xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมเราต้องติดตามเรื่อง “ถอดถอน?”

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แตะเรื่องถอดถอนไปหน่อยหนึ่ง และก็สังหรณ์ใจไว้อย่างที่เขียนว่า เรื่องการถอดถอนนี้จะกลายเป็นเรื่องที่ฝ่ายทักษิณ “ยอมไม่ได้” แน่ๆ

และแล้วก็ได้เห็นจริง เมื่อฝ่าย สนช.ออกอาการ “แหยง” ไม่กล้าที่จะฟันธงว่าตัวเองมีอำนาจถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ที่ใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ ตามสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ในที่สุด สนช.ก็มีมติให้เลื่อนการพิจารณาวาระดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด แถมยังให้งดเว้นข้อบังคับการประชุมที่กำหนดให้ต้องพิจารณาดำเนินการตามกรอบเวลา 30 วัน หลังจากที่ได้รับเรื่อง โดยให้เป็นดุลพินิจของประธาน สนช.ว่าจะพิจารณาวาระดังกล่าวกลับเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้งเมื่อใด

โดยสรุปคือว่า ตกลงแล้ว สนช.ก็ไม่ได้สรุปว่าตัวเองมีอำนาจถอดถอนหรือไม่ แต่ก็ใช้วิธีพับเรื่องเก็บไว้รอว่างๆ ค่อยมาคุยกันต่อ โดยที่ปัญหาของเรื่องการถอดถอนอดีตประธานสภาฯ นิคมกับสมศักดิ์นี้เป็นเหมือนแค่หนังตัวอย่าง ส่วนของจริงนั้นอยู่ที่อดีตนายกฯ ปู กับคดีจำนำข้าว ที่พูดกันว่าเสียหายกันเจ็ดแสนล้านนั่นแหละครับ

พอมีเรื่องจะถอดถอนอดีตประธานสภาฯ และอดีตนายกฯ ชุดสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีการสร้างกระแสเย้ยหยันของขาประจำอีกฝ่ายว่า นี่เป็นการหาเรื่องชัดๆ ก็เพราะคนพ้นตำแหน่งไปแล้วเพราะการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ไปแล้วแท้ๆ จะมานั่งถอดถอนอะไรอีก

ซึ่งอันนี้เป็นความพยายามบิดเบือนมาจากฝ่ายที่ไม่อยาก “เสียประโยชน์” ในอนาคต เพราะจริงอยู่ว่า ตำแหน่งที่จะถอดถอนกันนั้นมันตกลงไปแล้ว หรือเป็นเรื่อง “อดีต” แต่จริงๆแล้ว ข้อหนักของการถอดถอนนั้นอยู่ที่เมื่อผู้ใดถูกมติจากสภาฯ ให้ถอดถอนแล้ว ก็จะเป็นอันว่าต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไปด้วย

เพราะตามกรอบของรัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 35 (4) ที่วางหลักการบังคับไว้สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับหน้าว่า จะต้องป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

คำว่า “เด็ดขาด” นี้เอง ทำให้ฝ่ายที่มีชนักติดหลังพยายามที่จะ “ล้ม” กระบวนการถอดถอนให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้น มติถอดถอนที่ว่านี้จะกลายเป็นคำสั่งประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตทางการเมืองทันที

“ถอดถอน” ไม่ใช่เพียงแค่มาตรการให้พ้นจากตำแหน่งเท่านั้น แต่มันหมายถึงการห้ามมิให้ผู้กระทำการอันถูกถอดถอนนั้นเข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองอีก

หรือถ้าพูดแบบเล่นคำภาษาไทย “ถอดถอน” คือ ทั้ง “ถอด” ออกจากตำแหน่ง และ “ถอน” ออกจากวงการเมือง แบบดึงรากดึงโคนออกไปด้วย

ดังนั้นแม้จะไม่ต้อง “ถอด” ออกจากตำแหน่งเพราะหลุดไปตามการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว แต่ก็ยังต้อง “ถอน” ออกไปจากแผ่นดินการเมืองไทยอยู่ดี

นี่คือคำตอบให้สำหรับคำถามบิดเบือนที่ว่า “ก็พ้นตำแหน่งไปแล้วจะเอาอะไรมาถอดถอน”

