xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปพลังงาน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนหรือเพื่อใคร?

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

เวทีเสวนาปฏิรูปพลังงาน เพื่อความปรองดองของชาติ ที่จัดเมื่อวันพุธที่ 27 สิงหาคม 2557 มีตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ผู้บริหารบริษัท ปตท. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์

ส่วนกลุ่มประชาชนที่เห็นต่าง อาทิ นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น โดยมีหลวงปู่พุทธอิสระ เป็นคนกลางในการควบคุมเวลาและประสานให้การถามและตอบโต้ของทั้งสองฝ่าย ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง

ผมเชื่อว่าทุกคนที่เป็นคอข่าวและติดตามเรื่องปตท. คงเฝ้าติดตามการเสวนาของเวทีนี้กันอย่างใจจดใจจ่อ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าฟรีทีวีไม่มีช่องไหนเลยถ่ายทอดสด

ถ้าจะตั้งคำถามว่า ทำไมสื่อฟรีทีวี ที่ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด จึงไม่ถ่ายทอดสด เป็นเพราะไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ ทั้งๆที่เรื่องพลังงาน น้ำมันและแก๊สเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องคนทั่วประเทศ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ราคาน้ำมันแพงเป็นต้นทุนรวมอยู่ในสินค้า ที่ประชาชนต้องบริโภคอยู่ทุกวัน ก็คงจะฟังไม่ขึ้น

หรือจะเป็นเพราะรายการโทรทัศน์วิทยุส่วนใหญ่พึ่งพาเงินสปอนเซอร์จากปตท.และบริษัทในเครือ จนแทบจะไม่มีรายการไหน หรือผู้ผลิตรายการใดไม่พึ่งพาเงินจากปตท. ถึงขั้นเซ็นเซอร์ตัวเอง ปิดปากเงียบเรื่องความไม่โปร่งใสและความไม่ชอบมาพากลในปตท. ถ้าเป็นเหตุผลนี้ ก็น่าอนาถนักละครับสื่อสารมวลชนในประเทศไทย

ที่ผ่านมาข่าวสาร ข้อมูล จำนวนมากของปตท. ไม่ได้เผยแพร่อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาต่อประชาชน แม้คนไทยจำนวนหนึ่งตื่นตัวในการติดตาม เรียกร้องให้มีการปฏิรูปด้านพลังงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ ให้ปตท. หยุดเอาเปรียบประชาชน

การถกปัญหาพลังงานครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการนำสองกลุ่มที่มีความคิดต่างกันระหว่าง ปตท.และกระทรวงพลังงาน กับภาคประชาชน มาอยู่บนเวทีเดียวกัน และมีพระอย่างหลวงปู่พุทธอิสระเป็นกรรมการ ห้ามมวยเอ้ยไม่ใช่ละ แค่คอยเบรกไม่ให้เกิดการปะทะคารมกันรุนแรงจนเกินไป

การเสวนาครั้งนี้ค่อนข้างผ่านไปด้วยดี ได้เนื้อหาสาระพอสมควรเลยทีเดียว เวทีเสวนาแบบนี้ควรมีการถ่ายทอดสดออกฟรีทีวีและวิทยุ ให้ประชาชนสามารถติดตามได้ง่าย ทางที่ดีควรถ่ายทอดสดให้ได้เหมือนที่ ท่านหัวหน้าคสช.ออกมาพูดหรือเวลาออกประกาศและแถลงการณ์อะไรก็ตามที่ทีวีแทบทุกช่องวิทยุแทบทุกคลื่น ต้องตัดเข้ามาถ่ายทอดโดยทันที จริงๆแล้วการรวมศูนย์อำนาจแบบนี้ในกรณีแก้ปัญหาเพื่อปฏิรูปพลังงานคงทำได้ไม่ยาก ถ้าให้ความสำคัญและเอาจริง จริงจังจริงใจต่อประชาชน

ด้วยความที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลด้านพลังงานของแต่ละฝ่ายมากนัก เมื่อวันก่อนพอมีการลดราคาน้ำมันลงแค่เฉลี่ยสามบาท หลายคนก็ดีใจกันใหญ่ แต่จริงๆแล้วน้ำมันในประเทศไทยยังถูกลงได้มากกว่านี้อีกเยอะ เพราะแค่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับเราอย่างมาเลเซียยังใช้น้ำมันในราคาที่ถูกกว่านี้มากๆ คือลิตรละไม่เกิน 18 บาท

