xs
xsm
sm
md
lg

คิดแบบธิดา จักรภพ ใบตองแห้ง

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

อันที่จริง 3 คนที่ยกมานี้ “คิด” ไม่ตรงกันในรายละเอียดอยู่บ้างออกจะมีเสียดสีกันด้วยซ้ำเช่นจักรภพ เพ็ญแข เคยออกบทความซัดแกนนำนปช.มาแล้ว ส่วนใบตองแห้งก็วิจารณ์นปช.หนักๆ ก็มี

แต่ที่ยกมาเพราะทั้ง 3 คนเป็นตัวแทนความคิดซีกซ้ายแบบเดียวกันครับ !

ถ้าวัดจากศูนย์กลางออกไปทางซ้าย จักรภพควรมีตำแหน่งอยู่ปลายสุดของปีก ขณะที่ธิดาในฐานะแกนนำนปช.ซึ่งต้องดุลตัวเองระหว่างมวลชนกับฝ่ายการเมืองอยู่ค่อนมาทางกลางหน่อย ส่วนคนสุดท้ายใบต้องแห้ง คอลัมนิสต์ชื่อดังที่ประกาศให้เลือกพรรคเพื่อไทยเพื่อโค่นอำมาตย์ไม่ชอบสลิ่มแมงสาปจัดเป็นพวกสวิง นั่นคือวางตัวเองเหมือนไม่ผูกกับนักการเมืองบางครั้งก็ด่าแต่ถ้าให้เลือกก็ยังเลือก

บางครั้งวิจารณ์เพื่อไทยทักษิณแต่ก็วิจารณ์ปชป.และฝ่ายที่ตนเรียกว่าอำมาตย์มากกว่าควรมีตำแหน่งจัดอยู่ระหว่างจักรภพ กับ ธิดา ใบตองแห้งจึงน่าจะเป็นตัวแทนความคิดของแดงเสรี ที่เหมือนจะไม่ผูกพันแต่กรอบคิดทฤษฎีบังคับให้ผูกกันอยู่ดี

ที่ยกมานี่เพื่อให้เห็นภาพของตัวแทนความคิด 3 กลุ่ม กลุ่มแบบเดียวกับจักรภพก็เช่นใจ อึ๊งภากรณ์ สุรชัย แซ่ด่าน สมยศ พฤกษาเกษมสุขฯลฯ ขณะที่แบบเดียวกับธิดา ย่อมมีอดีตคนเดือนตุลาเข้าป่าแล้วหันมาเป็นนักการเมืองอาชีพกลืนเนียนๆ กับทุนสามานย์รวมอยู่ด้วยซึ่งรวมไปถึงจาตุรนต์ อดิศ เพียงเกษ ฯลฯ เป็นต้น ส่วนกลุ่มเดียวกับใบตองแห้งก็เช่นกวีไม้หนึ่ง กลุ่มนักเขียน ฯลฯ

ทั้งสามแบบมีความต่างกันอยู่บ้างในรายละเอียด แต่ที่เหมือนกันก็คือทั้งสามแบบถูกหล่อหลอมมาโดยปรัชญาทางการเมืองและอุดมคติทางการเมืองเบ้าเดียวกันนั่นคือ “การปฏิวัติประชาชน”!

ความคิดแบบนี้มีต้นธารมาจากการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ คิดจากฐานทฤษฎีชนชั้นกล่าวคือจะมีการวิเคราะห์สังคมผ่านการจำแนกชนชั้น การครอบครองทุน แล้วก็มาสู่บทสรุปแบบเดียวกันคือ เกลียดศักดินามองว่าสังคมไทยยังคงเป็นศักดินาล้าหลังและทุนแบบล้าหลังครอบงำอยู่ จะต้องขับดันเมืองไทยให้ศิวิไลซ์โดยสามัคคีกับทุนใหม่ต่อให้เป็นทุนสามานย์ก็ไม่เป็นไร เพื่อโค่นล้มศักดินา

สถานะของประชาชน คือเป็นมวลชนของพรรค เป็นประชาชนที่เป็นเครื่องมือของการปฏิวัติ

ยุทธศาสตร์การต่อสู้ คือ ต้องเข้าสู่อำนาจรัฐ เท่านั้น !

