กองทัพสหรัฐฯ เปิดยุทธการบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างลับๆ ในช่วงพีกสุดของการแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่โควิด-19 เพื่อป้ายสีทำลายชื่อเสียงวัคซีนโควิดของจีน ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อปลายสัปดาห์
ยุทธการของเพนตากอน สำหรับทำลายชื่อเสียงวัคซีนจีน มีขึ้นระหว่างช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2020 ถึงกลางปี 2021 โดยมุ่งเน้นไปที่ฟิลิปปินส์ ก่อนขยายวงสู่พื้นที่อื่นๆ ของเอเชียและตะวันอกกลาง ตามรายงานของรอยเตอร์ที่กล่าวอ้างในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ในวันศุกร์ (14 มิ.ย.)
เพนตากอนพึ่งพิงบัญชีปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ แอบอ้างตัวเป็นผู้ใช้ชาวฟิลิปปินส์ เผยแพร่คำกล่าวอ้างอันเป็นเท็จว่า วัคซีนซิโนแวคของจีน เช่นเดียวกับชุดตรวจและหน้ากากอนามัยที่ผลิตโดยประเทศแห่งนี้มีคุณภาพที่ย่ำแย่
ซิโนแวค ซึ่งเริ่มต้นแจกจ่ายในเดือนมีนาคม 2021 กลายเป็นวัคซีนตัวแรกที่ชาวฟิลิปปินส์เข้าถึงได้ระหว่างโรคระบาดใหญ่
"โควิดมาจากจีนและวัคซีนก็มาจากจีนเช่นกัน ดังนั้นอย่าไว้ใจจีน" รูปแบบการโพสต์หนึ่ง ส่วนหนึ่งในยุทธการทำลายชื่อเสียง ภายใต้สโลแกน #ChinaAngVirus (จีนคือไวรัส) ตามรายงานของรอยเตอร์ ส่วนอีกโพสต์ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป กล่าวอ้างว่า "ทุกอย่างที่มาจากจีน ทั้งชุดป้องกัน หน้ากาก และวัคซีน ล้วนแต่เป็นของปลอม แต่โคโรนาไวรัสนั้นเป็นของจริง"
ยิ่งไปกว่านั้น เพนตากอนพยายามสื่อสารไปยังพวกผู้ใช้ชาวมุสลิมในเอเชียและตะวันออกกลาง สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าบางครั้งวัคซีนอาจมีส่วนผสมของเจลาตินหมู ดังนั้น วัคซีนของจีนจึงอาจเป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้กฎหมายอิสลาม
รอยเตอร์ระบุว่า จากการตรวจสอบของพวกเขา พบว่ามีอย่างน้อย 300 บัญชีบนทวิตเตอร์ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเอ็กซ์ ที่มีคุณลักษณะตรงตามกับคำกล่าวอ้างของอดีตเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ที่เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับยุทธการนี้แก่สื่อมวลชน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ยืนยันกับรอยเตอร์ว่า ยุทธการลับๆ บนสื่อสังคมออนไลน์สำหรับป้ายสีซิโนแวคนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ปฏิเสธให้รายละเอียดเพิ่มเติม
โฆษกรายหนึ่งของเพนตากอน บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กองทัพสหรัฐฯ ใช้แพลตฟอร์มที่หลากหลาย ในนั้นรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ สกัดอิทธิพลที่มุ่งร้าย ที่เล็งเป้าเล่นงานสหรัฐฯ พันธมิตรและคู่หู และปักกิ่งคือหนึ่งในนั้น ที่เริ่มเปิดยุทธการบิดเบือนข้อมูล กล่าวโทษอันเป็นเท็จ หาว่าสหรัฐฯ เป็นคนแพร่กระจายโควิด-19"
ในปฏิกิริยาที่มีต่อรายงานของรอยเตอร์ ทางกระทรวงการต่างประเทศของจีน เน้นย้ำผ่านทางอีเมล ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ บงการสื่อสังคมออนไลน์และเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนมานานแล้ว
(ที่มา : รอยเตอร์/อาร์ทีนิวส์)