xs
xsm
sm
md
lg

จีนเปิดแนวรบด้านสื่อ ชี้แจง 4 ประเด็นร้อน เขื่อนจีน-ทะเลจีนใต้-สงครามค่าเงิน-โครงการรถไฟไทย-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - อุปทูตจีนประจำประเทศไทยอ้างเขื่อนจีนไม่ได้เป็นต้นเหตุวิกฤติแล้งประเทศลุ่มน้ำโขง ย้ำเป็นผู้ค้นพบหมู่เกาะทะเลจีนใต้ตั้งแต่สมัยเจิ้งเหอ แปลกใจประเทศที่เรียกร้องจีนยุติเสริมยุทโธปกรณ์กลับนำเรือรบทันสมัยประชิดหมู่เกาะทุกวัน ประกาศเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ระบุจีนไม่มีเป้าหมายทำสงครามค่าเงิน พร้อมเดินหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน หยอดหากมีความจริงใจการเจรจาจะบรรลุผลสำเร็จ และจะผลักไทยให้เป็นศูนย์กลางอาเซียน









18 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยคะ นาย อู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตที่ปรึกษาจีนประจำประเทศไทย กล่าวกับสื่อมวลชนไทยถึงประเด็นเขื่อนจีนในลุ่มน้ำล้านช้างมีส่วนทำให้ประเทศลุ่มน้ำโขงเกิดวิกฤตแล้งว่ารัฐบาลจีนได้ตัดสินใจปล่อยน้ำจากเขื่อนในปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดิม หลังมีหลายประเทศในลุ่มน้ำโขงได้ขอร้องจีนว่าปีนี้ได้ประสบภัยแล้งครั้งรุนแรงในรอบร้อยปี ซึ่งมณฑลยูนนานของจีน ก็ประสบภัยแล้งเช่นกัน เมื่อพิจารณาคำขอร้องจากประเทศต่างๆ แล้ว จีนจึงตัดสินใจจะปล่อยน้ำเพิ่มขึ้น ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. ถึง 10 เม.ย. ด้วยความเร็ว 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือ เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากช่วงระยะเดียวกันของปีก่อน

“ช่วงฤดูแล้งของทุกปี จีนปล่อยน้ำในเขื่อนที่สะสมไว้ในฤดูฝน ทำให้น้ำที่ไหลเข้าในลุ่มน้ำตอนล่าง มีน้ำเพิ่มมากขึ้น 70% จากน้ำธรรมชาติ หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องเขื่อนของประเทศจีนที่สร้างในลุ่มแม่น้ำ ผมมีตัวเลขที่อยากจะแชร์ข้อมูลว่า ลุ่มแม่น้ำล้านช้างในอาณาเขตของจีน มีเนื้อที่เพียง 20% หรือ 1 ใน 5 เท่านั้นของลุ่มแม่น้ำโขงและล้านช้าง นอกจากนี้การใช้น้ำของจีนจากลุ่มน้ำล้านช้างเป็นเพียงแค่ 4% ของแม่น้ำล้านช้าง และ ไม่ถึง 1% หากรวมปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงและแม่น้ำล้านช้าง นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากจีน เป็นแค่ 13.5% ของปริมาณน้ำทั้งหมดของแม่น้ำโขงที่ไหลออกสู่ทะเล แต่หลังจากที่จีนได้สร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำล้านช้างแล้ว สามารถช่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้กับทั้งลุ่มแม่น้ำล้านช้างและลุ่มน้ำโขงได้ดียิ่งขึ้น แทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลไปเสียเปล่าในช่วงฤดูฝน ก็สามารถช่วยกักน้ำไว้ให้กับตอนล่างเพื่อลดภัยเสี่ยงจากอุทกภัยในช่วงฤดูฝน สามารถกักน้ำไว้ได้สัก 30% ในเขื่อน และช่วงฤดูแล้งที่ประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงต้องการน้ำ จีนจะช่วยปล่อยน้ำลงมาเพิ่มมากกว่าการไหลออกตามธรรมชาติถึง 70% นี่คือสิ่งที่จีนได้ทำมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และ เราก็พยายามชี้แจงโดยช่องทางต่างๆ และ ทางเอสแคปก็ยอมรับว่าที่จีนได้สร้างเขื่อนที่ลุ่มน้ำล้านช้างไม่ได้เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดภัยแล้ง หรือ ว่าทำให้สถานการณ์ภัยแล้งของประเทศลุ่มน้ำโขงร้ายแรงมากขึ้น” อัครราชทูตที่ปรึกษาจีนประจำประเทศไทย กล่าว

ยกแผนที่เดินเรือเจิ้งเหอ พิสูจน์อำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะทะเลจีนใต้

