สตูล - 2 เด็กนักเรียนสตูล สอบคณิตศาสตร์โอเน็ต 100 คะแนนเต็ม เผยมีความฝันอยากเป็นหมอ รับเรียนกวดวิชาวันละ 1 ชั่วโมงเนื่องจากเนื้อหาที่ออกสอบมักไม่มีสอนในห้องเรียน ครูผู้สอนเผยต้องจัดติวเพิ่มทุกวันเหตุข้อสอบออกนอกเหนือจากตำราเรียน รอง ผอ.เผยโรงเรียนเน้นพัฒนาเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ต้องปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน
วันนี้ (18 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ ด.ช.ฐปวรรฒ หมื่นสุวรรณ หรือน้องเวฟ อายุ 11 ปี และ ด.ช.ปุญชรัสมิ์ เขียดสังข์ หรือน้องอัลวี อายุ 12 ปี 2 นักเรียนที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ประกาศผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ปีการศึกษา 2557 ของนักเรียนชั้น ป.6 ปีการศึกษา2557 สามารถทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ได้เต็ม 100 คะแนน
โดยเด็กทั้ง 2 คน ยอมรับว่า หลังเลิกเรียนทุกครั้งก็จะนำบทเรียนมาทบทวน บางครั้งบางวิชาไหนที่ทำไม่ได้ก็จะวางไว้ก่อน เพื่อไปเล่นกับเพื่อนให้คลายเครียดแล้วกลับมาทำใหม่ ก็มีที่ขออนุญาตแม่เล่นเกมบ้าง ส่วนเรียนกวดวิชาน้องทั้ง 2 คน ยอมรับว่า ต้องเรียนวันละ 1 ชั่วโมง เพราะข้อสอบส่วนใหญ่ที่ออกไม่มีสอนในห้องเรียน ต้องเรียนเสริมจากติวเตอร์ข้างนอก ข้อสอบส่วนใหญ่จะลวงให้เราหลงทางหากอ่านคำถามไม่ละเอียดไม่รอบคอบก็มีสิทธิทำข้อสอบผิดได้
น้องเวฟ ยอมรับว่า ไม่ได้เรียนอย่างเดียว ตัวเองยังเป็นนักกิจกรรมด้วย และเรียนธรรมะควบคู่ไปด้วย คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งทำให้มีสมาธิ และมีความจำได้ดีขึ้น โตขึ้น ทั้ง 2 คนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากเป็นหมอ รักษาคนทางบ้านก็ไม่ได้กดดันอะไร กลับเข้าใจ และให้กำลังใจเสมอ ด้าน น้องอัลวี เผยเคล็ดไม่ลับในการสอบได้ครั้งนี้ว่า จะตั้งใจเรียน กลับมาบ้านคุณแม่จะปรินต์บททดสอบให้ทดลองทำเสมอ แต่ก็วิ่งเล่นสนุกสนานกับเพื่อนไม่ได้เรียนจนรู้สึกเครียดตามที่หลายคนคิด
นายชัยยงค์ ชูนวล คุณครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ กล่าวว่า หลักการสอนทางคุณครูเริ่มจากการคัดเลือกเด็ก ซึ่งเราจะออกข้อสอบมา 1 ชุด เพื่อทดสอบวัดผลว่าเด็กได้กี่คะแนน เมื่อสอบเสร็จแล้วเราก็มาจัดลำดับคะแนนของนักเรียน จากอันดับหนึ่ง ถึงอันดับสุดท้าย แล้วก็มาทำการแบ่งกลุ่มก็คือ ถ้าคุณได้ที่ 1-40 ก็อยู่กลุ่มที่ 1 แต่ถ้าได้กลุ่มที่ 41-80 อยู่กลุ่มที่ 2 ได้จำนวนเด็ก 8 ห้องเรียน นักเรียนกลุ่มที่ 1 เราจะออกข้อสอบยาก แต่ถ้ากลุ่มปานกลางเราจะใช้ข้อสอบไม่ยากนัก เราจะใช้เวลาควบคุมสอบไม่เหมือนกันของแต่ละกลุ่ม
คุณครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ กล่าวด้วยว่า มองภาพรวมในฐานะครูผู้สอนจะเห็นว่าข้อสอบออกนอกเหนือจากหนังสือเรียน เราจึงมีการจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมตั้งแต่ 08.00-09.00 น. เพื่อให้เด็กเรียนรู้ข้อสอบนอกจากหนังสือเรียน เพื่อทำให้เด็กเก่งขึ้น และมีการสอนแบบแบ่งกลุ่มเพื่อให้เด็กสามารถทำข้อสอบได้ และสอนได้อย่างทั่วถึง และสอบเข้าเรียนต่อที่อื่นได้ สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ จะต้องหาวิธีการสอนที่แบบใหม่ เพื่อให้เด็กรู้จักคิด
คุณครูชัยยงค์ บอกว่า น้องเวฟ กับอัลวี เป็นเด็กที่มีความรู้ไหวพริบที่ดี และตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เป็นเด็กที่มีไอคิวสูง สามารถรับรู้ได้เร็วมากขึ้น ฉะนั้นเด็กจะเก่งไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เด็กเก่งคณิตศาสตร์ จะไม่เก่งภาษาไทย แต่เด็กเก่งภาษาไทย จะไม่เก่งคณิตศาสตร์ ฉะนั้นเราจึงมีการแบ่งกลุ่มเพื่อให้เด็กเก่ง และเด็กไม่เก่งสามารถเข้าใจวิชาเรียนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ปกครองด้วยที่จะต้องช่วยดูแลเด็กที่กลับจากโรงเรียนในการช่วยทบทวนบทการเรียนการสอน
