xs
xsm
sm
md
lg

จีนเคลื่อนขีปนาวุธเหนือเสียง DF-17 ประจำการหน่วยรบแดนใต้ประชิดไต้หวัน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


DF-17 จรวดความเร็วเหนือเสียง ซึ่งพิสัยการโจมตีไกล 2,500 กิโลเมตร กำลังเคลื่อนเข้ามาประจำการหน่วยรบในแดนใต้จีนตรงข้ามเกาะไต้หวัน ภาพ: DF-17 ในขบวนพาเหรดฉลองวันชาติจีนเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2019  (แฟ้มภาพซินหัว)
MGR ONLINE--สื่อในฮ่่องกงเซาท์ ไชน่า มอร์ นิ่ง โพสต์เผยว่าขณะนี้จีนได้เสริมเขี้ยวเล็บทางการทหารบริเวณจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารในแถบชายฝั่งทะเลแดนใต้จีนซึ่งอาจเป็นการตระเตรียมบุกยึดดินแดนไต้หวัน โดยกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้อัปเกรดกองกำลังขีปนาวุธ เคลื่อนกำลังพลติดขีปนาวุธที่สามารถซัดจู่โจมด้วยความเร็วเหนือเสียง คือ DF-17 หรือตงเฟิง-17

“DF-17 จะค่อยๆเคลื่อนเข้ามาแทนที่ขีปนาวุธรุ่นเก่าที่ประจำการในแดนใต้มาหลายสิบปีอย่าง DF-11s และ DF-15s” เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ อ้างอิงแหล่งข่าวการทหารในกรุงปักกิ่งที่ไม่เผยนาม

จรวดความเร็วเหนือเสียง DF-17 ชื่อรหัสที่หมายถึง “ลมตะวันออก” นี้ มีระยะปฏิบัติการไกลถึง 2,500 กิโลเมตร และมีความแม่นยำมากขึ้น ผู้นำจีนได้นำ DF-17 ออกมาให้สาธารณชนได้ชมเป็นขวัญตาครั้งแรกในการแสดงขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองวันชาติจีนปีที่แล้ว (1 ต.ค.2019) ซึ่งเป็นปีครบรอบ 70 ปี การสถาปนาสาธารรณรัฐประชาชนจีน

ผู้นำจีนประกาศกร้าวมาตลอดว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของมาตุภูมิแผ่นดินใหญ่ที่จะต้องกลับมารวมชาติในที่สุด และอาจใช้กำลังเข้ายึดผนวกดินแดน หาก“จำเป็น”

ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาสหรัฐฯอนุมัติสัญญาซื้อขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน ได้แก่  โครงการอัปเกรดขีปนาวุธแพทริออต และเครื่องบินขับไล่ F-16 Viper ในภาพ: ประธานาธิบดีแห่งไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน และ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์
ความสัมพันธ์จีนระหว่างช่องแคบไต้หวันลุ่มๆดอนๆมาตั้งแต่ผู้นำเจียงไคเช็คแห่งพรรคก๊กมินตั่งนำกำลังถอยร่นไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวันและจัดตั้งรัฐบาลแยกต่างหากหลังแพ้สงครมกลางเมืองเมื่อปี 1949 และยิ่งแย่ลงเรื่อยๆนับจากผู้นำพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพีแห่งไต้หวัน คือ นาง ไช่ อิงเหวิน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ปี 2016 และแถลงปฏิเสธหลักการ “จีนเดียว”

ดังนั้น การนำจ้าวขีปนาวุธลมตะวันออกเบอร์ 17 นี้ เข้ามาประจำการพร้อมรบ ณ บริเวณชายฝั่งแดนใต้ของจีนเช่นนี้ นักสังเกตการณ์ย่อมคิดเป็นอื่นไปไม่ได้เกี่ยวกับการปรามไต้หวัน ในขณะที่ไต้หวันขยับเข้าไปใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น โดยล่าสุดในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯอนุมัติสัญญาซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์ชุดหนึ่งให้แก่ไต้หวัน ได้แก่ โครงการอัปเกรดระบบขีปนาวุธแพทริออต และเครื่องบินขับไล่ F-16 Viper

“ข้อตกลงสั่งซื้ออาวุธครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 7 ระหว่างไต้หวันกับรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ มองความมั่นคงของไต้หวันเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังเป็นการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนกับสหรัฐฯ ให้เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันและในภูมิภาค”คำแถลงของกระทรวงกลาโหมไต้หวันหลังจากที่สหรัฐฯอนุมัติโครงการสั่งซื้ออาวุธครั้งล่าสุด

อังเดร ชาง (Andrei Chang) บรรณาธิการใหญ่ของวารสารด้านการทหารที่มีชื่อเสียงในแคนาดา “กันวาดีเฟนซ์รีวีว” (Kanwa Defence Review) กล่าวว่าจากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นหน่วยนาวิกโยธิน (Marine Corps) และกองกำลังขีปนาวุธ (Rocket Force) ในมณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกว่างตง ขยายใหญ่ขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้

