xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : เทศกาลชอปแหลกวันโสดจีน “11.11” ในปีนี้เป็นอย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


1.เทศกาลชอปแหลกวันโสดทุกๆ ปีจะมีเงื่อนไขลดราคามากมาย หลายคนบอกว่าคือการหลอกผู้บริโภคให้หลงกล จริงๆ แล้วไม่ได้ราคาถูกจริง ที่มา Toutiao
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

เทศกาลชอปแหลกวันโสดซึ่งเป็นแคมเปญลดแหลกชอปปิ้งออนไลน์ในวันที่ 11 พ.ย.ของทุกปี มีจุดเริ่มต้นที่จีน ต่อมาแผ่ขยายออกไปเป็นที่นิยมในต่างประเทศ อย่างในแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ในไทย เช่น ลาซาด้า และช็อปปี้ ก็มีการจัดแคมเปญลดแหลกวันคนโสดนี้เช่นกัน สำหรับในประเทศจีนนั้น ที่ผ่านมาชาวจีนจะรอคอยการชอปปิ้งออนไลน์ในวันคนโสดเพราะในวันนี้กิจกรรมลดแหลกแจกแถมของร้านค้าในออนไลน์จะมีมากที่สุดในหนึ่งปี และในปีนี้เป็นปีที่ 15 ของเทศกาลชอปแหลกวันคนโสดในจีน


ทุกๆ ปีเมื่อถึงเทศกาลชอปแหลกวันโสดระหว่างเพื่อนคนจีนมักจะถามกันว่า “คุณซื้ออะไรในวันคนโสดแล้วหรือยัง” เพราะที่ผ่านมาทุกๆ ปีการประชาสัมพันธ์และโฆษณาของทุกแพลตฟอร์มออนไลน์คึกคักมาก มีการยิงแอดโฆษณาแข่งกันประโคมข่าวทั้งบนออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้บรรยากาศโดยรวมคึกคัก กระตุ้นประชาชนอยากจะมีส่วนร่วม ดังนั้น หากเราจะบอกว่าในหนึ่งปี เทศกาลชอปปิ้งออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีนคือวันคนโสดก็คงไม่ผิดนัก

แต่ทว่าเทศกาลชอปแหลกวันคนโสดของจีนในปีนี้บรรยากาศซบเซามากกว่าปีที่ผ่านมา (ปีที่แล้วก็เริ่มซบเซา เข้าช่วงขาลง แพลตฟอร์มออนไลน์รายใหญ่ไม่ประกาศยอดขายเหมือนกับช่วงแรกๆ ที่เริ่มมีแคมเปญ) ในปีนี้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยลง การยิงแอดโฆษณาของแพลตฟอร์มต่างๆ ก็น้อยลงอย่างชัดเจน ทำให้บรรยากาศเงียบเหงา ไม่คึกคักเหมือนกับแต่ก่อน ในปีนี้เพื่อนรอบตัวของผู้เขียนบางคนก็ไม่ได้ซื้อของอะไรสักชิ้นเดียว บางคนก็ซื้อเพียงของจำเป็นที่จะต้องใช้เท่านั้น สำหรับตัวผู้เขียนก็ซื้อเพียงของจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้นเช่นกัน

มีการวิเคราะห์กันเพิ่มเติมว่า ทำไมชอปแหลกวันคนโสดในปีนี้ถึงเหงียบเหงาอย่างชัดเจน โดยมีประเด็นปัจจัยดังต่อไปนี้

- ผู้บริโภคจีนระมัดระวังในการซื้อสินค้ามากขึ้น ให้ความสำคัญกับคุณภาพและราคาที่คุ้มค่า ไม่ใช่ว่าเห็นว่าถูกแล้วก็ลงออเดอร์สั่งซื้อทันที ใช้จ่ายตามเงินในกระเป๋ามากขึ้น ลดการจ่ายเงินเกินตัว หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้บริโภค

