รอยเตอร์ - จีดีพีจีนไตรมาส 3 ร่วงต่ำกว่า 7% เป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว สาเหตุส่วนหนึ่งจากการชะลอการลงทุน และเพิ่มความกดดันให้ปักกิ่งต้องลดดอกเบี้ยครั้งใหม่ รวมทั้งงัดมาตรการกระตุ้นการเติบโตออกมาเพิ่มเติม
สำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติของจีนแถลงเมื่อวันจันทร์ (19 ต.ค.) ว่าประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ขยายตัว 6.9% ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ดีกว่าที่คาดไว้ที่ 6.8% แต่ลดจาก 7% ใน 2 ไตรมาสก่อนหน้า
ตัวเลขนี้ตอกย้ำการคาดการณ์ว่า ปักกิ่งสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจทรุดดิ่งรุนแรง โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากนี้จนเข้าสู่ปีหน้า
จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด นักวิเคราะห์ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ในสิงคโปร์ระบุว่า การเพิ่มการใช้จ่ายทางการคลังและการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อจะช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงในช่วงไตรมาสต่อจากนี้ได้
หลายเดือนมานี้บรรดาผู้นำจีนพยายามรับประกันกับตลาดโลกว่า เศรษฐกิจอยู่ภายใต้การควบคุม หลังจากการลดค่าเงินหยวนกะทันหันและตลาดหุ้นร่วงในช่วงฤดูร้อนช่วยกันโหมกระพือว่า เศรษฐกิจจีนกำลังดิ่งถลารุนแรง
นักวิเคราะห์บางคนหวังว่า การชะลอตัวในไตรมาส 3 คือจุดต่ำสุดสำหรับปีนี้แล้ว เนื่องจากมาตรการกระตุ้นที่ปักกิ่งคลอดออกมากำลังจะมีผลในเร็ววัน กระนั้นข้อมูลประจำเดือนกันยายนที่ไม่ค่อยดีนักทำให้หลายคนต้องทบทวนการคาดการณ์แง่ดีเหล่านี้ใหม่
นักเศรษฐศาสตร์ของเอเอ็นแซดแบงก์ระบุว่า ในภาวะที่การเติบโตชะลอตัวและมีความเสี่ยงภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้น จีนจำเป็นต้องลดสัดส่วนกันสำรองของแบงก์พาณิชย์ลงอีก 0.50% ในไตรมาสปัจจุบัน รวมถึงลดดอกเบี้ยลง โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้
ทั้งนี้ นับจากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จีนต่อสู้กับภาวะชะลอตัวรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 6 ปีด้วยการลดดอกเบี้ยไปแล้ว 5 ครั้ง รวมทั้งลดสัดส่วนกันสำรองของธนาคาร 3 ครั้งในปีนี้
กระนั้น จีดีพีไตรมาส 3 ยังคงชะลอตัวและทำสถิติต่ำสุดนับจากไตรมาสแรกของปี 2009 ที่อัตราเติบโตของจีนอยู่ที่ 6.2%
แม้เจ้าหน้าที่จีนพยายามอธิบายว่า การชะลอตัวที่เกิดขึ้น “เหมาะสม” ทว่าผู้นำจีนแสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้ออกมาเป็นระยะ
ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า รัฐบาลกังวลกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังทุ่มเทอย่างมากเพื่อจัดการปัญหานี้
เหล่าผู้วางนโยบายคิดว่าจะสามารถสกัดการลดลงอย่างรวดเร็วของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศ รวมทั้งผ่อนคลายความกดดันต่อเงินหยวนได้ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจเพื่อให้อัตราเติบโตปีนี้ตรงตามเป้าหมาย 7% แต่ปัญหาคือ องค์ประกอบสำคัญบางส่วนของเศรษฐกิจยังเซื่องซึม
ผลผลิตจากโรงงานเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 5.7% จากปีที่แล้ว ซึ่งถือว่า ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 6% ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 10.3% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ 0.5% มีเพียงยอดค้าปลีกเท่านั้นที่สวนกระแสทำอัตราเติบโต 10.9% ในเดือนที่ผ่านมา สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์บางเฉียบ 0.1%
โจว เฮา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของคอมเมิร์ซแบงก์ในสิงคโปร์ ชี้ว่า เศรษฐกิจจีนยังเผชิญความกดดันขาลงโดยรวมหนักอึ้ง และคาดว่า ปักกิ่งจะลดเป้าหมายการเติบโตประจำปีในแผนการ 5 ปีที่จะแถลงปลายเดือนนี้
จากผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำไตรมาสที่จัดทำโดยรอยเตอร์พบว่า นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ธนาคารกลางจีนจะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% และลดสัดส่วนทุนสำรองของธนาคารอีก 0.50% ภายในสิ้นปีนี้
ผลสำรวจชิ้นเดียวกันยังคาดว่า จีดีพีจีนไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 6.8% ก่อนขยับลงเหลือ 6.7% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีหน้า