คอลัมน์ ซ จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
กัมปนาทของระเบิดแสวงเครื่องที่ลานศาลพระพรหม บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งส่งผลให้มีคนตาย 20 คน บาดเจ็บทั้งสาหัส และไม่สาหัสอีกว่า 100 คน ซึ่งถือว่าเป็นการก่อวินาศกรรมกลางเมืองหลวงที่รุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ประเทศไทย
หลังสิ้นเสียงกัมปนาทของระเบิดแสวงเครื่อง สิ่งที่หน่วยข่าวความมั่นคงให้น้ำหนักถึงสาเหตุ และที่มาของการก่อวินาศกรรมถูกโฟกัสไปยัง “กลุ่มก่อการร้ายสากล” มากกว่าเป็นการปฏิบัติการของมือระเบิดที่มาจากกลุ่มบุคคลที่ขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ซึ่งถูกมองว่าแม้จะมีศักยภาพในการก่อวินาศกรรมได้ แต่การก่อวินาศกรรมที่มีคนตาย และเจ็บเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสร้างความหายนะอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติ กลุ่มคนที่ขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังไม่กล้าที่จะลงมือ
ถ้าเป็นการปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายสากลต้องมีสาเหตุในการปฏิบัติการ และสาเหตุนั้นคืออะไร นั่นคือ “โจทย์” ที่สมควรถูกแก้ให้กระจ่าง
อาจมีผู้ที่ตอบโจทย์ว่า ถ้าเป็นปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อการร้ายสากลจริง สาเหตุคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลส่ง “มุสลิมอุยกูร์” จากมลฑลซินเกียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งหลบหนีเข้าเมืองมายัง จ.สงขลา เพื่อเดินทางผ่านมาเลเซียไปยังประเทศที่สามคือ “ตุรกี” แต่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมได้ และตั้งข้อหาหลบหนีเข้าเมือง และมีการส่งตัวกลับประเทศจีนเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา
เป็นการส่งตัวกลับท่ามกลางเสียงคัดค้านของหลายประเทศ รวมทั้งกลุ่มของเหล่าผู้เทิดทูนสิทธิมนุษยชน รวมถึง UN ที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของรัฐบาลไทย
ในขณะที่รัฐบาลไทยยืนยันว่า เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องของการหลบหนีเข้าเมือง และเมื่อมีเสียงอึงมี่หนักเข้า รัฐบาลก็ได้ส่งคนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปตรวจสอบกลุ่มคนที่ถูกส่งตัวกลับประเทศจีน พร้อมทั้งยืนยันว่า มุสลิมอุยกูร์ยังอยู่อย่างปกติ ไม่ได้ถูกกระทำทารุณอย่างที่กลุ่มผู้คัดค้านหวาดกลัว
หลังจากนั้น ประเด็นของมุสลิมอุยกูร์ ทั้งในส่วนที่ถูกส่งกลับประเทศจีน และที่ยังอยู่ในที่ควบคุมตัวเพื่อรอการส่งกลับก็เลือนหายไปจากความสนใจของผู้คน แต่อาจจะไม่ได้เลือนหายไปจากกลุ่มก่อการร้ายมุสลิม และอาจจะฝังแน่นในจิตใจของบางกลุ่ม และมีแผนในการปฏิบัติการเพื่อเป็นการตอบโต้
ผู้ที่เชื่อว่าระเบิดที่ราชประสงค์น่าจะเชื่อมโยงกับประเด็นของมุสลิมอุยกูร์ และเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้ายสากล เนื่องจากการประกอบระเบิด ดินระเบิด และสะเก็ดระเบิด รวมถึงฝีมือในการประดิษฐ์ระเบิดแสวงเครื่องลูกนี้มีความแตกต่างกับระเบิดแสวงเครื่องที่ผู้ก่อการร้ายทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มคนมีสีเคยใช้เพื่อสร้างสถานการณ์ และสร้างความปั่นป่วนในพื้นที่เมืองหลวงแห่งนี้
มีการยกเอาสมมติฐานว่า การเลือกเอาพื้นที่ราชประสงค์เป็นพื้นที่สังหาร เพราะเป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนค่อนข้างจะมาก เป้าหมายของมือระเบิดคือ ชาวจีน ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม และเป็นผู้ที่ขัดแย้งกับมุสลิมอุยกูร์ในมลฑลซินเกียง ทั้งนี้ เพราะชาวอุยกูร์ได้พยายามแข็งข้อต่อสู้เพื่อต้องการปกครองตนเองมาอย่างยาวนาน
ในระยะสั้นๆ ที่หลักฐานยังกระจัดกระจาย พยานยังติดตามมาสอบสวนไม่ได้ และยังต้องตรวจสอบกล้องวงจรปิด ตรวจสอบผู้ต้องสงสัย และอีกหลายเรื่องยังไม่มีความสมบูรณ์ สมมติฐาน และการตั้งโจทย์ยังไม่อาจที่จะตอบได้อย่างชัดเจนว่ามาจากเรื่องของมุสลิมอุยกูร์หรือไม่ หรืออาจจะมาจากสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นเรื่องของกลุ่มต่างๆ ที่เสียผลประโยชน์ ซึ่งสามารถที่จะเป็นได้ทั้งสิ้น จึงต้องรอการทำหน้าที่ของตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคลี่คลายคดีเพื่อไปสู่ข้อเท็จจริงว่า ระเบิดแสวงเครื่องครั้งนี้เป็นฝีมือใคร และมาจากสาเหตุใด
