จอร์แดน พันธมิตรผู้ภักดีของสหรัฐฯ ร้องขอวอชิงตันให้ประจำการระบบป้องกันภัยทางอากาศ "แพทริออต" เพื่อยกระดับการป้องกันชายแดนของพวกขา ในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดและความขัดแย้งในภูมิภาคพุ่งถึงขีดสุด จากการเปิดเผยของกองทัพจอร์แดนในวันอาทิตย์ (29 ต.ค.)
"เราขอให้ฝ่ายอเมริกาช่วยเสริมระบบป้องกันภัยของเราด้วยระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศแพทริออต" นายพลจัตวามุสตาฟา ไฮยารี โฆษกกองทัพจอร์แดน เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ
ขีปนาวุธแพทริออตของสหรัฐฯ เคยประจำการอยู่ในจอร์แดนในปี 2013 ตามหลังเหตุลุกฮือต่อต้านรัฐบาลของประชาชนในซีเรีย ประเทศเพื่อนบ้านทางเหนือ ท่ามกลางความกังวลว่าสงครามกลางเมืองในซีเรีย อาจลุกลามบานปลายและโหมกระพือความขัดแย้งระดับภูมิภาค
ในปัจจุบัน จอร์แดนมีความหวาดวิตกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มฉนวนกาซาอย่างไม่หยุดหย่อนของอิสราเอล แก้แค้นพวกนักรบฮามาสจู่โจมนองเลือดเล่นงานอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม อาจลุกลามบานปลายขยายวงกว้างมากขึ้น
ขีปนาวุธแพทริออต ถูกมองว่าเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศล้ำสมัยที่สุดระบบหนึ่งของสหรัฐฯ แต่ปกติแล้วมันมักมีปัญหาขาดแคลน เนื่องจากมันเป็นที่ต้องการของเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั่วโลก
นายพลไฮยารี ยังใช้โอกาสนี้ปฏิเสธรายงานข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ ที่อ้างว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) กำลังใช้ฐานทัพของพวกเขาลำเลียงอาวุธและยุทโธปกรณ์บางอย่างจากคลังของพวกเขาไปยังอิสราเอล เพื่อเสริมศักยภาพด้านการป้องกันตนเองของอิสราเอล ท่ามกลางสงครามในฉนวนกาซา
เพนตากอนใช้งานที่ตั้งทางทหารของจอร์แดนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บรรดาทูตตะวันตกชี้แจงว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเพียงการเสริมสถานะทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคเท่านั้น
สหรัฐฯ ได้ส่งเสริมแสนยานุภาพทางทะเลเข้าไปตะวันออกกลางในช่วงไมกี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในนั้นรวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ กองเรือสนับสนุน และเสริมกำลังพลหลายพันนายเข้าไปยังภูมิภาคแถบนี้
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในนั้นรวมถึง ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม เคยเตือนถึงความเสี่ยงสถานการณ์ลุกลามบานปลาย ท่ามกลางเหตุโจมตีกำลังพลสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และอิหร่านอาจหาทางทำให้สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสขยายวงกว้างออกไป
ประเทศแห่งนี้มีครูฝึกทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่หลายร้อยนาย และเป็นหนึ่งในพันธมิตรในภูมิภาคเพียงไม่กี่ประเทศที่จัดการซ้อมรบร่วมกับทหารสหรัฐฯ อย่างครอบคลุมตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ กองทัพจอร์แดนยังเป็นหนึ่งในกองทัพที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน จากโครงการจัดหางบประมาณทางทหารแก่ต่างประเทศ (Foreign Military Financing : FMF) ของสหรัฐฯ มากที่สุดในโลก
นับตั้งแต่ความขัดแย้งในซีเรียเริ่มต้นขึ้นในปี 2011 วอชิงตันใช้จ่ายเงินไปแล้วหลายร้อยล้านดอลลาร์ ในการช่วยเหลือจอร์แดน จัดตั้งระบบสอดแนมอย่างละเอียดที่เรียกว่า Border Security Programme ในความพยายามสกัดการแทรกซึมเข้ามาของพวกนักรบจากซีเรียและอิรัก
(ที่มา : รอยเตอร์)