xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 326 “คตส. ยาหมดอายุ...กินก็ไม่ได้ ทาก็ไม่ได้แล้ว!”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว ขอบอกกับท่านว่า คอลัมน์วันนี้จะอ่านยากและน่าเบื่อ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่นักกฎหมาย ไม่อยากปวดเศียร กรุณาข้ามไปอ่านคอลัมน์อื่นจะดีกว่า ด้วยข้อเขียนต่อไปนี้ เกือบเป็นข้อกฎหมายล้วนๆ แต่จำเป็นต้องเขียน เพราะเป็นปัญหารัฐธรรมนูญ ที่เป็นผลพวงมาจากการยึดอำนาจแผ่นดิน และใช้บังคับกับทุกคนในบ้านเมืองนี้

เหตุที่จุดชนวนให้ผู้เขียน ลุกขึ้นมาร่ายข้อกฎหมายในครั้งนี้ เพราะปลงอนิจจังกับข่าวพาดหัวรองของ ‘มติชนรายวัน’ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาหยกๆนี่เอง มติชนเขาว่าเอาไว้อย่างนี้ครับ

รองอสส.ซัดคตส.ทุเรศ หาไม่เปิด ‘สำนวนหวย’
หากอยากท่านผู้อ่าน อยากทราบรายละเอียด ลองหาอ่านเอาเอง แต่พอสรุปได้ว่า

เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นข่าวความขัดแย้งของสององค์กร คือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เป็นองค์กรคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ มีหน้าที่สำคัญในการรักษาบทพระไอยการ ของพระมหากษัตริย์เจ้าฝ่ายหนึ่ง

ส่วนอีกฝั่งฟากหนึ่งนั้น คือ คตส. เป็นองค์กรเสมือนกากที่ยังคงหลงเหลือ ของแก๊ง “คมช.” ซึ่งถูกทิ้งเอาไว้ จนกลายเป็นปัญหาในที่สุด ทั้งๆที่บ้านเมืองของเรา กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว ผมได้ยืนยันชัดเจนในคอลัมน์นี้ ตั้งแต่ คมช.ยังเรืองอำนาจว่า

การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ ด้วยการล้มล้างอำนาจของพระมหากษัตริย์ ทำลายล้างรัฐธรรมนูญของประชาชน ไม่ว่าท่านจะเรียกว่าเป็นการ “ปฏิวัติ”, “ปฏิเวร” หรือ “ปฏิรูป” ตามที่พวกเผด็จการเรียกขานกันก็ตามที แต่การกระทำลักษณะนี้ ในประมวลกฎหมายอาญา เรียกขานเพียงคำเดียว ไม่มีคำอื่น ว่า
“กบฏ”
ซึ่งสร้างความบอบช้ำ ให้กับประเทศไทยที่รักของเรา ท่านจะดูรายละเอียดได้ใน กาแฟขม...ขนมหวาน ตอนที่ ๓๑๓ “กรี๊ด!...กรี๊ด!!...ทนไม่ได้ กับหนังสือไฉไลชื่อ “รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ...!!!” ซึ่งอธิบายความไว้ชัดเจน

ตัวแม่ซึ่งทำคลอด คตส.ออกมา คือแก๊ง คมช. บัดนี้ถึงการวอดวายไปแล้ว ท่ามกลางเสียงสาปแช่งของพี่น้องประชาชน ที่รักชาคิรักประชาธิปไตย เพราะระหว่างอยู่ในอำนาจ ก็มีเรื่องคอรัปชั่นอื้นฉาวในสภา

พ้นจากอำนาจไปแล้ว หางก็โผล่ออกมา เพราะบัดนี้ทางกระทรวงการคลัง ก็เพิ่งรายงานว่า แก๊งนี้ล้างผลาญเงินหลวงไปมหาศาล โดยอ้างว่าใช้ในการปฏิวัติ แยกเป็นเงินค่าทำปฏิวัติ
๒,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนก้อนเบ้อเร่อ อีก ๕,๐๐๐ ล้านบาท อ้างว่าเอาไปใช้ในการเลือกตั้ง
คมช.มีหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง...นึกว่าเป็น กกต.เสียอีก!
คงหลงเหลืออยู่แต่องค์กร ที่พวกก่อกบฏสร้างขึ้นมา คือ คตส. ซึ่งยังคงวางก้ามโอ่คับประเทศอยู่ และแสดงตนใหญ่โต เหมือนราวกับว่า
เป็นผู้พิสูจน์ความผิดถูกของบ้านนี้ เมืองนี้ ใครจะมาขัดขวางมิได้!

