xs
xsm
sm
md
lg

ข้อถกเถียงเรื่องโทษประหารชีวิต

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

คดีสะเทือนขวัญเด็กหญิงถูกข่มขืนแล้วฆ่าบนรถไฟ ยังไม่หายไปจากความสนใจของสังคม ความคืบหน้าของคดีที่เป็นปัจจุบันที่สุด คือ พนักงานอัยการได้ส่งฟ้องนายวันชัย แสงขาว พนักงานปูเตียง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และนายณัฐกรณ์ ชำนาญ ผู้สนับสนุนช่วยดูต้นทาง ต่อศาลจังหวัดหัวหินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ระวางโทษสูงสุดในคดีนี้คือประหารชีวิต เนื่องจากถือเป็นคดีฆาตกรรมรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ มีกระแสสังคม และการรณรงค์ของกลุ่มสตรี ให้มีการเพิ่มเป็นโทษประหารชีวิตในคดีข่มขืนได้ทุกกรณี โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นกรณีข่มขืนแล้วฆ่า หรือฆ่าแล้วข่มขืนดังกฎหมายปัจจุบัน

แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีการพูดคุยกันเรื่องโทษประหารชีวิต ก็จะต้องมีกระแสคัดค้านจากความเห็นของกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน เรื่องข้อเสียของโทษข่มขืน ซึ่งหลายเรื่องก็พอรับฟังได้ เช่น ความหละหลวมในกระบวนยุติธรรมที่ยังมีการ “จับแพะ” กันอยู่ หากผู้ถูกลงโทษประหารได้รับการพิสูจน์ได้ภายหลังว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็จะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก แตกต่างจากโทษจำคุกตลอดชีวิต ที่ยังสามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณากันใหม่ หรือปล่อยตัวจำเลยที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ผิดได้

รวมทั้งการเสนอข้อมูลว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ไม่มีการลงโทษประหารชีวิตกันอีกแล้ว และประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิต ก็กลับมีอัตราการเกิดอาชญากรรมสะเทือนขวัญ หรืออาชญากรรมต่อชีวิต น้อยกว่าประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เจริญแล้ว ก็ใช่ว่าจะไม่มีประเทศไหนลงโทษประหารชีวิต เช่นในสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีถึง 32 รัฐที่ยังคงยอมรับโทษประหาร หรือประเทศเกาหลีใต้ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าสงบสุข และมีความปลอดภัยในชีวิตค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมีโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรที่กระทำความผิดขั้นรุนแรง

และการลงโทษประหารชีวิตในประเทศญี่ปุ่น ก็ยังใช้วิธีที่อาจจะถือเป็นวิธีดั้งเดิมอยู่ คือการแขวนคอ และในปัจจุบันก็ยังมีการลงโทษประหารชีวิตกันอยู่ เฉลี่ยปีละประมาณสิบราย โดยผู้ต้องโทษประหารชีวิต จะเป็นกรณีการฆ่าผู้อื่นอย่างอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ หรือเป็นการฆ่าคนมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งผู้ต้องโทษประหารชีวิตนี้มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา มีผู้หญิงถูกลงโทษแขวนคอไปเพียง 4 รายเท่านั้น

ผู้ถูกลงโทษประหารชีวิตจะต้องมีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ตามกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งล่าสุดมีกรณีการประหารชีวิตที่น่าสนใจ คือการประหารชีวิตนาย Takayuki Otsuki ซึ่งได้กระทำความผิดในฐานปล้นทรัพย์ และฆ่าข่มขืนเจ้าบ้านที่เป็นภรรยาพนักงานบริษัทคนหนึ่ง และได้ฆ่าลูกสาวทารกวัย 11 เดือนของเธอไปพร้อมกันด้วย เป็นคดีสะเทือนขวัญในปี 2542 ซึ่งได้ต่อสู้คดีมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถูกประหารชีวิตจริงๆ เอาเมื่อต้นปีที่แล้วนี้เอง คดีนี้ที่เป็นที่น่าสนใจก็คือ จำเลยในคดีมีอายุ 18 ปี กับอีก 1 เดือน ในขณะกระทำความผิด ซึ่งไม่ถือเป็นผู้เยาว์แล้วตามกฎหมาย ทำให้ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต โดยถือว่านายคนนี้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง ด้วยเจตนาและวิธีการที่ชั่วร้ายจนการลงโทษประหารชีวิตนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ก่อนหน้านี้ เคยมีคดีสะเทือนขวัญ ที่เด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ล่อลวงเพื่อนสาวไว้ทรมานและล่วงละเมิดทางเพศนานนับเดือนอย่างน่าสยดสยองราวกับไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ จนกระทั่งเหยื่อทนต่อความบอบช้ำทรมานไม่ไหว จึงได้ขอร้องให้ฆ่าเธอเสีย เด็กวัยรุ่นกลุ่มนั้นได้ฆ่าเธอแล้วนำศพไปหมกไว้ในคอนกรีต เป็นคดีสะเทือนขวัญที่โด่งดังมากในญี่ปุ่น แต่กระนั้น ฆาตกรผู้ร่วมกระทำผิดทุกคนได้ถูกดำเนินคดีอย่างคดีเยาวชน และไม่ต้องรับโทษประหาร เพียงนำไปจำคุกไว้ในสถานพินิจไม่นานก็ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งคดีดังกล่าวถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า ระบบกฎหมายเยาวชนนั้นคุ้มครองอาชญากรน้อยๆ พวกนี้จนละเลยผู้บริสุทธิ์ในสังคมหรือไม่ หากใครเคยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ก็อาจจะได้เห็นว่าในนวนิยาย หรือการ์ตูนหลายเรื่อง มีประเด็นตั้งคำถามถึงโทษที่เบาเกินไปสำหรับอาชญากรเยาวชน

ซึ่งจากที่สังเกตจากสื่อ และจากงานวรรณกรรม จะเห็นว่าสังคมญี่ปุ่นนั้นยังยอมรับการลงโทษประหารได้อยู่ รวมทั้งยังเห็นว่าโทษประหารชีวิตนั้นยังจำเป็นต่ออาชญากรที่ศาลพิสูจน์แล้วว่ามีความผิดจริง

นอกจากกระบวนการลงโทษประหารชีวิตแล้ว ในสังคมญี่ปุ่นก็ยังมีการลงโทษกันเองด้วยมาตรการลงโทษทางสังคมหรือ (Social Sanction) ด้วย โดยผู้กระทำความผิดที่รุนแรง โดยเฉพาะความผิดต่อชีวิต หรือความผิดประเภทปล้นทรัพย์ นอกจากผู้กระทำผิดจะถูกศาลพิพากษาแล้ว ยังจะต้องรับโทษทัณฑ์จากสังคมอีก โดยครอบครัวของผู้กระทำความผิดจะถูกคว่ำบาตรจากสังคมในลักษณะที่รุนแรง เช่น ไล่ออกจากบ้านเช่า ถูกคนมาเขียนด่าไว้ที่ประตูบ้าน หรือไม่มีใครรับญาติพี่น้องของอาชญากรเข้าทำงาน ใครสนใจภาพของการลงทัณฑ์ทางสังคม และประเด็นการถกเถียงเรื่องการลงโทษนี้ อาจจะลองหานิยายเรื่อง “จดหมายจากฆาตกร” เขียนโดย ฮิงาชิโนะ เคโงะ แปลโดย เสาวนีย์ นวรัตน์จำรูญ มาอ่านดูก็ได้

แม้ว่าการลงโทษประหารจะถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งถือเป็นค่านิยมใหม่ของโลกศตวรรษนี้ และการลงโทษทางสังคมต่อครอบครัวของอาชญากรอาจจะดูไม่ค่อยเป็นธรรมนักที่คนไม่ผิดจะต้องได้รับโทษ แต่ในอีกทางหนึ่ง มันก็เป็นการป้องปรามอาชญากรรมที่อาจจะได้ผล เพราะอาชญากรจะต้องคิดว่า การกระทำความผิดของตัวเองนั้นจะต้องแลกมาด้วยอะไร บางครั้งอาจจะเป็นอิสรภาพหรือชีวิตของตัวเอง และแถมพ่วงกับชีวิตและอนาคตของคนในครอบครัวด้วย

กระนั้นเหตุที่การลงโทษประหารชีวิตในญี่ปุ่นนั้นยังยอมรับได้ อาจจะเป็นเพราะความมั่นคงและความเชื่อมั่นในกระบวนยุติธรรมของเขาด้วย ว่าเที่ยงตรงพอที่จะไม่เกิดข้อผิดพลาดในการนำแพะมาแขวนคอ

ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงเป็นข้อต่อสู้ได้เสมอในกระบวนยุติธรรมไทยเมื่อกล่าวถึงโทษประหาร เช่นในคดีเชอร์รี่แอน ดันแดน ซึ่งในภายหลังศาลฎีกาได้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมดว่าเป็นการจับแพะ แต่จำเลยหลายคนก็ตายหรือพิการไปหมดระหว่างการพิจารณาคดีที่ยาวนาน หรือล่าสุด เช่นกรณีที่เจ้าของผับถูกตั้งข้อหาว่าฆาตกรรมแฟนสาว แต่แล้วต่อมา ศาลก็ได้ยกฟ้องด้วยข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ว่า DNA คนร้ายที่พบในตัวผู้ตายไม่ตรงกับจำเลย ความผิดพลาดในกระบวนยุติธรรมเช่นนี้ ทำให้ข้อต่อสู้เรื่องข้อเสียโทษประหารนั้นยังคงมีน้ำหนักอยู่เสมอในบริบทของประเทศไทย

จึงอาจจะจำเป็นที่จะต้องสังคายนากระบวนยุติธรรมทางอาญากันทั้งระบบด้วย ทั้งเรื่องการพิสูจน์ตัวผู้กระทำความผิดในทุกขั้นตอน การลงโทษที่จริงจัง หรือการต้องให้ผู้กระทำผิดที่ศาลพิพากษาแล้ว ได้รับโทษจริงๆ สมควรผิด ไม่ใช่ว่าแป๊บๆ ก็ปล่อย หรือแม้แต่ต้องโทษประหารแล้วก็ไม่ต้องประหารจริงด้วยกระบวนการลดโทษที่หยุมหยิมลดแล้วลดอีก

เราอาจจะต้องคุยเรื่องนี้ก่อนจะมาถกกันว่าโทษประหารควรมีหรือไม่ควรมี.
กำลังโหลดความคิดเห็น