อัครราชทูตที่ปรึกษาจีนประจำประเทศไทยยังกล่าวถึงความขัดแย้งในทะเลจีนใต้โดยยอมรับว่า จีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบเกี่ยวกับข้อมูลที่ออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะทั่วโลกรวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะฟังข้อมูลสื่อตะวันตกที่เสียงดังกว่าและมีวิธีการจัดการที่ดีกว่า ส่วนสื่อจีนมีเสียงเบากว่า และ ไม่สามารถทำให้ประชาชนในประเทศต่างๆ เกิดความศรัทธาขึ้น จีนยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นสร้างความน่าเชื่อถือ

นายอู๋ กล่าวว่าจีนมีประวัติศาสตร์มากกว่า 4,000 ปี เป็นผู้ค้นพบ พัฒนาและบริหาร หมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้เป็นประเทศแรก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือแผนที่การเดินเรือของเจิ้งเหอ ตั้งแต่นั้นมาจีนได้มีการระบุชื่อเกาะ แม้กระทั่งแก่งหินโสโครกต่างๆ จีนก็มีชื่อเรียก เช่น หมู่เกาะหันซา หรือ หมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนได้ใช้อำนาจการปกครองเหนืออธิปไตยเหนือหมู่เกาะเหล่านี้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงซึ่งมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ การบันทึกของนักเดินเรือของตะวันตกในช่วงศตวรรษที่18 หรือ 19 พบว่าเมื่อเดินเรือผ่านหมู่เกาะเหล่านั้น ได้พบเห็นชาวประมง หรือ คนจีนที่อาศัยอยู่ในเกาะแก่งของหมู่เกาะหันซา

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นก็ได้มีทหารเข้าไปยึดครองหมู่เกาะหันซา แต่ก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้ยอมจำนน และ รับเงื่อนไข ด้วยคำประกาศบอสตัน ยอมตกลงที่จะคืนดินแดนต่างๆที่ได้ยึดครองจากจีน เช่น หมู่เกาะตงซาน หมู่เกาะหันซา เป็นต้น ซึ่งเจียงไคเช็คนั่งเรือของสหรัฐไปรับมอบเกาะคืนจากญี่ปุ่น เพราะกองทัพเรือของจีนได้สูญเสียไปทั้งหมดในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น

นายอู๋ กล่าวว่า มีหลายประเทศที่อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเหล่านี้ เช่น เวียดนาม ซึ่งช่วงก่อนปี ค.ศ.1974 รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศยอมรับอธิปไตยของจีนเหนือหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีย์ ซึ่งมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรเขียนโดยนายกรัฐมนตรีเวียดนามถึงนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล แต่หลังปี1974 รัฐบาลเวียดนามได้เปลี่ยนท่าที ช่วงที่เวียดนามเหนือจะได้รวมกับเวียดนามใต้ โดยเริ่มอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเหล่านี้ และหลังจากเวียดนามได้รวมประเทศแล้วก็ได้ส่งทหารเข้ายึดครองเกาะแก่งตั้ง 20 กว่าแห่ง

ส่วนฟิลิปปินส์ซึ่งอาณาเขตฟิลิปปินส์ถูกกำหนดโดยสนธิสัญญาระหว่างประเทศ3ฉบับ ได้แก่ สนธิสัญญาระหว่างอเมริกากับสเปน สนธิสัญญาปารีส และ สนธิสัญญาระหว่างอเมริกากับอังกฤษ ซึ่งทุกฉบับได้เขียนไว้ชัดเจนว่าอาณาเขตฟิลิปปินส์ด้านตะวันตก สิ้นสุดที่ ลองติจูด ตะวันตก 111 องศา ซึ่งในแผนที่ จะเห็นว่าหมู่เกาะต่างๆ เช่น สแปรตลีย์ อยู่ทางตะวันตกของลองติจูดตะวันตก111องศา ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ฟิลิปปินส์ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะมาอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเหล่านี้

นอกจากนี้ กรณีหมู่เกาะหันซา ฟิลิปปินส์ได้ไปขออนุญาโตตุลาการ ซึ่งรัฐบาลจีนประกาศท่าที่ชัดว่าจะไม่ยอมรับและไม่เข้าร่วม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยกิจการทางทะเลของสหประชาชาติ มาตรา 291 ระบุว่า ภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯนี้สามารถประกาศยกเว้นขอไม่เข้าร่วมกลไกอนุญาโตได้เมื่อมีข้อพิพาท นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่าการอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามความสมัครใจของภาคีกรณีทั้งสองฝ่าย แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ นำเรื่องขึ้นศาลโดยไม่แจ้งรัฐบาลจีนล่วงหน้า รวมทั้ง รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังผิดสัญญาตัวเองที่ได้ยอมรับว่าจะแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะหันซาโดยการเจรจาแบบทวิภาคีกับคู่พิพาทโดยตรง

นาย อู๋ กล่าวว่า จีนจึงประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าเราจะขอไม่ร่วม เพราะเรารู้ดีว่าการที่ฟิลิปปินส์ทำแบบนี้ ไม่ได้มุ่งเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ เขาอาจได้การยุแหย่ทางด้านการเมือง มีการชักใยอยู่เบื้องหลัง เพราะฉะนั้น กลอุบายแบบนี้ จีนขอไม่เล่นด้วย

“จีนถูกประโคมข่าวทุกวันว่าไปสร้างเกาะเทียมต่างๆ บนเกาะหันซา แต่ในความเป็นจริง ในช่วง20-30ปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้เข้าไปถมทะเลเกาะแก่งเหล่านี้และยังนำอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งจรวดหรือรถถัง แม้กระทั่งสร้างรันเวย์ โดยจีนเป็นประเทศสุดท้ายที่เข้าไปถมทะเลและสร้างรันเวย์ นอกจากนี้ จีนไม่ได้เป็นประเทศที่มีทหารประจำการในหมู่เกาะหันซามากที่สุด เป็นที่น่าสังเกตว่าบางประเทศที่เรียกร้องให้จีนยุติการเสริมแสนยานุภาพในหมู่เกาะหันซา กลับเป็นประเทศเอายุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ไปประชิดหมูเกาะเหล่านี้เกือบทุกวัน” อัครราชทูตที่ปรึกษาจีนประจำประเทศไทย กล่าว

แผนพัฒนาฉบับ 13 จีนมุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ-ไม่ทำสงครามค่าเงิน

“สภาประชาชนจีนเพิ่งผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีนระยะ 5 ปีฉบับที่ 13 และ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงยังต้องรายงานการทำงานของรัฐบาลต่อสภาฯ ว่าเศรษฐกิจจีนได้เดินหน้าอย่างมั่นคงและเติบโตด้วยอัตราสมเหตุสมผล ในปี58 จีนมีขนาดเศรษฐกิจ 67.7 ล้านล้านหยวน หรือ 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราการขยายตัวที่ 6.9% ซึ่งติดอันดับต้นๆ ของโลก ด้านผลผลิตเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 12 แล้ว ประชาชนจีนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ และมีการสร้างงานใหม่ 13.12 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ เป็นครั้งแรกที่ภาคบริการจีนมีสัดส่วนเกิน 50%ของเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติจีน ซึ่งสะท้อนว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนบรรลุผลสำเร็จ ด้านจำนวนประชากรที่อยู่ต่ำกว่าระดับเส้นความยากจนลดลงเหลือ 70 ล้านคน จากประชาชากรจีนทั้งหมด 1,400 ล้านคน และ จะหมดไปภายในปี ค.ศ.2020 เมื่อเปรียบเทียบกับปี1999 ซึ่งจีนเริ่มการปฏิรูปแล้ว จีนมีคนยากจน 700ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 800 ล้านคน” อัครราชทูตที่ปรึกษาจีนประจำประเทศไทยกล่าว
ภาพเอพี
นายอู๋กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนก็ชะลอตัวไม่ต่างจากประเทศอื่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ เงินทุนไหลออก แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังเดินหน้าได้อย่างมั่นคง จีดีพีจีนเพิ่มขึ้นมาถึง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับจีดีพีสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนอุทิศต่อเศรษฐกิจโลกสัดส่วน 25% ขณะที่สัดส่วนจีดีพีจีนต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 15% โดยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจีนปี 59 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 6.9% ยังสูงกว่าเฉลี่ยของโลก

ด้านอัตราเงินสำรองระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีจีนได้แสดงความมั่นใจว่าเงินสำรองของจีนยังมีมากพอที่จะพิทักษ์ความมั่นคงของตลาดเงินทุนจีน แม้ว่าจะมีปัจจัยต่างประเทศ ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ขณะที่ ยุโรปกำลังใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ แต่จีนก็มั่นใจว่าเศรษฐกิจจีนมีฐานที่แน่นพอที่จะรับมือกับความวุ่นวายของเศรษฐกิจโลก โดยยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องลดค่าเงินหยวน ทั้งนี้ การลดค่าเงินหยวนไม่ใช่เป้าหมายของจีน และ ไม่ต้องการทำสงครามค่าเงิน แต่เป้าหมายหลักคือการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจปกติ อัครราชทูตที่ปรึกษาจีนประจำประเทศไทย กล่าว
ภาพเอพี
พร้อมเดินหน้าความร่วมมือโครงการรถไฟไทย-จีน