ดังนั้นการให้ข้อมูลแก่ประชาชนจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ในการหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆในประเทศ มันแสดงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

อันที่จริงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมาภิบาล หลักการในการบริหารการปกครองที่ดี หรือ Good Governance ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ต้องใช้หลักนิติธรรม มีความยุติธรรม เสมอภาค เป็นธรรม ต้องกระจายอำนาจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ ท่านหัวหน้าคสช.ก็ได้พูดถึงหลักธรรมาภิบาลมาหลายครั้งแล้ว

การเสวนาในครั้งนี้ สิ่งที่เราได้เห็นนอกจากการตื่นตัวหรือตื่นรู้ของประชาชน ซึ่งถือว่ามากขึ้นจากสมัยก่อนหากย้อนกลับไปหสังสิบปีก่อน

ที่สำคัญยังมีนักวิชาการ และอดีตข้าราชการทางด้านพลังงาน ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ที่น่าสนใจ เช่นเวทีเสวนาที่ชมรมวิศวฯจุฬาร่วมปฏิรูปประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557และมีข้อเสนอต่อคสช. และ ปตท. หลายประเด็น เช่น

ให้ปตท.ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ตามความเห็นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ของท่อแก๊สทั้งบนบกและทะเล ต้องคืนให้ครบและควรเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่วางท่อตามแนวท่อทั้งหมดส่วนท่อในทะเลต้องส่งมอบคืนรัฐ และควรจัดตั้งองค์กรปิโตรเลียมแห่งชาติใหม่รัฐถือหุ้น 100% รับโอนท่อแก๊สจากปตท.ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ

เวทีเสวนาชมรมวิศวะฯยัง เสนอให้ คสช. สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมทั้งหมด พร้อมขอให้ยุติการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ จนกว่าจะแก้ไขระบบสัมปทานให้เป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งปัจจุบัน พม่า เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ หันมาใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์หมดแล้ว ยกเว้นบรูไน แต่ไทยยังคงยืนหยัดระบบสัมปทาน ไม่ยอมปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งที่มีการใช้ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียอยู่แล้ว

สำหรับแปลงสัมปทานไทยแลนด์ I กำลังจะหมดอายุในปี 2558 - 2562 คือแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งมีแหล่งสำรองปิโตรเลียมสูง ต้องให้เปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างผลิตเพื่อความมั่นคง และควรที่จะจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญอิสระสำรวจปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศเพื่อให้รู้ข้อเท็จจริงว่าสำรองปิโตรเลียมของไทยมีเท่าใดจริงกันแน่ ไม่ใช่รอข้อมูลจากผู้รับสัมปทานอย่างที่เคยเป็นมา

นอกจากนี้ นางสิริพร ไศละสูต อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ยังให้ข้อมูลที่สวนทางกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานที่เข้าไปเป็นบอร์ดปตท.ด้วยว่า ข้อค้นพบเกี่ยวกับปิโตรเลียมไทยปัจจุบันขุดเจาะประมาณ 6,000 หลุม และกว่า 5,000 หลุมอยู่ในทะเล ซึ่งมีการอ้างว่าการขุดเจาะในอ่าวไทยนั้นทำยากและพบน้อย แต่ในเอกสารทางการของประเทศต่าง ๆ ยืนยันว่าไทยมีโอกาสขุดค้นพบปิโตรเลียมได้สูงถึง 70% และมีความเสี่ยงน้อย “บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) สำรวจและผลิต จำกัด ระบุว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ช่วยสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมที่มีการลงทุนต่ำ”

ปัจจุบันไทยมีการสำรวจ ขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมในไทยแบ่งเป็น Thailand I เป็นระบบสัมปทาน Thailand II เป็นระบบสัมปทาน และแหล่งพัฒนาพื้นที่ไทยมาเลเซียหรือ JDA ซึ่งเป็นสัญญาแบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC และหากมองประเทศเพื่อนบ้านขณะนี้เปลี่ยนเป็นระบบ PSC หมดแล้วเพราะไดรับประโยชน์มากกว่า

