ เหมือนตู้บริจาค แต่ไม่ใช่ เพราะมีป้ายเขียนราคา ๑๕๐ เยน ความจริงมากระจ่างเมื่อเห็นคนเดินเข้าไปจ่ายเงินแล้วเขาให้บางสิ่งมา นั่นคือ ขนมเซมเบ้ ข้าวเกรียบแผ่นหนาอาหารกวางครับ ใครที่ซื้อนี่จะกลายเป็นหนุ่ม-สาวฮอตในหมู่กวาง เพราะมันจะมารุมล้อมหน้าหลังเต็มไปหมด


ผ่านซุ้มประตูใหญ่ก็จะเข้าสู่ภายใน “วัดโทได” (Todai-ji) วัดเก่าแก่ที่สำคัญอีกแห่งของราชธานีนาระ ตามประวัติว่า แต่ก่อนชื่อวัดคินโชะ หรือ คินโชะเซ็ง (Kinsho-ji) สร้างราวๆ พ.ศ.๑๒๗๑ โดยสมเด็จพระจักรพรรดิโชะมุ ต่อมาใน พ.ศ.๑๒๘๔ ได้ถูกสถาปนาให้เป็นวัดประจำชาติ อีก ๒ ปีต่อมาสมเด็จพระจักรพรรดิ ได้มีพระราชโองการให้ก่อสร้าง ”พระพุทธรูปไดบุทสึ” หรือ พระไวโรจนพุทธะ องค์พระประธานขนาดมหึมาด้วยสัมฤทธิ์ทั้งองค์ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะสามารถปกป้องปัดเป่าเมืองจากภัยพิบัติต่างๆ ได้ โดยในครั้งแรกเริ่มสร้างที่เมืองชิงะระคิ มีชาวบ้านรวมกว่า ๒,๖๐๐,๐๐๐ คนร่วมสนับสนุนการก่อสร้างทั้งหล่อองค์พระ และวิหาร แต่หลังจากเกิดธรณีพิบัติและไฟไหม้ครั้งใหญ่ จึงย้ายมาสร้างที่เมืองนาระจนเสร็จใน พ.ศ.๑๒๙๔ ก่อนจัดพิธีเบิกเนตรในปีถัดไป โดยมีพระสงฆ์ ร่วมพิธีนับหมื่นรูป ซึ่งมีหลวงพ่อโพธิเสนา ชาวอินเดีย เป็นผู้ทำพิธี


เราต้องเสียบัตรผ่านประตูในราคา ๕๐๐ เยน เพื่อเข้ามาภายในวิหาร ทางเข้าอยู่ด้านข้างซ้ายมือนะครับ พอเดินเข้ามานี่สัมผัสได้ถึงความอลังการงานสร้างจริงๆ ดูเรียบง่ายแต่ก็โดดเด่น มองหลวงพ่อโตในวิหารก็พลางนึกไปถึงวัดพนัญเชิง ที่อยุธยา ก็มีหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ที่หลงเหลือเป็นหลักฐานแห่งความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ให้ลูกหลานชาวสยามได้กราบไหว้กัน องค์พระไดบุทสึที่นี่มีขนาดความสูงถึง ๑๔.๙๘ เมตร น้ำหนักรวม ๕๐๐ ตัน ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเลยทีเดียว แต่ที่เห็นนี่บางส่วนได้ถูกหล่อขึ้นใหม่ เพราะแผ่นดินไหวและไฟสงคราม โดยพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้างถูกหล่อขึ้นในยุคโมโมะยะมะ ราวๆ พ.ศ.๒๑๑๑ - ๒๑๕๘ ส่วนพระเศียรถูกหล่อขึ้นและบูรณะเสร็จสิ้่นในปี ๒๒๓๕ ส่วนตัววิหารนี่ถูกเพลิงเผาผลาญไป ๒ ครั้ง คือในปี ๑๗๒๓ และ ปี ๒๑๑๐ ที่เห็นอยู่ปัจจุบันนี่สร้างเสร็จในปี ๒๒๕๒ และก็ยังถือว่าเป็นอาคารไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่


