คนซินเจียงมีชีวิตที่น่าอิจฉาประการหนึ่ง คือ ไม่มีคำว่า สายเกินไป
พระอาทิตย์ที่ลาจากฟ้าตอนสี่ทุ่มกลับโผล่มาเจิดจ้าเหมือนเดิมหลังจากพักไปไม่กี่ชั่วโมง เริ่มต้นวันใหม่ฟ้าสว่างโร่ด้วยแสงแดดตั้งแต่ตีห้าคล้ายไม่รู้แบ่งแยกเช้าตรู่หรือว่าสาย เพราะ ความร้อนแรงของแสงเท่าๆกันหมด
คนเมืองอูหลู่มู่ฉีจะเริ่มกิจวัตรประจำวันกันเต็มที่ก็ตอน 10 โมง ร้านรวงต่างๆไม่ว่า ห้องแถว หรือ ห้างใหญ่พนักงานเริ่มทำงานก็ราวๆนี้ เช่นเดียวกับคณะนักข่าว*กลุ่มใหญ่ที่มาจากหลากหลายชาติรวมไอ้หนุ่ม “ไท่กั๋ว”** อย่างเราก็ต้องเริ่มปฎิบัติภารกิจ
เพื่อท่องไปบนเส้นทางสายไหมวันแรก วงล้อของรถบัสขนาด20 ที่นั่งกว่า 3 คันหมุนออกจากโรงแรมอย่างพร้อมเพรียงกัน คล้ายกับกองคาราวานพ่อค้าสมัยโบราณเคลื่อนขบวนไปค้าขาย
คาราวานพ่อค้ายุคก่อนไม่เพียงแต่ค้าขาย หากพวกเขายังนำเอาอารยธรรมของประเทศตัวเองเผยแพร่ไปด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น บนรถบัสที่มีนักข่าวหลากหลายชาติหลายภาษาก็แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งส่วนใหญ่พูดจากันด้วยภาษาจีน น้อยกว่าน้อยที่สนทนากันด้วยภาษาอังกฤษ
บนรถพูดคุยกันด้วยภาษาจีน อังกฤษ แต่บนท้องถนนกลับต่างออกไป คิดจะสื่อสารกับชาวอุยกูร์ไม่ง่ายนัก พวกเขาอยู่ร่วมกับชาวฮั่นจริง แต่ไม่ได้พูดจีนได้ทั่วไป
ซินเจียง เป็นเขตการปกครองตนเองที่มีชนเผ่าอุยกูร์อาศัยอยู่มากที่สุด พวกเขามีภาษาเป็นของตัวเอง ที่นี่การเรียนรู้นอกจากภาษาถิ่นแล้วรัฐบาลจึงพยายามจัดภาษาจีนให้เข้าไปในหลักสูตรหลักด้วย
ดังตัวอย่างสถานที่แรกที่เราไปเยือน คือ โรงเรียนมัธยมศึกษาระดับประเทศของอูหลูมู่ฉีเป็นตัวอย่างที่หล่อหลอมเยาวชนของจีนที่มีความแตกต่างกันทั้งชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และ ภาษา หล่อหลอมรวมกันด้วยหลักสูตรสองภาษา
โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งมานานตั้งแต่ปี 1946 ทำหน้าที่อบรมปลูกผังคนที่นี่รุ่นแล้วรุ่นเล่า ยาวนานแค่ไหนพอเข้าใจได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ คุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนที่นี่แตกต่างจากกรุงเทพฯเหลือเกิน ไม่ต้องเร่งรีบตื่นเช้า ไม่ต้องพะวงเรื่องการแต่งกาย พักกลางวันครูก็พาวิ่งออกกำลังทำกิจกรรมกลางแจ้ง
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองน่าจะยินดียิ่ง คือ ที่นี่ไม่ต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมจากนอกห้องเรียน ไม่ต้องสมัครตัวเป็นลูกศิษย์กับเครื่องคอมพ์ จ่ายเงินแพงๆแลกกับการนั่งในคอกครอบหูฟัง รับการติวเข้มจากติวเตอร์ที่นับวันชื่อแปลกเข้าไปทุกที
