xs
xsm
sm
md
lg

“สมยศ” เผย “อีเพ็ญ” คือคนเขียนบทความที่ถูกฟ้อง อ้างอ่านแล้วเปล่าจาบจ้วงกษัตริย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข
“สมยศ” เบิกความต่อศาล “จิตร พลจันทร์” ผู้เขียนบทความที่ถูกฟ้อง คือนามแฝง “จักรภพ” อ้างอ่านแล้วคิดว่าสื่อถึงอำมาตย์ ไม่อาจตีความเป็นสถาบันกษัตริย์ได้ พร้อมลั่นตัวเองจงรักภักดี เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112

วันนี้ (1 พ.ค.) เว็บไซต์ประชาไท (prachatai.com) ได้รายงานว่า ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีการสืบพยานจำเลยเป็นวันแรก ในคดีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่นายสมยศเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Voice of Taksin ที่มีการตีพิมพ์บทความ 2 เรื่องที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112

จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า ในปี 2552 เป็นเพียงผู้เขียนคนหนึ่งในนิตยสาร Voice of Taksin ต่อมาเมื่อถึงฉบับที่ 9 จึงมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) ต่อจากนายประแสง มงคลสิริ (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ-ประชาไท) โดยได้ค่าจ้าง 25,000 บาท นิตยสารเล่มนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของเด็ดขาด เนื่องจากร่วมกันหลายหุ้นและช่วยๆ กันทำ ส่วนเหตุที่ใช้ชื่อนี้ก็เป็นเพราะเหตุผลทางการตลาด มีแนวทางในการวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย กระทั่งถูกสั่งปิดซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะมีเนื้อหาวิพากษ์การโยกย้ายนายพลในช่วงเวลานั้นอย่างหนัก

สำหรับบทความที่ตีพิมพ์นั้น แบ่งเป็นบทความประจำที่ลงต่อเนื่อง และบทความใหม่ๆ ที่ต้องทำเพิ่มให้ทันต่อสถานการณ์ ในส่วนบทความประจำจะมีทั้งผู้เขียนที่ใช้ชื่อจริงและนามแฝง โดยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมจะได้รับการลงพิมพ์ทั้งหมดโดยไม่มีการตัดทอนบทความแต่อย่างใด โดยปกติตนมีหน้าที่อ่านเพียงคร่าวๆ เนื่องจากมีบทความต้องพิจารณามาก และต้องเร่งให้ทันการปิดเล่ม

เมื่อถามว่า “จิตร พลจันทร์” เจ้าของบทความที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องคือใคร สมยศตอบว่า จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารตั้งแต่ฉบับแรกๆ ก่อนที่เขาจะมาทำหน้าที่เป็น บก.บห. โดยผู้ประสานงานติดต่อให้จักรภพมาเป็นคอลัมนิสต์คือ นายประแสง

เมื่ออัยการถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจคัดเลือกบทความในขั้นสุดท้าย นายสมยศขอดูรายชื่อกรรมการในนิตยสารอีกครั้ง พร้อมระบุว่าไม่อยู่ในรายชื่อนี้ จากนั้นอัยการได้ซักถามเพิ่มเติมจนสุดท้ายสมยศตอบว่า ผู้มีสิทธิตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการลงบทความ ก็คือตัวนักเขียนเอง ตนมีหน้าที่นำไปส่งโรงพิมพ์

ในด้านเนื้อหาของบทความ นายสมยศตอบทนายว่า เมื่ออ่านบทความของจิตรฯ แล้วคิดว่าสื่อถึง “อำมาตย์” ไม่คิดว่าจะสื่อความถึงสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งภาพประกอบบทความก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด ไม่น่าจะทำให้ผู้อ่านโน้มเอียงไปในทางนั้นได้ ในส่วนที่พยานอื่นระบุว่าหมายถึงพระเจ้าตากสิน เขาไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากไม่มีการเอ่ยอ้างถึงท่อนจันทร์ แต่กล่าวถึงถุงแดงซึ่งเขาไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร การกล่าวถึงผู้อยู่ชั้นบนของโรงพยาบาลพระรามเก้าก็ไม่เกี่ยวข้องกษัตริย์ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราชโดยตลอด ส่วนการกล่าวถึงตัวละคร “หลวงนฤบาล” ก็ไม่อาจเทียบเคียงได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ เพราะตำแหน่งหลวงนั้นต่ำกว่า อีกทั้งบทความยังระบุว่าหลวงนฤบาลสอพลอทหารใหญ่ ซึ่งน่าจะหมายถึงนายทหารที่ยศต่ำกว่าจอมพลฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเชื่อว่าไม่ได้หมายถึงกษัตริย์อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีการเบิกความเกี่ยวกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยสมยศเบิกความว่า เนื่องจากเป็นสื่อมวลชน ก็ได้ศึกษาข้อกฎหมายอยู่บ้าง โดยรู้ว่าตาม พ.ร.บ.สิ่งพิมพ์ 2484 บก.ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาของหนังสือที่จัดพิมพ์ แต่ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 นั้น ไม่ได้ระบุว่าให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ

นายสุวิทย์ ทองนวล ทนายจำเลยได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ภายหลังการสืบพยานว่า กฎหมายใหม่ไม่ได้ระบุว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบด้วย หากบทความเข้าข่ายความผิดผู้เขียนต้องรับผิดชอบ การที่เจ้าหน้าที่จับตัวผู้เขียนไม่ได้ ก็ไม่ใช่ความผิดของเรา หรือต่อให้ยืนยันว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่ตีพิมพ์ก็ยังไม่ใช่นายสมยศอยู่ดี เพราะมีบรรณาธิการอีกคนหนึ่งซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในหนังสือ แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี เพราะดีเอสไออ้างว่านายสมยศแสดงตนเสมือนเป็นบรรณาธิการ

สำหรับประวัติการทำงานที่ผ่านมา สมยศเบิกความต่อศาลว่า เคยทำสำนักพิมพ์สยามปริทัศน์และหนังสืออื่นๆ มาก่อนจะมาทำนิตยสาร Voice of Taksin หลังจากโดนศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สั่งปิด ก็มาเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Red Power ต่อในเดือน ก.ค.53

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 สมยศและสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปัตย์รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ จากนั้นทั้งสองก็ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายทหาร โดยนายสุธาชัยถูกควบคุมตัว 7 วัน สมยศถูกควบคุมตัว 21 วัน โดยไม่มีการสั่งฟ้องคดีใดๆ ระหว่างนั้น Voice of Taksin ถูกปิด ทีมงานเดิมจึงเปิด Red Power ขึ้นมาใหม่โดยตีพิมพ์ได้ 5 เล่ม ก็ถูกสั่งปิดโรงพิมพ์ จึงได้ไปจ้างพิมพ์ที่ประเทศกัมพูชาแล้วนำเข้ามาจำหน่ายในไทย พร้อมๆ กับการจัดทัวร์ท่องเที่ยวกัมพูชาด้วย

นายสมยศระบุว่า เขาเชื่อว่าการจับกุมเขามีที่มาจากผังล้มเจ้า ซึ่งระบุถึงหนังสือ Voice of Taksin และผู้เกี่ยวข้องหลายคน รวมถึงนายสุธาชัยด้วย ซึ่งภายหลังสุธาชัยได้ฟ้องหมิ่นประมาท พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ผู้ประกาศผังล้มเจ้า จนสุดท้าย พ.อ.สรรเสริญ ยอมรับว่าผังไม่มีมูล จึงได้มียอมความกันไป

ในทัศนะของนายสมยศ เขาคิดว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง และยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ ซึ่งย้อนไปในอดีตจะพบว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ออกมาต่อต้านรัฐบาลทักษิณจนนำมาสู่การรัฐประหาร โดยมีข้ออ้างว่ารัฐบาลทักษิณไม่จงรักภักดี และยังแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จนมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้านและถูกจับกุมด้วยข้อหาไม่จงรักภักดีจำนวนมาก ทั้งที่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่าพระมหากษัตริย์นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอความจริง กระนั้นตนก็ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันเหมือนประชาชนทั่วไป เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 และเห็นว่ามันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายอื่น อีกทั้งโทษ 3-15 ปีก็สูงเกินกว่าเหตุ และขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงหลักนิติรัฐ ส่วนพฤติกรรมที่ผ่านมา เคยแถลงข่าวถึงปัญหาเรื่องนี้และเสนอการรวบรวมรายชื่อเพื่อยกเลิกมาตรา112 แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการก็ถูกจับกุมคุมขังในสัปดาห์ถัดมา

“ผมมีหน้าที่พูดในข้อเท็จจริง ถ้าพูดแล้วเขาจะลงโทษก็ไม่เป็นไร ถือว่าชีวิตนี้ทำหน้าที่แล้ว จบแล้ว” สมยศให้สัมภาษณ์ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศหลังเสร็จสิ้นการสืบพยานในช่วงเช้า

ทั้งนี้ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ขณะพาคณะทัวร์เตรียมผ่านแดนไปกัมพูชา โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด เนื่องจากเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความของ “จิตร พลจันทร์” ซึ่งเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง 2 บทความ โดยตีพิมพ์ในฉบับที่ 15 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ชื่อ “แผนนองเลือดกับยิงข้ามรุ่น” และในฉบับที่ 16 เดือนมีนาคม 2553 ชื่อ เรื่อง 6 ตุลา แห่ง พ.ศ. 2553 ซึ่งตามคำฟ้องระบุความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91, 112 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4

หลังจากถูกจับกุมเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับการประกันตัวแม้จะมีการยื่นขอประกันถึง 9 ครั้ง ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน โดยที่ผ่านมามีการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ครั้งในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย.54, จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.54, จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.55, จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 ก.พ.55 แต่มีการเลื่อนมาสืบพยานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานอยู่กรุงเทพฯและจะสืบพยานจำเลยในวันที่ 1-3 พ.ค.55 โดยในวันพรุ่งนี้ช่วงเช้านายปิยบุตร แสงกนกกุล จากกลุ่มนิติราษฎร์ จะขึ้นให้การเป็นพยาน
กำลังโหลดความคิดเห็น