โกลบอลไทม์ส - ดัชนีสำรวจความผาสุกของชาวจีน ปีล่าสุด (2014) ซึ่งจัดทำโดย แกลลัป-เฮลท์เวย์ส (Gallup-Healthways Global Well-Being Index) พบว่า จีนอยู่ในอันดับต่ำเกือบทุกหมวด จากการสำรวจมากกว่า 145 ประเทศ
โกลบอลไทม์ส สื่อทางการจีน อ้าง (21 ก.ค.) ผลสำรวจที่ แกลลัป-เฮลท์เวย์ส เปิดเผยสัปดาห์ที่แล้ว พบว่าผลสำรวจประชาชนจีนวัย 15 ปีขึ้นไป 4,696 คน ในปัจจัย 5 เรื่องที่เกี่ยวกับความสุขในชีวิตนั้นล้วนอยู่ระดับท้ายๆ ตารางอันดับโลก ได้แก่ เป้าหมายในชีวิตของคนในประเทศจีน อยู่อันดับที่ 133, ความสุขทางสังคม อยู่อันดับ 129, ความมั่นคงการเงิน อันดับ 59, ความสัมพันธ์ชุมชน (อันดับ 134) และสุขภาพร่างกาย (อันดับ 91) ขณะที่ผลสำรวจฯ ในปีนี้ ประเทศปานามา อยู่อันดับสูงสุดของดัชนีผาสุข หลังจากปีที่แล้วประเทศภูฏาน คืออันดับหนึ่ง ซึ่งทั้งสองประเทศล้วนไม่ใช่ประเทศที่เศรษฐกิจรุดหน้าแบบจีนเลย
เถียน เฟิง นักสังคมวิทยาจากสถาบันสังคมศาสตร์จีน ไม่แปลกใจกับผลสำรวจฯ นี้ แม้ว่าจีนจะอยู่ในอันดับสูงความผาสุขทางการเงิน (อันดับ 59) แถมล่าสุดสำนักข่าวซินหวา ยังเผยตัวเลขจีดีพีจีนเมื่อต้นเดือนอีกว่า ในปี 2014 มูลค่าจีดีพีจีนทะลุ 10,385 พันล้านหยวน เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา
เถียน กล่าวว่า ความผาสุขทางการเงินจีนทำอันดับได้ที่ 59 แต่เป็นการดูรวมๆ เพราะความจริงตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำช่องว่างรายได้ในจีนแต่อย่างใด
ซินหวา ยังได้ชี้ตัวเลขให้เห็นว่า เมื่อดูรายได้ต่อหัวประชากร จีนร่วงอยู่อันดับ 80 ของโลก
หลู่ เจี่ยหวา นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศึกษา กล่าวว่า เหตุผลที่ดัชนีความผาสุขทางเป้าหมายชีวิต สังคมปลอดภัย ชุมชนเหนียวแน่น และสุขภาพของชาวจีนล้วนอยู่ในระดับต่ำ ย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
สังคมที่ผูกโยงกับเศรษฐกิจมากๆ แบบจีน ทุกคนก็จะคิดแต่การก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การตัดสินใจทางเลือกต่างๆ ในชีวิตทุกอย่างล้วนมีพื้นฐานมาจากว่ามีเงินเท่าไหร่ ทำเงินรายได้มากแค่ไหน
จากข้อสังเกตของหลู่ การศึกษาก็กลายเป็นหนทางเพื่อเงิน และอนาคตทางการงานก็เพื่อเงิน จนเหมือนว่าคนจีนเกือบทุกคนมีความฝันเดียวกันว่าจะต้องร่ำรวย และเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าที่จะคิดถึงชีวิตมิติอื่น ซึ่งเมื่อยิ่งอุทิศตนให้กับเงินมากเท่าไหร่ เป้าหมายชีวิต ความผาสุขด้านต่างๆ ก็ย่อมถูกละทิ้งไว้ก่อน ดำเนินชีวิตในภาวะจำยอมจำทนเพื่อเป้าหมายหลักนั้น
ผลของความผาสุขทางสังคมต่ำ ก็มีผลจากการแข่งขันแก่งแย่งในสังคม ซึ่งแน่นอนเมื่ออยู่ในสภาพชีวิตนี้ สุขภาพของชาวจีนก็ต่ำเพราะถูกละเลย อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่อำนวยต่อสุขภาพเหมือนก่อน
