xs
xsm
sm
md
lg

5 อุปสรรคเรื่องเรียน ที่เป็นกับดักของเด็กยุคนี้/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ช่วงเวลาของการปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขของเด็กๆ ที่ได้หยุดพักและได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวกับครอบครัวหรือเพื่อนๆ ในขณะที่พ่อแม่ก็วางแผนท่องเที่ยวกับครอบครัว

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีบางครอบครัวที่ช่วงเวลาปิดเทอมกลับเป็นช่วงเวลาแห่งความเคร่งเครียด โดยเฉพาะครอบครัวที่ลูกกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของช่วงชั้นการศึกษา ต้องสอบเข้าโรงเรียนโน้นโรงเรียนนี้ ตามแต่ช่วงวัยนั้นๆ สิ่งที่ตามมาคือการส่งให้ลูกเรียนกวดวิชาอย่างระห่ำ และการวิ่งเต้นกันสุดฤทธิ์ เพื่อหาทางอื่นๆ เป็นแผนสองแผนสามเผื่อลูกสอบไม่ติดด้วย

เรียกว่าถ้าครอบครัวไหนอยู่ในช่วงรอยต่อนี้ ช่วงปิดเทอมก็จะก็จะกลายเป็นความเคร่งเครียดไปในทันที

ภาพอย่างนี้เห็นมาจนชินตาในทุกๆ ปี เรียกว่าตั้งแต่ตัวเองเป็นเด็ก จนกระทั่งโตเป็นแม่คน มีลูกเป็นของตัวเอง วังวนของรอบการศึกษาเรื่องการสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงก็ยังคงอยู่ และดูเหมือนการแข่งขันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก

จากผลวิจัยการดำเนินชีวิตและทัศนคติเด็กไทย โดยมูลนิธิเพื่อคนไทย พบว่าเด็กไทยกว่า 90% ประสบภาวะความเครียด โดยเฉพาะเรื่องการเรียนที่ใช้คะแนนและการสอบเป็นตัวชี้วัด ซึ่งไม่เพียงแค่สอบวัดผลในชั้นเรียน สอบระหว่างภาค สอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ยังลงไปถึงการสอบเข้าของเด็กชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาด้วย

และงานวิจัยยังระบุอีกด้วยว่าทัศนคติเด็กไทยพบภาพสะท้อนสังคม คือ ครอบครัวไทยเน้นปลูกฝังเด็กที่การเรียนมากที่สุด โดยเด็ก 99% ให้คำนิยามเกี่ยวกับความสำเร็จ คือ การได้ผลการเรียนที่ดี หน้าที่การงานที่ดี เงินเดือนที่ดี เด็กไทยยุคนี้จึงถูกครอบงำด้วยทัศนคติที่กลัวว่าจะด้อยกว่าคนอื่นตลอดเวลา ส่งผลให้การใช้ชีวิตส่วนใหญ่จมหายไปกับตำราเรียน การบ้านที่มีอยู่มากมาย จนเด็กไม่ได้วิ่งเล่นสนุกสนานตามวัย

สิ่งที่ตามมา คือ ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งก่อนการสอบ และหลังการประกาศผล ยิ่งเด็กคนไหนสอบตกหรือพลาด ยิ่งเสมือนชีวิตล้มเหลว โดนต่อว่าอับอาย เด็กบางคนอาจรับไม่ได้จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมก็มีให้เห็น

วังวนเรื่องการศึกษาในบ้านเราที่ส่งผลต่อเด็กๆ มีมากมายหลายประการ ลองมาดูว่าปัญหาเรื่องการเรียนของเด็กในบ้านเรามีอะไรบ้าง
และเชื่อแน่ว่าอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ยังคงอยู่อีกยาวนาน !

หนึ่งเรียนตามเพื่อนหรือตามกระแส
มีเด็กจำนวนมากเด็กที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบไม่ชอบอะไร ไม่รู้เป้าหมายในชีวิต ฉะนั้นช่วงที่ต้องมีการเลือกแผนการศึกษา เด็กเหล่านี้จึงเลือกเรียนตามเพื่อน ตามกระแสสังคม ตามคำบอกของครู ตามคำปลูกฝังของพ่อแม่ เช่น เรียนให้เก่งจะได้ไปเป็นหมอ วิศวะ หรือไม่ก็ถูกปลูกฝังให้เลือกเรียนแผนวิทย์ - คณิต ไว้ก่อนด้วยเหตุผล เพราะมีทางเลือกเยอะ ทั้งที่เด็กอาจไม่ชอบ สุดท้ายเขาก็ไม่ได้เรียนในสิ่งที่ถนัดหรือที่ชอบ เมื่อเรียนจบออกมา เด็กจำพวกนี้มักจะเปลี่ยนสายงานไปเรื่อยๆ และไม่ได้ทำงานในสายที่ตัวเองจบมา