ท่านผู้อ่านไม่ต้องมาถามผม ว่า
การดำรงอยู่ของ “คตส.” ซึ่งเป็นเสมือนเป็นทายาท คมช.นั้น มีความชอบธรรมหรือไม่เพียงไร? นั้น

หากใครสงสัย ขอให้เขียนจดหมายไปถามสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ หรือชาวโลกที่เป็นอารยะชนและเป็นเสรีชน ว่า
“ยอมรับองค์กรที่ถือกำเนิดมา จากการเช้าใช้กำลังยึดอำนาจประชาชน หรือไม่?”
รับรองว่า จะได้คำตอบที่ตรงกันหมด!

ดังนั้น ที่อยากให้ท่านผู้อ่านที่เป็นเสรีชน ลองคิดกันให้ดีๆว่า มาถึงวันนี้แล้ว ท่านเห็นว่า

“ คตส. เป็นองค์กรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?” ตรงนี้แหละที่สำคัญ
สำหรับผมแล้ว ขอตอบว่า ณ ปัจจุบันนี้
“คตส.เป็นองค์กรที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” จะวางท่ากร่างในบ้านเมืองนี้ ต่อไปอีก...ไม่ได้แล้ว!”

อยากให้ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะท่านที่เป็นนักกฎหมาย ได้อ่านความเห็นของผม แล้วลองพิจารณากันดู ว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร
ความเห็นของผมมี ดังต่อไปนี้ครับ

คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่กลุ่ม “กบฏแผ่นดิน” ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ได้ออกประกาศของพวกตัวเองฉบับหนึ่ง เรียกว่า

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ สร้างองค์กรของตนขึ้นมา ทับซ้อนองค์กรหลักในแผ่นดินที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน โดยให้ชื่อว่า เป็น

“คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)”
ประกอบด้วยคณะกรรมการ ๑๒ คน ให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงาน หรือโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง โดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบ ดำเนินการตามประกาศนี้ให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

ขอย้ำให้ท่านผู้อ่านทราบว่า อายุการทำงานของ คตส.ชุดนี้ตามประกาศ จะต้องสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๐ เท่านั้น

ครั้นเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้รับการสถาปนาขึ้นมาในประเทศ และมีผลบังคับใช้แล้ว ในมาตรา ๖ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า

“บรรดากฎหมาย กฎ ข้อบังคับใด หากขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้”
มาถึงตรงนี้ ผมจะต้องหยุด แล้วชี้จุดสำคัญให้ท่านผู้อ่านเห็น ว่า

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ มีบทบัญญัติที่ “ขัด หรือแย้ง” กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ถึง ๒ ประการด้วยกัน คือ

ประการที่ ๑. ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ นั้น ที่เข้าใจกันว่า มีสถานะเป็นกฎหมาย ได้จัดตั้ง คตส. ขึ้นมา โดยกำหนดให้มีอำนาจตามกฎหมาย ๓ ฉบับ คือ

- พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. ๒๕๔๒ โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบ ใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และคณะกรรมการธุรกรรม
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. ๒๕๔๒ โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
-ประมวลรัษฎากรโดยให้คณะกรรมการตรวจสอบ ใช้อำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร เฉพาะที่เกี่ยวกับการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน


กฎหมายทั้ง ๓ ฉบับนั้น ท่านผู้อ่านคงเห็นได้ว่า เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง

ฉะนั้น ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าว จึงต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และต้องไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ (โปรดดูรัฐธรรมนูญประกอบ)

ดังนั้น ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้อ ๕ (๑) ที่กำหนดให้ คตส. มีอำนาจตรวจสอบการดำเนินงาน หรือโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง โดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ซึ่งหมายถึงคณะรัฐมนตรีชุดที่มี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง) เป็นการเฉพาะเจาะจงนั้น...

จึงเป็นประกาศหรือกฎหมาย ที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๙ วรรคสอง และมาตรา ๓๐
นั่นเป็นประการแรก ของบทบัญญัติที่ “ขัด หรือแย้ง” กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

คราวนี้ ผมขอให้ท่านได้กรุณาติดตาม ในประการต่อไปด้วยกัน คือ

ประการที่ ๒ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๕ กำหนดให้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
มีอำนาจหน้าที่ ตรวจสอบและไต่สวน ดำเนินคดีกับบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง โดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า เป็นไปโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบ

โปรดสังเกตว่า อำนาจนี้ครอบคลุมเฉพาะ คณะรัฐมนตรีชุดที่มี พันตำรวจโท ทักษิณ
ชินวัตร เท่านั้น เป็นประกาศหรือกฎหมาย ที่มุ่งเอาผิดเฉพาะ “บุคคลเพียงกลุ่มเดียว” เท่านั้น ซึงเป็นแบบฉบับของกฎหมายเผด็จการทั่วไปในโลกนี้ คือเป็นการ...

