รอยเตอร์ - ตำรวจฮ่องกงยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่พวกผู้ประท้วงในวันพฤหัสบดี (4 มิ.ย.) ในขณะที่ผู้คนหลายพันขัดขืนคำสั่งห้ามรวมตัวกันสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชุมนุมจุดเทียนรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินของจีน เมื่อปี 1989 พร้อมใช้โอกาสนี้กล่าวหาปักกิ่งบีบรัดสิทธิเสรีภาพของพวกเขาเช่นกัน
เหตุกระทบกระทั่งเกิดขึ้นในย่านมงก๊ก หลังพวกผู้ประท้วงพยายามใช้รั้วเหล็กปิดกั้นถนน ทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่
นับเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างพิธีจุดเทียนรำลึกถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมินประจำปี ทั้งที่ในปีนี้ตำรวจไม่อนุญาตให้จัดพิธีดังกล่าว โดยอ้างถึงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ประชาชนหลายพันคนรวมตัวกันที่สวนสาธารณะวิคตอเรีย พากันตะโกนคำขวัญ “ปลดปล่อยฮ่องกง การปฏิวัติของยุคเรา” และ “สู้เพื่อเสรีภาพ ยืนหยัดเพื่อฮ่องกง”
พิธีรำลึกครบรอบในปีนี้กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่งในเมืองที่เคยถูกปกครองโดยอังกฤษ หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว จีนออกกฎหมายด้านความมั่นคงฉบับใหม่ซึ่งบังคับใช้กับเกาะแห่งนี้ และสภานิติบัญญัติฮ่องกงผ่านกฎหมายห้ามดูหมิ่นเพลงชาติจีน
ขณะเดียวกัน พิธีรำลึกยังถูกจัดขึ้นในขณะที่่สื่อมวลชนจีนและเจ้าหน้าที่ปักกิ่งบางส่วน ส่งเสียงสนับสนุนพวกผู้ประท้วงในสหรัฐฯต่อต้านการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อนโดยตำรวจ
ในปักกิ่ง ดูเหมือนมีการยกระดับคุมเข้มมาตรการรักษาความปลอดภัยรอบๆ จัตุรัสเทียนอันเหมิน แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในกลางเมือง ด้วยพบเห็นตำรวจมีจำนวนมากกว่าวันปกติทั่วๆ ไป
ย้อนกลับไปที่ฮ่องกง ซึ่งเพิ่งพบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสในท้องถิ่นเป็นครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ ตำรวจได้ออกคำเตือนก่อนหน้านี้ว่าการรวมตัวของคนหมู่มากอาจบ่อนทำลายสุขภาพประชาชน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงจำนวนมากเมินคำเตือนดังกล่าว ออกมารวมตัวจุดเทียนบนท้องถนนและยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที ขณะที่โบสถ์คาทอลิก 7 แห่งก็เปิดประตูให้มีการจัดพิธีรำลึกภายใน
สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ แสดงความเป็นหนึ่งอันเดียวกับพวกผู้ประท้วงฮ่องกงที่แสดงความปรารถจัดพิธีรำลึกครอบรอบเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ส่วนไต้หวัน พบเห็นประชาชนรวมตัวกันที่จตุรัสเสรีภาพ เรียกร้องให้จีนขอโทษต่อโศกนาฏกรรมดังกล่าว แต่ทางจีนแผ่นดินใหญ่ตอกกลับว่า “ไร้สาระ”
จีนไม่เคยเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ชัดเจนจากเหตุความรุนแรงในปี 1989 โดยรายงานตัวเลขที่รัฐบาลประเมินไม่กี่วันหลังเกิดเหตุ ระบุว่ามีเพียงแค่ราวๆ 300 คน และส่วนใหญ่เป็นทหาร แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆและพวกผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่าอาจมีคนตายหลายพันคน