xs
xsm
sm
md
lg

เหตุการณ์จากนี้ไป (จนถึงวันยุบสภา)

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

1.เหตุการณ์ที่หนึ่ง-ยุบสภา

วันที่ 11 กุมภาพันธ์กลายเป็นหมุดหมายของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทุกฝ่าย เพราะวันดังกล่าวเป็นวันประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 และก็ไม่ได้เป็นที่ปกปิดอันใดในความเป็นไปได้ของการยุบสภาหลังจากนั้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเองก็กล่าวผ่านสื่อเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่ารอให้ผ่านการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 เสียก่อนจะมีคำตอบเรื่องยุบสภาและสำหรับวงการเมืองที่ทันเหลี่ยมทันเกมกันดีทุกคนเชื่อว่าในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภานั้นพร้อมอยู่ข้างกายนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วไม่มีหรอกที่พรรคการเมืองที่เก๋าเกมอย่างประชาธิปัตย์จะไม่เตรียมพร้อม

หมุดหมายการเมืองวันที่ 11 กุมภาพันธ์เกี่ยวข้องกับแทบทุกฝ่ายอย่างกรณีพันธมิตรฯ ก็มองเห็นความละเอียดอ่อนของหมุดหมายดังกล่าวเพราะการที่เลือกวันศุกร์ที่ 11 เป็นวันดีเดย์เหมาะสมถึงพร้อมทั้งจังหวะเวลาและโอกาสไหนเป็นวันศุกร์ที่จะหยุดต่อเนื่องเสาร์-อาทิตย์ ไหนจะตรงกับวันที่รัฐสภากำลังวุ่นวายเต็มที่กับจำนวนมือที่อาจผันแปรในช่วงรัฐบาลเจอมรสุม

เมื่อเช้าวันจันทร์ (7) ผบ.ตร.เข้าพบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงขณะที่โฆษกตำรวจก็ทวิตแจ้งข่าวว่าหรือเรื่องการชุมนุมและการใช้ พรบ.ความมั่นคงที่ทำเนียบ

ผมไม่ดูเบานักการเมืองคร่ำหวอดอย่างคุณสุเทพที่จะบุ่มบ่ามประกาศศึกกับผู้ชุมนุมล่วงหน้าตั้งแต่ต้นสัปดาห์หรอก หากผมเป็นผู้จัดการรัฐบาลที่มีไพ่เล่นในมือแบบที่คุณสุเทพเป็นอยู่ก็จะฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากม็อบและสารพัดม็อบที่จะมาเยือนกดดันไปยังรัฐสภาและพรรคร่วมต่อ เป้าหมายก็คือสามารถเลือกเล่นจะผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญได้ตามใจชอบ และหากเลือกที่จะผ่านแล้วยังสามารถคุมสถานการณ์ได้ก็จะขอผ่านงบประมาณกลางปีอีกฉบับเป็นของแถมก่อนการยุบสภา

เพราะยังไง ๆ ก็ต้องยุบ ช้าไปเดือนสองเดือนไม่มีความหมายเนื่องจากที่สุดแล้ว ร่างระเบียบ/รายละเอียดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ใช่จะเนรมิตกันง่าย ๆ อย่างน้อยก็ได้รักษาการต่อไปอีกร่วม 2 เดือนอย่างแน่นอน

แค่นี้ก็บุญอย่างถึงที่สุดแล้วเพราะหากตอนนั้นจตุพร พรหมพันธุ์รับข้อตกลงยุบสภาเลือกตั้งใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ในขณะที่แดงกำลังฮึกเหิมเต็มที่ป่านนี้ตุ๊ดตู่จตุพรอาจจะเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศไปเยือนเขมร ส่วนพี่มาร์คลุงเทพเทือกก็เป็นฝ่ายค้านไปตามประสาหลายวันแล้ว ลากมาได้ถึงตอนนี้ถือว่าเก่งมากไหนจะทำให้ม็อบแดงหัวขาดไหนจะกระชับอำนาจกับพรรคร่วมได้ต่อไหนจะวางฐานอำนาจได้ต่อไป ฯลฯ

คำตอบเรื่องยุบสภาจึงลอยมาใกล้พร้อมแลนด์ดิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ !!

