xs
xsm
sm
md
lg

Stop EHIA คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

การเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นกระแสทางสังคมอีกครั้ง ภายหลังคุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตัดสินใจเดินจากป่าสู่เมือง 338 กิโลเมตร คัดค้านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของการสร้างเขื่อนแม่วงก์

ครับต้องบอกว่า เกินความคาดหมายของหลายฝ่าย เมื่อมีกระแสตอบรับจากคนเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวในโลกโซเชียลมีเดีย

ทำให้เกิดการรวมตัวชุมนุมราวสองหมื่นคนยาวเหยียดจากหน้าหอศิลปวัฒธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไปถึงซอยรางน้ำ เพื่อร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ด้วยการสวมเสื้อสโลแกน NO DAM และSTOP EHIA Maewong เป็นคำขวัญที่ ผมว่าได้ใจสองเด้ง ทั้งเรื่องคัดค้านการสร้างเขื่อน และคำ EHIA ที่คล้องจองกับกระแสอีโง่ก่อนหน้านี้

โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ตั้งอยู่ในพื้นที่ลำน้ำแม่วงก์ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติป่าแม่วงก์ อยู่ในเขตพื้นที่สองจังหวัด คือตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ และกินพื้นที่บางส่วนของตำบลปางมะค่า อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร

การสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในพื้นที่ป่าแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของประเทศทางด้านตะวันตก เพราะเป็นผืนป่าเชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ทางทิศใต้ต่อกับเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาขแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และทางตะวันตกต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก

โครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลุ่มน้ำสะแกกรัง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2525-2529) ภายใต้การดำเนินนงานของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ เป็นโครงการที่ เรียกว่าเริ่มมานานมากกว่า 30 ปี แล้ว และถูกต่อต้านคัดค้านมาโดยตลอด

เป็นโครงการหนึ่งที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIAย่อมาจาก Environment and Health Impact Assessment)

ผมเคยได้ลงพื้นที่กับโครงการสื่อมวลชนสัญจร โครงการเขื่อนแม่วงก์ ที่จัดโดยกรมชลประทานเมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว กลับมาผมเคยเขียนเรื่องเขื่อนแม่วงก์ลงในคอลัมน์นี้ กรมชลประทานได้จ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จ้างมหาวิทยาลัย และหลายหน่วยงานพื่อศึกษาผลกระทบ รวมทั้งวิธีการจัดฉากเตรียมคนมาให้ข้อมูลด้านเดียว ผมว่าเป็นวิธีการที่ผิด บิดเบือนความจริงปิดหูปิดตาคนทั้งประเทศ

โครงการของกรมชลประทาน ที่จัดให้คณะสื่อมวลชนได้พูดคุยกับชาวบ้าน ก็คงไม่ต้องอธิบายละครับว่าได้คุยแต่กับชาวบ้านที่อยากให้สร้างเขื่อนทั้งนั้นละครับ ชาวบ้านที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนจะมีเหตุผลของพวกเขาว่าเพื่อให้มีการผันน้ำเข้าสวนได้ง่ายหรือทำให้มีน้ำใช้ในการปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

ประเด็นสำคัญคือเรื่องการเปิดเผยความจริง ของนักการเมือง ระบบราชการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ที่มีผลประโยชน์ในโครงการก่อสร้างที่ใช้งบประมาณก้อนใหญ่ทั้งหลาย

กระทรวงเกษตรฯโดยกรมชลประทานมีปัญหามากที่สุด ในการจัดทำ โครงการนี้ มีปัญหาในการทำรายงานผลการศึกษาผลบกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ผ่านหลายครั้ง ทั้งจ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจ้างที่ปรึกษา

หลังเกิดวิกฤตน้ำท่วมในปี 2554 นักการเมืองคอยจ้องสวาปามอยู่แล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ฉวยโอกาสรวมเอาโครงการเขื่อนแม่วงก์มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาอุทกภัย

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับตัวแทนประชาชนเครือข่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี ครม. รมต.ว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการอนุมัติการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อศาลปกครอง ให้พิจารณาสั่งยกเลิกเพิกถอนมติครม. 10 เมย. 2555 ซึ่งละเมิดสิทธิของชุมชน อันอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2

นักการเมือง กับข้าราชการก็พอๆกันละครับ วิธีการเดิมๆของนักการเมือง เวลามีกลุ่มคนออกมาคัดค้านนโยบายและการดำเนินการของรัฐบาล นักการเมืองก็จัดฉาก อย่างปลอดประสพมาพูดคุยกับชาวบ้านกลุ่มที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์

แต่ตบตาชาวบ้านไม่ได้หรอกครับ ผมว่าการบิดเบือน จัดฉาก พูดด้านเดียว ไม่ได้ผลหรอกครับ สังคมควรพิจารณาจากความจริงอย่างรอบด้าน ชั่งน้ำหนักผลดีและผลลบต่อบ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมา รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จึงจะสามารถหาคำตอบที่ถูกต้องเหมาะสมได้จริง

ผมเคยสัมภาษณ์อาจารย์ศศิน หลังกลับจากการลงพื้นที่ในโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ยังจำประโยคหนึ่งของอาจารย์ว่า ”ป่าเป็นเขื่อนที่ดีที่สุด แต่คนเรานี่ก็แปลกจะทำลายเขื่อนจากธรรมชาติ เพื่อสร้างเขื่อนคอนกรีด” เป็นคำพูดที่คนฟังเข้าใจและเห็นภาพเลยชัด

ผมยังได้ข้อมูลจากรายการคุยกับแพทย์แผนไทย FM 97.75 Managerradio อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้เรื่องของสัตว์ป่าและผืนป่าที่เราจะต้องเสียไป ยังมีเรื่องของสมุนไพรที่เราจะเสียไปพร้อมกับป่าแถมสมุนไพรบางตัวเรายังปลูกกันไม่ได้ การสร้างเขื่อนแม่วงก์อาจทำให้สนุนไพรบางตัวสูญพันธุ์หรือหายากยิ่งขึ้น

การเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์คราวนี้ มีดารา เซเล็ป คนดังมากมายได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในการคิดคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ เป็นเรื่องที่เห็นแล้วน่าดีใจ แต่ก็แอบคิดไม่ได้ว่าคนเหล่านี้ควรสามารถออกมาแสดงจุดยืนต่อปัญหาของบ้านเมืองในทุกๆด้านไม่ใช่แค่เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การคัดค้านครั้งนี้ทำให้เห็นการตื่นตัวของประชาชนในวงที่กว้างขวางขึ้น ในกระแสสังคมยุคที่มีอีโง่ วันนี้ผู้คนจึงต้องออกมาคัดค้านให้หยุด EHIA เพราะถ้าไม่หยุด ทั้งอีโง่และEHIA วันนี้ประเทศไทยเดินลงเหวลึกลงไปทุกวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น