อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แจงอัตราโทษคดีฆ่าข่มขืน สูงสุดถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว เพียงแต่เมืองไทยไม่ได้ประหารชีวิตด้วยคดีนี้มานาน เผยผู้ต้องขังคดีทางเพศมีราว 1 หมื่นคน จากผู้ต้องขังทั้งหมด 3 แสน ส่วนใหญ่มีปัญหาทางจิต ไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง
หลังจากเหตุการณ์ลูกจ้างการรถไฟฯก่อเหตุข่มขืนฆ่าผู้โดยสารอายุ 13 ปี บนรถไฟ จนเกิดเสียงเรียกร้องให้มีการเพิ่มโทษคดีข่มขืนเป็นการประหารชีวิตนั้น วันนี้ (8 ก.ค.) นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงบทลงโทษผู้ต้องหาคดีข่มขืน ว่า ปัจจุบันคดีลักษณะดังกล่าวมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต โดยเฉพาะคดีข่มขืนและฆ่า ซึ่งการพิจารณาคดีขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ในส่วนประเทศไทยไม่มีการลงโทษด้วยการประหารชีวิตมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ผู้ต้องขังคดีกระทำผิดทางเพศ โดยเฉพาะกับเด็กมักเป็นกลุ่มที่มีความผิดปกติทางจิต ไม่สามารถบังคับควบคุมความต้องการของตัวเองได้เหมือนคนทั่วไป หลายคนพบว่าในวัยเด็กได้รับการสั่งสอนเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องได้รับการบำบัดและเยียวยาทางใจ แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้นักจิตวิทยาวิเคราะห์
ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์รับผิดชอบดูแลผู้ต้องขังกว่า 300,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังคดีทางเพศประมาณ 10,000 คน ซึ่งยอมรับว่าในส่วนของราชทัณฑ์นั้น อาจไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง สิ่งที่ทำได้คือการควบคุมตัวไว้ในพื้นที่จำกัด และต้องอาศัยระยะเวลาในการคุมขังที่ต้องยาวนานจนชรา หรือหมดสภาพออกไปแล้วไม่สามารถไปก่อเหตุได้อีก อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังคดีทางเพศที่ทำกับเด็กเมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำ มักเป็นที่รังเกียจของเพื่อนผู้ต้องขัง ซึ่งในการคุมขังกรมราชทัณฑ์จะพยายามดูแลในขั้นต้นให้เกิดความปลอดภัยจากการถูกผู้ต้องขังอื่นทำร้าย โดยควบคุมไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม