หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (16 ส.ค.) ว่าการที่สหรัฐฯ รีบร้อนถอนทหารออกจาอัฟกานิสถาน “ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรง” แต่ยังรับปากว่าจีนพร้อมจะร่วมมือกับวอชิงตันเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพในดินแดนอัฟกัน
สนามบินกรุงคาบูลเต็มไปด้วยประชาชนนับหมื่นนับแสนคนที่พยายามหาเที่ยวบินเดินทางออกจากอัฟกานิสถานเมื่อวานนี้ (16) หลังจากที่กลุ่มตอลิบานสามารถบุกยึดเมืองหลวงได้สำเร็จ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการที่สหรัฐฯ ถอนทหาร
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ อ้างว่าสาเหตุที่ทำให้ตอลิบานยึดอัฟกานิสถานได้เป็นเพราะผู้นำการเมืองอัฟกันยอมแพ้และหลบหนีออกนอกประเทศ อีกทั้งทหารอัฟกันเองก็ไม่มีความพยายามที่จะต่อสู้
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกคำแถลงสั้นๆ ว่า บลิงเคน และ หวัง ได้หารือเกี่ยวกับ “สถานการณ์ความมั่นคงในอัฟกานิสถาน และความพยายามของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะนำพลเมืองสหรัฐฯ และสาธารณรัฐประชาชนจีนกลับออกมาจากอย่างปลอดภัย”
ทั้งนี้ บลิงเคน ยังได้พูดคุยกับ เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในอัฟกานิสถาน ณ เวลานี้ด้วย
สื่อทางการจีนรายงานว่า หวัง อี้ ได้บอกกับ บลิงเคน ว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า “โมเดลต่างชาติ” ไม่อาจถูกนำมาใช้แบบเหมารวมกับประเทศที่มีวัฒนธรรมและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์แตกต่างกันได้
“การใช้กำลังทหารเพื่อแก้ปัญหามีแต่จะยิ่งเพิ่มปัญหา บทเรียนครั้งนี้สมควรอย่างยิ่งที่จะถูกนำไปพิจารณาทบทวน” สถานีโทรทัศน์ CCTV อ้างคำพูดของ หวัง
รัฐมนตรีต่างประเทศจีนยืนยันว่า ปักกิ่งพร้อมที่จะประสานกับวอชิงตัน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิด “สงครามการเมือง” หรือ “หายนะด้านมนุษยธรรม” หลังการถอนทหารอย่างรีบร้อนของสหรัฐฯ ก่อให้เกิด “ผลเสียร้ายแรง”
หวัง ย้ำด้วยว่า การที่สหรัฐฯ หวังจะให้จีนร่วมมือด้วยนั้น “ไม่อาจเป็นไปได้” ตราบใดที่ยังมีความพยายามกีดกันจีน รวมถึงลิดรอนสิทธิและผลประโยชน์ของจีนอยู่
หวัง ยังวิจารณ์เรื่องที่สหรัฐฯ ถอดขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Islamic Movement – ETIM) ออกจากบัญชีกลุ่มก่อการร้าย โดยชี้ว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการใช้ “สองมาตรฐาน” ในความพยายามการต่อต้านก่อการร้าย
รัฐบาลจีนเกรงว่า ETIM ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในอัฟกานิสถาน และมีความพยายามที่จะสถาปนารัฐอิสระขึ้นในเขตซินเจียง ขณะที่สหรัฐฯ มองว่า ETIM ไม่ได้ดำรงอยู่ในลักษณะขององค์กรอีกต่อไป และเป็นเพียงข้ออ้างที่จีนใช้กดขี่ชาวมุสลิมกลุ่มน้อยในประเทศ รวมถึงชาวอุยกูร์
ที่มา: รอยเตอร์