xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive! อาเซียนกลางสงคราม IO สมรภูมิข่าวสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งอิทธิพลต่อข้อมูลข่าวสาร ชาติมหาอำนาจรุกคืบ “ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร” (Information Operation) ในอาเซียน ปั่นกระแสความขัดแย้ง ป้ายสีจีนเป็นชาติใหญ่รังแกชาติเล็ก

ASEAN-China Center (ACC) และ China International Communications Group (CICG) ร่วมกันจัดเวทีแลกเปลี่ยนสื่อมวลชนอาเซียน-จีน ขึ้นที่มณฑลซันตง ประเทศจีน โดยมีคณะผู้สื่อข่าวจากชาติสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม พร้อมกับบุคคลสำคัญของอาเซียน รวมถึงนายไจเม ฟลอร์ครูช (Jaime FlorCruz) เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเคยเป็นผู้สื่อข่าวและอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนมาก่อน

ทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศจีน กล่าวว่า “สื่อมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเชื่อมช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของ”

แต่ทว่าสถานการณ์ในขณะนี้ สื่อได้กลายเป็นสมรภูมิของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ IO โดยฟิลิปปินส์เป็นชาติอาเซียนที่เป็น “หนังหน้าไฟ” เผชิญหน้ากับจีนมากที่สุด จากกรณีพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้

ผู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์ขึ้นไปบนเรือของกองทัพฟิลิปปินส์ และทำการ “ไลฟ์สด” ถ่ายทอดปฏิบัติการตอบโต้ของหน่วยยามฝั่งของจีน สร้างภาพว่า ฟิลิปปินส์ถูกประเทศใหญ่อย่างจีน “ข่มเหงรังแก” ฝ่ายฟิลิปปินส์ยังเผยแพร่ภาพที่เจ้าหน้าที่ของจีนใช้ขวานและท่อนเหล็ก เพื่อข่มขู่ลูกเรือของฟิลิปปินส์ แต่กลับไม่มีรายงานข่าวอีกด้านหนึ่งเลยว่า หน่วยยามฝั่งจีนได้ยึดปืนจากทหารฟิลิปปินส์ได้ 8 กระบอกในเหตุเผชิญหน้ากัน ข่าวในสื่อตะวันตกเกือบทั้งหมดอยู่ข้างฟิลิปปินส์ และเต็มไปด้วยถ้อยคำที่เกลียดชังจีน


วิลสัน ลี ฟลอเรส คอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์ เดอะ ฟิลิปปินส์ สตาร์ ให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ ปฏิบัติการไอโออย่างหนักหน่วง เพื่อสุมไฟความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ส่วนฝ่ายจีนนั้นมีนโยบายที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น จึงลังเลที่จะสร้างอิทธิพลต่อสื่อ ไม่เหมือนกับสหรัฐฯ ที่กระทำอย่างโจ่งแจ้ง และคุ้นเคยกับการทำสงครามข้อมูลข่าวสารมาเป็นร้อยปีแล้ว

ผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์ยังบอกกับว่า ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวเลยว่า ข่าวที่รับรู้กันทุกวันเป็นการ “ปั่น” ของสหรัฐฯ เพราะชาวฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก จึงรับข่าวสารจากสื่อตะวันตกโดยตรง เขาอยากให้ฟิลิปปินส์ทำเหมือนกับไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่รักษาสมดุลหลายขั้วอำนาจ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวฟิลิปปินส์ต้องรับรู้เรื่องราวจากฝั่งจีนบ้าง เพราะว่าในความขัดแย้งนั้น ถ้ามีข้อมูลที่หลากหลาย ก็จะลดการใช้อารมณ์ลง และสถานการณ์อาจจะลดความตึงเครียดได้

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการไอโอในหมู่ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ เพื่อใส่ร้ายวัคซีนซิโนแวคของจีน หน้ากากอนามัย และชุดตรวจ ATK ของจีนว่าไม่ได้คุณภาพ

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า มีชาวฟิลิปปินส์เกือบ 67,000 คน เสียชีวิตจากโควิด-19 ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีมากกว่า 4.1 ล้านคน นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ปฏิบัติการไอโอได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เพราะข้อมูลข่าวสารถูกบิดเบือน

อ่านที่ : มือเปื้อนเลือด! ฟิลิปปินส์ครวญ US ป้ายสีวัคซีนโควิดจีน คร่าชีวิตคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่นับหมื่น


หลี่ เย่หมิง ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการเพจ sgwritings ของสิงคโปร์ เขาให้ความเห็นว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในขณะนี้ ชัดเจนว่ามีการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร เพื่อประโยชน์กับฝ่ายตัวเอง

ผู้สื่อข่าวสิงคโปร์บอกว่า ชาติตะวันตกใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร เพื่อโน้มน้าวความคิดเห็นของสาธารณชน ให้สนับสนุนจุดยืนของตน ดังนั้น สื่อต้องไม่แค่รับข้อมูลจากฝั่งตะวันตก แต่ต้องดูสื่อท้องถิ่นด้วย เช่น ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือการสู้รบระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ก็จำเป็นต้องมีข้อมูลจากฝั่งรัสเซีย หรือโลกมุสลิมด้วย เขายังบอกด้วยว่า สื่อตะวันตกพยายามสร้างภาพว่าจีนเป็นผู้ที่ก่อความขัดแย้งขึ้น แต่ความจริงแล้ว หลายกรณีจีนไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงเลย และเป็นสหรัฐฯ ต่างหากที่สุมไฟความขัดแย้ง

ในกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ชัดเจนว่าสื่อตะวันตกอยู่ข้างอิสราเอล ถึงแม้ว่าชาวปาเลสไตน์จะถูกกดขี่ข่มเหงมาหลายสิบปี ในเรื่องนี้ การเปิดรับข้อมูลสื่อจากชาติมุสลิมก็จะช่วยให้เราได้ข้อเท็จจริงจากอีกมุมหนึ่ง


ลินดา คู ฮุ่ย ลี ผู้ช่วยบรรณาธิการ สำนักข่าวเบอร์นามา สำนักข่าวแห่งชาติของมาเลเซีย บอกว่า มาเลเซียเป็นประเทศมุสลิม ที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ สำนักข่าวเบอร์นามาจึงต้องใช้แหล่งข่าวที่หลากหลาย ทั้งสำนักข่าวซินหัวของจีน สำนักข่าวอนาโตลูของตุรกี สำนักข่าววาฟาของปาเลสไตน์ และสำนักข่าวแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย การใช้ข้อมูลที่หลากหลายเช่นนี้ช่วยป้องกันข่าวปลอม และยังทำให้เข้าใจเรื่องราวได้อย่างรอบด้านมากขึ้นด้วย


สื่อมวลชนทุกวันนี้เผชิญกับความท้าทายทั้งจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สโลแกนของการประชุมครั้งนี้ คือ 汇聚心新力量 共促和合共生 โดยภาษาอังกฤษเขียนว่า Amity and innovation matter for a shared future.... แต่ AI ก็ยังแปลนัยที่ซ่อนอยู่ของคำพ้องเสียง 心-新 和-合 ไม่ได้

ทุกวันนี้ สื่อทุกสำนักต้องทำ NewMedia โดยในภาษาจีน คำว่า "ซิน" มีคำพ้องเสียง 2 คำคือ"ใหม่" 新 และ "หัวใจ" 心  สื่อนัยว่า ไม่ว่า NewMedia จะเปลี่ยนไปอีกกี่แพลตฟอร์ม สิ่งที่สำคัญคือต้องใช้ “ใจ” ทำ.


กำลังโหลดความคิดเห็น