xs
xsm
sm
md
lg

Focus : นามนั้นสำคัญไฉน! ทำไมตำรวจไทยเลี่ยงโยง “อุยกูร์” กับเหตุบึ้มราชประสงค์?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยูซุฟู มีไรลี หนึ่งในผู้ต้องหาชาวต่างชาติ ถูกตำรวจคุมตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพบริเวณศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.
เอเอฟพี - จากการสอบสวนคดีวางระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่ามีหลักฐานค่อนข้างชัดว่าอาจเป็นแผนของกลุ่มติดอาวุธมุสลิมอุยกูร์หรือผู้ที่หนุนหลัง ที่ต้องการมุ่งทำร้ายนักท่องเที่ยวจีน แต่ก็น่าประหลาดใจที่ว่ารัฐบาลไทยและจีนยังดูเหมือนไม่เต็มใจที่จะยอมรับเรื่องนี้

หลังเหตุวินาศกรรมใจกลางกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ผ่านไปเกือบ 1 เดือน ทางการไทยสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวต่างชาติได้ 2 ราย และออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกนับสิบคน ทั้งยังยืนยันว่าเครือข่ายของคนร้ายถูก “ล็อกเป้าหมาย” เอาไว้หมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนยังไม่สามารถระบุเหตุจูงใจที่แน่ชัดของการวางระเบิดที่คร่าชีวิตคนไทยและต่างชาติไป 20 คน และส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเชื้อสายจีน

ทฤษฎีหนึ่งซึ่งทางการไทยตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก็คือ พวกอาชญากรต้องการแก้แค้นที่ตำรวจไทยกวาดล้างเครือข่ายค้ามนุษย์ ทว่า ประเด็นนี้ไม่ได้รับความเชื่อถือจากนักวิเคราะห์และสังคมไทยเท่าที่ควร เพราะไม่คิดว่าแก๊งอาชญากรจะมีเหตุจูงใจหรือช่องทางที่จะวางแผนสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมและอุกอาจถึงขั้นนี้ได้

ไม่กี่วันมานี้ ความเชื่อมโยงระหว่างเหตุระเบิดแยกราชประสงค์กับชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ในจีนและชาวตุรกีที่ให้การสนับสนุนพวกเขา ดูจะยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อผลการตรวจสอบพาสปอร์ต เชื้อชาติ และแผนเดินทางของผู้ต้องสงสัยรายหลักๆ ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางดังกล่าว

หากกระบวนการสืบสวนของตำรวจไทยเดินมาถูกทาง “แน่นอนว่าจะต้องมีชาวอุยกูร์หรือพลเมืองตุรกีหัวรุนแรงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้” ซาคารี อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญด้านกลุ่มติดอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

นักวิเคราะห์เชื่อว่า การที่ตำรวจพยายามไม่เอ่ยถึง “ชาวอุยกูร์” หรือ “การก่อการร้าย” เพราะเกรงจะกระทบต่อการท่องเที่ยว และยังต้องการถนอมน้ำใจจีนซึ่งเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ยอมเป็นมิตรกับรัฐบาลทหารของไทย

ความพยายามของตำรวจไทยเกือบจะดูเป็นเรื่องน่าขัน เมื่อมีการออกหมายจับผู้ต้องสงสัยรายสำคัญที่ชื่อ อาบูดูซาตาร์ อาบูดูเรห์มาน หรือ “อิซาน” ซึ่งทางตำรวจระบุว่าเป็นพลเมืองจีนเชื้อสายอุยกูร์ที่เผ่นหนีออกจากประเทศไทยไปไม่กี่ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุระเบิดขึ้น แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เลิกใช้คำว่า “อุยกูร์” พร้อมขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้เลี่ยงคำดังกล่าวด้วย

ชาวมุสลิมอุยกูร์ซึ่งอาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียงของจีนอ้างว่าถูกรัฐบาลปักกิ่งกดขี่ความเชื่อและวัฒนธรรมของพวกเขาตลอดมา และมีผู้ที่พยายามหลบหนีออกจากจีนเป็นจำนวนหลายพันคนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ส่วนใหญ่จะเดินทางมายังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังตุรกี

รัฐบาลไทยจับกุมผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 109 คน และส่งกลับไปยังจีนเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ ท่ามกลางการประท้วงอย่างรุนแรงของพวกชาตินิยมในตุรกี ซึ่งถือว่าชาวอุยกูร์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เตอร์กิชที่พูดภาษาตระกูลเดียวกับพวกเขา
อาเด็ม คาราเด็ก หนึ่งในผู้ต้องสงสัยชาวต่างชาติที่คาดว่ามีส่วนพัวพันเหตุบึ้มราชประสงค์ ถูกหน่วยคอมมานโดคุมตัวไปที่ศาล เมื่อวันที่ 5 ก.ย.
ข้อมูลที่ตำรวจไทยทยอยเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ทีละน้อยล้วนบ่งชี้ว่า เหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์น่าจะมีความเชื่อมโยงกับชาวมุสลิมอุยกูร์

ยูซูฟู เมียไรลี หนึ่งในสองผู้ต้องสงสัยซึ่งถูกรวบตัวได้ที่ จ.สระแก้ว ถือหนังสือเดินทางจีนที่ระบุว่าบ้านเกิดคือ “ซินเจียง” ส่วนผู้ต้องสงสัยรายอื่นๆ เกือบทั้งหมดก็มีชื่อคล้ายภาษาเติร์ก รวมถึงอาเดม คาราดัก ซึ่งถูกจับพร้อมหนังสือเดินทางตุรกีปลอมหลายฉบับ

