xs
xsm
sm
md
lg

“ปลากัด” จากปลานักสู้สู่สัตว์สวยงาม เติมฝันคนเลี้ยงโกยรายได้ในและ ตปท. (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปลากัดหม้อ .ฮาร์ฟ แบบหางกลมและหางพัด
ความสวยงามของปลากัด เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนหันมาเลี้ยงกันมากขึ้น จากเดิมปลากัดเป็นเพียงแค่ปลาต่อสู้ของเซียนพนันในหมู่บ้านเล็ก หลังจากที่มีคนนำปลากัดมาผสม และสร้างสายพันธุ์ใหม่ จนได้ปลากัดที่มีความสวยงาม และไม่เหลือเค้าโครงของปลากัด ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลากัดที่สร้างรายได้หลายล้านบาทต่อปี มีตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ


ปลากัดลายแฟนซี
วันนี้ ได้มีโอกาสรู้จักกับฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดนครปฐม มีชื่อว่า สยามเบต้า ฟาร์ม เป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อการส่งออก และจำหน่ายในประเทศ ของ “นายชัชวาล ฤกษ์ประวัติ” “นายวัชระพล วินิจธรรม” และ “นายอาวุธ อินต๊ะสุวรรณ์” โดยทั้ง 3 คนได้คลุกคลีอยู่ในวงการปลากัดมาได้ระยะหนึ่งประมาณ 4-5 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความชอบ และพลิกผันตัวเองจนมาเป็นเจ้าของฟาร์ม

