รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย นักวิชาการนิด้า กล่าวถึง “สนธิ ลิ้มทองกุล” ชี้เป็นนักหนังสือพิมพ์อาชีพ เป็นผู้รอบรู้ทางสหวิทยาการศาสตร์ เป็นนักคิด-นักเขียน-นักพูด-นักปฏิบัติที่มีความกล้าหาญทางศีลธรรมด้วยจุดยืนมั่นคง หนักแน่นในผลประโยชน์ของชาติ กระตุ้นต่อมปัญญาและมโนธรรมสำนึกของผู้คนที่รักความยุติธรรมที่อยากเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น ระบุแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 แต่ก็ไม่หนี เคารพกฎหมายเดินเข้าคุกอย่างทระนง
วันนี้ (19 ส.ค.) ใน คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิต โดย รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ได้กล่าวถึง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืน จำคุก 20 ปี ข้อหาผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยขณะนี้ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอกระบวนการการยื่นต่อสู้คดีในชั้นฎีกา
นายวิวัฒน์ชัย รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากนิด้ากล่าวถึง เท่าที่ตนทราบ นายสนธิเป็นนักหนังสือพิมพ์อาชีพที่มีพื้นเพการศึกษาทางประวัติศาสตร์ สามารถวิเคราะห์สังคมอย่างเคลื่อนไหวและมีพลวัต สามารถเชื่อมโยงโครงสร้างอำนาจ-เศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรมได้อย่างลุ่มลึก อย่างชัดเจน อย่างเป็นระบบ โดยในทางวิชาการถือว่านายสนธิ เป็นผู้รอบรู้ทางสหวิทยาการศาสตร์ โดยงานเขียน งานพูด ถือเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ
“ยาม สนธิ ลิ้มทองกุล ขึ้นเวทีเสียงปรบมือกึกก้องต้อนรับด้วยความยินดีจากผู้คนที่ศรัทธาในตัวเขา เขาครบเครื่องในตัวเอง เป็นทั้งนักคิด-นักเขียน-นักพูด-นักปฏิบัติที่มีความกล้าหาญทางศีลธรรมด้วยจุดยืนมั่นคง หนักแน่นในผลประโยชน์ของแผ่นดินอย่างหนักแน่นของลูกจีนรักชาติ เขาจุดประกายให้ผู้คนตื่นรู้ หันมาสนใจปัญหาบ้านเมือง กล้าคิด กล้าลงมือปฏิบัติ จนเกิดขบวนการประชาชนที่นำโดยเขาและพรรคพวก ท่ามกลางอำนาจอวิชชาของผู้ปกครองที่ครอบงำสังคมให้ติดหล่มตกอยู่ในกับดักทางปัญญาด้วยอำนาจเงินตราและผลประโยชน์ ท่วงทำนองการนำเสนอข้อมูลและการวิเคราะห์ปัญหาแม้จะดูกร้าวไปบ้าง แต่เร้าใจ กระตุ้นต่อมปัญญาและมโนธรรมสำนึกของผู้คนที่รักความยุติธรรมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
“... การอุทิศทุ่มเทเสียสละเพื่อชาติของ สนธิ ลิ้มทองกุล นั้นยิ่งใหญ่มาก เทียบกันไม่ได้เลยกับบทลงโทษต้องถึงติดคุกติดตะรางตามกฎหมายบ้านเมือง ขณะที่เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินไทยครั้งใหญ่ในปี 2540 หลายคนล้มบนฟูก ตัวการทำเศรษฐกิจชาติพังเสียหายนับแสนล้านบาทกลับหลุดรอด บางรายหนีไปอยู่ในต่างประเทศ บางรายเป็นเหมือนโมฆะบุรุษ แต่ยังลอยหน้าลอยตาเกาะเกี่ยวอยู่ในอำนาจรัฐในรัฐบาลต่อๆ มา และแม้กระทั่งถึงในปัจจุบันก็ยังมี... หากแต่ สนธิ ลิ้มทองกุล เคารพกฎหมายเดินเข้าคุกอย่างทระนง” รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย ระบุ
สำหรับข้อเขียนฉบับเต็มของ รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร เกี่ยวกับนายสนธิ ใน นสพ.ไทยโพสต์ มีรายละเอียดดังนี้
เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิต : ภารกิจเพื่อชาติยังไม่จบของสนธิ ลิ้มทองกุล