ถ้าเป็นประเด็นของมุสลิมอุยกูร์จริง สาเหตุของระเบิดแสวงเครื่องต้องชี้ประเด็นไปที่เรื่องของ “สิทธิมนุษยชน” หรือเรื่องของ “มนุษยธรรม” อันแสดงว่าไทยเกิดความบกพร่องในสิ่งนี้ ซึ่งประเด็นของสิทธิมนุษยชนคือ เรื่องใหญ่ที่นำไปสู่การก่อการร้าย และการก่อความไม่สงบ เช่นเดียวกับปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรื่องของการใช้คำว่า “สิทธิมนุษยชน” ยังสามารถนำไปเชื่อมโยงให้เกิดความเข้าใจผิด นำไปใช้เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง นำไปใช้เพื่อโฆษณาชวนเชื่ออย่างได้ผลในหลายพื้นที่
11 ปีที่ผ่านมาของวิกฤตไฟใช้ เครื่องมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เครื่องมือของฝ่ายที่เห็นต่าง และพยายามที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ว่า ไม่เคารพในเรื่องของสิทธิมนุษยชน มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเกิดขึ้น
และแม้ว่า 11 ปีที่ผ่านมา จะมีการแก้ปัญหาในเรื่องของการใช้กฎหมาย เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน แต่ประเด็นของการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังเป็นประเด็น และเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ในการก่อความวุ่นวาย และความไม่เข้าใจระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด
ล่าสุด พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงได้พยายามที่จะคลี่คลายปมของการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม และไม่ละเมิดทั้งในสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน ด้วยการเชิญคณะกรรมการสิทธิฯ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รวมถึงองค์กรเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี และอื่นๆ รวมทั้งกลุ่มของญาติผู้ที่เสียชีวิตจากการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น คดีวิสามัญที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และกรณีอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อเป็นการชี้แจงให้เห็นว่า การปฏิบัติงานของตำรวจ ทหาร และอื่นๆ ภายใต้ร่มธงของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างที่อาจจะเคยเป็น และอย่างที่มีการป้ายสีจากกลุ่มผู้เห็นต่าง
ทั้งนี้ ได้หยิบเอาประเด็นการที่จุดตรวจ หรือจุดสกัดของเจ้าหน้าที่รัฐตรวจบัตรประชาชนอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการป้องกันการก่อเหตุร้าย และการตรวจค้นสถานที่ต่างๆ แล้วนำตัวบุคคลมาตรวจดีเอ็นเอ ถูกนำมาเป็นประเด็นในการละเมิดหลักการของสิทธิมนุษยชน
ทั้งที่การตรวจ หรือการเก็บดีเอ็นเอซึ่งเป็นหน้าที่ของกองบังคับการพิสูจน์หลักฐาน 10 เป็นเรื่องที่ดี และการเก็บดีเอ็นเอไม่ใช่เรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เป็นการป้องกันผู้บริสุทธิ์เพื่อมิให้ถูกกล่าวหา และตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุร้าย รวมทั้งเป็นการทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับตัวผู้กระทำความผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรมได้รวดเร็ว และไม่ผิดพลาด
ในการเก็บดีเอ็นเอจะเป็นประโยชน์ต่อคดีทุกคดี ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่า ข่มขืน อนาจาร และคดียาเสพติด รวมถึงคดีอื่นๆ ซึ่งมีมากมาย และร้ายแรงกว่าคดีความมั่นคงด้วยซ้ำ เพราะผู้เสียหายคือ ประชาชนทั่วไป ในขณะที่คดีความมั่นคง หรือก่อการร้ายนั้นจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว
ดังนั้น การเก็บดีเอ็นเอในพื้นที่ชายแดนใต้จึงเป็นการใช้นโยบายในการแก้ปัญหาความไม่สงบและปัญหาอาชญากรรมที่ถูกต้อง และเป็นผลดีในอนาคต เช่นเดียวกับการที่กองบังคับการพิสูจน์หลักฐาน 10 ได้ตรวจเก็บดีเอ็นเอของเจ้าหน้าที่ทิ้งทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร และอื่นๆ ทั้งหมดเพื่อเป็นหลักฐาน หากเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องต่อคดีในพื้นที่ รวมทั้งมีการตรวจอาวุธปืนประจำกายด้วยการยิงเก็บปลอกกระสุนเอาไว้ หากเจ้าหน้าที่ผู้ใดนำอาวุธปืนประจำกายไปก่อเหตุร้าย และทิ้งหลักฐานคือ ปลอกกระสุน หรือหัวกระสุนในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจะรู้ได้ในทันทีว่า ใครคือผู้ก่อเหตุ หรือเป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมาย
เช่นเดียวกับการตรวจบัตรประชาชน ตามหลักของกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของไทย หรือหลักสิทธิมนุษยชนสากล ล้วนไม่ใช่เป็นการละเมิด ยกเว้นเจ้าหน้าที่ใช้วิธีข่มขู่ หน่วงเหนี่ยว หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่เป็นการละเมิดตามหลักของสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องมีการ “แยกแยะ” ไม่ใช่ใช้วิธีการ “เหมารวม” ว่าการตรวจบัตรประชาชนคือ การละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน
ดังนั้น การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดกว้างนำเอาภาคประชาชน หรือองค์กรต่างๆ ทุกภาคส่วน และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดของเจ้าหน้าที่มาร่วมรับฟัง รวมแสดงความคิดเห็น ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเชิญองค์กรนิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้มารวมคิดรวมฟัง และพูดคุย จึงเป็นการแสวงหาทางออกในเรื่องของไฟใต้ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และที่สุดคือ คุณประโยชน์ในการที่จะทำให้ไฟใต้ค่อยๆ มอดดับลงในอนาคต
วันนี้ประเด็นหลายปัญหาของไฟใต้มีการเดินไปบนแนวทางของ “สันติวิธี” โดยการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับรู้ระหว่างทหาร ตำรวจ ปกครอง และองค์กรภาคประชาชนทุกองค์กร ยังขาดก็เพียงอย่างเดียวที่การปฏิบัติยังไม่เข้มข้นคือ เรื่องการ “สื่อสารระหว่างกัน” เพื่อสร้างความเข้าใจ จากองค์กร จากหน่วยงาน ไปสู่ประชาชน ไปสู่พื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น และรับรู้โดยทั่วกัน
ในขณะที่เรา “ผลิตซ้ำ” ในเรื่องของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งในสื่อกระแสหลัก และในสื่อใหม่ในโลกของโซเชียลมีเดียอย่างไม่รู้เบื่อ และดูกันไม่เบื่อ แต่ทั้งภาครัฐ หน่วยงานของรัฐ องค์กรต่างๆ รวมทั้งสื่อกระแสหลักกลับละเลยที่จะผลิตซ้ำในสิ่งที่เป็นข้อมูล เป็นข้อเท็จจริง อันเป็นประโยชน์ในการดับไฟใต้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ และเข้าใจในหลักการของการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม โดยไม่ได้ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างที่กลุ่มผู้เห็นต่างได้พยายามนำใช้โจมตีการทำหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่รัฐ
แน่นอนว่า ณ วันนี้ยังมีการกระทำในลักษณะของการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ไม่เฉพาะกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่นั่นเป็นเรื่องของส่วนบุคคล ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อบุคคลเหล่านั้น เมื่อเกิดขึ้นหน่วยงานต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด และแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ
วันนี้ที่ปลายด้ามขวาน กองทัพภาคที่ 4 โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้พยายามที่จะปลดล็อกเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากล และเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม เพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ ซึ่งเป็นการ “ดับไฟในใจคน” อย่างได้ผล
ส่วนเรื่องระเบิดแสวงเครื่องที่ราชประสงค์ ประเด็นของความสูญเสียมาจากเรื่องการละเมิดหลักการของสิทธิมนุษยชนสากลจากกรณีส่งมุสลิมอุยกูร์ไปให้ประเทศจีน หรือเป็นฝีมือของคนไทยที่ไร้มนุษยธรรมหรือไม่นั้น เชื่อว่าถ้าไม่มี “ใบสั่ง” ให้มีการ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ไม่เกิน 3 วันนับแต่นี้ไปความจริงจะต้องปรากฏให้เห็นอย่างแน่นอน