ส่วนปัญหาว่าจะถอดถอนได้หรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ว่าด้วยเรื่องการถอดถอนนั้นสิ้นผลไปแล้ว และรัฐธรรมนูญปัจจุบัน 2557 ก็ไม่มีเรื่องการถอดถอนบัญญัติไว้

ในเรื่องนี้ ทฤษฎีทางรัฐธรรมนูญที่ยอมรับถือว่า กฎหมายใดก็ตาม ที่บัญญัติโดยชอบตามรัฐธรรมนูญใด กฎหมายนั้นก็จะยังถือว่าใช้บังคับได้อยู่แม้รัฐธรรมนูญนั้นจะสิ้นผลไปแล้ว

เพราะถ้าหากถือว่า รัฐธรรมนูญสิ้น กฎหมายต้องสิ้นผลตามไปด้วย รับรองว่ากฎหมายหายไป 90% จากประเทศไทยทันที รวมทั้งประมวลกฎหมายแพ่งกฎหมายอาญาด้วย เรียกว่าเป็นหนี้ไม่ต้องใช้ ตีหัวใครไม่ต้องติดคุก

เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะยกเลิกไป แต่ก็ต้องถือว่า เมื่อ คสช.ประกาศให้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญยังมีผลใช้บังคับอยู่ ก็แปลว่าทุกสิ่งอย่างที่เขียนไว้ในกฎหมายนั้น จะต้องบังคับใช้ได้ต่อไป

ซึ่งเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หมวด 5 ซึ่งมีมาตรา 64 และ 65 บัญญัติให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.รายงานมติในการถอดถอนไปยังประธานวุฒิสภาตาม แล้ว ให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณามีมติโดยเร็ว ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจะมีอิสระในการออกเสียงลงคะแนน โดยวิธีลงคะแนนลับ หากมีมติไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ผู้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ผู้นั้นก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติ และถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในหน่วยงานของรัฐ หรือในการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี (ตามที่กฎหมายนั้นกำหนด ซึ่งตรงนี้เองที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจจะกำหนดห้ามตลอดชีวิต)

สนช.จะอ้างว่าไม่มีอำนาจ เห็นจะไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็ถือว่า สนช.นั้นเข้าไป “สวม” ตำแหน่งทาง ส.ส. และ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2550 อยู่แล้ว เช่น การที่ว่าให้ สนช.ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ก็ถือว่าเทียบเคียงมาจากการยื่นบัญชีฯ ของ ส.ส. และ ส.ว.หรืออย่างกรณีการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระหรือหน่วยงานใด ที่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นอำนาจของ ส.ว. สนช.เองก็เคยใช้อำนาจเช่นว่านั้นได้อยู่ อย่างในวันที่ (22 ต.ค. 57) ก็จะมีมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รวมทั้งก็จะให้ความเห็นชอบเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาคนใหม่

เพราะนั่นเท่ากับ สนช.เข้ามานั่งเก้าอี้เดิม และทำหน้าที่เดิมกับที่ ส.ว.เคยนั่ง เคยทำนั่นเอง สนช.ไม่ได้ใช้อำนาจถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่เป็นการใช้อำนาจถอดถอน ตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช. นี่ต่างหาก ซึ่ง สนช.ก็มีหน้าที่วินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นในวงงานของตัวเองได้ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2557 บัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรคสองอยู่แล้ว

การที่ สนช.มีมติยังไม่วินิจฉัยหรือพับเก็บเรื่องนี้ใส่ลิ้นชักไว้รอคิดใหม่ในโอกาสเหมาะ จะมองว่าเป็นการเก็บระเบิดเวลาไว้ “ขู่” พวกอำนาจเก่าก็ได้ หรือใครมองในแง่ร้ายหน่อยอาจจะมองว่า นี่อาจจะเป็นการละเล่นแบบมวยปล้ำทางโทรทัศน์ที่กระทืบเวทีกันขึงขังแต่ชกใส่ลมแค่พอเฉียดๆ หน้า ให้คนดูลุ้นเล่นกันหรือเปล่า

แต่ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม การปล่อยเรื่องนี้ไว้อีหลักอีเหลื่อนานจนเกินควร ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อ สนช.และกระบวนการปฏิรูปประเทศลดลงไปเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น