“วีรชน” โต้ถอนพาสปอร์ต “จาตุรนต์” ไม่ใช่เพราะเห็นต่าง ต้องมองวิจารณ์เกิดผลกระทบอย่างไร เตือนหลายครั้ง ปัดเชือดไก่ให้ลิงดู ห่วงสื่อเสนอข่าวเชื้อชาติผู้ต้องหา ขอระวังละเอียดอ่อน ยังไม่ชี้ชัดเจาะจงประเด็นใด ขออย่ามุ่งเป้าปมใด แย้มค้ามนุษย์หนุนเงินป่วน วอนแยกปมอุยกูร์อย่าโยง ไม่กังวลเคลื่อนไหววันรับร่าง รธน. รับนายกฯ ห่วง ศก. แต่คดีบึ้มเริ่มคืบ-ทีม ศก.ใหม่ออกมาตรการ ให้รอดูดีขึ้น
วันนี้ (4 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีกระทรวงต่างประเทศเพิกถอนหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่าหากมีคนแสดงความเห็นต่าง โจมตีรัฐบาลจะถูกทำเช่นเดียวกับนายจาตุรนต์ว่า ไม่ใช่เช่นนั้น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทำได้แต่ต้องมองว่าวิจารณ์เพื่ออะไร มีวัตถุประสงค์อะไร ขณะนี้ไม่ใช่รัฐบาลสถานการณ์หรือรัฐบาลปกติ ต้องมองว่าวิจารณ์แล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไร ต้องขอความร่วมมือในเรื่องนี้ไว้ก่อน และก่อนจะมาถึงขั้นตอนดังกล่าวได้มีการสอบถาม ตักเตือน และขอความร่วมมือไว้แล้ว แต่อาจจะไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจก็ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องมาวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะดังกล่าวเพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดความแตกแยก จึงขอความร่วมมือในช่วงนี้ก่อน
เมื่อถามว่าการยึดพาสปอร์ตมีประโยชน์อะไรในเมื่อ คสช.สามารถสั่งห้ามบุคคลต่างๆ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศได้ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ก็คงมี หากไม่มีปัญหานายจาตุรนต์คงไม่ออกมาเรียกร้องเช่นนี้ เมื่อถามว่าแสดงว่าหลังจากนี้ใครที่วิจารณ์รัฐบาลจะต้องโดนลงโทษเชือดไก่ให้ลิงดูใช่หรือไม่ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ไม่มีลิงหรือไก่ มีแต่คน และไม่ได้เป็นเรื่องของมาตรการอะไร แต่เรื่องใดที่อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความไม่สงบเรียบร้อย ขัดแย้งกับการดำเนินงานของรัฐบาลหรือคสช.ก็ต้องดำเนินการในลักษณะดังกล่าว
พล.ต.วีรชนกล่าวถึงความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนผู้ต้องหาในคดีวางระเบิดแยกราชประสงค์ว่า ตามที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ชี้แจงว่ามีการออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยมีพยานหลักฐานประกอบ ทั้งรอยนิ้วมือต่างๆซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ทั้งหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนจึงยังไม่สามารถระบุชัดเจนว่า มีมูลจากมาจากประเด็นใด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับเชื้อชาติของผู้ต้องหา จึงของให้สื่อฯระมัดระวังเพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากทุกอย่างยังไม่ชี้ชัด ว่าผู้ต้องหาเป็นคนสัญชาติใด เรื่องดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้พิสูจน์สัญชาติ โดยทางการไทยจะร่วมมือในการพิสูจน์สัญชาติผู้ต้องหากับประเทศที่ถูกกล่าวหาว่ามีคนของประเทศนั้นมาก่อเหตุ จึงขอให้เข้าใจว่าการที่พูดถึงประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม้ผู้ต้องจะมีสัญชาตินั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเทศเหล่านั้นให้การสนับสนุนให้ก่อเหตุ นอกจากนี้ในเรื่องดังกล่าวทางการตุรกีได้ชี้แจงแล้วว่าผู้ต้องหาที่ทางการไทยจับกุมได้นั้น ถือพาสปอร์ตปลอม ส่วนผู้ต้องหาชาวไทยที่ถูกจับกุมที่ จ.