นายชัชวาล ฤกษ์ประวัติ เล่าว่า ตน และเพื่อนเรียนจบมหาวิทยาลัยบูรพา แผนกเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม และก่อนจะตัดสินใจมาเปิดฟาร์มของตัวเอง ตนและเพื่อนได้มีโอกาสไปทำงานเป็นพนักงานในบริษัทส่งออกปลาสวยงามแห่งหนึ่งมาก่อน ทำได้ประมาณ 2 ปี เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก่อนจะตัดสินใจลองมาเปิดฟาร์มของตนเอง และเลือกปลากัด เพราะปลากัดเป็นปลาสวยงาม เลี้ยงง่าย เพาะพันธุ์ง่าย มีความอดทนสูง ไม่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนเหมือนกับปลาชนิดอื่นๆ และที่สำคัญปลากัดเป็นปลาสวยงามที่มีออเดอร์การส่งออกเป็นอันดับ 3 ของประเภทปลาสวยงาม
ปลากัดแฟนซีหางกลมได้รับความนิยม
อย่างไรก็ตาม การเพาะเลี้ยงปลากัด ไม่ได้มีอยู่ในตำราเรียน หรืออาจารย์เองก็ไม่ได้สอนการเพาะเลี้ยงปลากัด แต่สิ่งที่ได้ จากการเรียนและนำมาใช้คือ แนวทางในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนการเพาะขยายพันธุ์ หรือพัฒนาสายพันธุ์ นั้นต้องมาเรียนรู้กันใหม่จากผู้รู้ ซึ่งต้องยอมรับว่า บ้านเรามีคนที่อยู่ในวงการเพาะเลี้ยงปลากัด และมีความเชี่ยวชาญอยู่เป็นจำนวนมาก เราก็ได้อาศัยไปขอความรู้จากเขา และนำมาต่อยอดพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดให้มีความหลากหลาย จนปัจจุบันทางฟาร์มสามารถพัฒนาสายพันธุ์จนได้ปลากัดเกือบทุกสีที่มีขายกันในท้องตลาด แต่เราจะเลือกปลากัดในแบบซึ่งไม่ได้รับความนิยมในช่วงนั้นออกมาขาย เพราะไม่ต้องการจะไปแข่งกับฟาร์มอื่นๆ เช่น ช่วงนี้นิยมสีแดง ก็หันไปพัฒนาสายพันธุ์สีขาว หรือแฟนซีออกมาขาย
นอกจากสีที่สวยแล้ว รูปทรง และหางต้องแผ่ออกกว้างปลาสวย
เดิมทีผมไม่ได้คาดคิดว่าจะทำฟาร์มปลากัดและประสบความสำเร็จมากถึงปัจจุบันนี้ เพราะไม่รู้ว่าตลาดปลากัดเขาเป็นอย่างไร และจะทำปลาออกมาได้สวยงาม สู้กับฟาร์มอื่นๆ ได้หรือไม่ แต่ก็อาศัยลองผิดลองถูก ตั้งใจทำอย่างจริงจัง ลงมือทำเองทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง มีลูกน้องมาช่วยงานเพียงคนเดียว เริ่มจากจุดเล็ก และค่อยศึกษาว่าตลาดเขาต้องการอะไร เราก็ทำออกมาให้ได้ตามความต้องการของตลาด ส่วนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมาจากตลาดปลากัดโตขึ้นมาก จากคนเลี้ยงที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการของคนเลี้ยงปลาที่ต้องการปลากัดก็เพิ่มมากขึ้นด้วย”
แฟนซีหางกลม
ทั้งนี้ ปัจจุบัน สยามเบต้าฟาร์มมีการผลิตปลาออกตลาดเดือนละกว่า 3,000 ตัว แบ่งเป็นปลาเกรดส่งออกเดือนละ 1,000 ตัว ที่เหลือจะเป็นปลาที่ขายในประเทศ ซึ่งมีหลายเกรด ถ้าเป็นปลาส่งออกอยู่ที่ตัวละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือถ้าเป็นตลาดในประเทศ จะเป็นการขายส่งให้พ่อค้าคนกลางรับไปจำหน่าย โดยขายตัวละ 100 บาท หรือถ้าเป็นปลาตกเกรด เหลือตัวละ 3 ถึง 5 บาท ในส่วนของราคาปลากัดที่จำหน่ายปลีกในประเทศอยู่ที่ตัวละ 300 บาทไปจนถึงปลาคัดเกรด ราคาสูงถึงตัวละ 1,500 บาท
ลูกค้าจะนั่งเลือกปลาจากขวดกันแบบนี้
อย่างไรก็ตาม การเพาะเลี้ยงปลากัด ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ไปมาก ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งจากการจัดอันดับปลาสวยงามเพื่อการส่งออก ปรากฏว่าปลากัดได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกปี และปีนี้ยอดการส่งออกมากเป็นอันดับ 3 จากสถิติของกรมประมง ประเทศที่มีการส่งออกปลากัดไปมาก จะเป็นประเทศในกลุ่มยุโรป และเอเชีย เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ และปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่ทางฟาร์มได้มีโอกาสขยายตลาดไปยังประเทศในแถบตะวันออก เพราะมีพ่อค้าจากดูไบเริ่มที่จะสั่งปลากัดเข้าไปจำหน่าย ซึ่งตลาดดูไบถือว่าเป็นตลาดใหม่ เนื่องจากยังไม่ค่อยรู้จักปลากัดมากนัก แต่พอมีการนำเข้าไปจำหน่าย ปัจจุบันประเทศในแถบตะวันออกกลางให้ความสนใจกับการเลี้ยงปลากัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นายชัชวาล ฤกษ์ประวัติ และหุ้นส่วน
สำหรับประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของปลากัดก็ว่าได้ แต่ระยะหลังประเทศรอบบ้านเราก็เริ่มเพาะพันธุ์ปลากัดได้สวยงามเช่นเดียวกับเรา เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ฯลฯ ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่เนื่องจากตอนนี้เขายังมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเรา เพราะเขายังไม่สามารถหาแหล่งวัตถุดิบราคาถูกได้เช่นบ้านเรา ถ้ามีแหล่งวัตถุดิบที่ราคาไม่แพง ต่อไปก็จะเป็นคู่แข่งสำคัญที่เราไม่อาจจะประมาทได้

สำหรับสยามเบต้า ฟาร์ม เป็นฟาร์มที่เพาะเลี้ยงปลากัด สายพันธุ์ปลาหม้อฮาร์ฟ และทางฟาร์มได้มีการพัฒนาสายพันธุ์จนได้รับรางวัลบ่อยครั้ง ซึ่งการได้รับรางวัลเป็นเครื่องการันตีว่าจะมีคนให้ความสนใจปลากัดของทางฟาร์มมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ
ปลาเพาะพันธุ์ในบ่อ และนำมาใส่ขวด ก่อนจะคัดเลือกปลาเกรดคุณภาพส่งออก
โทร. 08-1924-2492,08-4866-1290 www.facebook.com/Interfish Thailand และ Siam Betta Farn

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น