ต้องเอาผิดเฉพาะกลุ่ม ที่พวกตนเข้ามาโค่นล้มอำนาจให้ได้!
ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มีผลบังคับใช้เมื่อ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ ในมาตรา ๒๕๐ (๒) และ (๓) ของรัฐธรรมนูญฯ ได้บัญญัติให้เฉพาะองค์กรของคณะกรรมการของ ป.ป.ช.เท่านั้น มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนดำเนินคดี กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีถูกกล่าวหาว่า ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

ดังนั้น ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่กำหนดให้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีอำนาจไต่สวนดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดแย้ง กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๐ (๒) แล (๓)
ด้วยเหตุผล ที่กล่าวมานี้...

เมื่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นประกาศหรือกฎหมาย ที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๙ วรรคสอง มาตรา ๓๐ และมาตรา ๒๕๐ (๒) และ (๓) เป็นผลให้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับดังกล่าว ใช้บังคับมิได้ตามมาตรา ๖ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้บังคับ เป็นต้นไป

ถึงแม้ว่าต่อมา จะได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ ขยายเวลาให้ คตส. ไปจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ก็ตาม
พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้ ก็ใช้บังคับมิได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น!

ต่อไปนี้ ผมจะกล่าวถึงบทเฉพาะกาลเจ้าปัญหา คือ มาตรา ๓๐๙ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ถูกกล่าวขวัญกันถึงมาก โดยจะขออธิบายให้ท่านผู้อ่านฟัง ดังต่อไปนี้

บทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๙ ที่บัญญัติ ว่า

บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่า เป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหน้าหรือหลังวันประกาศในรัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ นั้น

ได้รับรองถึงประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ด้วยหรือไม่?

หากรับรองไว้ จะมีผลถึงเมื่อใด?
ความเห็นของผม มีดังนี้

หากจะพิจารณา จากบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๙ ที่ใช้ถ้อยคำที่ผมไฮไลท์ว่า “การใดๆ” นั้น มีความหมายอย่างไร?

คำว่า “การ” นั้น ถ้าเราลองเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ท่านอธิบายว่า เป็นคำนาม หมายถึง งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทำ

ฉะนั้น คำว่า “การใดๆ”(ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็มีใช้ เช่นในมาตรา ๒๑๘ ที่ระบุว่า การใดที่ในการสอบสวนอยู่ในเขตอำนาจของตน...การใดที่เป็นเรื่องเล็กน้อย ) ก็ต้องหมายถึง งาน หรือสิ่งใดๆที่ได้กระทำ

จึงน่าจะพิจารณาได้ว่า ตามมาตรา ๓๐๙ รับรองเฉพาะ “งานหรือสิ่งใดๆ” ที่ได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ตามมาตรา ๓๗ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ เท่านั้น

ไม่มีข้อความใดรับรอง ถึงประกาศและคำสั่ง....
ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ ในระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ตามมาตรา ๓๖ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ด้วย

ฉะนั้น ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งมีบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
จึงไม่ถูกรับรองโดย มาตรา ๓๐๙!

หากจะมีผู้โต้แย้ง ว่า
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๙ ได้รับรองถึงบรรดาประกาศและคำสั่ง ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ ระหว่างวันที่
๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ตามมาตรา ๓๖ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ด้วย
ตรงนี้ผมก็ต้องอธิบาย ให้ชัดเจนต่อไป ว่า

การตีความเช่นนั้น จะมีผลให้ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
ซึ่งมีบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๙ วรรคสอง มาตรา ๓๐ และมาตรา ๒๕๐ (๒) และ (๓) มีผลบังคับใช้ได้ต่อไปจนครบระยะเวลา ๑ ปี ตามที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๐ เท่านั้น เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลา ๑ ปี แล้ว
ประกาศดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลง

หากจะให้ประกาศดังกล่าว ซึ่งมีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับต่อไป จะต้องกระทำโดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ จะตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ฉบับพ.ศ.๒๕๕๐ ขยายระยะเวลาดำเนินการตามประกาศดังกล่าว ซึ่งมีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ออกไปอีก จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑.... “ไม่ได้”

ทำไมผมจึงพูด อย่างนั้น?
ตรงนี้ต้องตอบง่ายๆสั้นๆว่า “เพราะการใช้อำนาจนิติบัญญัติต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน”
หวังว่าท่านที่สงสัย คงจะเข้าใจตามนี้!


ดังนั้น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ ขยายระยะเวลาดำเนินการตามประกาศดังกล่าว ซึ่งมีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ออกไปอีก จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑
จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และใช้บังคับไม่ได้!