นราธิวาสนั้นยังไม่พบหลักฐานความเชื่อมโยงกับการก่อเหตุระเบิด แต่มีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ จึงของให้รอความชัดเจนอีกระยะหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังทำงานอย่างเข้มข้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนหรือไม่ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ยังไม่สามารถสรุปว่า สาเหตุมาจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะขณะนี้สมมุติฐานต่างๆ ทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ การส่งชาวอุยกูร์กลับจีน หรือการเมืองภายใน ยังเป็นประเด็นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังไม่มีการเจาะจงว่าเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใด จึงไม่อยากให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวไปในทิศทางใดทางหนึ่ง ขอให้ฟังจากทางตำรวจชี้แจงว่ามีหลักฐานใดเพิ่มเต็ม
ผู้สื่อข่าวถามว่า การตรวจสอบพบผู้ต้องหาที่ก่อเหตุมีเงินสนับสนุนจากใดหรือไม่ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า อาจเป็นกระบวนการค้ามนุษย์ หรือคนสนับสนุนกระบวนการที่ใช้การค้ามนุษย์เป็นเครื่องมือ ก็อาจจะเชื่อมโยงได้ ส่วนการดำเนินการกับชาวอุยกูร์ที่ยังอยู่กับประเทศไทยนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่จะดำเนินการต่อไป
“หลักฐานที่ออกมาตอนนี้มันยังไม่ได้สื่อไปในทิศทางว่าสาเหตุมาจากการส่งชาวกุยอูร์กลับจีน แต่อาจมีความเกี่ยวข้องถึงเรื่องการค้ามนุษย์ แต่การวิเคราะห์ของสื่อมุ่งไปทางนั้น จึงทำให้สาธารณชนมองเป็นแบบนั้น การวิเคราะห์ ความเชื่อก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ความจริงและหลักฐานประกอบก็เป็นอีกส่วน ตอนนี้ยังแยกให้ออกว่า การส่งชาวอุยกูร์กลับจีนกับเรื่องการค้ามนุษย์เป็นคนละประเด็น ประเด็นการส่งตัวกลับไม่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ แต่การเรื่องการค้ามนุษย์เป็นเรื่องของผลประโยชน์ล้วนๆ ซึ่งมีผู้เสียประโยชน์จากที่เราส่งตัวชาวอุยกูร์กลับ 2 เรื่องนี้ จึงนำมาโยงกันไม่ได้ ต้องแตกให้ออก ถ้าสองเรื่องมารวมกันจะเกิดความสับสน” พล.ต.วีรชนกล่าว
พล.ต.วีรชนกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในวันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะมีการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ไม่มีความกังวลมากนัก เพราะมองว่าเป็นเรื่องของ สปช. และเป็นเรื่องที่มีการกำหนดไว้แต่ต้นตามโรดแมปอย่างชัดเจนแล้วว่าหากโหวตผ่านหรือไม่ผ่านจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปตามขั้นตอนต่างๆ จึงไม่มีอะไรที่ต้องกังวลใจ
พล.ต.วีรชนกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีห่วงเรื่องเศรษฐกิจถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดต่ำลง โดยเฉพาะเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จึงขอให้ตั้งข้อสังเกตโดยขอให้รอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลเพิ่งดำเนินการและเป็นการทำงานของคณะทำงานเศรษฐกิจชุดเดิม อีกทั้งที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ ทำให้เกิดความไม่สบายใจของทุกคน อย่างไรก็ตาม ในส่วนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นก็มีความคืบหน้าในการจับกุมมากขึ้นและมีพัฒนาการทางบวก และทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ก็มีการออกมาตรการเศรษฐกิจที่มุ่งไปยังกลุ่มคนที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงขอให้รอดูอีกช่วงหนึ่งที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำงานและความมั่นคงปลอดภัยดีขึ้น ซึ่งขณะนี้การท่องเที่ยวต่างๆ ก็เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากที่เคยวูบไปช่วงหนึ่ง