xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้หลังโควิด จีนเน้นพึ่งตัวเอง เที่ยว ตปท.น้อยลง เตือนผู้ประกอบการไทยปรับตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ดร.อักษรศรี" ชี้พิษโควิดทำเศรษฐกิจจีนอ่วม เชื่อหลังจากนี้เน้นพึ่งพาตัวเอง ส่งเสริมเที่ยวในประเทศ เตือนผู้ประกอบการไทย เลิกหวังว่าจะกลับมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว แนะเร่งปรับตัว

วันที่ 4 มิ.ย. 63 รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อ.ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ THE RISE OF CHINA จีนคิดใหญ่มองไกล ร่วมสนทนาผ่านทางโทรศัพท์ ในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "เปิดแผลเศรษฐกิจจีน : หลังชนะโควิด งานยากรออยู่"

ดร.อักษรศรี กล่าวว่า แผลเศรษฐกิจจีน หลังโควิด ขอแบ่งเป็น 3 แบบ คือ แผลสดจากพิษโควิด, แผลเรื้อรังจากสงครามการค้าที่สหรัฐฯ ทำกับจีน และสุดท้ายยากที่สุด คือแผลฝังลึกที่มาจากโมเดลเศรษฐกิจของจีน เป็นปัญหาที่ค้างคา ที่ผู้นำหลายคนก็ยังแก้ไม่จบ

แผลสดชัดเจนมาก เศรษฐกิจจีนดิ่งเหว จีดีพีไตรมาสแรก ติดลบ 6.8 เลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์ ตัวอื่นก็หนัก ยอดขายปลีก ยอดการลงทุนลดลง ภาคการผลิต การนำเข้า ก็ลดลง ที่สำคัญมีผลทำให้คนตกงานสูงถึง 27 ล้านคน

นอกจากนี้ จีนได้ปล่อยกู้ให้หลาย ๆ ประเทศ พอเกิดโควิด ประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ ตัวธนาคารจีนที่ไปปล่อยกู้ จะต้องหาทางแก้ปัญหา อาจกระทบภาคการธนาคารอื่น ๆ ด้วย

สอง ปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ยืดเยื้อกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออก และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการผลิตที่ยังพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และมีผลต่อการจ้างงานของจีน แม้พยายามลดการพึ่งพาสหรัฐฯ แต่ตัวเลขล่าสุดสหรัฐฯ ก็ยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของจีน

สาม โมเดลเศรษฐกิจของจีน เติ้ง เสี่ยวผิง ปฏิรูปเศรษฐกิจโดยใช้ข้อได้เปรียบจากที่จีนมีแรงงานเยอะ และราคาถูก เติบโตเชิงปริมาณ แต่สร้างปัญหาอื่นตามมา ตอนนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ วัยแรงงานลดลง จากเดิมเป็นโรงงานโลก ก็ไม่แข็งแกร่งเหมือนเดิมแล้ว ปัญหาที่ฝังลึกมันก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนเอง

ปัญหายากที่สุด คือช่องว่างรายได้ มณฑลชายฝั่งร่ำรวย มณฑลตอนในยากจน รายได้ต่างกันเป็น 10 เท่าตัว แม้ตอนหลังพยายามกระจายความเจริญไปยังมณฑลตอนใน คนจนรายได้สูงขึ้นก็จริง แต่คนรวยก็รวยขึ้น ๆ จึงยังเกิดช่องว่าง

ดร.อักษรศรี กล่าวอีกว่า นโยบายของจีน เพื่อเยียวยาโควิด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือระยะสั้นกับระยะยาว ระยะสั้นก็ทุ่มงบประมาณเพื่อเยียวยา ออกพันธบัตรรัฐบาล 1 ล้านล้านหยวน แบงก์ชาติจีนอัดฉีดอุ้ม SMEs 4 แสนล้านหยวน

อีกอันที่สำคัญที่สุด ประธานาธิบดีฯ ประกาศไม่ตั้งเป้าจีดีพี แต่ให้ความสำคัญกับการจ้างงาน ตั้งเป้าต้องจ้างงานเพิ่ม 9 ล้านตำแหน่ง อันนี้ค่อนข้างลึกซึ้ง เพราะเน้นตรงไปที่เงินในกระเป๋าของประชาน ไม่ต้องสนจีดีพี เพราะถ้าคนตกงานจะสร้างปัญหาสังคมตามมาอีกมาก และเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ส่วนมาตรการระยะยาว 1. ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่าจริงจัง ลดการพึ่งพาต่างประเทศ กระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพิ่มคนชั้นกลาง เพื่อมีรายได้ปลดปล่อยพลังการบริโภค 2. ดิจิทัลไลเซชัน ผลักดันสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัว ล่าสุดทดลองใช้ดิจิทัลหยวนแล้ว จีนต้องเร่งพัฒนาให้เร็วกว่าเดิม 3. การต่างประเทศ จีนมีซิลค์โรด แต่ตอนนี้ไม่พอ ต้องเป็นดิจิทัลซิลค์โรด สิ่งที่กล่าวมา จีนทำก่อนโควิดแล้ว แต่โควิดเป็นตัวเร่งให้ต้องทำเร็วขึ้น

ดร.อักษรศรี กล่าวด้วยว่า หลังโควิด จีนจะหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ลดการพึ่งพาต่างชาติ แต่ไม่ถึงขั้นปิดประเทศ ตราบใดที่ยังได้ประโยชน์กับการค้าต่างประเทศ ก็ยังทำอยู่ แต่ก็จะตัดสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ออกไป อย่างการท่องเที่ยว คิดว่าจะเน้นให้เที่ยวในประเทศ

ส่วนไทย ผู้ประกอบการอย่าหวังพึ่งตลาดจีน นักท่องเที่ยวจีน การส่งออกไปจีน ว่าจะได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร ที่ผ่านมา เศรษฐกิจเราโยงใยกับจีนมากถึงประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพีไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น