ผู้ต้องสงสัยอีกราย คือ เอ็มราห์ ดาวูโตกลู ได้โอนเงินจำนวน 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ เข้าบัญชีธนาคารไทยเพื่อเป็นทุนในการก่อเหตุ ส่วน วรรณา สวนสัน หรือ “ไมซาเราะห์” ภรรยาชาวไทยของเขาซึ่งตำรวจต้องการตัวมาสอบสวนเช่นกัน อ้างว่าอาศัยอยู่ในเมืองไกเซรีของตุรกี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีชาวมุสลิมอุยกูร์จากจีนอพยพเข้าไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

แอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจากสถาบันไอเอชเอสเจนส์ ชี้ว่า หากผู้กระทำผิดเป็นชาวตุรกีหรือมีเชื้อสายเติร์ก “ก็อาจเป็นไปได้ที่เหตุระเบิดครั้งนี้มีต้นตอมาจากความโกรธแค้นที่รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์คืนให้จีน”

เดวิสอธิบายต่อว่า ภาพชาวอุยกูร์ที่ถูกคลุมศีรษะด้วยถุงผ้าสีดำโดยมีตำรวจจีนยืนประกบอย่างเข้มงวด อาจเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนอุยกูร์ในตุรกีตัดสินใจวางแผนแก้แค้น โดยร่วมมือกับแก๊งมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ทางการไทยพยายามไม่เอ่ยถึงมุสลิมอุยกูร์ตรงๆ ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจและการทูตเป็นสำคัญ เพราะชาวจีนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังไทยมากที่สุด และจีนก็ถือเป็นมิตรประเทศที่สำคัญยิ่งในห้วงเวลาที่รัฐบาลทหารไทยถูกหมางเมินจากนานาชาติ

“ไทยถูกใส่กุญแจมือให้ต้องพึ่งพาจีนในหลายๆ ด้าน” ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการเสื้อแดงและอดีตนักการทูต ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

ทางด้านปักกิ่งเองก็ไม่ต้องการยอมรับว่า นโยบายกดขี่ชนกลุ่มน้อยในประเทศกำลังเป็นเหตุให้พลเมืองจีนตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มอิสลามิสต์
อาบูดูซาตาร์ อาบูดูเรห์มาน หรือ “อีซาน” พลเมืองจีนเชื้อสายอุยกูร์ที่คาดว่าเป็นผู้บงการเหตุวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หนังสือพิมพ์โกลบัลไทม์สของจีนได้ลงรายงานซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามผู้หนึ่งที่ยอมรับว่า กลุ่มติดอาวุธอุยกูร์อาจอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดศาลพระพรหมในกรุงเทพมหานคร ทว่าต่อมาบทความดังกล่าวก็ถูกลบทิ้ง

บาร์รี โซทแมน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง ชี้ว่า รัฐบาลจีนแทบไม่เคยประกาศว่ากลุ่มติดอาวุธเป็นชาวอุยกูร์เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดทางเชื้อชาติขึ้น ซึ่งท่าทีอ้ำอึ้งของรัฐบาลไทยในวันนี้ “น่าจะมาจากการร้องขอของจีน”

ไมเคิล คลาร์ก อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียซึ่งสนใจปัญหาชนกลุ่มน้อยในมณฑลซินเจียง ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์เป็นฝีมือชาวอุยกูร์ หรือนักรบญิฮาดกลุ่มอื่น “ที่ฉวยโอกาสใช้เรื่องผู้ลี้ภัยอุยกูร์มาสร้างความขัดแย้งขึ้นในประเทศไทย”

สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่ตำรวจสันนิษฐานว่าอาจอยู่เบื้องหลังการวางระเบิดที่แยกราชประสงค์ มีทั้งองค์กรก่อการร้ายข้ามชาติ, กลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสีเสื้อต่างๆ ทว่าเมื่อดูจากลักษณะการวางแผน กลุ่มเป้าหมาย และผลที่เกิดขึ้น ดูจะไม่สอดคล้องกับกลุ่มใดๆ ที่ว่ามานี้เลย แม้แต่กลุ่มติดอาวุธมุสลิมอุยกูร์ในจีนก็มักใช้อาวุธพื้นๆ ในการก่อเหตุ เช่น ถือมีดไล่แทง และไม่มีประวัติว่าพวกเขาเคยวางแผนโจมตีนอกประเทศมาก่อน

สำหรับชุมชนชาวอุยกูร์ทั่วโลก การที่รัฐบาลไทยยังไม่ประกาศความเชื่อมโยงกับชาวอุยกูร์อย่างเป็นทางการทำให้พวกเขาใจชื้นอยู่บ้าง

สภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ เรียกร้องให้ตำรวจไทยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเหตุโจมตีที่แยกราชประสงค์อย่างโปร่งใสกว่านี้

“ผมเกรงว่าชาวอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบในทางที่ไม่ดี และหวังว่ารัฐบาลไทยจะให้การปกป้องแก่พวกเขาตามหลักมนุษยธรรมด้วย” ดิลซัต ราซิต โฆษกสภาอุยกูร์โลก ให้สัมภาษณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น