xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: ความร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ไม่อาจมองข้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เติ้งเสี่ยวผิงกับประธานาธิบดีสหรัฐ จิมมี คาร์เตอร์ในขณะที่ดูการแสดงที่ศูนย์เคนเนดี้ในวอชิงตันดี.ซี. เมื่อวันที่ 29 มกราคม 1979 (ที่มา ซินหัว)
โดย ดร. ร่มฉัตร จันทรานุกูล
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง UIBE


หลายคนมองความสัมพันธ์จีน-สหรัฐอเมริกา เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21 หลังจากจีนพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมา 40 กว่าปี จนแซงญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลก จากพัฒนาการดังกล่าวทำให้จีนเริ่มมีศักยภาพด้านต่าง ๆ ที่แข็งแกร่งมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญจากชาติพัฒนาหลายเสียงมองว่า “จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่รวยที่สุดในโลก จนอาจจะเป็นภัยคุกคามและความท้าทายใหม่ต่อประเทศในโลกที่หนึ่ง” ทำให้ประเทศพี่ใหญ่ของโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่างสหรัฐอเมริกานั่งไม่ติดอีกต่อไป

แต่ในทางกลับกันความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ นั้นมีมายืนยาว โดยหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศจีนและก่อตั้งจีนใหม่ ความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐฯ เริ่มเข้าร่องเข้ารอยมากขึ้น ในปี 1972 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นนายริชาร์ด นิกสัน มาเยือนจีนอย่างเป็นทางการถือเป็นสัญญาณการจะร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 1979 จีนและสหรัฐฯ ก็ได้ก่อตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

จีนในขณะนั้นนำโดยประธานเหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล และเติ้งเสี่ยวผิง เป็นผู้ริเริ่มสานสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ เพราะความเปลี่ยนแปลงของโลกและความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญ การร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ผ่านมาก็มีความร่วมมือที่สนับสนุนระหว่างกันก็มาก

โดยเฉพาะหลังจากที่จีนเปิดประเทศ แล้วเข้าเป็นสมาชิก WTO จีนพยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและได้นำเสนอแนวทางการเติบโตแบบ “เกื้อกูลและเป็นมิตร” หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “和平友好发展” อ่านว่า "เหอผิงโหยวฮ่าวฟาจ่าน" และหลังจากยุค 90 เป็นต้นมา เศรษฐกิจและการพัฒนาของจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในระบบสายการผลิตของเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น ได้รับการลงทุนจากประเทศพัฒนา ในจีนมากขึ้น สหรัฐฯ ก็เข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น

ดังนั้นการร่วมมือกันระหว่างจีนและสหรัฐฯในด้านต่างๆ ในช่วงนั้นก็มากขึ้นไปโดยปริยาย ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนหลายท่านมองว่าในช่วงยุค 1990-2000 การร่วมมือกันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม มีความใกล้ชิดกันมากและลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ

ในปี 2017 การค้ารวมระหว่างจีนและสหรัฐฯ สูงถึง 5.8 ล้านล้านดอลล่าร์ เพิ่มขึ้น 233 เท่าจากการสานสัมพันธ์ทางการทูต การเดินทางในระดับภาคประชาชนของทั้งสองประเทศจากแทบไม่มี กลายเป็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในขณะนั้นแต่ละวันจำนวนของประชาชนที่เดินทางระหว่างสองประเทศมีประมาณ 14,000 คนต่อวัน เที่ยวบินจากจีนไปสหรัฐฯ ทุกๆ 17 นาทีจะมีบินออกหนึ่งเที่ยวบิน

จีนและสหรัฐฯ ก็ได้ร่วมก่อตั้งหน่วยงานและองค์กรร่วมกันเพื่อผลักดันการร่วมมือในหลาย ๆ ด้านมากกว่า 100 หน่วยงาน จริง ๆ แล้วการเติบโตของความร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐมีเพิ่มขึ้นตามจังหวะของการพัฒนาของจีนหลังเปิดประเทศ และจากศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีนที่มีมากขึ้น ฐานะในเวทีโลกที่สูงขึ้น และแนวทางการพัฒนาของจีนไม่ได้เป็นไปภายใต้การชี้นำของสหรัฐฯ

จุดนี้เองทำให้สหรัฐฯ ฉุกคิดและเริ่มมองว่าการพัฒนาของจีนจะเป็นภัยคุกคาม มีบางกลุ่มเสนอให้จีนและสหรัฐฯ ตัดขาดความร่วมมือในทุกด้าน แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นไปได้ยาก เพราะจีนและสหรัฐฯในวงจรทางเศรษฐกิจระดับโลกมีความเกี่ยวพันกันหลายด้าน

