xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: วัคซีนโรคโควิด-19 จีน มีความคืบหน้าอย่างไร&?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัคซีนโควิด-19 ของจีนประเภท Inactivated vaccine (ที่มา Beijing Daily)
ร่มฉัตร จันทรานุกูล
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)


บทความของผู้เขียนห่างหายจากเรื่องของโรคโควิด-19 มาเนิ่นนานพอควร ไม่ทันไรปี 2020 นี้กำลังจะผ่านไปและทั้งปีเหมือนกับว่าทุกคนจะตกในวังวนของโรคโควิด-19 กลายเป็นว่าปี 2020 ยังไม่ทันทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็จะหมดไปเสียแล้ว ดังนั้นข่าวใหญ่ปลายปีของจีนในช่วงนี้หนีไม่พ้นเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ที่ประชาชนก็ตั้งตารอเมื่อไหร่จะได้ใช้กันเป็นวงกว้าง

ในฝั่งของจีน ผู้เขียนขอย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของโรคโควิด-19 จากลักษณะของไวรัสและการมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนประเมินว่า น่าจะหายไปในช่วงของหน้าร้อนเพราะไวรัสชนิดนี้ชอบความหนาวเย็น ดังนั้นจึงแพร่กระจายได้เร็วกว่าในหน้าร้อนที่อากาศร้อน แต่อย่างที่ทุกท่านทราบล่วงเลยมาถึงปลายปีจนจะถึงสิ้นปีแล้วโรคโควิด-19 ก็ยังคงอยู่กับพวกเราอยู่ แถมยังมีการระบาดระลอกสองอีก

ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินนี้ คนทั่วโลกให้ความสนใจกับวัคซีนโควิด-19 มากขึ้นเรื่อย ๆ และประเทศต่าง ๆ ที่มีศักยภาพก็พากันพัฒนาและทดลองวัคซีนโควิด-19 เพื่อแข่งกับเวลา อีกทั้งวัคซีนโควิด-19 กลายมาเป็นการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ เพื่อแย่งชิงตลาดและสร้างความเชื่อมั่น สร้างความแข็งแกร่งและการยอมรับให้กับตัวเองในเวทีโลกด้วย

จากสถิติของ WHO ล่าสุดวันที่ 19 ธ.ค. วัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ปัจจุบัน 222 ชนิด มีอยู่ 10 ชนิด กำลังอยู่ในการทดลองเป็นวงกว้างในมนุษย์ระยะที่สาม(ระยะสุดท้าย)โดยมีวัคซีนฯ ของจีนอยู่ในการทดลองระยะที่สามนี้อยู่ 6 ชนิด และในจำนวนนี้มีวัคซีนฯ สองชนิดที่ได้รับอนุมัติในใช้จริงแล้วคือ วัคซีนโควิด-19 ประเภท MRNA จากฝั่งอเมริกา(Pfizer) เยอรมัน(BioNtech)และจีน(Fosun)และวัคซีนฯ อีกประเภทคือ Inactivated vaccine ที่ได้รับการอนุมัติใช้จริงในบางประเทศแล้ว โดยวัคซีนฯ ประเภทนี้ SINOPHARM ของจีนเป็นจะเป็นผู้ผลิตหลักในโลก เพราะจีนตั้งแต่เริ่มต้นเน้นพัฒนาวัคซีนฯ ประเภทนี้มาตลอด

อาสาสมัครจีนกำลังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประเภท Recombinant protein vaccine  (ที่มา Tencent News)
ผู้เขียนขอเกริ่นก่อนว่าวัคซีนฯ ของจีนที่พัฒนาในขณะนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ค่าย SINOPHARM เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มบริษัทอื่น ๆ ที่เข้ามาวิจัยและพัฒนาวัคซีนฯ เพื่อเตรียมที่จะจัดจำหน่ายในตลาดด้วย โดยในปัจจุบันวัคซีนฯ ของจีนหลัก ๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงทดลองขั้นสุดท้ายและเตรียมออกสู่ตลาด มีมาจากกลุ่มบริษัทต่าง ๆ ดังนี้

- SINOPHARM มีวัคซีนฯ ประเภท Inactivated vaccine สองชนิด โดยทั้งสองชนิดนี้เริ่มใช้ในจีนกับประชาชนบางกลุ่มและในบางประเทศแล้ว
- CansinoBIO มีวัคซีนฯ ประเภท Adenovirus อยู่ในช่วงการทดลองในมนุษย์ระยะที่สาม ทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ
- SINOVAC มีวัคซีนฯ ประเภท Inactivated vaccine หนึ่งชนิด อยู่ในช่วงการทดลองในมนุษย์ระยะที่สาม ทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ
- ZFSW มีวัคซีนฯ ประเภท Recombinant protein vaccine อยู่ในช่วงการทดลองในมนุษย์ระยะที่สาม ทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ


วัคซีนที่คนจีนได้เริ่มได้รับการฉีดกันมากที่สุดจะเป็นประเภท Inactivated vaccine โดยวัคซีนฯ ประเภทนี้มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง หลักการที่ใช้ในการผลิตเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมาหลายสิบปี ดังนั้นจึงมีความเสถียร อีกทั้งสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ ต้นทุนถูกกว่า วัคซีนที่ต้องเก็บในความเย็นที่ 2-8 องศา ระยะเวลาในการเก็บรักษา 36 เดือน ในขณะที่วัคซีนฯ ประเภท MRNA ของสหรัฐอเมริกาต้องเก็บในความเย็น -70 องศา ต้นทุนในการเก็บรักษาและการขนส่งระหว่างประเทศจะสูงมาก

วัคซีนฯ ของจีนก่อนการได้รับอนุมัติใช้จริง ได้ทดลองใช้ในอาสาสมัคร 6 หมื่นกว่าคนจากทั่วโลก 125 ประเทศ นอกจากนี้ยังทดลองกับอาสาสมัครในประเทศกว่า 1 แสนคน จำนวนนี้รวมถึงกลุ่มคนจีนที่ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยจากการทดลองฉีดในอาสาสมัครไม่พบความผิดปกติทางร่างกายที่ร้ายแรง ความปลอดภัยได้มาตรฐานและสามารถฉีดในหมู่ประชาชนวงกว้างได้

วันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในงานประกาศข่าวของรัฐบาล ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขจีนได้กล่าวว่า ตั้งแต่กลางปีเป็นต้นมา เดือนมิ.ย. – ส.ค. ได้เริ่มอนุมัติวัคซีนฯ เร่งด่วนเพื่อการใช้ในกลุ่มคนกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งปัจจุบันมีการฉีดออกไปแล้ว 1 ล้านโดส ไม่พบเคสที่มีผลกระทบรุนแรง

อีกเรื่องที่ประชาชนจีนทั่วไปสนใจคือ การฉีดวัคซีนฯ ไปแล้วจะมีภูมิคุ้มกันยาวนานแค่ไหน

ประเด็นนี้ตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คำตอบว่า “เนื่องจากวัคซีนฯ ชนิดนี้ใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปีในการวิจัย พัฒนา-จนนำออกใช้ ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันไปนานเท่าไหร่ ยังไม่มีรายงานตัวเลขที่เพียงพอเพื่อการให้คำตอบที่แน่ชัด แต่จากตัวเลขที่เราติดตามอยู่ในขณะนี้ หลังจากที่ได้รับวัคซีนฯ ไปแล้วจะมีภูมิคุ้มกันครึ่งปีขึ้นไป เพราะจากอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนฯ ไปในช่วงการทดสอบระยะที่หนึ่งและที่สอง มาจนทุกวันนี้คนพวกนี้ก็ยังมีภูมิคุ้มกันในร่างกายอยู่

อีกตัวอย่างคือจากการติดตามคนไข้โควิดฯ 400 คนจากโรงพยาบาลเซินเจิ้นที่รักษาหายดีแล้ว พบว่าคนกลุ่มนี้ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ โดยคนที่หายดีออกจากโรงพยาบาลตั้งแต่ช่วงแรก ๆ มาจนวันนี้ 10 เดือนแล้วก็ยังคงมีภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่หากว่าจะให้รับประกันว่าสามารถป้องกันได้ถึง 5-10 ปีหรือทั้งชีวิตน่าจะยังไม่สามารถให้ข้อสรุปได้”

จากที่รัฐบาลจีนประกาศก่อนหน้าว่าจะเริ่มมีวัคซีนฯ ออกมาให้ใช้ก่อนสิ้นปี ก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ แต่ว่าในช่วงของการเริ่มต้นนี้ เริ่มจากกลุ่มเร่งด่วนก่อน เช่น กลุ่มหมอและพยาบาล กลุ่มคนที่ทำงานด้านคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะด้านการบินที่ต้องเดินทางบ่อย ๆ และต้องสัมผัสกับผู้คนจำนวนมาก กลุ่มคนที่ทำงานด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ กลุ่มคนที่ทำงานด้านศุลกากร กลุ่มคนที่ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยกลุ่มคนที่กล่าวมาอยู่ในประเภทเร่งด่วนซึ่งส่วนใหญ่ทยอยได้รับการฉีดไปแล้ว กำลังการผลิตกำลังค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาโดยมีการประเมินว่าในปีหน้า จีนจะมีกำลังการผลิตทั้งปีที่ 1,000 ล้านโดส

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ลงออเดอร์วัคซีนฯ กับจีนแล้ว จากการประเมินเบื้องต้นว่าในอนาคตวัคซีนฯ จีนจะมีส่วนแบ่งในตลาดโลกประมาณ 20%

อย่างไรก็ตาม ข่าวการเริ่มให้วัคซีนฯ กับประชาชนของประเทศต่าง ๆ ผู้เขียนคิดว่าทำให้ใจชื้นกันขึ้นมาบ้าง เพราะประชาชนทั้งในไทยและทั่วโลกนี้ ต่างก็อยากให้มนุษย์สามารถชนะโรคโควิด-19 ได้ เพื่อชีวิตด้านต่าง ๆ กลับมาเป็นปกติสุขโดยเร็วที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น