ทั้ง ๒ ข้างของหลวงพ่อโตมีพระโพธิสัตว์ องค์สีทองรูปลักษณ์สวยงามประดิษฐานอยู่ ผมเดินวนไปทางซ้าย ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดนะ วนมาจนเจอรูปสลักด้วยไม้ของเทพโคโมะคุ เท็ง (Komokuten) ยืนเด่นเป็นสง่า ถัดมาก็มีแบบจำลองของวัดให้ได้ดูกันว่า สมัยก่อนนี่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน พอพ้นตรงนี้ก็พบกับส่วนพระหัตถ์หลวงพ่อโตอยู่บนพื้นที่ถูกกั้นไว้โชว์ให้นักท่องเที่ยวชม ดูแล้วน่าจะเป็นของจำลองมากกว่า นอกจากนี้ยังมีส่วนหัวของเทพอีก ๒ ตน ให้ได้ชมกัน และพอจะวนมาจบก็จะพบเทพบิชะมง เท็ง (Bishamonten) ยืนปกปักษ์หลวงพ่อโตอย่างเกรงขาม ... ว่าแต่ ผมข้ามอะไรไปหรือเปล่า?


ใช่ครับ ในวิหารมีอีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่า ถ้าใครผอมๆ ก็ควรลองดู นั่นคือการมุดลอดเสาไม้ที่ถูกเจาะเป็นรู มีความกว้างไม่น่าจะถึง ๓๐ เซนติเมตรได้ เขาบอกว่าถ้าสามารถลอดผ่านไปได้นี่จะเหมือนกับว่า โชคดี มีแสงสว่างนำทางแห่งชีวิต ประมาณนั้น ผมก็ไม่ได้ลองหรอกครับ กลัวจะติดแล้วออกไม่ได้ ฮ่าๆๆๆ แต่ที่ผมเห็นนี่ดูเด็กๆ ดูจะสนุกมากๆ กับกิจกรรมนี้นะ

ด้านนอกผมก็ลืมเล่าไปอีกเรื่องนั่นคือรูปสลักพระไม้ห่มผ้าแดง คล้ายๆ หนูน้อยหมวกแดงในนิทาน ในมือขวาถือลูกท้อ องค์นี่คือ บินซุรุ (Binzuru) หรือ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ พระอรหันต์ผู้เป็นเลิศในด้านการตอบปัญหาเรื่องมรรคผล ในพุทธประวัติ แต่คนที่นี่นับถือกันในเรื่องของพระที่ช่วยรักษาอาการป่วยด้วยการถูที่องค์พระในจุดที่มีปัญหา อันนี้ผมก็ไม่ได้ลองนะ ส่วนที่ใส่ฮูทสีแดงนี่ก็เพื่อคุ้มครองเด็กๆ ให้ไม่เจ็บไข้

นอกจากนี้ ที่นี่ยังถือเป็นมรดกโลกในด้านสถานที่ประวัติศาสตร์ยุคนาระโบราณด้วย ก่อนจากมาก็ไหว้ขอพรให้ดลบันดาลตามใจปรารถนา แล้วจึงกลับมาสู่ถนนแห่งหนเดิมที่เดินแต่เริ่มต้น ด้วยความเสียดายเล็กๆ กับเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ... เราน่าจะได้อยู่เล่นต่ออีกสัก ๒ – ๓ ชั่วโมง หรือค้างสักคืนขี่จักรยานไปเที่ยวที่ตั้งของเมืองเก่า ไปศาลเจ้า ขึ้นเขา เข้าวัดเก่าแก่ หรือแม้กระทั่งสำรวจพื้นที่อื่นของวัดโทได แต่ก็อย่างว่าล่ะครับ เรายังมีภารกิจที่ต้องทำอีกในวันนี้ ไว้โอกาสดีๆ คงได้มาเยือนแน่ๆ