หากว่าตัดขาดจากกันแล้วก็คือการแพ้กันทั้งคู่ ดังนั้นไม่ว่าจีนหรือสหรัฐฯ ต่างไม่มีฝ่ายใดอยากเห็นประเทศตัวเองเศรษฐกิจย่ำแย่หรือธุรกิจระหว่างกันไปต่อไม่ได้

ผู้นำสองประเทศพบกันอย่างพร้อมเพรียง ในสมัยประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกา (ที่มา ซินหัว)
ในวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์จีนได้ประกาศตัวเลขการค้ากับสหรัฐฯ 7 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 40% จากปีที่แล้ว โดยจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 50.4% และสินค้าจีนส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 36.9%

ตัวเลขการร่วมมือทางการค้านี้กระทรวงพานิชย์จีนให้ความเห็นว่า ระหว่างสองประเทศ มีความเกื้อกูลกันสูง (互补性强 อ่านว่า ฮู่ปู่ซิ่งเฉียง)

การที่ทั้งสองประเทศมีการร่วมมือทางการค้าอย่างใกล้ชิดก็เป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งสองประเทศ และทั้งนี้ทางกระทรวงพาณิชย์จีนได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า “เพิ่มการร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่เราเน้นย้ำมาตลอด ทั้งสองฝ่ายควรที่จะหาทางก้าวไปด้วยกัน สร้างบรรยากาศ เงื่อนไขที่ดีและทำให้เป็นจริง” และปัจจุบันทีมการค้าระหว่างประเทศของจีนและสหรัฐฯ ก็กำลังประชุมและหาแนวทางกันอย่างใกล้ชิด หลังจากนโยบายกีดกันทางค้าที่สหรัฐฯต่อกรกับจีน ทำให้สินค้าหลายประเภทในสหรัฐฯได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย เพราะสินค้าเหล่านี้มีฐานการผลิตอยู่ในจีน ทำให้สินค้าบางประเภทราคาสูงและขาดตลาด

หลังจากนั้นสหรัฐฯ เริ่มที่จะพิมพ์เงินออกมาในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก เกิดปัญหาเงินเฟ้อและราคาอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นมาเป็นเงาตามตัว

ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างจีนและสหรัฐฯ จากสงครามการค้าพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งในด้านอื่น ๆ ที่จีนก็ตอบโต้อย่างตาต่อตา ฟันต่อฟันเช่นกัน

กระนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่า “สหรัฐฯ กำลังมองจีนเปลี่ยนไป หนึ่งคือประเทศมหาอำนาจของโลกและอีกประเทศหนึ่งคือ ประเทศใหญ่ที่กำลังเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว การหาทางออกและอยู่ร่วมกันอย่างสงบเป็นสิ่งที่ท้าทายระหว่างสองประเทศ”

ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ทั้งสองฝั่งยังอยู่ในช่วงปรับตัว การปะทะระหว่างกันก็เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก แต่จะทำอย่างไร ให้ทั้งสองฝั่งได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จีนมองว่าในประเทศมีพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาและการสะสมที่ผ่านมา ทำให้จีนมีระบบอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ที่สุดของโลก มีตลาดประชากรที่ใหญ่ จีนมีข้อได้เปรียบที่แข็งแกร่งทำให้เมื่อเกิดสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ก็ยังสามารถต้านทานและยืดหยุ่นได้อยู่บ้าง

สำหรับจีนเองในขณะนี้มองว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่การพยายามทำตัวเองให้ดีให้แข็งแกร่งขึ้นเป็นสิ่งที่มั่นคงกว่า
และจากการติดตามข่าวสารภายในประเทศจีนที่ผ่านมาของผู้เขียนมองว่า จีนเองมีทัศนคติที่จะพยายามสื่อสารอย่างสันติกับสหรัฐฯ ตลอดมา เพราะจีนเองก็มองว่าประเทศตัวเองยังต้องพัฒนาอีกหลายด้าน การร่วมมือกันอย่างแข่งขันยังจะดีกว่ามาต่อสู้กัน

ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า การต่อสู้กันสุดท้ายจะแพ้กันทั้งคู่ หลายสำนักข่าวจีนก็มองและหวังว่าอยากจะให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็วและสร้างโลกที่แข็งแรงไปด้วยกัน ปากท้องของประชาชนทั้งสองประเทศและเศรษฐกิจประชาคมโลกเป็นความสำคัญเหนืออื่นใด 


กำลังโหลดความคิดเห็น