นาย อู๋ บอกว่า โครงการรถไฟไทยจีนถือเป็นความเห็นพ้องต้องกันของสองประเทศ จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยยุคสมัยไหนก็จะมีการพูดคุยถึงโครงการนี้ เป็นความต้องการของฝ่ายไทย โดยเชื่อว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดการพัฒนาของไทยและจีนร่วมกัน โดยฝ่ายจีนได้แสดงความจริงใจมาตั้งแต่ต้น และได้พิจารณาข้อเรียกร้องของไทยอย่างจริงจังทุกครั้ง ทั้งประเด็นการนำเข้าสินค้าเกษตร อัตราดอกเบี้ย แม้กระทั่งข้อเรียกร้องของไทยที่จีนยังให้ไม่ได้จีนก็ยังคงพิจารณาอยู่

“เข้าใจว่า 2 ประเด็นที่คนไทยให้กังวลและให้ความสนใจ คือ งบประมาณก่อสร้างที่สูงเกินไปและการใช้ที่ดิน 2 ข้างทางรถไฟ จีนขอชี้แจงว่า ขณะนี้เส้นทางรถไฟในประเทศจีนมีระยะทาง 120,000 กิโลเมตร บริษัทรถไฟจีนมีประสบการณ์มากพอที่จะคำนวณต้นทุนได้ถูกต้องด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ซี้ซั้วและสาเหตุที่งบประมาณก่อสร้างสูง เพราะ การเวนคืนที่ดิน ทำไม่ได้อย่างที่คุยกันเบื้องต้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนก่อสร้าง เช่น ต้องเจาะอุโมงค์ เป็นต้น นอกจากนี้ ราคาที่เสนอยังรวมการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถด้วย ซึ่งหากไทยต้อการ จีนก็พร้อมที่เปิดกว้างให้ ฝ่ายที่สามเข้ามาพิสูจน์ราคาได้ จีนเชื่อว่าถ้าสองฝ่ายมีความจริงใจ โครงการนี้จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนประเด็นเรื่องที่ดิน 2 ข้างทาง จีนขอชี้แจงว่าจีนไม่เคยมีคำร้องขอประเด็นนี้ แต่ข่าวกลับออกมาซึ่งคาดว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเบื้องต้นในระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่ามีการออกข่าวไป ทำให้เกิดความสับสน และ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายยังมีการเจรจาอย่างใกล้ชิด และ ติดต่อประสานงานกันอยู่อย่างใกล้ชิด ซึ่งการประชุมครั้งที่10 ในเดือนเมษายนนี้ มีความคืบหน้าอย่างไร จะแจ้งให้ทราบ ซึ่งจีนถือเป็นมารยาททางการทูตด้วยที่หากการเจรจาโครงการยังไม่สรุป ก็จะยังไม่สามารถระบุทั้งงบก่อสร้างและดอกเบี้ย” อัครราชทูตที่ปรึกษาจีนประจำประเทศไทย กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากโครงการกับไทยแล้ว จีนมีโครงการรถไฟเส้นทางจีน-ลาว-ไทย, เส้นทางจีน-พม่า และ เส้นทางจีน-เวียดนามอีกด้วย ซึ่งนอกจากเป็นการนำกำลังการผลิตส่วนเกินในจีนออกมาใช้ในประเทศเพื่อนบ้านแล้วยังเป็นการเชื่อมโยงภูมิภาคด้วยกันซึ่งเป็นข้อเสนอของ ESCAPเรื่อง Pan Asia Railroad เพื่อเชื่อมโยงตลาดภูมิภาค จีนมีความสามารถทางเทคโนโลยี และมีกำลังทางเศรษฐกิจก็อย่างแบ่งปันกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้โครงการที่เกิดขึ้นไม่อยากให้มองว่าเป็นความอนุเคราะห์จากจีนแต่ถือเป็นความร่วมมือระหว่างกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่สถานทูตจีนจะเปิดบ้านต้อนรับให้สื่อมวลชนไม่ใช่เรื่องปกติ และ ยิ่งให้เอกอัครราชทูตและอุปทูตจีนเป็นผู้ให้ข้อมูลชี้แจงด้วยตัวเองถึงประเด็นร้อนต่างๆ นับเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีของมหาอำนาจอย่างจีนต่อสื่อมวลชนอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานธิบดีสีจิ้นผิงได้ไปเยี่ยมสามสื่อใหญ่ของจีน ได้แก่ พีเพิลเดลี สำนักข่าวซินหัว และซีซีทีวี ซึ่งก่อนหน้าที่จะชี้แจง อัครราชทูตที่ปรึกษาจีนประจำประเทศไทย ยังได้ให้สื่อไทยแสดงความคิดเห็นด้วย และ กล่าวว่า จีนยังมีการบ้านที่ต้องทำอีกมาก และ ที่ผ่านมาก็ยังทำไม่มากพอ บางครั้งรู้สึกผิดหวัง ไม่เข้าใจว่าข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับจีนจึงผิดแผกไปจากความตั้งใจดีของจีน ซึ่งจีนต้องพิจารณาตัวเอง
นายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น