น่าเศร้าที่ระบบการศึกษาไทยวันนี้ไม่ให้ความสำคัญกับการสอนในโรงเรียน นับวันจะกวาดต้อนเด็กนักเรียนให้เข้าสู่วงจรธุรกิจการศึกษา ที่สร้างเนื้อสร้างตัวให้ติวเตอร์ทั้งหลายกลายเป็นเศรษฐีใหม่ขึ้นมาทุกๆวัน
ที่โรงเรียนมัธยมในอูหลู่มู่ฉี ครูผู้สอนหลายคนจบมาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เน้นการเรียนการสอนในโรงเรียนเป็นหลัก
นอกจากโรงเรียนตามหลักสูตรทั่วไป เนื่องเพราะที่นี่เป็นชุมชนชาวมุสลิมที่มากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ สถาบันการศึกษาสำหรับสอนศาสนาอิสลามเฉพาะก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เราได้สัมผัส
การเรียนการสอนของวิทยาลัยอิสลามก็เป็นเช่นเดียวกับโรงเรียนมัธยมประจำอูหลู่มู่ฉี เน้นคุณภาพการเรียนการสอนตามหลักศาสนาอิสลาม เด็กหนุ่มหลายคนนั่งเรียนในห้องเรียนมีคัมภีร์อัลกุรอ่านวางอยู่บโต๊ะหนาเตอะเสริมส่งบรรยากาศการเรียนรู้และศรัทธา
ขณะที่ห่างกันออกไปไม่ไกลในมัสยิดที่เงียบสงบงดงามมีชายหนุ่มวัยฉกรรจ์กำลังรับการอบรมจากอิหม่ามอย่างตั้งเป็นภาพที่น่าประทับใจ
คร่ำเคร่งอยู่ครึ่งค่อนวันกับการศึกษาและศาสนา คาราวานนักข่าวพลันเปลี่ยนเส้นทางไปเข้ารั้ววิทยาลัยนาฎศิลป์ซินเจียง
คำว่า “นาฎศิลป์” เดิมเหมือนมีมนต์สะกดอยู่แล้ว เมื่อพบกับบรรดาสาวรุ่นเหล่านักศึกษาแสดงศิลปการร่ายรำ ศาสตร์ของนาฎศิลป์ ทุกคนรู้สึกผ่อนคลายเหมือนได้รับการต้อนรับจากเหล่าบรรดาชนเผ่าในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่ทั้งอบอุ่นและสุนทรีย์ในอารมณ์
แม้จะไม่เข้าใจในภาษาพูดของชาวอุยกูร์ แต่เมื่อการแสดงของเหล่านักศึกษาสาวในวิทยาลัยนาฎศิลป์ซินเจียงจบลงก็พอเข้าใจว่า อุยกูร์ เป็นชนเผ่าที่มีอารยธรรมที่สืบต่อกันมาไม่ด้อยกว่าใครเลย
ที่สำคัญการเล่าเรียนในวิทยาลัยนาฎศิลป์ของพวกเธอยังเป็นบันไดไปสู่ดวงดาว ดาวหลายดวงในแวดวงศิลปะ-บันเทิงของประเทศจีนที่กว้างใหญ่ก็มีหลายคนที่จุติจากที่นี่
ตัวอย่างเช่น ถงลี่ย่า ดาราดังของวงการภาพยนตร์จีน เธอเกิดและเติบโตที่เขตปกครองตนเองซินเกียง ร่ำเรียนการเต้นรำมาตั้งแต่เล็ก ในปี 1996 เธอสอบเข้าศึกษาด้านนาฎศิลป์ที่วิทยาลัยศิลปศาสตร์ซินเจียง และ มีโอกาสได้ขึ้นเวทีโชว์ความสามารถอยู่บ่อยครั้ง
ต่อมาในปี 2002 ขณะอายุได้ 18 ปี ถงลี่ย่าตัดสินใจเข้าประกวดนางงามซินเจียง และคว้าตำแหน่งรองอันดับ 1 มาครอง ในปี 2004 เธอสอบเข้าเรียนคณะศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัย the central academy of drama และในปี 2006 ประตูสู่วงการบันเทิงก็เปิดต้อนรับ เมื่อเธอเกิดไปสะดุดตาผู้กำกับชื่อดังเอ่อร์ตงเซิงเข้า จึงได้เลือกเธอแสดงในละครเรื่องแรก "ซินปู้เหลี่ยวฉิง" 《新不了情》