เพื่อให้ผู้ที่ยังสงสัย และจะโต้แย้ง ขอกล่าวโดยสรุปย่อๆ เพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆอีกครั้งก็คือ

หากท่านจะตีความว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๙ ไม่ได้รับรองถึงประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ซึ่งมีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ อำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ย่อมจะต้องสิ้นสุดลงตามประกาศดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ถ้าหากท่านจะตีความ ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๙ ได้รับรองถึงประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ซึ่งมีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไว้ด้วย อำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบ การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ย่อมจะต้องสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดตามเวลาในประกาศดังกล่าว

ท่านผู้ใดมีความเห็นแย้ง ก็ขอให้ลองพิจารณาอ่านทบทวนดูให้ถ้วนถี่ มีความเห็นแย้ง
ก็ช่วยโพสกันเข้ามา แต่ผมยืนยันความเห็นของตัวเองไว้อย่างนี้


เขียนคอลัมน์นี้เสร็จ เอาร่างให้เพื่อนนักกฎหมายคนหนึ่งดู แล้วให้เขาพิจารณาว่า จะโต้แย้งผมอย่าง
เขานั่งอ่านอยู่นาน แล้วพูดขึ้นมา ว่า

“อ่านของเอ็งแล้ว คตส. นี่มันยาหมดอายุ...กินก็ไม่ได้ ทาก็ไม่ได้แล้วนี่หว่า”
เห็นว่าเข้าท่าดี จึงแอบเอามาเป็นชื่อคอลัมน์วันนี้เสียเลย และอยากให้ท่านผู้อ่านที่มีความรู้ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับผม ลองออกความเห็น มาถกเถียงกันบ้าง ก็จะเป็นการดี จะได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อให้ท่านอื่น ได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ไปด้วย

ขอรับรองกับท่านว่า ไม่ได้เขียนเอาส่งเดช หรือมีความปรารถนาที่จะให้สภาพของ คตส.สิ้นสุดลงไป หากเขียนในฐานะที่เป็นผู้เฝ้ามองเหตุการณ์บ้านเมือง ด้วยความห่วงใยอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับคนไทยทุกคน แต่เนื่องจากผู้เขียนมีประสบการณ์ในการสอบสวน มานานพอสมควร เพราะเป็นพนักงานสอบสวน หัวหน้าพนักงานสอบสวน อาจารย์และผู้แต่งตำราการสอบสวนคดีอาญา และเคยทำหน้าที่อัยการแผ่นดิน ในฐานะหัวหน้าผู้ว่าคดีศาลแขวงมาก่อน และเป็นผู้บรรยายในเรื่องการสอบสวนของประเทศไทย ในองค์กรระดับโลก อย่างองค์กรตำรวจสากล หรือระดับภาคอย่างองค์กรอาเซี่ยน อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่ง อนุกรรมการฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สิน ของ ปปป.

คณะเดียวกันกับนายกล้าณรงค์ “หนวดเสน่ห์” จันทิก ด้วยซ้ำ!
จึงเชื่อว่า พอที่จะมีสติปัญญาพอจะพิจารณาเรื่องอย่างนี้ได้ เช่นเดียวกับนักกฎหมายคนอื่นๆ ไม่ได้แตกต่างกันเลย ส่วนจะผิดถูกอย่างไร....
ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่จะเป็นองค์กรตัดสินปัญหาในเรื่องนี้ได้!

ที่สำคัญคือ แม้ผมจะไม่ได้ไปมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพวก คตส. หากแต่ตัวเองก็มีความกังวล และเป็นห่วงเป็นใยนายตำรวจรุ่นน้องๆ และลูกศิษย์ลูกหา ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนฝีมือดี ที่ทาง คตส. ร้องขอตัวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอาไปใช้ช่วยเป็นกำลังหลัก ในการสอบสวนของคณะตัวเอง ด้วยเหล่ากรรมการ คตส. นั้นไม่ใช่พนักงานสอบสวนอาชีพ แต่ที่ผมต้องออกบทวิเคราะห์ ในปัญหาข้อกฎหมายหมาย ก็เพราะว่า ....

หากมีการพิจารณาว่า คตส.ขาดอำนาจการสอบสวน ตามที่ผมได้อธิบายความไปแล้ว
นายตำรวจที่ไปทำหน้าที่พนักงานสอบสวนทั้งหมด อาจถูกดำเนินคดี หรือถูกฟ้องร้องให้ดำเนินคดีใน ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๐...
ต้องลำบาก กันไปอีกนาน!


ส่วนกรรมการ คตส. ไม่ต้องไปเป็นห่วงพวกเขา เพราะผู้ที่ผมเพิ่งเขียนถึงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือ “มิสเตอร์บัง” เป็นผู้ลงนามในประกาศแต่งตั้งคนเหล่านี้ จะโดยคำแนะนำของบุคคลใดก็ตามที

เขาคงมีบารมีมาก พอจะช่วยเหลือเกื้อกูล กันได้กระมัง!?

..................

กำลังโหลดความคิดเห็น