xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ปรับประมาณการจีดีพีปี 63 เป็น -6% มอง 3 ปัจจัยเสี่ยงยังกดดัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็น -6% ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องระวังในครึ่งปีหลัง "ปัจจัยต่างประเทศ-การว่างงานที่สูงขึ้น-การระบาดระลอก 2" คาดจีดีพีไตรมาส 2 หดตัวต่ำสุด และกลับมากระเตื้องขึ้นในครึ่งปีหลัง

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณเศรษฐกิจไทยปี 63 เป็น -6% ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากภาคการบริโภค การใช้จ่ายครัวเรื่อนที่หดตัวมากขึ้น รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัวเนื่องจากยังมีกำลังการผลิตในประเทศเหลืออยู่สูงพอสมควรประมาณ 55% โดยเฉพาะในกลุ่มของรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาครัฐยังคงเป็นบวกจากมาตรการเยียวยาต่างๆ ที่ออกมา

ส่วนภาคต่างประเทศการส่งออกยังคงมองที่ -6.1% จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การล็อกดาวน์ ทำให้การส่งออกและนำเข้าทำได้ยากและมีผลไปถึงซัปพลาย เชนอื่นด้วย รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ
โลกที่เข้าสู่ภาวะการถดถอย โดยจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เศรษฐกิจโลกปีนี้ -3% ซึ่งก็จะส่งผลต่อความต้องการสินค้าด้วย

"แม้ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกของปีที่ -1.8% จะต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนเมษายนที่แบงก์ชาติออกมาแถลงนั้นชี้ให้เห็นแล้วว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจหดตัวในทุกภาคส่วน ใช้จ่ายครัวเรือนติดลบมากขึ้น และการจ้างงานที่จะมีผลกระทบมากขึ้น คนตระหนักถึงความสำคัญของการออมมากขึ้นทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนหดตัวมากขึ้น แต่ในเดือนพฤษภาคมหลังจากเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ก็อาจจะทำให้ตัวเลขดีขึ้นบ้าง แต่ก็คงไม่ทำให้กลับมาเป็นบวก ทำให้ประเมินการติดลบของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ลึกลงเป็นเลข 2 หลัก ขณะที่ไตรมาส 3 และ 4 จะติดลบน้อยลง ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้เวลา 2-3 ปีเศรษฐกิจจึงจะกลับมาขยายตัวเท่าช่วงปี 62 ขึ้นอยู่กับการประสบความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสสำเร็จ"

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ยังต้องเฝ้าระวังในช่วงครึ่งปีหลังนั้น เป็นภาคส่วนต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งจากปัจจัยการเมืองและสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงฝั่งยุโรปที่แม้สถานการณ์จะดีขึ้นแต่ก็ยังมีความเสี่ยง เนื่องจาก 2 กลุ่มนี้มีประมาณการนำเข้าที่สูงประมาณ 40% ของตลาดโลก รวมถึงการเฝ้าระวังการระบาดระลอก 2 ในประเทศเอง และตัวเลขการว่างงานที่สูงขึ้น แม้จะมีจำนวนที่ลดลงกว่าไตรมาสที่ 2 แต่ก็ยังน่าจะมีตัวเลขการว่าจ้างตกค้างอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งภาครัฐควรมีมาตรการดูแลเพิ่มเติมในจุดนี้ด้วย

น.ส.ณัฐพร กล่าวอีกว่า ในประเด็นของสหรัฐฯ นั้นมีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งการเมืองระหว่างประเทศกรณีสงครามการค้ากับจีน การประท้วงในประเทศที่ลุกลาม และสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมี ซึ่งตรงนี้ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลกไปแล้ว แต่ยังมีผลทางอ้อมที่เข้าผ่านมาในช่องทางของตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว ซึ่งหนึ่งปัจจัยก็เรื่องของดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า และอีกปัจจัยผู้ส่งออกยังเป็นบวกมีเม็ดเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาแลกกลับเป็นบาทแต่อันนี้เป็นปัจจัยชั่วคราว โดยศูนย์วิจัยสกสิกรฯ มองสิ้นปีนี้ที่ 31.50- 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยพื้นฐานที่น่าจะกลับมาค่อยๆ ดีขึ้น ทั้งการควบคุมโควิด-19 ที่ดี และดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีน่าจะยังเป็นบวก แต่เงินบาทในระหว่างปีก็ยังมีความผันผวนตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามา

ขณะที่อัตราดอกบี้ยนโยบาย ณ ปัจจุบันที่ 0.50% นั้น ก็ถือว่ายังมีช่องเหลือให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อีกเล็กน้อยหากมีสถานการณ์ที่จำเป็น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% หรือติดลบยังไม่ใช่ระดับที่พูดถึงในบริบทของประเทศไทย ขณะที่ปัจจุบันมาตรการทางการคลังจะเข้ามามีบทบาทมากกว่าในการพยุงเศรษฐกิจ และก็น่าจะเข้ามามีบทบาทอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากส่งผลได้เร็วกว่า และสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ 57% ของจีดีพีก็ยังอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้

"สัดส่วนหนี้สาธารณะยังไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วงในขณะนี้ แต่ปัจจัยสำคัญคือควรจะดูแลเงินที่ออกมาจากมาตรการต่างๆ ในระยะต่อไปอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมาก ขึ้นตรงกับกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น เน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมถึงการส่งเสริมการออมในระยะยาวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวต่อประชากรโดยรวมด้วย"

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ด้านภาคธุรกิจต่างๆ นั้น ในช่วงที่ผ่านมา แทบทุกธุรกิจมีความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยว ค้าปลีก ขนส่ง-รถยนต์ แต่กลุ่มที่เห็นได้ชัดที่ได้รับผลกระทบหนักและมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า จะเป็นการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะต้องมีมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านเติมสภาพคล่องยังเป็นประเด็นที่สำคัญ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็จะต้องหาช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ๆ สินค้าบริการที่ตอบโจทย์ตรงจุด ไปอยู่ในช่องทางที่ถูกต้อง สร้างความมั่นใจให้ลูกค้ากลับเข้ามาใช้บริการ ซึ่งกว่าจะมั่นใจต้องใช้เวลา แต่ก็มีกลุ่มที่จำเป็นต้องเดินทาง หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงก็อาจจะกลับมาก่อนหากมีความมั่นใจ ขณะที่กลุ่มค้าปลีกก็จะต้องปรับมาใช้ช่องทางผสมผสานในช่องทางออนไลน์กับหน้าร้าน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น