xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมชาวฮ่องกงแหกกฎห้ามชุมนุมรำลึก “เหตุการณ์ปราบปรามนองเลือดที่เทียนอันเหมิน” (ชมภาพเหตุการณ์ฯ4 มิ.ย. )

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คลื่นมหาชนชาวฮ่องกงหลั่งไหลออกมาเข้าร่วมชุมนุม “จุดเทียนทุกหย่อมหญ้าบนแผ่นดินฮ่องกง” เพื่อรำลึกวันครบรอบ 61 ปีของเหตุการณ์ปราบรามนองเลือดที่กองทัพจีนนำกำลังเข้าสลายกลุ่มประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิ.ย. ปี 1989  (ภาพรอยเตอร์ส)
คลื่นมหาชนชาวฮ่องกงหลั่งไหลเข้าร่วมงานในวาระครบรอบ “31 ปี เหตุการณ์ปราบปรามนองเลือดที่เทียนอันเหมิน” ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ "สัญญาณชีพเสรีภาพของฮ่องกง" และการกำชับอำนาจของจีนที่เพิ่งรับรองกฎหมายความมั่นคงเมื่อไม่กี่วันมานี้

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ใน “วันที่ 4 มิถุนายน” ของทุกปี คลื่นประชาชนนับพันๆคนแห่แหนมาชุมนุม ณ วิกตอเรีย พาร์ค บนเกาะฮ่องกง เพื่อรำลึกเหตุการณ์ปราบปรามนองเลือดโดยกองทัพจีนนำกำลังเข้ายุติการประท้วงของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ปี 1989 (ปี พ.ศ.2532)

“เหตุการณ์ปราบปรามนองเลือด ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน”ที่จีนเรียกในชื่อสัญลักษณ์ “เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน” นี้เป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองที่ผู้นำจีนห้ามเอ่ยอ้างถึงหรือจัดกิจกรรมรำลึกฯใดๆอย่างเด็ดขาดบนแผ่นดินใหญ่นับจากวันเกิดเหตุฯ ขณะที่ฮ่องกงอาศัยสิทธิเสรีภาพตามข้อตกลงการปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” จัดการชุมนุมใหญ่จุดเทียนไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตระหว่างการปราบปรามนองเลือดในวันครบรอบปีของ “เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน”

ชาวฮ่องกงเข้าร่วมการชุมนุมจุดเทียนไว้อาลัยและปกป้องความทรงจำในวันครบรอบ 31 ปี เหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง แม้ตำรวจประกาศห้ามการชุมนุมฯ (ภาพรอยเตอร์ส)
ทว่า ในวันที่ 4 มิ.ย.ปีนี้ รัฐบาลท้องถิ่นอ้างมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ประกาศห้ามการชุมนุมในวันครบรอบ 31 ปีเหตุการณ์ปราบปรามนองเลือด ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ทั้งในเขตบริหารพิเศษแห่งฮ่องกงและมาเก๊า นับเป็นครั้งแรกของการห้ามชุมนุมใหญ่วันที่ 4 มิ.ย.ที่ฮ่องกง

แหล่งข่าววงในหน่วยตำรวจเผยว่าในวันสุกดิบก่อนวันที่ 4 มิ.ย.นี้ ฮ่องกงได้ระดมกองกำลังตำรวจปราบจลาจลกว่า 3,000 นาย ออกมาสกัดการชุมนุมฯ พร้อมด้วยปืนฉีดน้ำแรงดันสูงในบริเวณแอดมิรัลตี้ และสำนักงานประสานงานของจีนในฮ่องกง

ด้านกลุ่มผู้จัดงานรำลึก “เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน” เดินหน้าแผนการชุมนุมโดยแบ่งกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มๆละ 8 คนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่จำกัดการรวมกลุ่มได้ไม่เกิน 8 คน

แต่แหล่งข่าวตำรวจกล่าวว่าหากจำนวนคนที่ออกมาทำกิจกรรมโดยมีเป้าหมายเดียวกันเกินตัวเลขที่รัฐบาลจำกัดก็ถือว่าฝ่าฝืนกฎ ดังนั้นอุบายซิกแซ็กโดยแบ่งกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มๆละ 8 คน หรือน้อยกว่า ก็ยังถือเป็นการฝ่าฝืนกฎ