ซึ่งพร้อม ๆ กันนี้ก็มีเสียงพูดถึงการปฏิวัติ-รัฐประหารควบคู่กันดังขึ้นเรื่อย ๆ จากข่าวลือกลายเป็นข่าวกดับไประยะแล้วมาลือต่อไม่หยุดซึ่งสำหรับผมแล้วยังเชื่อว่าแม้จะมีคนเชื่อคนให้น้ำหนักว่ามันมีความเป็นไปได้สำหรับการเมืองแบบไทย ๆ แต่ถึงนาทีเงื่อนไขทุกประการยังไม่เอื้อให้เกิด ต่อให้เกิดได้ก็เดินต่อไม่ได้และนำไปสู่ความล้มเหลวในบั้นปลาย

ระหว่างวันที่ 8-9-10 จึงเป็นวันตกลงหารือยืนยันกันระหว่างพรรคร่วมรอบสุดท้ายที่จะนำไปสู่การผ่านหรือไม่ผ่านร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งก็หมายถึงข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งพร้อมกันไปด้วย

2.เหตุการณ์ที่สอง-MOU 43 และข้อถกเถียงพรมแดน

ผมมีความเชื่อพื้นฐานเก็บไว้เงียบ ๆ คนเดียวมานานพอสมควรว่ากรณีพรมแดนไทย-เขมรนั้นมีข้อมูลบางประการที่ผู้เกี่ยวข้องยังเก็บเงียบไว้ไม่บอกต่อสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องความรู้สึกว่าเราเสียเปรียบเขาในหลักฐานแวดล้อมหากนำขึ้นไปสู่ศาลโลกอีกรอบก็อาจจะซ้ำรอยคดีพระวิหารพ.ศ.2515 ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคนในกระทรวงการต่างประเทศจึงหวานอมขนกลืนทนผูกพันกับเจ้า MOU43 ซึ่งลบล้างสนธิสัญญาปักปันเขตแดนเดิมที่ให้ยึดสันปันน้ำมาสู่การถือแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน และนำมาสู่เหตุต่าง ๆ ที่เป็นอยู่

จู่ ๆ ความเชื่อพื้นฐานที่ผมเก็บไว้เงียบ ๆ คนเดียวก็ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อได้ดูรายการสนทนาทางช่อง 11 เมื่อคืนวันสุดสัปดาห์ ดำเนินรายการโดยอดิศักดิ์ ศรีสม และมีแขกรับเชิญคนสำคัญคือดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริเนื้อหาที่พูดกันก็คือปัญหาเขมรล้วน ๆ ในตอนท้ายของรายการดร.ชาญวิทย์ อธิบายทำนองว่าให้กลับไปดูรายละเอียดที่บรรพบุรุษของเราทำไว้กับฝรั่งเศส อันที่จริงแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนที่เรายึดถือมีถึง 11-12 ระวางที่เราใช้ปักปันกับลาวก็แผนที่ 1 ต่อ 2 แสนบังเอิญเราได้เปรียบจึงยอมรับ แต่พอมากรณีเขมรเราเสียเปรียบจึงไม่ยอมรับ

ฟังโดยสรุปแล้วท่าทีของนักวิชาการที่กระทรวงการต่างประเทศยอมรับเหมือนจะบอกกับสังคมว่าให้ยอม ๆ เขาไปบ้าง ให้ไปศึกษารายละเอียดดูจะรู้ว่าโวยวายไปไม่ได้ประโยชน์อะไรทำนองนั้น

รายการสนทนาดังกล่าวมีรายละเอียดอีกมากลองไปย้อนหาดูเอาเองนะครับ ผมเพียงแต่ยกขึ้นมาเพื่อจะตั้งคำถามต่อว่ามันยังมี “ข้อมูลบางประการ” ที่ประชาชนคนไทยทั่วไปที่เป็นสาธารณะยังไม่รับรู้อยู่อีกอย่างแน่นอนแต่พูดไปแล้วมันเสียหายไปถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งที่ตายแล้วและยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นจึงทำให้ก.ต.ตลอดถึงรัฐบาลต่างพากันประสานเสียงยอมเสียเปรียบและสุ่มเสี่ยงที่จะเสียพื้นที่ซึ่งเราถือว่าเป็นของเรามาโดยตลอดไปในอนาคต

