xs
xsm
sm
md
lg

2514 : ก่อกำเนิด Petrodollar system และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมไทย

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

การตรา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรเกี่ยวข้องกับการเมืองและการเศรษฐกิจโลกในยุคนั้นอย่างมีนัยสำคัญ

มุมของประเทศไทย : สถานการณ์อุตสาหกรรมน้ำมันหลังสงครามโลกไทยต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากบริษัทค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่สองรายสำคัญคือ เอสโซ่ กับ บริษัทเชลล์ ตอนนั้นไทยพยายามจะดิ้นรนเพื่อจะลดการพึ่งพา “ยืมจมูกต่างชาติหายใจ” เช่นพยายามตั้งโรงกลั่นน้ำมันเองที่บางจาก นำเข้าน้ำมันดิบมาเพื่อกลั่นเองแทนที่จะซื้อสำเร็จรูปทั้งหมด จากนั้นตอนที่ไทยเริ่มดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศตามแนวสหรัฐอเมริกาเช่นมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดทิศทางเติบโตเริ่มจากสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไทยก็เริ่มเชิญชวนให้ต่างชาติมาขุดเจาะสำรวจน้ำมันดิบ

ก่อนพ.ศ.2514 ไทยเรายังไม่มีกฎหมายด้านสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมโดยตรง จึงปรับใช้กฎหมายสำรวจแร่ไปพลางๆ ทราบไหมครับบริษัทอะไรที่เข้ามาขุดเจาะสำรวจในยุคแรก ?

บริษัทแรกเมื่อ 2505 ดังกล่าวชื่อว่า Union Oil Company of California ต่อมาเป็น UNOCAL และกลายเป็น เชฟรอน ในปัจจุบัน จากนั้นก็มีบริษัทต่างชาติทยอยเข้ามาเพิ่มเติมอีกหลายบริษัท

จนที่สุดก็มีการตราพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 กำหนดระบบสัมปทานและเงื่อนไขผู้ขุดเจาะสามารถนำน้ำมันดิบขายออกนอกได้ ทั้งกำหนดให้ราคาน้ำมันที่ได้ให้เป็นไปตามตลาดโลก เงื่อนไขนี้บริษัทเอกชนได้เปรียบเพราะตอนนั้นรัฐไทยแทบไม่มีฐานความรู้เรื่องปิโตรเลียม ประเทศเราไม่ใช่แหล่งน้ำมัน เราเชื่อว่าแหล่งพลังงานของเราเป็นกะเปาะเล็ก ไม่คุ้มค่าเหมือนในตะวันออกกลาง

เชื่อกันว่าเนื้อหาในกฎหมายปิโตรเลียมฉบับนี้น่าจะถูกกำหนดจากบริษัทน้ำมันต่างประเทศและตัวอย่างการให้สัมปทานน้ำมันชาติอื่นๆ ก่อนหน้ามากทีเดียวเพราะเวลานั้นไทยไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้มากนัก

เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ถูกใช้มาตลอดต่อเนื่องจนปัจจุบัน

.....................

มุมมองจากภายนอก : พ.ศ. 2514 ตรงกับ ค.ศ.1971 เป็นยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวหลังสงครามโลกผ่านพ้น บางตำราเรียกยุคนี้ว่า Long Boom หรือ The Golden Age of Capitalism อุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งที่ดีทรอยท์และยุโรปกำลังมองหาตลาดนอกทวีปตัวเอง

ยุคนี้เป็นยุคที่บรรษัทน้ำมันของยุโรปอเมริกายักษ์ใหญ่ที่เรียกว่า The Seven Sisters ผูกขาดการค้าน้ำมันของโลก พี่น้องทั้งเจ็ดประกอบด้วย 1/ Anglo-Persian Oil Company ต่อมาก็คือ BP ปั๊มสีเขียว, 2/ Gulf Oil ซึ่งนี่เป็นบริษัทที่เข้ามาสำรวจขุดเจาะน้ำมันในประเทศไทยยุคแรกก่อนพ.ศ.2514 อีกรายหนึ่งคู่กับ 3/ Standard Oil of California ต่อมาเป็นยูโนแคล และถูกควบรวมเป็น เชฟรอนที่แปลงร่างมาจากกลุ่มเจ็ดพี่น้องนามว่า 4/ Texaco อีกบริษัทหนึ่งที่คนไทยคุ้นกับดีก็คือ 5/Standard Oil of New Jersey เจ้าของยี่ห้อ ESSO กับ 6/ Standard Oil Company of New York (Socony)ต่อมาเป็น ExxonMobil และสุดท้ายก็คือน้ำมันตราหอยที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน 7/ Royal Dutch Shell