จะอาศัยทุน จะอาศัยเศรษฐีกลับกลอกชั่วช้าสามานย์ จะอาศัยการชกใต้เข็มขัดบ้าง หลับตาให้กับการกระทำเถื่อนๆถ่อยๆ บ้างก็เหอะแต่ประชาชนมีหน้าที่สนับสนุนพรรคให้ได้อำนาจรัฐ เพราะเมื่อได้อำนาจรัฐจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ นำประเทศสู่ประชาธิปไตยได้ในบั้นปลาย

วิธีคิดแบบ “มวลชนเพื่อการปฏิวัติ” จำแนกศัตรูทางการเมืองที่ต้องโค่นล้มชัดเจน มุ่งเป้าไปที่อำนาจรัฐซึ่งบางคราต้องประนีประนอมกับความไม่เข้าท่าบ้าง เช่น คำกล่าวที่ว่าแม้พรรคเพื่อไทยจะไม่ดีเท่าไหร่แต่ก็จำเป็นต้องเลือกเพื่อการโค่นล้มอำมาตย์อะไรเทือกนี้

กรอบความคิดแบบนี้ ต่างกับความคิดอีกชุดหนึ่งคือ “ประชาสังคม” ที่มาจากคำฝรั่ง Civil Society พลังอำนาจการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจัดเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของสังคมยุคใหม่ ที่สามารถยกระดับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เช่นกันจนก่อเกิดคำที่เรียกว่า “Social movement”  “New social movement”และการเมืองของภาคพลเมือง (Citizen Politics)

ความต่างที่สัมผัสได้ชัดเจนระหว่าง Social movement ของภาคประชาสังคม-พลังของประชาชนพลเมือง กับ มวลชนปฏิวัติอำนาจรัฐก็คือ “เป้าหมายการมุ่งสู่อำนาจรัฐ”

การเมืองของพลเมือง ไม่มุ่งเข้าสู่อำนาจรัฐโดยตนเอง แต่การเมืองของมวลชนปฏิวัติเป็นส่วนหนึ่งของพรรคมีหน้าที่สนับสนุนให้พรรคได้อำนาจรัฐ

จำแนกง่ายๆ คนที่คิดแบบการเมืองของพลเมืองคือ คนที่รณรงค์โหวตโนหรือพวกที่เป็นสวิงโหวต ขณะที่ความคิดแบบมวลชนปฏิวัติคือพวกที่บอกว่าเลือกพวกที่แม้จะเลวบ้างแต่เลือกเพื่อให้มีอำนาจไปโค่นล้มศัตรูทางชนชั้นของเขา

คนที่คิดแบบการเมืองของประชาชน ประชาสังคมเป็นองค์ประกอบส่วนสำคัญที่จะก่อให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ไม่แยแสหรอกครับว่าใครจะได้อำนาจรัฐ ฐานคิดสำคัญคือสิทธิ-เสรีภาพพื้นฐาน ต่อให้ใครมาสิทธิเสรีภาพพื้นที่ของประชาชนยังต้องมีอยู่ห้ามละเมิด ขอให้มีระบบการให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่ดี มีระบบปกป้องคุ้มครองประโยชน์พื้นฐานที่ดี แล้วก็ผลักดันความคิดต่างๆ ออกไปให้กับฝ่ายการเมืองกระทำ

คนที่คิดแบบนี้ไม่แสแยหรอกว่าใครจะได้เสียงมาก ทำเท่ยืดบอกว่าตัวเองเป็นพวกเสียงส่วนใหญ่ เพราะเขาคิดเพียงว่า ใครขึ้นมาต้องไม่ละเมิดเสียงส่วนน้อย การดำรงอยู่ของเสียงส่วนน้อยเป็นเครื่องหมายว่าสังคมนั้นยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ เพราะไม่สามารถจะใช้พวกมากลากไปคิดจะเอาอะไรก็ได้