นางสมศรี แก้วทองมา รอง ผอ.โรงเรียนอนุบาลสตูล กล่าวว่า การจัดการการเรียนการสอนของ ร.ร.อนุบาลสตูล รูปแบบของการดำเนินการทำมาในลักษณะของการพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัยมาจนถึง ป.6 ซึ่งการพัฒนานี้แต่ละปีจำนวนเด็ก หรือว่านักเรียนของเรามีคุณภาพต่างกัน บางปีจำนวนของนักเรียนก็เป็นบริบทหนึ่งในการทำให้เด็กเก่ง หรืออ่อน ปีนี้เด็กเรา 254 คน ในสายชั้น ป.6 บางปี ถ้ามีน้อยเราสามารถพัฒนาเขาได้เยอะทำให้คะแนน O-net เพิ่มแต่ปีนี้ เป็นปีที่ถือว่านักเรียนเราเยอะมาก เราได้รับงบประมาณมา จำนวน 300,000 บาท ในการพัฒนา ซึ่งไม่ได้ยกระดับเฉพาะ ป.6 ระดับมาตั้งแต่ชั้น ป.1 เราจัดการในเรื่องของการอ่านออก เขียนได้ ชั้น ป.2 จะมีข้อสอบอยู่ จะเป็นข้อสอบลาส ซึ่งเป็นข้อสอบระดับท้องถิ่นของเขตพื้นที่
ตรงนั้นก็มีการติวเข้มลักษณะเดียวกันก็คือ ใช้เวลาช่วงเช้ามีตารางติวเรียบร้อย ป.3 มีข้อสอบระดับชาติ คือ NT มีการติวตรงนี้เหมือนกัน ป.5 ก็มีข้อสอบของลาสมาอีกระดับหนึ่ง ส่วน ป.4 ไม่มีการสอบ เราก็ใช้ส่งเสริมในเรื่องของการอ่าน ก็มีทำชุดฝึกการอ่านออกมา เด็กถ้าอ่านหนังสือไม่ออกอย่าคาดหวังว่าเขาจะทำอย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้นจะเน้นก็คือ ตามนโยบายของ สปฐ.และเขตพื้นที่ของเราในเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ และอย่างอื่นก็จะตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกระบวนการคิดก ระบวนการคิดนี้เราไว้ในหลักสูตรมาตรฐานสากลก็คือ ในเรื่องของการให้เด็กจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัยเข้ามาเสริมตรงนี้
รอง ผอ.โรงเรียนอนุบาลสตูล กล่าวด้วยว่า เด็กเขาคิดเป็นทำเป็นเขาสามารถจะแก้ปัญหาได้ เขาสามารถวิเคราะห์โจทย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งมันไม่ได้มีแค่ตัวเลขกลมๆ ให้เด็กบวกเด็กคูณเด็กยกกำลังแล้ว แต่มีการ วิเคราะห์โจทย์ตีโจทย์ โจทย์บางข้อมีอยู่หนึ่งหน้ากระดาษแต่ให้เด็กคิดคำตอบแค่คำตอบเดียว ถ้าเด็กไม่ได้อ่านโจทย์ไม่ได้วิเคราะห์โจทย์อย่าคาดหวังว่าข้อสอบนั้นเด็กจะทำได้ เพราะฉะนั้นนี่จะเป็นปัญหา ปัจจุบันนี้เด็กไม่ชอบอ่านหนังสือเมื่อไม่ชอบอ่านหนังสือตรงนี้เราก็ต้องใช้กระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เขารู้จักการอ่านก็คือ เราจะมีโครงการส่งเสริมการอ่านเข้ามาเสริมเขาเพื่อให้เขาได้รักการอ่าน
ในเรื่องของการพัฒนาคือ เราอย่าหยุดนิ่งอยู่กับที่ในเรื่องของการพัฒนา ไม่ว่าในเรื่องของการบริหารจัดการ ในเรื่องของการกำกับดูแลเด็ก คือ เรามาถึงเราก็จัดกลุ่มเด็กพอได้ระยะหนึ่งเราคุ้นชินกับเด็กในระยะหนึ่งแล้ว เราต้องจัดกลุ่มเด็กก่อนเพื่อดูความสามารถ ดูแววเขาแล้วหลังจากนั้นเราก็จะมีโครงการเยอะแยะเข้ามา อย่างเช่น แข่งขันทักษะวิชาการ โครงการประกวด โครงการแข่งขันเหล่านี้ เราก็ให้คุณครูระหว่างครู ป.5 และครู ป.6 ช่วยกันดูเด็กกลุ่มนี้ว่าคนไหนมีแววทางด้านไหน อย่างเช่น น้องเวฟ ที่เขามีแววในเรื่องของ GSP ก็จะเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ ส่วนอีกคนก็จะมีแววในเรื่องของเอแม็ค
ส่วนเด็กที่มีระดับกลางๆ เราก็มีกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช้สมองมากนักจะใช้ไปในเรื่องของกิจกรรม จะส่งเสริมสนับสนุนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ร.ร.จะต้องจัดการเด็กกลุ่มนี้แบ่งกลุ่มแบ่งภารกิจให้เขาได้มีกิจกรรมทำแล้ว เด็กทุกคนจะต้องมี 90% ที่เด็กต้องทำกิจกรรม เด็กชอบไม่เครียด คือ เราจะมีกิจกรรมส่งเสริมเขาอยู่คือ กิจกรรมชุมนุม ซึ่งจะมีการพัฒนาผู้เรียนอยู่ในระบบโครงสร้างในหลักสูตรอยู่แล้วก็เอาที่เขามีความสามารถไปส่งเสริมเขาตรงนั้น