จากประสบการณ์การสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ผมตระหนักว่า การแก้ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไม่สามารถทำได้โดยใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เพียงศาสตร์เดียวได้ มุมมองการวิเคราะห์ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์อย่างเจาะลึกรอบด้านอย่างสะท้อนความเป็นจริง จำเป็นต้องอาศัยความรู้จากศาสตร์สาขาอื่นเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์อันเป็นหน่วยในการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) ยิ่งไปกว่านั้น ระบบเศรษฐกิจเป็นระบบที่เกี่ยวพันกับระบบการเมือง-สังคม-วัฒนธรรม
การเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในชั้นเรียนของผม นักศึกษาจะได้มีโอกาสสัมผัสกับการนำเสนอที่หลากหลาย กรณีศึกษา ที่ขาดไม่ได้คือ ผู้มีความรู้และประสบการณ์จากสาขาอื่น (วิทยากรไม่จำเป็นจะต้องเป็นอาจารย์หรือจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังจากต่างประเทศ แต่มีความรู้ระดับเรียก “อาจารย์” ได้เลย) มาให้ความรู้ในหัวข้อที่เกี่ยวพันกับบทเรียนเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสความคิดเห็นที่แตกต่าง กล้าแสดงออก ถกเถียง โต้แย้ง เห็นต่างอย่างใช้สติปัญญา เพื่อประโยชน์ในการขยายโลกทัศน์ของผู้เรียนให้ทันสมัย กว้างไกล ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ
ผมเชื่อว่าองค์ความรู้และวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์แม้มีประโยชน์ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ทางสังคมอย่างสะท้อนความเป็นจริง โดยเฉพาะปัญหาและวิกฤตการณ์เชิงโครงสร้างซับซ้อนที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันได้ ในฐานะคนสอนหนังสือ อยากเห็นลูกศิษย์ที่เรียนเศรษฐศาสตร์มีโอกาสได้ฟังข้อคิดข้ามสาขาวิชาบ้าง ได้เห็นแนววิเคราะห์แปลกใหม่จากสหวิทยาการบ้าง สามารถมองเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับสังคมการเมืองอย่างมีพลวัต อย่างมีชีวิตชีวาบ้าง มิใช่เศรษฐศาสตร์บนหอคอยงาช้าง แต่เป็นเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตของคนในสังคมไทยเชื่อมต่อกับสังคมโลก ทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง สามารถทำความเข้าใจได้ ไม่อยากเห็นศิษย์เศรษฐศาสตร์มีมุมมองมีข้อจำกัดตายตัว หลงวนอยู่ในกรอบวิธีวิทยาเชิงปริมาณ ยึดตัวเลขตีความเป็นหลักอย่างเดียวอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักทำกัน เช่น มักยึดโยงกับการตีความปัญหาเศรษฐกิจโดยเน้นจากตัวแปรทางเศรษฐกิจแค่เพียงไม่กี่ตัวแปร ไม่กี่องค์ประกอบ แล้วทำนายเหตุการณ์โน่น นี่ นั่น แม้มีจุดแข็งที่เป็นประโยชน์บางประการ แต่ก็มีจุดอ่อนเชิงโลกทัศน์อันคับแคบและแข็งกระด้างอยู่มาก จนไม่สามารถตั้งโจทย์ให้เข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นหรือตอบโจทย์ทางสังคมที่สลับซับซ้อนโดยเฉพาะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสังคมตลอดเวลาภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ทรงพลังได้มากนัก
ผู้รู้ที่ผมเชื้อเชิญมาบรรยายพิเศษอาจเคยออกทีวีเป็นที่รู้จักของสังคม เช่น กวีเพื่อชีวิตอย่าง อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แต่หลายท่านส่วนใหญ่ทีวีช่องพี่เบิ้ม แม้แต่ช่องที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีประชาชนก็แทบจะไม่รู้จักคนเหล่านี้ เช่น อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ นักมานุษยวิทยาชั้นหัวกะทิ ที่วิเคราะห์สังคมไทยได้อย่างแหลมคม และมีความรู้เป็นอย่างดีทางมนุษยวิทยาทางการศึกษา ซึ่งเป็นความรู้ที่ระดับบิ๊กๆ ของกระทรวงศึกษาธิการแทบไม่มีเอาเสียเลย อาจารย์เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ นักรัฐศาสตร์การเมืองที่มีความเชี่ยวชาญและผลงานทฤษฎีระบบโลกที่สามารถนำเสนอการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในกระแสการเมืองโลกได้ลุ่มลึก อาจารย์เลอเกียรติ พงสารพิกูล อดีตนักเรียนทุนอานันทมหิดล สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีความรู้เชิงสหวิทยาการ ฯลฯ มาเติมเต็มความรู้ให้ศิษย์ในห้องเรียน