2.เทศกาลชอปวันโสดในเวยปั๋ว ชาวจีนคอมเมนต์ เช่น ไม่มีเงิน ไม่น่าสนใจ และวันชอปที่เย็นยะเยือก ที่มา เวยปั๋ว
- แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ไม่มีการลงทุนเพื่อการโฆษณาอย่างมากมาย อึกทึกครึกโครมอีกต่อไป และเงื่อนไขให้ลูกค้าการเข้าร่วมรายการลดราคาไม่ซับซ้อนเหมือนเมื่อก่อน เช่น เมื่อก่อนต้องเก็บสะสมคะแนนจากการทำกิจกรรมต่างๆ ติดต่อกันหลายวันแล้วค่อยเอามาแลกคูปองใช้เป็นส่วนลด ในปีนี้คือลดได้แค่ไหนก็ลดให้ตรงๆ ไปเลย ทางแพลตฟอร์มเอาทรัพยากรที่มีอยู่ของตัวเองไปใช้ในด้านการบริการผู้บริโภคและบริการหลังการขายมากขึ้น ด้านหนึ่งเพราะการควบคุมจากรัฐบาลที่เข้มงวดเรื่องการจำกัดพฤติกรรมการผูกขาด การดัมป์ราคาให้ถูกเกินจริง หรือการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อดึงดูดลูกค้า เป็นต้น อีกด้านหนึ่งคือในขณะนี้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ทั้งหลายต่างทราบดีว่า การใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเก่า อย่างการทำสงครามราคาและปั่นกระแสไม่ใช่สิ่งที่จะดึงดูดลูกค้าได้ยั่งยืนอีกต่อไป แต่การทำสินค้าคุณภาพดีตรงปกและการบริการหลังการขายที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่า

- การแข่งขันของตลาดค้าขายออนไลน์มีช่องทางมากกว่าแค่แพลตฟอร์มดั้งเดิมอย่างเถาเป่า (Taobao) หรือจิงตง(JD.com) มีการผุดขึ้นของแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นไลฟ์สตรีมมิ่งอย่าง โต่วอิน (Douyin) และไคว่โฉ่ว (Kuaishou) แพลตฟอร์มคอนเทนต์ต่างๆ ก็เริ่มกระโดดเข้ามาเปิดช่องทางขายของตัวเองเพื่อเพิ่มรายได้ ทำให้ยอดขายไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในแพลตฟอร์มซื้อขายของออนไลน์เจ้าใหญ่ในตลาด แต่ถูกกระจายไปยังแพลตฟอร์มรายย่อยอื่นๆ ด้วย

ชาวเน็ตจีนหลายคนคอมเมนต์ในโซเชียลว่า “เทศกาลชอปแหลกวันโสดอาจจะมาถึงจุดจบแล้ว” คนหลายคนลืมไปเลยว่าวันที่ 11 พ.ย. คือเทศกาลชอปปิ้งออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งปี จากตัวเลขของไป๋ตู้ (Baidu.com) รายงานถึงจำนวนการค้นหาคำว่า “双十一” หมายถึง “11.11” (เทศกาลวันที่ 11 เดือน 11) ลดน้อยลงอย่างชัดเจนในปีนี้โดยหากเทียบกับปีก่อนดัชนีการค้นหาลดลงกว่า 60%

ในด้านของสถิติจากเวยปั๋ว (Weibo) ระบุว่า ประเด็น “11.11” ที่ขึ้นเทรนด์เวยปั๋วลดลงเหลือเพียง 3 ชั่วโมง ลดลงจากปีก่อน และในช่วงที่พีกที่สุดคือปี 2019 ประเด็น “11.11” ขึ้นเทรนด์บนเวยปั๋วนานถึง 8 ชั่วโมง และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือเทรนด์ของเวยปั๋วเกี่ยวกับเทศกาลชอปแหลกวัดโสดในปีนี้คือหัวข้อ “เทศกาล 11.11 ในปีนี้ขายของกันไม่ออกแล้วใช่หรือไม่”