หลังจากนั้นเธอก็มีผลงานการแสดงอื่นๆ ตามออกมาอีกหลายเรื่อง และ เรื่องที่ทำให้ถงลี่ย่าเป็นที่รู้จักก็คือซีรีย์ย้อนยุคเรื่อง "The Palace"《宫》 รวมทั้งซีรี่ย์เรื่อง "เป่ยจิงอ้ายฉิงกู้ชื่อ" 《北京爱情故事》
---
อาหารตาไม่อาจอิ่มท้องเท่าอาหารที่ลงกระเพาะ
หลังทึกทักเองว่าเป็นพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการด้วยขบวนสาวชาวเผ่ากับท่วงทำนองร่ายรำชวนเคลิ้มฝัน กองทัพนักข่าวก็ถูกพามาที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์แห่งหนึ่ง
ในซินเจียง หรือ อูหลู่มู่ฉี เมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าเส้นทางสายไหมโบราณ ปัจจุบันก็กำลังพัฒนาไม่หยุดยั้ง กระแสความเจริญของนโยบายฟื้นฟูความรุ่งเรืองเส้นทางสายไหมใหม่ของท่านผู้นำ สี จิ้นผิง เห็นได้ชัดว่า ขยายไปทุกทิศทุกทาง
ไม่แปลกที่ไลฟ์สไตล์ของคนจำนวนหนึ่งจะได้สัมผัสกับอาหารฟาสต์ฟู่ดส์แบบชาติตะวันตก แต่ที่น่าสนใจ คือ เป็นร้านฟาสต์ฟู้ดส์ของคนอิสลามเพื่อคนอิสลามโดยเฉพาะ
ร้านชื่อว่า อ้ายปี้เค่อ(爱必客) ในภาษาจีน หรือ Albaik มองปราดแรกคล้ายคลึงแม็คโดนัลด์ และเมื่อเข้าไปข้างในกลับให้ความรู้สึกเหมือนผู้พันแซนเดอร์ของ KFC หันมานับถือศาสนาอิสลาม
เมนูอาหารของร้าน Albaikไม่ต่างจากเคเอฟซีขวัญใจมหาชนคนชอบกินไก่ทอด แต่ทำไมกินของที่นี่ไก่ทอดกลับอร่อยกว่า เข้มข้นกว่า เบอร์เกอร์ก็สดใหม่ให้เยอะ ทุกอย่างเกินคาดกว่าที่คิดในตอนแรกว่า แกก็แค่ของ “ทำเหมือน” เหมือนสินค้าจีนที่ชอบลอกเลียนแบบชาวบ้านละว้า
เมื่อเกินคาดจึงอยากจะรู้จักมากขึ้นว่าจริงๆแล้วร้านนี้มีที่มาอย่างไร ต้องไม่ธรรมดาแน่ ซึ่งก็จริงๆ
Albaik เป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการอาหารฮาราลของซาอุดิอารเบีย ตั้งขึ้นมาในปี 1974 ไม่นานก็ขยายกิจการอย่างรวดเร็วถึง 60 สาขาในเมืองสำคัญๆของซาอุฯ จากนั้นก็สลายปีกไปประเทศมุสลิมต่างๆ เช่นเดียวกับที่มายังอูหลู่มู่ฉี ซินเจียง ในปี 2011
คนเราไม่ควรประเมินใครสักคนด้วยหน้าตารูปลักษณ์ภายนอกฉันใด เราก็ไม่อาจประเมิน Albaik ว่า แค่คล้ายฝาแฝดแม็คโดนัลด์ในด้านนอก หรือ เมนูอาหารไปเหมือนกับเคเอฟซี ความแตกต่างทั้งเรื่องรสชาติในแบบฉบับมุสลิม และ วิธีการบริหารของพวกเราล้วนต้องให้ความยอมรับนับถือ
ความนิยมของผู้บริโภคในซินเจียงทำให้ Albaik มีแผนที่จะขยายไปอีกหลายแห่งในจีน
เริ่มต้นบนเส้นทางสายไหมยุคใหม่มีอะไรแปลกใหม่ให้ค้นหา นับว่า ชีวิตมีชีวายิ่ง
(โปรดติดตามอ่านตอนตอไปได้ในวันอังคาร)
อ่านย้อนหลังตอนที่ 1 เส้นทางสายไหมไดอารี่:ไม่ถึงซินเจียงไม่รู้ความไพศาลของผืนแผ่นดิน
---------------------
หมายเหตุ
*ระหว่างวันที่ 23 พ.ค.-2มิ.ย.2559 ผู้จัดการออนไลน์ เป็นหนึ่งในสำนักข่าวกว่า 44แห่งทั่วโลกได้รับเชิญจากรัฐบาลจีนให้มาสัมผัสเส้นทางสายไหมที่กำลังฟื้นฟูใหม่
**ชื่อเรียกคนไทยของชาวจีน