การประท้วงเรียกร้องการเปิดกว้างประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนจีนบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ปี 1989 ที่ยุติลงโดยกองกำลังทหารเข้าปราบปรามในวันที่ 4 มิ.ย.1989 (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
การห้ามชุมนุมรำลึก “เหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน” ปรอทวัดการกระชับอำนาจของกฎหมายความมั่นคง

สภาผู้แทนประชาชนจีน หรือสภานิติบัญญัติ เพิ่งรับรองกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงในวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุเป้าหมายการรับรองกฎหมายฯว่ามุ่งจัดการกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ลัทธิก่อการร้าย การเคลื่อนไหวที่บ่อนทำลายความมั่นคง ทำลายเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการแทรกแซงของต่างชาติที่ผู้นำจีนมักชี้ว่าเป็น “อำนาจมืด” คอยหนุนหลังกลุ่มประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ก่อ “ความวุ่นวาย”ในฮ่องกงตลอดปีที่ผ่านมา

กฎหมายความมั่นคงฮ่องกงนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่จากนานาชาติ(โดยเฉพาะคู่ปรับหัวเห็ดอย่างสหรัฐฯ) ว่าจะทำลายหลักการปกครอง หนึ่งประเทศ สองระบบ โดยที่ฮ่องกงจะไม่เหลืออำนาจการปกครองตัวเอง หลายฝ่ายยังวิตกว่ากฎหมายความมั่นคงฉบับนี้จะพลิกหน้าประวัติศาสตร์ฮ่องกงไปตลอดกาล กลายเป็นดินแดนที่ถูกคุมเข้มด้านเสรีภาพไปถึงไร้เสรีภาพ ปิดปากฝ่ายต่อต้านหรือกลุ่มที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับทางการ และการฉีกสัญญาในข้อตกลงการปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ในฮ่องกง

อย่างไรก็ตามกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงผ่านการรับรองจากสภาตรากฎหมายมังกรโดยยังไม่มีรายละเอียด แหล่งข่าวเผยว่าผู้นำในคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมืองหรือโปลิตบูโรพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะแจงรายละเอียดกฎหมายซึ่งอาจเผยในเดือนส.ค.ที่จะถึงนี้ ดังนั้นขณะนี้กฎหมายความมั่นฮ่องกงจึงมีแต่รายการเป้าหมายที่รอเหล่าบิ๊กผู้กุมอำนาจสูงสุดในแดนมังกรมากรอกรายละเอียด

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ประชาชนนับพันนับหมื่นคนแห่แหนมาชุมนุมที่วิกตอเรีย พาร์ค ฮ่องกงในวันที่ 4 มิถุนายนของทุกปี  เพื่อรำลึกเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน งานรำลึกฯนี้เสมือน “สัญญาณชีพของเสรีภาพ” สำหรับชาวฮ่องกง ในภาพการชุมนุมในวันที่ 4 มิ.ย. 2009 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
การชุมนุมใหญ่รำลึกวาระครบรอบปี “เหตุการณ์วันที่ 4 มิ.ย.” ของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงมีความหมายสำคัญยิ่งในการปกป้องเสรีภาพในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งประวัติศาสตร์ดินแดน ณ ขณะนี้ โดยอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายในการต้านทานการกระชับอำนาจของจีนที่กำลังใช้กฎหมายความมั่นคงมาบรรลุภารกิจทางการเมือง

เนื่องจากตลอด 30 ปีที่ผ่านมา การชุมนุมรำลึกเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างสันติบริเวณวิกตอเรีย พาร์ค ถูกมองว่าเป็น “สัญญาณชีพของเสรีภาพดินแดน” นับจากวันที่อังกฤษส่งมอบคืนการปกครองฮ่องกงให้แก่จีนภายใต้ข้อตกลง หนึ่งประเทศ สองระบบเมื่อปี 1997 ซึ่งรับรองการปกครองตัวเองระดับสูงแก่ฮ่องกง และให้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างที่จีนแผ่นดินใหญ่ไม่มี ในข้อตกลงยังระบุว่าจะ “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาฯ 50 ปี”

