มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน หวัง อี้ กล่าวเตือนสหรัฐฯ ว่า ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน อาจกลายเป็นตัวบ่อนทำลายความพยายามของประเทศทั้ง 2 ซึ่งต่างเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับมากที่สุดของโลกกันทั้งคู่ ในการร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ความสัมพันธ์จีน-อเมริกาอยู่ในภาวะตึงเครียดมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จากประเด็นมากมาย ตั้งแต่การที่วอชิงตันกล่าวหาปักกิ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงเรื่องการจัดการกับไวรัสโคโรนาในช่วงเริ่มต้นการระบาด
กระนั้น สหรัฐฯ ในยุคโจ ไบเดน ที่เพิ่งฟื้นบทบาทการทูตด้านสิ่งแวดล้อมหลังจากว่างเว้นไป 4 ปีในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งความหวังว่า จะสามารถแยกปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทต่างๆ ซึ่งมีอยู่กับจีน
ทว่า วันพุธ (1) หวัง บอกกับจอห์น เคร์รี ผู้แทนพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอเมริกาที่เดินทางไปเยือนจีนว่า ความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศไม่สามารถตัดขาดจากความสัมพันธ์ทางการทูตโดยรวมของสองประเทศ
ระหว่างการประชุมผ่านวิดีโอคอลล์ หวังพูดกับเคร์รี ซึ่งมาที่เมืองเทียนจินแล้ว แต่อยู่ในห้องประชุมอีกห้องหนึ่ง โดยเขากล่าวหาวอชิงตันว่า “คาดคำนวณทางยุทธศาสตร์ต่อจีนอย่างผิดพลาดมหันต์” ทั้งนี้ ตามคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศจีนที่ออกมาในวันพฤหัสบดี (2)
หวัง บอกด้วยว่า สหรัฐฯ นั้นคาดหวังที่จะพลิกโฉมความร่วมมือกันในประเด็นปัญหาภูมิอากาศให้กลายเป็น “โอเอซิส” ของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ทว่าถ้าโอเอซิสนี้ถูกล้อมรอบด้วยทะเลทรายแล้ว ในไม่ช้าไม่นานมันก็จะถูกทอดทิ้ง
“เราได้แสดงให้เห็นความจริงใจของเราแล้ว ทุกๆ คนที่พบปะกับคุณจะต้องใช้เวลา 2 อาทิตย์ในการถูกกักกันโรค แต่เรามีความยินดีที่จะเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว เพื่อที่จะได้หารือเรื่องความร่วมมือกับสหรัฐฯ บนกิจการของความสนใจห่วงใยร่วมกัน” หวังกล่าว รายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (ซีซีทีวี) ระบุ
“มันเป็นไปไม่ได้ที่ความร่วมมือด้านภูมิอากาศระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะสามารถยกระดับขึ้นมาให้เหนือกว่าสภาพแวดล้อมโดยองค์รวมของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ” หวัง บอก
เขากล่าวอีกว่า “เวลานี้ตกเป็นหน้าที่ของสหรัฐฯ แล้วที่จะเดินหน้าในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไปอย่างไร และสหรัฐฯ ควรที่จะเลิกมองจีนว่าเป็นภัยคุกคามและเป็นปรปักษ์”
เคร์รีนั้นพยายามเรียกร้องให้จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก เพิ่มความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเติมเต็มความรับผิดชอบต่อสถานะของตนเองอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ แม้จีนให้สัญญาเป็นประเทศที่เป็นกลางด้านคาร์บอนภายในปี 2060 แต่ยังคงพึ่งพิงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงสำหรับพลังงานที่ใช้ในประเทศเกือบ 60%
ด้านโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า เคร์รีบอกกับหวัง ว่า อเมริกายังคงต้องการให้ปักกิ่งทำอะไรให้มากขึ้นในเรื่องภูมิอากาศ พร้อมกับย้ำว่าสหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับทั่วโลกเพื่อจัดการวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องถือเป็นเรื่องจริงจังและเร่งด่วน และสนับสนุนให้จีนดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการปล่อยก๊าซไอเสีย
ทั้งนี้ ในวันพฤหัสฯ (2) เคร์รียังคงอยู่ในเทียนจินเพื่อพบกับเซี่ย เจิ้นหัว ผู้แทนพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของจีน
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันพฤหัสฯ ว่า หาน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรีของจีน ก็ได้ประชุมผ่านวิดีโอกับเคร์รี เช่นกัน โดยที่ หาน เรียกร้องให้อเมริกาสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการร่วมมือ ซึ่งเคร์รี ตอบว่า วอชิงตันยินดีปรับปรุงการสื่อสารกับปักกิ่ง และสำทับว่า ถ้าจีนไม่พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก เป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียสคงเป็นไปไม่ได้
ในวันพฤหัสฯ ภายหลังหารือกับ เซี่ย เจิ้นหัว เป็นเวลา 2 วัน เคร์รีได้บอกกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า จากการที่ฝ่ายจีนมีท่าทีนำเอาเรื่องภูมิอากาศมาผูกกับความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ-จีนโดยรวม เขาได้กล่าวย้ำกับฝ่ายจีนว่า เรื่องภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องทางอุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน แล้วก็ไม่ใช่เรื่องอาวุธทางยุทธภูมิรัฐศาสตร์สักหน่อย
บรรดาผู้สังเกตการณ์ต่างหวังว่า การหารือครั้งนี้จะนำมาซึ่งคำประกาศที่ชัดเจนในการต่อสู้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
หลี่ สัว ที่ปรึกษาอาวุโสด้านสภาพภูมิอากาศของกลุ่มกรีนพีซ กล่าวว่า จีนและอเมริกาต้องตระหนักว่า โลกตกอยู่ในความเสี่ยง ไม่ใช่คิดถึงเฉพาะโอเอซิสและทะเลทรายของตัวเองเท่านั้น เพราะถ้าทั้งสองประเทศสร้างความคืบหน้าไม่เร็วพอ ไม่นานทั้งโลกจะกลายเป็นทะเลทราย
การประชุมที่เทียนจินครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 ระหว่างเคร์รีกับเซี่ย หลังจากครั้งแรกในเดือนเมษายนที่เซี่ยงไฮ้
นอกจากนั้น แม้ หวัง พูดในคราวนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขณะนี้ผูกติดกับปัญหาทางการทูตอื่นๆ แต่จีนก็เคยย้ำมาตลอดว่า ความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับใช้พลังงานที่สะอาดมากขึ้น มีความสำคัญต่อกิจการภายในประเทศของจีนเอง
อเล็กซ์ หวัง ผู้เชี่ยวชาญและศาสตราจารย์ด้านสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ผู้นำจีนกล่าวมานานแล้วว่า ที่ลงมือจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เป็นเพราะถูกประเทศอื่นกดดัน แต่เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของจีนและทั่วโลกโดยรวม ดังนั้น เขาจึงเชื่อว่า ความตึงเครียดกับอเมริกาไม่น่าทำให้การดำเนินการในส่วนนี้ของจีนล่าช้าลง
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)