3.แจ็คหม่าในปี 2018 ได้เคยออกมาแสดงความยินดีกับเทศกาลชอปแหลกคนโสด โดยบอกว่า “หากไม่มีพวกคุณก็คงไม่มีความมหัศจรรย์ในวันนี้” ที่มา เวยปั๋ว
หลายคนออกความเห็นว่า เทศกาลชอปแหลกวันโสดนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะหลายร้านค้าลดราคากันอยู่ทั้งปี ทำให้เทศกาลชอปแหลกวันโสดไม่ได้มีความน่าดึงดูดอีกต่อไป บางคนก็บอกว่าหมดความสนใจกับการชอปปิ้งเพราะซื้อเมื่อไหร่ก็มีส่วนลดเหมือนกัน และมีนักข่าวจีนรายหนึ่งเก็บสถิติการลดราคาสินค้าชิ้นหนึ่งบนแพลตฟอร์ม Tmall.com พบว่าในหนึ่งปีสินค้าชิ้นนี้ในหนึ่งปีจะมีอยู่ 9 เดือนที่ลดราคา ด้วยแคมเปญที่ถูกเรียกชื่อต่างๆ กันไป นอกจาก“11.11” ยังมี “618” และเทศกาลอื่นๆ มากมาย

ผู้บริโภคบางคนมองว่าเทศกาลชอปปิ้งต่างๆ ของแพลตฟอร์มออนไลน์มีลูกเล่นเยอะไป ทำให้ดูวุ่นวายไปหมดและของที่ซื้อจริงๆ อาจจะไม่ได้ถูกจริงๆ แต่ถูกเพิ่มราคาขึ้นมาแล้วและลดราคาให้เสมือนว่าราคาถูก

อีกประเด็นที่สำคัญคือ ในเวยปั๋วปีนี้เนื้อหาที่ผู้คนคอมเมนต์เกี่ยวกับเทศกาลชอปแหลกวัดโสด จำนวนมากบอกว่า “ไม่มีเงิน ไม่อยากซื้อและประหยัด” ความเห็นลักษณะนี้มีการกดไลก์กันมากกว่า 8,000 ไลก์

ในเทศกาลชอปแหลกคนโสดปีนี้ คนหนุ่มสาวจีน 78.9% ได้กำหนดงบประมาณการบริโภคสำหรับตนเอง และมีเพียง 15.9% เท่านั้นที่พร้อมจะซื้อแบบเกินงบ และมีอีก 43.4% ของคนหนุ่มสาวมีลิสต์ของที่ตัวเองต้องการซื้อไว้ล่วงหน้าและค้นหาสินค้าอย่างมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และมีการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์จากร้านต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจกดสั่งซื้อ นอกจากนี้ 30.62% ของคนรุ่นใหม่จะ "เปรียบเทียบราคาจากหลายแพลตฟอร์มและช่องทางต่างๆ ก่อนทำการสั่งซื้อไม่ใช่ว่าเจอแล้วถูกใจกดซื้อเลยเหมือนที่ผ่านมา" อีกทั้งในปีนี้สินค้าแบรนด์ในประเทศของจีนได้รับความนิยมมากขึ้นจากคนจีนยุคใหม่ โดยสินค้าบางประเภทแบรนด์ในประเทศขายดีกว่าแบรนด์นำเข้า และกลุ่มคนอายุ 25-35 ปีคือกลุ่มผู้บริโภคหลักใหม่ของสินค้าแบรนด์ในประเทศจีน

สำหรับสินค้าไทยที่กำลังอยากมาเจาะตลาดจีนอาจจะต้องทำความเข้าใจและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของตลาดในจีนให้มากและลึกยิ่งขึ้น เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในตลาดของจีนที่มีมากและรวดเร็ว การแข่งขันที่รุนแรงกับแบรนด์ในประเทศของจีน พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปที่มีความระแวดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ไม่ใช่แค่การมีเงินและจะซื้อๆๆ แบบที่ผ่านมา และผู้บริโภคจีนมีการไตร่ตรอง เปรียบเทียบ พิจารณาความคุ้มค่ากับสินค้าและบริการมากขึ้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น