“กองพลน้อยขีปนาวุธทุกหน่วยในฝูเจี้ยน และกว่างตง ติดตั้งอุปกรณ์อย่างครบครันแล้ว ขนาดของหน่วยขีปนาวุธในภาคตะวันออกและภาคใต้ขยายตัวเป็นสองเท่าในไม่กี่ปีมานี้ แสดงว่ากองทัพจีนขยับการเตรียมพร้อมทำสงครามโจมตีไต้หวัน” นาย ชาง บรรณาธิการใหญ่แห่ง“กันวาดีเฟนซ์รีวีว”ชี้

หน่วยปฏิบัติการพิเศษโชว์ลีลาบู๊ระหว่างพิธีเฉลิมฉลองวันชาติไต้หวันบริเวณหน้าทำเนียบประธานาธิบดีวันที่ 10 ต.ค.2020 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
นายชางเผยอีกว่าหน่วยรบหนึ่งในเมืองพูหนิง มณฑลกว่างตง ได้อัปเกรดกองกำลังโดยขณะนี้มีจรวดยักษ์ (ballistic missile) รุ่นใหม่เข้าประจำการแล้ว ซึ่งเปิดเผยไม่ได้ว่าเป็นแบบไหนเรื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว

“ฐานทัพที่เมืองพูหนิง รับผิดชอบการโจมตีตอนใต้ของของไต้หวัน แต่ขีปนาวุธรุ่น DF-11 และ DF-15 มีพิสัยการยิงไกลไม่พอ...ไม่สามารถข้ามเทือกเขาตอนกลางไปโจมตีฐานทัพอากาศในไท่จงและฐานทัพฮวาเหลียนซึ่งอยู่ทางตะวันออกของไต้หวัน

ชางเผยว่าจีนยังได้ติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซีย คือ S-400 Triumf ซึ่งสามารถตรวจจับและสอยอาวุธของข้าศึก ได้แก่ ขีปนาวุธ โดรน และเครื่องบินขับไล่ จากระยะที่อยู่ห่างออกไป 600 กิโลเมตร
“ระบบเรดาร์ของ S-400 เยี่ยมยุทธ์ และเอาอยู่ทั้งเกาะไต้หวัน สามารถยิงเครื่องบินของกองทัพปรปักษ์ในทันทีที่ขึ้นบิน”

หน่วยรบป้องกันดินแดนชายฝั่งของกองทัพพญามังกร ยังประกอบด้วยกองพลน้อยของทัพอากาศ 20 กองพล โดยบางหน่วยมีเครื่องบินล่องหน คือสเตลท์ J-20 เครื่องบินหลบหลีกเรดาร์ทำในจีนรุ่นแรก

แผนที่แสดงที่ตั้งเกาะไต้หวัน และชายฝั่งแดนใต้จีน จีนสร้างหน่วยบัญชาการรบใหญ่ในเมืองเฉาโจว (Chaozhou) มณฑลกวางตุ้งซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการโจมตีทัพเรือไต้หวันในเกาสยง (Kaohsiung) –เครดิตแผนที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Southern_Min#/media/File:Min_dialect_map.svg
เมื่อสี จิ้นผิงขึ้นกุมอำนาจสูงสุดก็ได้ปฏิรูปใหญ่กองทัพ มีการขยายหน่วยนาวิกโยธินซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการบุกโจมตีใดๆ โดยหน่วยบัญชาการใหญ่ของนาวิกโยธินซึ่งสร้างฐานในเมืองเฉาโจว (หรือเมืองแต้จิ๋ว) ตั้งแต่ปี 2017 มีบทบาทสำคัญในการโจมตีทัพเรือไต้หวันในเกาสยง

นอกจากนี้ผู้นำจีนยังหมั่นออกกำลังกายซ้อมรบบริเวณรอบเกาะไต้หวันบ่อยๆ โดยเพิ่งจัดซ้อมบุกไต้หวันครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยจัดมาก่อนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“ณ วันนี้ความเป็นไปได้ในการรวมชาติกันอย่างสันติดูเบาบางลง” พลตรี หวัง ไจ้ซี ผู้เคยเป็นผู้นำในองค์กรกึ่งรัฐบาลของจีนที่รับผิดชอบดูแลกิจการไต้หวัน และผู้เชี่ยวชาญเรื่องไต้หวัน กล่าว

คลิป CGTN: จีนได้นำ DF-17 ออกมาให้สาธารณชนได้ชมเป็นครั้งแรกในการแสดงขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองวันชาติจีนวันที่ 1 ต.ค.2019 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 70 ปี การสถาปนาสาธารรณรัฐประชาชนจีน




กำลังโหลดความคิดเห็น