บริษัท 7 ยักษ์ใหญ่กลุ่มนี้มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันในโลกรวมกัน 85% ใหญ่ไม่ใหญ่คิดดู เล่ากันว่าคนไทยที่ได้เข้าทำงานกับบริษัทน้ำมันเหล่านี้ยุคแรกๆ ถือเป็นมนุษย์ทองคำเลยทีเดียว อย่าง ม.จ.ภีศเดช รัชนี จบอังกฤษมาก็มาทำงานกับบริษัทเชลล์ ต่อมาดูแลด้านประชาสัมพันธ์เลยคิดค้นแคมเปญ “เชลล์ชวนชิม” ดึง ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ไปเป็นพรีเซนเตอร์โด่งดังไป

น่าสนใจไหมครับ ในบรรดา 7 พี่น้องมีอเมริกันเสีย 5 บริษัท ล้วนแต่มหาเศรษฐีโลกมีอำนาจเงินแล้วก็อำนาจการเมืองควบคุมทำเนียบขาวที่วอชิงตันดี.ซี.ได้เลย ว่ากันว่าผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองจากฝ่ายการเงินคือตระกูลรอธไชลด์ มีน้ำหนักควบคู่กับส่วนผู้ทรงอิทธิพลจากบรรษัทน้ำมันคนไทยต้องรู้จักมหาเศรษฐีเจ้าของสแตนดาร์ดออยล์แน่ๆ เพราะเขาชื่อว่า จอห์น ดี.ร็อคกี้เฟลเลอร์ ผู้ตั้งมูลนิธิให้เด็กไทยไปเรียนต่อและทำอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง

ในช่วงปี 1971 (2514) อันเป็นปีที่รัฐบาลไทยออกพรบ.ปิโตรเลียมเอาใจบริษัทน้ำมันมีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งสหรัฐอเมริกาและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกทั้งใบก็ว่าได้นั่นก็คือ สหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอนตัวจากระบบมาตรฐานปริวรรตทองคำ (Gold Exchange Standard) ซึ่งกำหนดผูกค่าเงินไว้กับทองคำ ที่จริงระบบนี้มาจากข้อตกลงกันในช่วงท้ายของสงครามโลกเรียกว่าข้อตกลง Bretton Woods แปลได้ว่าเมื่อก่อนใครถือดอลลาร์ให้สามารถนำเอาดอลลาร์มาแลกเป็นทองคำได้ (Gold Convertibility) ให้เป็นอันยกเลิกแล้วให้ค่าเงินลอยตัว

อ้าว ! แล้วค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากนั้นอยู่ได้เพราะอะไร ? เรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์ยุคหลังอธิบายแบบง่ายๆ ว่า หลังจากปี 1971 สหรัฐเลิกระบบ Dollar for Gold เปลี่ยนมาเป็น Dollar for Oil แทน...นั่นเพราะว่าอิทธิพลทางการเมืองและการทหารของสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำโลกเสรีในยุคนั้นกำหนดให้โค้ดราคาซื้อขายน้ำมันเป็นสกุลดอลลาร์นั่นยังไง

เขาบอกว่า 1971 เป็นการเริ่มต้นยุค Petrodollar system

น่าสนใจดีไหมครับเงื่อนไขการขุดเจาะน้ำมันตาม พรบ.ปิโตรเลียม 2514 (1971) ให้ขายในราคาตลาดโลกและแน่นอนจำต้องโค้ดราคาตามระบบ Petrodollar system พร้อมกันไป

ปิโตรเลียมไม่ใช่เป็นแค่ผลประโยชน์หรือความมั่งคั่งของนักธุรกิจน้ำมันเหมือนยุคก่อนสงครามโลกแล้วเพราะมันถูกผูกให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองโลกและความมั่นคงของระบบการเงินมหาอำนาจยักษ์ใหญ่โลกเสรีไปด้วย

หลังจากนั้นอีกสองปี 1973 ก็เกิดวิกฤตการณ์พลังงานรอบแรก เกิดกลุ่มโอเปคและวงจรต่อรองอื่นรวมทั้งการสงครามในอาหรับ

นักทฤษฎีสมคบคิดเขามองว่าวิกฤตการณ์น้ำมันเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของเจ้าพ่อน้ำมันโลกด้วยซ้ำไป – เรื่องนี้ผมแค่อ่านผ่านไปไม่ได้เชี่ยวชาญแค่เปิดประเด็นทิ้งไว้สำหรับผู้สนใจไปค้นคว้าอ่านดูเอง

เอ่อ...ทั้งนี้จีนและรัสเซียกำลังร่วมมือกันซื้อขายพลังงานในสกุลเงินหยวนกับรูเบิ้ล นี่คือการบ่อนทำลาย Petrodollar ที่ตรงขั้วหัวใจที่สุดแต่อย่างไรก็ตามโลกจะเปลี่ยนยังไงก็ตามแต่ประเทศไทยของเราก็ยังจะเดินหน้าไปตามเงื่อนไขอเมริกาจัดให้เมื่อพ.ศ.2514 ที่ทำกันมา 40 กว่าปีต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น