xs
xsm
sm
md
lg

สทศ.เคาะจัดสอบ O-Net 5 วิชาปีการศึกษา 58 อีก 3 วิชา ให้ ร.ร.จัดสอบเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รมว.- รมช.ศึกษาฯ ร่วมถกบอร์ด สทศ. มีมติจัดสอบ O-Net 5 กลุ่มสาระฯ เริ่มปีการศึกษา 58 โดย สทศ. สอบ 5 กลุ่มสาระฯ และอีก 3 กลุ่มสาระฯให้ ร.ร. เป็นผู้ทดสอบ ฟาก ทปอ. ระบุถ้าลดสอบจะใช้ O-Net แค่ 5 กลุ่มสาระฯที่ สทศ. จัดสอบเท่านั้น ไม่ใช้ของ ร.ร. พร้อมจะปรับค่าน้ำหนักคะแนนใหม่ให้เกิดความยุติธรรมต่อเด็ก
พล.ร.อ.ณรงค์  พิพัฒนาศัย  ภาพจาก กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.
วันนี้ (25 ก.พ.) ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. โดยมี นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ ศ.(กิตติคุณ) ดร.สมหวัง พิธิยานุวัติ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทศ.และรศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. และกรรมการ สทศ. เข้าร่วม ว่า ที่ประชุมได้หารือและมีมติเห็นชอบลดจำนวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือเพียง 5 กลุ่มสาระฯ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ส่วนของกลุ่มสาระฯสังคมศึกษาฯ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอให้ สทศ. จัดสอบวัดความรู้และในส่วนของบริบทเฉพาะในแต่ละพื้นที่ให้โรงเรียนสอบวัดผลนั้น ที่ประชุมเห็นว่าเพื่อให้การวัดผลเป็นไปในมาตรฐานเดียวกันให้ สทศ. เป็นผู้จัดสอบทั้งหมด ส่วนอีก 3 กลุ่มสาระฯ ได้แก่ ศิลปะ สุขศึกษาและพลศึกษา และการงานอาชีพและเทคโนโลยี นั้นเห็นตรงกันให้โรงเรียนเป็นผู้จัดสอบเอง

นอกจากนั้น ที่ประชุมได้หารือกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสนอว่าต้องประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปีเพื่อให้นักเรียนได้เตรียมตัวนั้น ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเหตุและผล รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ไม่พบว่ามีกฎหมายใดกำหนดว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงการจัดสอบอะไรจะต้องประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี ดังนั้น ที่ประชุมมีมติว่าจะเริ่มสอบ O-Net ใน 5 กลุ่มสาระฯ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ซึ่งจะจัดสอบต้นปี 2559 ส่วนอีก 3 กลุ่มสาระฯที่โรงเรียนต้องเป็นผู้จัดสอบ ซึ่งทั้ง สทศ. และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ยืนยันว่าสามารถดำเนินการจัดทำข้อสอบได้ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมเสนอให้ตนไปหารือ ทปอ. จะมีปัญหาหรือไม่หากจะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป ซึ่งตนก็รับจะไปคุยให้เกิดความชัดเจน

“ส่วนกรณีที่ ทปอ. ยืนยันว่า ในปีการศึกษา 2558 จะใช้คะแนน O-Net ใน 8 กลุ่มสาระฯ เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง หรือ แอดมิชชัน ที่ประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาลึกในรายละเอียดพบว่า 3 กลุ่มสาระฯ ที่ให้โรงเรียนสอบนั้นให้ค่าน้ำหนักไว้รวมกันที่ 5% แต่ใน 5 กลุ่มสาระฯ ให้ค่าน้ำหนักรวมที่ 25% เฉลี่ยกลุ่มละ 5% ที่เหลือเป็นผลเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ จีแพ็กซ์ (GPAX) 20% เพราะฉะนั้น การลดจำนวนกลุ่มสาระฯ จึงไม่กระทบต่อการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาแน่นอน แต่จะช่วยลดปัญหาการกวดวิชาของเด็ก แต่ในอนาคต ทปอ. จะใช้คะแนน O-Net หรือไม่ขึ้นอยู่กับ ทปอ.จะไม่มีการบังคับ”พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว

ด้าน นายกฤษณพงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าเด็กนิยมกวดวิชา ทั้ง 8 กลุ่มสาระฯ แม้แต่ 3 กลุ่มสาระฯ หลังที่ไม่ได้มีผลต่อการเรียนต่อมากนัก เพราะเป็นวิชาที่วัดผลทางทักษะและสามารถจัดกิจกรรมและวัดผลโดยทางโรงเรียนได้ ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยอาจจะหาแนวทางวิธีการพิจารณาผลใน 3กลุ่มสาระฯ เช่น พิจารณาแฟ้มสะสมผลงานของเด็ก เป็นต้น

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า การสอบ O-Net นั้น เป็นการวัดผลเมื่อสิ้นสุดการศึกษาและที่ต้องการให้ ทปอ.นำคะแนนไปใช้ก็เพราะต้องการส่งเสริมการเรียนการสอนในห้องเรียนเพื่อลดปัญหาการกวดวิชา ซึ่งการที่คงไว้ 5 กลุ่มสาระฯก็เพื่อเน้นการเรียนในห้องเรียนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวโรงเรียนและนักเรียน ส่วนอีก 3 กลุ่มที่ลดลงนั้นใช้ค่าน้ำหนักน้อยขณะเดียวกันยังมีความหลากหลายของสาระที่อยู่ในเนื้อหา สทศ. พิจารณาว่าอาจไม่จำเป็นที่จะต้องสอบและหากใช้ในการสอบแข่งขันยิ่งไม่จำเป็น ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับ ทปอ. ว่า หากต้องการคงไว้ 8 กลุ่มสาระฯ ก็ต้องหาวิธีการวัดผลใน 3 กลุ่มสาระฯที่เหลือต่อไป

ด้านศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวว่า หาก สทศ. ยืนยันจะจัดสอบ O-Net เพียง 5 กลุ่มสาระฯ และ 3 กลุ่มสาระฯให้โรงเรียนออกข้อสอบเอง นั้น ทปอ. จะไม่ใช้คะแนนสอบ O-Net ใน 3 กลุ่มสาระฯที่โรงเรียนจัดสอบเพราะจะทำให้เด็กเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่อาจจะใช้เพียงผลสอบ O-Net ที่ สทศ. จัดสอบ 5 กลุ่มสาระฯ เท่านั้น และต้องมาปรับการให้ค่าน้ำหนักของ O-Net ที่ใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อเกิดความยุติธรรมกับเด็กมากที่สุด ส่วนที่ รมว.ศึกษาธิการ จะหารือกับ ทปอ. ในเรื่องการปรับลดสอบ O-Net เป็นเรื่องที่ดีและตนพร้อมจะชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นทั้งหมด และยืนยันสิ่งที่ทำไปเพื่อเด็ก อย่างไรก็ตาม หาก ทปอ. จะมีการปรับองค์ประกอบและค่าหนักค่าที่จะใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการปรับใหญ่ จะต้องมีการประกาศล่วงหน้า 3 ปีให้เด็กทราบ


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น