ผมเชิญผู้รู้มาบรรยายโดยพิจารณาจากผลงานของท่านเป็นสำคัญ บางท่านผมก็ไม่เคยรู้จักเป็นส่วนตัวมาก่อนเลย เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้ว สนธิ ลิ้มทองกุล ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ผมเชื้อเชิญให้มาบรรยายพิเศษให้นักศึกษาปริญญาโทวิชาทฤษฎีและนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งผมเป็นผู้สอน ไม่รู้จักกันมาก่อน เพียงยกหูโทรศัพท์เรียนเชิญมาบรรยายพิเศษ เขาก็เป็นคนเรียบง่าย ตอบตกลงตามหัวข้อที่ผมกำหนด
การบรรยายพิเศษของ อาจารย์สนธิ ลิ้มทองกุล ครั้งนั้น ได้จุดประกายความคิดให้ผู้เรียน ว่าด้วยแนวโน้มการเคลื่อนตัวของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ต่อเศรษฐกิจสังคมจีนและไทยได้อย่างคมชัดเป็นอย่างมาก เกิดการถกเถียงในห้องเรียนอย่างสนุกสนาน สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นนักหนังสือพิมพ์อาชีพที่เรียนจบมาทางประวัติศาสตร์ สามารถวิเคราะห์สังคมอย่างเคลื่อนไหวและมีพลวัต สามารถเชื่อมโยงโครงสร้างอำนาจ-เศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรมได้อย่างลุ่มลึก อย่างชัดเจน อย่างเป็นระบบ
ในทางวิชาการถือว่า สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้รอบรู้ทางสหวิทยาการศาสตร์ (Interdisciplinary Man) งานเขียน งานพูดของเขาจึงเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ
ในปี 2552 เมื่อตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับรางวัลยูเนสโก (องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ข้อเขียน สามชุก : ความสำเร็จของการเมืองภาคประชาชน ของผมในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 ได้ถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือสำหรับแจกวันงาน ชื่อ “ย้อนมอง...สามชุกตลาดร้อยปี กว่าจะถึงวันนี้” ในโอกาสรับมอบรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชุมชนสามชุกตลาดร้อยปี โดยที่ผมก็ไม่เคยทราบมาก่อน. มารู้เมื่อตอนมีคนฝากหนังสือมาให้
การรับรางวัลยูเนสโกในครั้งนั้น เป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านสามชุก คนสามชุกตื่นตัวมาก อยากรู้ว่าตัวเองจะอยู่ จะกิน จะค้าขาย จะทำการเกษตร จะพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองในท้องถิ่นที่พวกตนอาศัยอยู่ไปในทิศทางใดในกระแสโลกาภิวัตน์ ปี 2553 จึงมีการเชิญผมไปพูดในงานเสวนาวิชาการแบบชาวบ้านเรื่อง “เศรษฐกิจชุมชน” กลางตลาดสามชุกตอนเย็นเมื่อตลาดเลิกแล้ว ร่วมกับวิทยากรอีก 2 ท่าน คือ อาจารย์เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนาแห่งมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี อีกท่านหนึ่งผมนึกชื่อไม่ออก โดยคาดว่าจะมีผู้ฟังประมาณ 80-100 คน อีก 2 วันก่อนจะถึงวันงาน ทางผู้จัดได้โทร.มาบอกว่า อาจจะต้องเลิกจัดเพราะผู้กว้างขวางของจังหวัดและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กีดกันไม่ต้องการให้จัดงานนี้ สำหรับผม พอนึกออกเบื้องหลังที่มีบางคนไม่อยากให้ผมขึ้นพูดเวทีสามชุก อย่างไรก็ตาม ตกค่ำของคืนก่อนวันนัดหมาย ทางคณะผู้จัดโทร.มายืนยันจะจัดตามที่นัดหมายไว้เพราะเป็นการให้ความรู้กับคนในชุมชน