ข้อมูลบางประการนั้นอาจจะจริงอย่างที่ก.ต.และรัฐบาลเชื่อ หรืออาจจะเป็นเพียงความกลัวเสียหน้า เสียหายต่อผู้เกี่ยวข้อง และกลัวยุ่งยากหรือไม่นั้นผมก็ไม่ทราบแต่อันดับแรกที่อยากพูดก็คือในยุคปัจจุบันมันไม่สามารถจะปกปิดอะไรได้เหมือนในอดีต เจ้าความคิดที่ว่าต้องปกปิด(ความกังวลใจ) เอาไว้เฉพาะกลุ่ม ต้องปิดเพราะมีผลต่อการวางท่าทีเจรจาฯลฯ กลายเป็นเรื่องออกจะล้าสมัยไปแล้ว

ข้อมูลเหล่านี้มีมากน้อยแค่ไหนไม่รู้แต่ที่แน่ ๆ มีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดแตกต่างจากนักวิชาการฝ่ายพันธมิตรฯ อย่างชัดเจน และที่สำคัญคนกลุ่มนี้ยังมีบทบาทอยู่ในประทรวงการต่างประเทศด้วย

ผมเชื่อว่าคนไทยที่ติดตามข่าวสารอยากรู้รายละเอียดเหล่านี้เพราะถือว่าเป็นข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ยังไม่เปิดสู่สาธารณะซึ่งหากไม่มีการนำเสนอออกมาหักล้างให้หายข้องใจเรื่องก็ยังไม่จบ และที่แน่ ๆ ก็คือรัฐบาลประชาธิปัตย์คงจะไม่รับข้อเรียกร้อง 3 ข้อของพันธมิตรฯ

ประเด็น MOU43 และข้อถกเถียงเรื่องพรมแดนไทย-เขมรจะยังค้างเติ่งรอรัฐบาลต่อไป

3.เหตุการณ์ที่สาม-การสู้รบ

หากมองว่าการรบด้วยปืนเป็นส่วนหนึ่งของเกมต่อรอง สิ่งที่ฮุนเซนทำลงไปก็เพื่อให้เขาได้เปรียบในข้อพิพาทพรมแดนขึ้นไปอีก

มันเป็นไปแทบไม่ได้เลยที่ฮุนเซนอยากเปิดสงครามเต็มรูปเพราะการรบในยุคปัจจุบันตัดสินด้วยเวหานุภาพ ต่อให้ไม่เปิดการรบบนฟ้าแค่ทัพเรือปิดทะเล ยึดเกาะกง ปิดล้อมทางเศรษฐกิจและสินค้าเขมรก็อ้วกแล้ว

สิ่งที่ฮุนเซนทำลงไปมีผลโดยตรงและโดยอ้อมให้เขาเป็นฝ่ายได้

ต่อให้เรื่องขึ้นไปไม่ถึงคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น แต่การเปิดการรบกับไทยอย่างครึกโครมมันส่งผลต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของเขาอย่างที่ไม่เคยมีผู้นำเขมรคนใดเคยทำมาก่อนในประวัติศาสตร์ ต่อให้เจ้าสีหนุตอนรุ่ง ๆ ก็ได้แค่ระดับกวนและชนะคดีผ่านศาลโลก ไม่ได้ลงมือสู้รบจริงและอยู่ในฐานะไม่เพลี่ยงพล้ำ สามารถไปโฆษณาชวนเชื่อต่อได้ว่ารบชนะไทยที่เป็นประเทศใหญ่กว่า ฯลฯ

แค่นี้ฮุนเซนก็ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์เขมรแล้วว่าเป็นผู้นำที่สามารถยกเท้าลูบหน้ารัฐบาลประเทศไทยได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

การรบไม่ขยายวงอย่างแน่นอนเพราะ 1. ฮุนเซนไม่มีความสามารถขยายเป็นสงครามใหญ่แค่เท่านี้ก็ได้ประโยชน์เต็มอยู่แล้ว 2.ดูท่าทีรัฐบาลประชาธิปัตย์เองก็ไม่ประสงค์จะมีปัญหาใด ๆ กับเขมรและเหมือนจะปล่อยให้ฮุนเซนเปิดสงครามหมาหยอกไก่เพียงฝ่ายเดียว

คงต้องรอยุบสภาหรือมีรัฐบาลใหม่ แนวรบ(จริง)ด้านเขมรอาจมีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม!
กำลังโหลดความคิดเห็น