คำกล่าวอ้างที่ว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เปิดยุทธการบนสื่อสังคมออนไลน์ เล็งเป้าหมายป้ายสีทำลายชื่อเสียงวัคซีนโควิด-19 ของจีน มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นกรณีพยายามสกัดการแข่งขันจากคู่แข่ง ตามความเห็นของมาร์เซลโล เฟอร์ราดา เดอ โนลี ศาสตราจารย์ชาวสวีเดน ด้านโรคระบาดวิทยา ณ โรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอาร์ทีนิวส์
รอยเตอร์อ้างข้อมูลจากอดีตเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ หลายคน รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่ากองทัพอเมริกาดำเนินยุทธการลับๆ สำหรับบิดเบือนข้อมูลใส่ร้ายป้ายสีวัคซีนซิโนแวคของจีน ระหว่างปี 2020-2021 ยุทธการนี้มุ่งเน้นไปที่ฟิลิปปินส์ โดยใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมอ้างตัวว่าเป็นชาวบ้านท้องถิ่นวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนจีน เช่นเดียวกับชุดตรวจเชื้อและหน้ากากอนามัยที่ผลิตโดยประเทศแห่งนี้ จากนั้นยุทธการบิดเบือนข้อมูลนี้ก็ขยายลงสู่พื้นที่อื่นๆ ของเอเชียและตะวันออกกลาง
ศาสตราจารย์โนลี ชี้ว่าถ้ามันเป็นยุทธการของพวกรณรงค์ต่อต้านวัคซีน พวกเขามักมีเป้าหมายขัดขวางประชาชนจากการรับวัคซีนทั้งหมดไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตาม ดังนั้นสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นกับวัคซีนจีนและรัสเซียนั้น น่าจะเป็นเรื่องของความเป็นคู่แข่งมากกว่า
"สิ่งที่ผมเชื่อคือ มันคือการกีดกันอย่างเจาะจงต่อแบรนด์วัควัคซีนที่ผลิตในรัสเซียและจีน เพื่อที่จะขายวัคซีนที่ผลิตโดยบรรดาบริษัทอเมริกาหรือผลิตโดยหุ้นส่วนธุรกิจของพวกเขาในยุโรปแก่ประเทศเหล่านั้น" เขาเน้นย้ำ โดยชี้ถึงกรณีที่ทั้งสหรัฐฯ และอียูต่างมี "สัญญาโดยตรงกับบริษัทยายักษ์ใหญ่"
ศาสตราจารย์โนลี เชื่อว่ายุทธการนี้มีมากมาย มากกว่าที่รอยเตอร์หยิบยกมารายงานแค่ตัวอย่างเดียว ในกรณีที่อเมริกาหาทางทำลายความน่าเชื่อของวัคซีนที่ผลิตในจีนหรือรัสเซีย ยกตัวอย่างเช่น เขาย้อนให้นึกถึงรายงานของกระทรวงกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ ที่เคยเผยว่าพวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอเมริกา ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ณ ขณะนั้น หาทางกีดกันไม่ให้บราซิลซื้อวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย
อ้างอิงความเห็นของศาสตราจารย์โนลี ชี้ว่ากรณี "การแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมเหล่านี้ถือเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างมากจากมุมมองทางโรคระบาดวิทยาและการควบคุมการแพร่เชื้อ" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sputnik V เป็นวัคซีนตัวแรกที่โลกสามารถใช้งานได้และมีประสิทธิภาพอย่างชัดเจน
รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ยุทธการเล็งเป้าเล่นงานวัคซีนซิโนแวค เริ่มต้นภายใต้รัฐบาลของทรัมป์ และยังคงเดินหน้าต่อไปอีกหลายเดือน หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง ก่อนจะยุติลงในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2021 โฆษกของทั้งทรัมป์และไบเดน ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่เพนตากอนระดับสูงรายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ยอมรับว่ามียุทธการดังกล่าวจริง แต่ไม่ขอให้รายละเอียดเพิ่มเติม
โฆษกเพนตากอนไม่ยืนยันการมีอยู่จริงของยุทธการดังกล่าว แต่บอกว่ากองทัพสหรัฐฯ ใช้แพลตฟอร์มที่หลากหลาย ในนั้นรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ สกัดอิทธิพลที่มุ่งร้าย ที่เล็งเป้าเล่นงานสหรัฐฯ พันธมิตรและคู่หู และปักกิ่งคือหนึ่งในนั้น ที่เริ่มเปิดยุทธการบิดเบือนข้อมูล กล่าวโทษอันเป็นเท็จ หาว่าสหรัฐฯ เป็นคนแพร่กระจายโควิด-19"
กระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุในอีเมลที่ส่งถึงรอยเตอร์ บอกว่าไม่รู้สึกประหลาดใจกับรายงานข่าวนี้ เนื่องจากพวกเขายืนยันมาตลอดว่าวอชิงตันมักเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับจีน
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)