อินเดียมีจำนวนผู้ป่วยโควิดสะสมเกิน 10 ล้านคนในวันนี้ (19 ธ.ค.) ซึ่งถือว่าช้ากว่าที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์เอาไว้เมื่อ 1 เดือนก่อน เนื่องจากอัตราการติดเชื้อใหม่มีแนวโน้มลดลง แม้ว่าคนในประเทศจะเริ่มละเลยการสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางสังคมก็ตามที
สถิติผู้ติดเชื้อรายวันในอินเดียเคยพุ่งจุดพีคเกือบ 98,000 คนเมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย. ก่อนที่จะชะลอตัวลงมาอยู่ราวๆ 30,000 คนต่อวันในเดือน ธ.ค. ซึ่งช่วยเพิ่มช่องว่างระหว่างอินเดียกับ “สหรัฐอเมริกา” ซึ่งครองแชมป์เบอร์ 1 ของโลกด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 16 ล้านคนในตอนนี้
กระทรวงสาธารณสุขอินเดียรายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่ 25,152 รายในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา รวมจำนวนผู้ป่วยสะสม 10,004,599 คน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 347 รวมเป็น 145,136 คน
รัฐบาลอินเดียอยู่ระหว่างพิจารณาคำร้องขอใช้งานฉุกเฉินสำหรับวัคซีน 3 ตัว ได้แก่ วัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดร่วมกับแอสตราเซเนกา, วัคซีนของไฟเซอร์ และวัคซีนที่คิดค้นโดยบริษัท ภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) โดยคาดว่าจะเริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีนได้ในเร็วๆ นี้
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า การที่ผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอาจเป็นเพราะชาวอินเดียจำนวนมากเริ่มมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ
“ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) มีส่วนอย่างมากในการช่วยชะลอการแพร่กระจายของโรค” ประทีป อวาเต เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาวุโสจากรัฐมหาราษฏระซึ่งเป็นที่ตั้งของนครมุมไบ และเป็นรัฐที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในอินเดีย ระบุ
รัฐที่ร่ำรวยแห่งนี้เคยมีผู้ป่วยใหม่เฉลี่ย 20,000 ต่อวันในเดือน ก.ย. ซึ่งทำโรงพยาบาลประสบปัญหาเตียงคนไข้และออกซิเจนไม่เพียงพอ ทว่าในตอนนี้ผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงเหลือเพียงวันละไม่ถึง 5,000 คน
“ถ้าอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น เราจะต้องเห็นคนป่วยเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังเทศกาล แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น” รามัน กังกาเคดการ์ อดีตประธานสภาวิจัยการแพทย์แห่งอินเดีย ระบุ
คณะทำงานของรัฐบาลประเมินว่า ขณะนี้น่าจะมีชาวอินเดียติดเชื้อโควิด-19 แล้วราวๆ 60% จากประชากรทั้งหมด 1,350 ล้านคน
“ถ้าโมเดลนี้ถูกต้อง โอกาสที่จะโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดหนักระลอกที่ 2 ก็เป็นไปได้ยาก เพราะประชากร 60% มีภูมิคุ้มกันแล้ว ไม่มีปัจจัยอื่นที่จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ซ้ำได้” มนินทรา อกราวัล อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดียในเมืองคันปูร์ (Kanpur) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานของรัฐ ระบุ “อย่างไรก็ดี การประเมินตามโมเดลนี้ยังต้องผ่านการพิสูจน์ยืนยันเสียก่อนจึงจะมั่นใจได้”
ที่มา: รอยเตอร์