ไทยมีเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนให้ได้สูงสุดครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในปีหน้า และสูงสุด 70% ในปี 2022 ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับบรรลุเป้าหมาย “ภูมิคุ้มกันหมู่” สกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สถาบันวัคซีนแห่งชาติเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส
ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานว่าเมื่อเดือนที่แล้ว ไทยลงนามในข้อตกลงกับแอสตราเซเนกา สำหรับผลิตวัควีนโควิด-19 ที่ทางแอสตราเซเนกาพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ในประเทศไทย 26 ล้านโดส ซึ่งจะเพียงพอสำหรับฉีดวัคซีนให้ประชาชน 13 ล้านคน หรือราวๆ 20% ของประชากรทั้งหมด จำนวน 69 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ บอกับไฟแนนเชียลไทม์ส ว่าไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจากับฝ่ายอื่นๆเช่นกัน ในนั้นรวมถึงบรรดาผู้ผลิตในจีน, รัสเซีย และอินเดีย ในความเป็นไปได้สำหรับนำเข้าวัคซีนอื่นๆ
“ภายในปี 2021 เราคาดหมายว่าจะมีประชากรสูงสุด 50% ที่ได้รับวัคซีน” นพ.นครกล่าว “นั่นหมายความว่า เราจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม”
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อมูลข่าวสารในกระแส ในนั้นรวมถึงผลการทดลองทางคลินิกของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา และวัคซีนอื่นๆ เช่นเดียวกับความเสี่ยงของการใช้วัคซีนมากกว่า 1 ตัว ส่วนหนึ่งในโครงการฉีดวัคซีนของประเทศ
นพ.นครบอกว่า จนถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจวางเป้าหมายฉีดวัคซีน 50% ของจำนวนประชากร อย่างไรก็ตาม “ในทางทฤษฎีแล้ว หากเราต้องการปกป้องผู้คน เราควรวางเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของจำนวนประชากร ในปีที่ 2 ของโครงการ”
ความเห็นของ นพ.นคร คือสิ่งบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดจนถึงตอนนี้ในยุทธศาสตร์และกรอบเวลาของโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนของรัฐบาลไทย
การให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียลไทม์สในครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนหน้าไทยจะรายงานพบเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวนหลายร้อยคนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ในจังหวัดสมุทรสาคร ศูนย์กลางอุตสาหกรรมประมงของประเทศ
ก่อนหน้านี้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในระดับท้องถิ่นมากที่สุดในโลก แต่เคสผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นได้ก่อความกังวลแก่เจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก จนมีคำสั่งล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาครไปจนถึงวันที่ 3 มกราคม และกำหนดเคอร์ฟิวยามค่ำคืน
บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของ จะเป็นผู้ผลิตวัคซีนออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกา ภายใต้ข้อตกลงถ่ายโอนเทคโนโลยีระหว่างสองฝ่าย
นพ.นคร บอกว่า ไทยต้องการผลิตวัคซีนระดับท้องถิ่น เนื่องจากมันเป็นประเด็นด้านความมั่นคงแหงชาติ “เราคิดว่าเราคงต้องเจอกับโรคติดต่อเกิดใหม่อื่นๆ ไม่ว่าวันหนึ่งวันใดในอนาคต” เขากล่าว “โควิด-19 จะไม่ใช่โรคติดต่อตัวสุดท้าย”
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติเข้าใจว่าทางบริษัทฯ ได้เริ่มผลิตวัคซีนแล้ว และการผลิตจะใช้เวลาราวๆ 4 ถึง 5 เดือน นั่นเท่ากับว่าการฉีดวัคซีนน่าจะเริ่มต้นได้ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
นพ.นคร เปิดเผยกับไฟแนนเชียลไทม์สว่า บางทีคณะผู้เชี่ยวชาญอาจตัดสินใจในเดือนมกราคมว่ากลุ่มคนใดบ้างที่ควรได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ โดยที่คนชรา, เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแถวหน้า, เจ้าหน้าที่ภาคสังคม และคนมีโรคประจำตัว ซึ่งทำให้พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อจะถูกจัดวางลำดับความสำคัญเป็นกลุ่มแรกๆ
(ที่มา : ไฟแนนเชียลไทม์ส)