เหลือบมองนาฬิกา เวลานี้ ๑๑ โมงกว่า พลางเปิดหนังสือนำทางที่ผมร่างแผนเอาไว้เพราะนึกขึ้นได้ว่า มีอาหารชนิดนึงที่ผมอยากลองกินให้ได้ นั่นก็คือ “อากะชิยะกิ” (Akashiyaki) ซึ่งผมก็มีข้อมูลว่าร้านนี้เขาดังมาก อยู่บนถนนนี้ล่ะครับ ในซอยที่มีร้านอาหารเยอะๆ ทางขวามือหากเดินลงมาจากเขา ซอยนี้สามารถทะลุไปยังสถานีรถไฟคินเค็ตสึนาระ ได้ ชื่อร้านว่า “โอคะรุ” (Okaru) หน้าร้านจะมีเมนูอาหารเรซิ่นจำลองให้ดูด้วย ผมก็ยืนเอ๋อๆ อยู่สักพัก คุณป้าแกก็ออกมาต้อนรับ ผมถามว่า อยากกินอะไรแบบที่เป็นท้องถิ่น แกก็มองๆ ดูที่เมนู แล้วชี้มาที่ไอ้ที่ผมจะกิน แล้วก็บอกว่า อันนี้ขายดี ตัวแกเองก็ชอบ ... โอเค งั้นมาถูกทางแล้ว เพราะที่ผมทราบมา ไอ้เจ้าอาหารชนิดนี้มันก็มีขายเฉพาะในแถบคันไซเนี่ยล่ะ

ข้างในก็เป็นร้านอาหารเล็กๆ ครับ มีโต๊ะ ไม่ใช่สิ มีเตาส่วนตัวให้ประกอบอาหาร เอ๊ะ นี่มันร้านพิซซ่าญี่ปุ่น หรือ โอโคะโนะมิยากิ สินะ แล้วของเรามันจะเป็นยังไงวะ? ผมก็สั่งอาหาร เขาเอาน้ำชามาเสิร์ช แต่ไม่เปิดเตาผัด รอสักพัก ป้าแกก็เอามาเสิร์ฟ มีลูกกลมๆ คล้าย ทาโกะยากิ แต่นุ่มๆ ครับ มาพร้อมกับน้ำซุป ... ไม่ผิดหรอกครับ แล้วป้าเขาก็แนะนำวิธีการกิน ก็คือให้นำไอ้ก้อนกลมๆ เนี่ย จุ่มในน้ำซุปที่อุ่นๆ แล้วทาน อื้อหือ ... ในก้อนกลมๆ นี้มีปลาหมึกอยู่ด้วยครับ ไม่ต่างกับทาโกะยากิเลย ตัวน้ำซุปรสเค็มอ่อนๆ โดยรวมก็แปลกๆ ดี ในราคา ๖๐๐ กว่าเยนได้ (*ข้อมูลล่าสุดในเว็บtablog อ้างว่าร้านปิดปรับปรุงชั่วคราวจ้า)

เดินออกจากร้านมาสักพัก ก็นึกขึ้นได้ว่า ... แล้วทำไมไม่สั่งโอโคะโนะมิยากิกินด้วยฟะ!!! จะกลับไปก็กลัวเสียเหลี่ยม มุ่งหน้าเดินทางต่อดีกว่า กลับมาสู่สถานีรถไฟเจอาร์นาระอีกครั้งหนึ่ง และคราวนี้ เรากำลังจะนั่งรถไฟขึ้นไปสู่กรุงเกียวโตกับสถานที่ท่องเที่ยวที่ ใครๆ เขาก็มากันนั่นล่ะ ...

อ่านต่อฉบับหน้า ...

ที่มาบางส่วน : http://www.kohfukuji.com/english.html , http://www.todaiji.or.jp/english/index.html ,วิกิพีเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น