ภาวะความสุขที่ได้รับจากชุมชนอาศัย กลายเป็นเรื่องหายาก หลู่ กล่าวว่า ความแปลกหน้าต่อกันเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมเมือง เมื่อผู้อยู่อาศัยจำนวนมากต่างคนต่างมา ต่างคนต่างอยู่ ต่างไป อาศัยอยู่ในห้องเช่าที่ย้ายภูมิลำเนาผลัดเปลี่ยนหน้าเสมอ ยิ่งทำให้ความผูกพันกันกับเพื่อนบ้านมีน้อย และไม่ต่อเนื่อง
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สังคมชุมชนคนจีนเปลี่ยนไป คือการที่ยึดโยงด้วยการจัดตั้งของรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งไม่เหมือนกับชุมชนชาวตะวันตกที่มีความอิสระเป็นตัวของตัวเองสูง ตั้งชุมชนกันเอง จึงมีความรู้สึกร่วมกันมากกว่า นอกจากนั้นชนชั้นทางสังคมในชุมชนจีนก็ยังมักอยู่คละเคล้า ขณะที่สังคมตะวันตก ผู้คนมีสถานะใกล้เคียงไม่เหลื่อมล้ำกันมาก และมักอยู่อาศัยร่วมกัน
เถียน กล่าวว่า การที่จะยกระดับดัชนีผาสุขของชาวจีนให้ได้ในทุกๆ ด้าน รัฐบาลต้องทุ่มเทพัฒนาความมั่นคงของเงื่อนไขทางสังคม
"ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานอันจำเป็นของชีวิต ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษา และความเป็นอยู่หลังจากที่เข้าสู่วัยเกษียณแล้ว ซึ่งระบบประกันความมั่นคงทางสังคมนี้ ล้วนเป็นจุดแข็งของกลุ่มประเทศนอร์ดิก (หมายเหตุ : กลุ่มประเทศที่อยู่ทางตอนเหนือของยุโรป ที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการ ประกอบด้วย 5 ประเทศได้แก่ เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์ และ สวีเดน มีประชากรรวมกันราว 25 ล้านคน)
หลู่ แนะนำว่าชาวจีนควรจะหนักแน่นใช้ชีวิตตามความเป็นอยู่ของตัวเอง ตามความสนใจในวิถีตนเอง และมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ ที่มีคุณค่าในชีวิต
"เราพบว่าคนที่มีความผาสุขมักจะไม่ไหลตามกับมูลค่า หรืออำนาจเศรษฐกิจ" หลู่กล่าว และว่า เมื่อใดที่คนเราหยุดเปรียบเทียบกับคนอื่น และค้นหาความสุขความสนใจตามความเชื่อของตนเอง ความสุขใจพอใจชีวิตก็เกิดขึ้นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีของแกลลัปฯ จะมีประโยชน์แต่ หลู่ บอกว่า หัวข้อที่สำรวจฯ ยังไม่ครอบคลุม และไม่เข้ากับสภาพสังคมวัฒนธรรมจีน
"แบบสำรวจของแกลลัปฯ เป็นลักษณะเชิงปัจเจกบุคคล แต่ความเป็นจริงสังคมจีนมีความเป็นวัฒนธรรมครอบครัวสูงกว่าสังคมตะวันตกมาก และปัจจัยเกื้อสุข-ทุกข์ ก็ยึดโยงอยู่กับครอบครัวสูง
ดังนั้น ดัชนีเชิงปัจเจกฯ จึงอาจจะยังไม่สอดคล้องนักกับการประเมินคนจีน หลู่ซึ่งเคยทำสำรวจความสุขในระดับครัวเรือนจีน เมื่อปี 2012 พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส การศึกษาของบุตรหลาน และสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว คือปัจจัยที่มีผลต่อความสุขของชาวจีน และเมื่อเป็นอย่างนี้ หลู่จึงเห็นว่ารายงานสำรวจของแกลลัปฯ ยังพลาดปัจจัยหลักๆ ของความสุขในการประเมินชาวจีนไป