การชุมนุมรำลึกเหตุการณ์นองเลือด ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินแห่งวันที่ 4 มิถุนายน ในแต่ละปีนั้นเตือนความทรงจำถึงวันปราบปรามนองเลือดที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนเคลื่อนขบวนเข้าสลายการชุมนุมประท้วงที่นำโดยนักศึกษาซึ่งเรียกร้องประชาธิปไตย การปฏิรูปเศรษฐกิจ และยุติคอรัปชั่น

หากกิจกรรมชุมนุมใหญ่วันที่ 4 มิถุนายนนี้ไม่อาจจัดขึ้นในฮ่องกงอีกต่อไปแล้ว ก็เหมือนการตอกตะปูฝาโลงฝังความทรงจำแห่งเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของฮ่องกงภายใต้กฎหมายความมั่นคงของจีน

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของฮ่องกงก็จะเป็นไปตามที่ผู้นำจีนชี้นำ อย่างที่ วั่ง หยัง สมาชิกคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมืองจีน และประธานสภาปรึกษาการเมือง (CPPCC) ซึ่งเป็นองค์กรอำนาจสูงสุดที่ให้คำชี้แนะด้านกฎหมายของจีน ได้อธิบาย คือ “ประชาธิปไตย ปรองดอง ปฏิบัติได้จริง และเจริญก้าวหน้า” ซึ่งจะเป็นคุณค่าแบบเอกลักษณ์จีน


การชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 ที่ประชาชนชาวจีนนับแสนเข้าร่วมขบวนกับกลุ่มนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย การปฏิรูปเศรษฐกิจ และยุติคอรัปชั่น (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
ภาพประวัติศาสตร์: การชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 ที่ประชาชนชาวจีนนับแสนเข้าร่วมขบวนกับกลุ่มนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย การปฏิรูปเศรษฐกิจ และยุติคอรัปชั่น การประท้วงยุติลงโดยกองทัพเคลื่อนขบวนเข้าปราบรามจนกลายเป้นเหตุนองเลือด

กลุ่มนักศึกษาจีนถือป้าย เขียนว่า “ให้ประชาธิปไตยแก่ฉัน หรือไม่ก็ให้ความตายแก่ฉัน”  ระหว่างการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 1989 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)

กลุ่มนักหนังสือพิมพ์สนับสนุนการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 17 พ.ค.1989 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)

จ้าว จื่อหยาง (กลาง) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ขณะนั้น (1989) ขึ้นกล่าวแสดงความเห็นใจนักศึกษา และขอร้องให้กลับบ้านก่อนกองทัพเคลื่อนขบวนเข้าปราบฯ (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)

พาหนะหุ้มเกราะของกองทัพเหยียบเต็นท์ของกลุ่มประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน วันที่ 7 พ.ค. 1989 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)

ผู้ประท้วงนักศึกษาวางสิ่งกีดขวางทางพาหนะหุ้มเกราะที่ถูกเผาวอดไปแล้วขณะเคลื่อนเข้ามายังโซนที่นักศึกษาประท้วง ภาพเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.1989 (แฟ้มภาพ เอพี)

กลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 ถูกตีตราเป็นพวก “ปฏิกิริยาการปฏิวัติ” และถูกปราบปรามอย่างนองเลือด (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)

ภาพ “ชายผู้ยืนประจันหน้าขบวนรถถัง” โดย Jeff Widener อดีตบรรณาธิการภาพสำนักข่าวเอพีประจำกรุงเทพฯ ชายนิรนามยืนขวางขบวนรถถังบนถนนใหญ่เข้าสู่จัตุรัสเทียนอันเหมินในเช้าวันที่ 5 มิถุนายน ปี 1989   (แฟ้มภาพ เอพี)

ผู้นำที่เห็นใจกลุ่มประท้วงฯอย่างจ้าว จื่อหยังถูกปลดออกจากตำแหน่ง ลงจากสังเวียนจากการเมืองจีนไป ในภาพจ้าวเดินเล่นบริเวณสวนในบ้านใจกลางปักกิ่งต้นเดือนมิ.ย.ปี 1998 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)


กำลังโหลดความคิดเห็น