อีกประเด็นที่ชมรมวิศวฯจุฬาฯ ยกขึ้นมาก็คือ ดร.นพ สัตยาศัย ประธานชมรมวศ.รปปท. ระบุถึงราคาน้ำมันสำเร็จรูปว่า ปัจจุบันไทยมีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ที่มาบตาพุด จ.ระยอง แต่ไทยยังอ้างอิงราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์อยู่ จึงเสนอให้หันมาใช้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในประเทศแทนเพื่อราคาจะได้ถูกลง แต่หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ให้ปิดโรงกลั่นน้ำมันที่มีอยู่ไปเลย

นายตะวัน คงวัฒนานนท์ วิศวกรจุฬา 2520 กล่าวถึงการใช้แอลพีจีปัจจุบันพบว่าภาคปิโตรเคมีใช้มากขึ้นโดยเครือปตท.ใช้เป็นหลัก ขณะที่เครือปูนซิเมนต์จะต้องใช้แนฟธาซึ่งเป็นราคานำเข้าจึงต่างกันมาก การใช้แอลพีจีที่สูงก่อให้เกิดการนำเข้าคิดเป็น 22% ของการใช้ ส่วนนี้ถูกผลักภาระให้ภาคประชาชนเป็นผู้จ่ายผ่านการอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ผ่านมาคนไทยจ่ายให้ปิโตรเคมีและโรงกลั่นไปแล้วเกือบแสนล้านบาท ดังนั้นจึงขอเสนอให้โรงแยกแก๊สและโรงกลั่นที่ผลิตแอลพีจีให้จัดสรรให้กับกลุ่มครัวเรือนและขนส่งก่อน ส่วนการนำเข้าปิโตรเคมีควรจะรับผิดชอบเอง

กรณีเรื่องพลังงานนั้นเป็นเรื่องปากท้อง เป็นเรื่องใหญ่ของประชาชนและผลประโยชน์ชาติ ไม่ใช่เรื่องของการที่จะมาคิดเอาผลประโยชน์ใส่ตัวหรือพวกพ้อง จนกลายเป็นแหล่งสูบกินเลือดเนื้อบนความทุกข์ยากของประชาชน นักการเมืองและพรรคพวกสุมหัวกันปู้ยี่ปู้ยำเสวยสุขด้วยรายได้ผลประโยชน์มหาศาลมานานหลายสิบปี

ประเทศไทยให้สัมปทานการขุดเจาะทั้งน้ำมันและแก๊สมานานมาก ทรัพยากรมีค่าแทนที่จะนำมาบริหารจัดการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน กลับตกอยู่ในมือต่างชาติ และคนมีอำนาจการเมืองและปตท.

ปริมาณน้ำมันและแก๊ส นอกจากขายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปขายต่างชาติ แทนที่จะใช้อย่างคุ้มค่าและเก็บรักษาไว้ให้คนไทยรุ่นลูกหลาน ในประเทศเมื่อมีปริมาณที่มากพอต่อความต้องการใช้ แล้ว ส่วนที่เหลือค่อยส่งออก

ในฐานะคนวัยทำงาน ค่าครองชีพสมัยนี้แพงขึ้นทุกที่ เหตุผลหลักก็คงเกิดจากเรื่องของพลังงานที่ราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การผลิตและการขนส่งต่างๆต้นทุนแพงขึ้น ค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันค่าเดินทางและค่าอาหาร เป็นค่าใช้จ่ายที่มนุษย์เงินเดือน ต้องใช้เงินรายได้เกือบทั้งหมดไม่พอใช้ในแต่ละเดือน

คำถามคือเราจะปล่อยให้โครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นอยู่ ปล่อยให้ปตท.ขูดรีดเอาเปรียบประชาชน ปล่อยให้ราคาพลังงานแพง ดันค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆแบบนี้ได้อย่างไร อีกหน่อยคนรุ่นหลังจะอยู่กันได้อย่างไร ผมก็ได้แต่หวังว่า ท่านนายกคนใหม่จะหาทางแก้ไข ปฏิรูปพลังงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น