เมื่อผมไปถึงตลาดสามชุกค่อนข้างแปลกใจ ที่ต้องขึ้นเวทีพูดกับผู้คนเยอะมากราวหมื่นคน รอบๆ ตลาดแทบไม่มีที่จอดรถ คนเดินกันขวักไขว่อุ่นหนาฝาคั่ง เมื่อสอบถามทางผู้จัดจึงทราบว่าการถูกบีบให้ล้มเลิกการจัดมีคนเล่าต่อกันไป ความล่วงรู้ถึงหูมวลชนพันธมิตรฯ แกนนำจึงมากันพร้อมหน้าตามติดมาด้วยบรรดาแฟนยกทีมมาเปิดเวทีต่อจากการเสวนาของพวกผม ทั้งๆ ที่การเดินทางมาสุพรรณบุรีในครั้งนี้ไม่อยู่ในกำหนดการของพันธมิตรฯ หลังจากเจอกันครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน ผมก็เพิ่งเคยเจอ สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นครั้งที่ 2 เมื่อยาม สนธิ ลิ้มทองกุล ขึ้นเวทีเสียงปรบมือกึกก้องต้อนรับด้วยความยินดีจากผู้คนที่ศรัทธาในตัวเขา เขาครบเครื่องในตัวเอง เป็นทั้งนักคิด-นักเขียน-นักพูด-นักปฏิบัติที่มีความกล้าหาญทางศีลธรรมด้วยจุดยืนมั่นคง หนักแน่นในผลประโยชน์ของแผ่นดินอย่างหนักแน่นของลูกจีนรักชาติ เขาจุดประกายให้ผู้คนตื่นรู้ หันมาสนใจปัญหาบ้านเมือง กล้าคิด กล้าลงมือปฏิบัติ จนเกิดขบวนการประชาชนที่นำโดยเขาและพรรคพวก ท่ามกลางอำนาจอวิชชาของผู้ปกครองที่ครอบงำสังคมให้ติดหล่มตกอยู่ในกับดักทางปัญญาด้วยอำนาจเงินตราและผลประโยชน์ ท่วงทำนองการนำเสนอข้อมูลและการวิเคราะห์ปัญหาแม้จะดูกร้าวไปบ้าง แต่เร้าใจ กระตุ้นต่อมปัญญาและมโนธรรมสำนึกของผู้คนที่รักความยุติธรรมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
สนธิ ลิ้มทองกุล จะเป็นคนที่น่ารักหรือน่าชังน่าเกลียดสำหรับใครหลายๆ คนนั้นเป็นธรรมดาของโลก แต่วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขากลายเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนในฐานะผู้นำจุดประกายเป็นเทียนแห่งปัญญาเทียนแห่งธรรมส่องสว่างในใจคนทั่วทั้งแผ่นดินไทยจนสังคมไทยกลายมาเป็นวันนี้
จิตวิญญาณอันมุ่งมั่น คงเส้นคงวา “ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง” แถมลูกปืนอีก 200 นัด เศษลูกตะกั่วบางนัดยังฝังอยู่ในหัว ได้พิสูจน์ ความมีกึ๋น ของผู้ชาย ที่ไม่ธรรมดา คนนี้ กล้าคิด กล้าทำ กล้านำการเปลี่ยนแปลง ไม่ก้มหัวให้เหล่าอธรรม “คุกขังเขาได้แค่เพียงกาย แต่ขังใจเขาไม่ได้” การเสียสละตอบแทนคุณแผ่นดินได้พิสูจน์คุณธรรมและคุณงามความดีของคน สนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับประกาศนียบัตรประกาศความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิตของเขาแล้ว มิใช่ ความสำเร็จ แบบมายาภาพที่คนมักชอบเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาคนเราเกิดมาย่อมทำผิดทำถูกได้ การอุทิศทุ่มเทเสียสละเพื่อชาติของ สนธิ ลิ้มทองกุล นั้นยิ่งใหญ่มาก เทียบกันไม่ได้เลยกับบทลงโทษต้องถึงติดคุกติดตะรางตามกฎหมายบ้านเมือง ขณะที่เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินไทยครั้งใหญ่ในปี 2540 หลายคนล้มบนฟูก ตัวการทำเศรษฐกิจชาติพังเสียหายนับแสนล้านบาทกลับหลุดรอด บางรายหนีไปอยู่ในต่างประเทศ บางรายเป็นเหมือนโมฆะบุรุษ แต่ยังลอยหน้าลอยตาเกาะเกี่ยวอยู่ในอำนาจรัฐในรัฐบาลต่อๆ มา และแม้กระทั่งถึงในปัจจุบันก็ยังมี... หากแต่ สนธิ ลิ้มทองกุลเคารพกฎหมายเดินเข้าคุกอย่างทระนง
ขอคุณพระคุ้มครอง “สนธิ ลิ้มทองกุล” เขาเกิดมาเพื่อเป็นแบบอย่างของนักต่อสู้ผู้เสียสละ เพื่อความเป็นธรรมในสังคม และดูเหมือนภารกิจเพื่อชาติของเขายังไม่จบ