ความคิดแบบประชาสังคม-การเมืองของพลเมือง เรียกร้องกระจายอำนาจ เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของตน ขณะที่มวลชนของพรรคอาจจะกลายเป็นพวกสนับสนุนให้รวมอำนาจกรณีที่ทำให้พรรคเข้มแข็ง แปรมาเป็นเรื่องจริง อันที่จริงผมรู้จักคนเสื้อแดงหลายคนที่รณรงค์กระจายอำนาจนะครับ แต่ไม่เคยเห็นระดับแกนนำทำเรื่องนี้นั่นเพราะแนวโน้มของพรรคทักษิณต้องการระบบบริหารราชการแบบรวมศูนย์ มากกว่า กระจายอำนาจ เขาอยู่ในวงจรรวบอำนาจมาตั้งแต่ครั้งผู้ว่าซีอีโอและการปฏิรูประบบราชการเพื่อให้การรวมอำนาจมีประสิทธิภาพขึ้น

ขณะที่การคิดแบบมวลชนปฏิวัติก็คือ “การจัดตั้ง” มวลชน มีทฤษฎี มีเป้าหมาย มีโครงสร้างการจัดการ เอาล่ะแม้จะบอกว่าเพื่อให้ประชาชนก้าวหน้ามีความคิดเรื่องประชาธิปไตย แต่ที่สุดเมื่อถึงเลือกตั้งก็ต้องกลายเป็นมวลชนที่ดีของพรรค พรรคได้อำนาจรัฐมวลชนก็ได้ประโยชน์ตาม (ทำนองว่าดีกว่าให้อำมาตย์ปกครองซึ่งล้าหลังก็ว่ากันไป) แต่ความคิดแบบการเมืองของพลเมืองไม่มีความคิดเรื่องการเข้าสู่อำนาจรัฐ จึงไม่ผูกพันกับพรรคหรือกลุ่มแข่งขันทางการเมืองในฐานะมวลชนพรรค พวกเขาอาจรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์แบบต่างๆ เรียกร้องให้พรรคแต่ละพรรครับปากดำเนินการให้ ก็คือ การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองทางการเมือง

มวลชนแบบนี้อาจจะเป็นพวกสวิงโหวตที่จะเลือกหนุนพรรคการเมืองตามสถานการณ์เพื่อเป็นประโยชน์กับฝ่ายประชาชนมากที่สุด

อันที่จริงคนที่มีความคิดแบบ “ซ้าย” นี้มีมากนะครับ และก็ไม่ได้เป็นความผิดอะไรเลย บางคนไปจัดแบบมั่วๆ เอาเท่เช่นซ้ายคือก้าวหน้าขวาคือล้าหลังมันเลอะเทอะเพราะซ้ายล้าหลังก็มี ขวาก้าวหน้าก็มี ในบรรดาซ้ายทั้งหลายนี่แบ่งเฉดแบ่งกลุ่มออกมาได้เพราะมันไม่มีทางเหมือนกันไปทั้งหมดหรอก

มีซ้ายที่จัดประชาชนเป็นเสรีชน ไม่ผุกพันกับพรรค ไม่หวังให้ประชาชนเป็นมวลชนเพื่อการปฏิวัติ เป็นซ้ายฮิปปี้ ซ้ายปัจเจก ซ้ายสังคมนิยม ฯลฯ เยอะแยะไปหมด

และก็มีซ้ายอีกประเภทที่ผูกพันกับแนวคิดปฏิวัติประชาชน จึงมองว่ามวลชนเป็นส่วนหนึ่งของพรรค มีหน้าที่สนับสนุนการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มหรือพรรคที่เหมาะสม เพื่อการโค่นล้มอำนาจฝ่ายที่ตนเห็นว่าไม่ดีไม่เหมาะ

จักรภพ ธิดา ใบตองแห้ง ที่ดูเผินๆ เหมือนคนละแบบ คนละอย่าง บางทีก็ขัดกันด้วยซ้ำ แต่พอจัดเข้าจริงกลับอยู่ในตัวแทนของซ้ายประเภทผูกพันกับความคิดปฏิวัติประชาชนที่กล่าวถึง !
กำลังโหลดความคิดเห็น