สองเรียนสาขาที่อยากได้เงินเยอะ
นี่เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่เด็กๆ ทุกยุคทุกสมัยถูกปลูกฝังจากพ่อแม่ผู้ปกครองให้เลือกเรียนตั้งแต่แยกแผนการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา เพื่อเตรียมการสำหรับเอ็นทรานส์เข้ามหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายให้เลือกคณะที่มีโอกาสสร้างรายได้จำนวนมาก เรียกว่าเลือกเพราะเงินมากกว่าเลือกเพราะตัวเองถนัดหรือชอบ สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าจะได้เงินดีเหมือนที่ตั้งเป้าไว้หรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่มักคิดคล้ายๆ กัน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นกระแส เช่น แห่กันเข้าคณะใดคณะหนึ่งจำนวนมาก และสุดท้ายก็ต้องไปแย่งงานกันจำนวนมากเมื่อจบไปแล้วอยู่ดี

สามเรียนกวดวิชาอย่างหนัก
พ่อแม่ทุกคนมักคาดหวังให้ลูกเรียนสูงๆ สอบติดมหาวิทยาลัยดังๆ โดยเห็นว่าความรู้ที่ลูกได้จากรั้วโรงเรียนไม่เพียงพอ ระบบการศึกษาโรงเรียนไม่ได้ให้ความมั่นใจกับพ่อแม่และผู้คนในสังคม เมื่อพ่อแม่แทบทุกคนอยากให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ย่อมอยากให้ลูกเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่มีชื่อเสียงก่อน บางคนเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาหรือระดับอนุบาล จึงมีพ่อแม่จำนวนมากส่งให้ลูกเรียนพิเศษกับโรงเรียนกวดวิชาดังๆ แม้จะแพงแสนแพงแต่ก็ยอมหาเงินมาให้ลูกเรียนพิเศษให้ได้ เพราะหวังว่าจะทำให้ลูกเรียนดี เรียกว่าระห่ำเรียนกวดวิชาตั้งแต่เล็กจนโต เรียนทั้งวันธรรมดาและวันหยุด หรือแม้กระทั่งช่วงปิดเทอม เด็กๆ ก็เรียนรู้ว่าต้องเรียน และต้องเรียน

สี่เรียนในชั้นปกติไม่เข้าใจ
ปัญหานี้มีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ระหว่างเด็กไม่ตั้งใจเรียน หรือครูไม่มีเทคนิคการเรียนการสอนที่ดี ก็เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์มายาวนาน และก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและถูกวิธี สุดท้ายเมื่อเด็กเรียนในชั้นไม่เข้าใจ ก็ต้องไปกวดวิชาอยู่ดี อีกประเด็นปัญหาหนึ่งก็คือ ปัญหาเรื่องบุคลากรทางการศึกษาในบ้านเรายังขาดแคลนคุณภาพอยู่มาก มีภาพสะท้อนจากเด็กว่าทำไมครูสอนในห้องเรียนไม่รู้เรื่อง แต่กลับสอนพิเศษรู้เรื่อง ทำไมครูไม่หาวิธีการสอนที่สนุก ทำไมเวลาสอนต้องอ่านตามหนังสือ ฯลฯ สรุปก็คือไม่สามารถทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน

ห้าเรียนเพื่อสอบไม่ใช่เพื่อรู้
การเรียนการสอนในบ้านเรายังเป็นรูปแบบเรียนเพื่อสอบมากกว่าเรียนเพื่อความรู้ เชื่อหรือไม่เด็กไทยเรียนหนักมากที่สุดในโลก แต่ไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ ทั้งนี้ เนื่องจากระบบการศึกษาไม่ได้ตอบสนองต่อการนำความรู้ที่ได้ไปตอบโจทย์การทำงานจริงในอนาคต แต่กลับเน้นการวัดผลคะแนนและการสอบเป็นหลัก จนมีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับการศึกษาจากผู้บริหารชั้นนำของไทยที่รับเด็กเข้าทำงาน พบว่าเด็กไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถในแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ นั่นเป็นเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีสอนในตำราเรียนนั่นเอง
อุปสรรคต่างๆ ในระบบเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้เด็กๆ ขาดทักษะชีวิตในการเรียนรู้จักตัวเอง ไม่สามารถค้นหาความถนัดและความสามารถของตัวเองว่าทำสิ่งใดได้ดี

และสิ่งที่เราไม่เคยตระหนักและให้ความสำคัญ ก็คือ การปลูกฝังให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น